“ประวัติศาสตร์ไทในเวียดนาม” โดย รศ.ดร อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลุ่มคนไท-ไตในเวียดนาม

คนไทในเวียดนามสามารถแบ่งเขตวัฒนธรรมได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ตามการปกครองของรัฐชาติสมัยใหม่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 เขตวัฒนธรรมภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ “ไทดำ” หรือ “ไตเมือย”       ซึ่งคาดว่าอพยพมาจากเมืองหม้วย ในศตวรรษที่ 15 หรือจังหวัดเซินลาในปัจจุบัน สมัยราชวงศ์เล อาณาจักรไดเวียด (เวียดนามโบราณ) อาศัยอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในเขตจังหวัดเซินลา, เอียนบ๋าย, เดียนเบียน, แทงหวา, แหงะอานของประเทศเวียดนาม โดยที่ในเขตจังหวัดแทงหวาและเหงะอาน จะแบ่งเป็นไทดำเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้แก่ ไตแทงและไตคาง เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 เขตวัฒนธรรมแทงหวา-เหงะอาน ในเขตนี้จะมี “คนไทขาว” หรือไตหว๋อ เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมที่ผสมผสาน เช่น การแต่งกาย และภาษาพูด อีกทั้งยังมีจุดเด่นในเรื่องของพิธีกรรมการจัดงานศพของชาวไทยขาว ที่จะให้ “ผู้หญิง” เป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด แต่ในส่วนของพิธีฝังศพในตอนท้ายนั้นจะให้ผู้ชายดำเนินการทั้งหมด โดยที่ห้ามผู้หญิงเข้ามาร่วมในงานพิธีฝังศพนี้ ปัจจัยหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะเชื่อว่าผู้หญิงและสตรีเพศนั้น มีจิตที่อ่อนแอเสี่ยงต่อการถูก “ผีเข้า” โดยคณะผู้จัดทำมีความคิดเห็นว่าคำกล่าวข้างต้นของชาวบ้านไทขาวนั้น อาจเป็นหนึ่งในกุศโลบายที่ไม่อยากให้ผู้คนที่มีจิตใจไม่มั่นคงอย่างสตรีและเด็กเข้ามาร่วมในพิธีการที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบ หรือภาพติดตาได้  โดยที่ชาวไทขาว (ไตหว๋อ) ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในบริเวณภาคตะวันตกฉียงเหนือเช่นเดียวกับคนไทดำ       ในกลุ่มแรก ซึ่งจะกระจายอยู่ตามเขตจังหวัดลายโจว และจังหวัดเซินลาในบางพื้นที่

กลุ่มที่ 3 เขตวัฒนธรรมในทางตอนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกลางของเขตวัฒนธรรมสองเขตข้างต้น     ในเขตนี้จะมีกลุ่ม “คนไทแดง” อาศัยอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยคำว่าไทแดงนั้น มีนัยของการดูถูกเหยียดหยามทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีสถานะทางชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่าชาวไทดำและชาวไทขาว (ไตหว๋อ)  ซึ่งคนในท้องถิ่น      มักไม่ชอบและเกิดความไม่พอใจเมื่อตนเองถูกเรียกว่า “ไทแดง” ไม่ชอบที่กลุ่มตนนั้นถูกเรียกว่าไทแดง จนนำมาสู่การต่อต้านการใช้คำเรียกว่าไทแดง โดยมีการสันนิษฐานว่าคำว่า “ไทแดง” นั้น เกิดขึ้นมาจากนักวิชาการที่เข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ “บ้านแดง” จึงได้บัญญัติศัพท์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อใช้เรียกกลุ่มคนในพื้นที่ว่า “ไทแดง” ซึ่งกลุ่มคนไทแดงนั้นจะอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเซินลา จังหวัดฮว่าบิ่ง จังหวัดเหงะอาน  และจังหวัดแทงหวา (ในบางพื้นที่) โดยกลุ่มคนไทในจังหวัดแทงหวา จะถูกเรียกโดยแยกย่อยว่า “คนไต       เมือย” และกลุ่มไทในจังหวัดฮว่าบิ่งจะถูกเรียกว่า “โถ่” เป็นต้น

 

ข้อเสนอสำคัญที่ถูกเล่าผ่านประวัติศาสตร์เมืองมุน

ในการบรรยายในหัวข้อ ประวัติศาสตร์ไทในเวียดนาม เป็นการบรรยายผ่าน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีการนำเรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองมุน มาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจในด้านของวัฒนธรรม ภาษา    การแต่งกาย เนื่องจากการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนไท มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน       แต่ก็สามารถแยกแยะชาติพันธุ์ออกจากกันได้ เนื่องจากความเป็นวัฒนธรรมของคนไทดำ และไทขาว มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น วัฒนธรรม การแต่งกายบางอย่างที่ดูเสมือนมีความคล้ายครึงกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ถ้าศึกษาในเชิงลึก ก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก เช่น การใส่ผ้าซิ่น ซึ่งระหว่างไทดำ และไทขาวจะมีลวดลายของผ้าที่แตกต่างกัน รวมไปถึงวิธีการนุ่งซิ่น ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งสำเนียงของภาษา ล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ส่งผลให้วัฒนธรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่แยกขาดออกจากกัน แต่ก็ยังมีรากศัพท์ในทางภาษาที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน เช่น คำว่า เวียดนาม มีรากศัพท์มากจากภาษาท้องถิ่นชาติพันธุ์ไท และภาษาจีน โดย คำว่า “เวียด” มีความหมายว่า “คน” ส่วนคำว่า “นาม” มีความหมาย “ใต้” เมื่อนำคำสองคำนี้มารวมกัน จะเป็นบ่งบอกว่า เวียดนาม คือ “คนใต้” ซึ่งกล่าวได้ว่า คนทางใต้ในที่นี้ อาจจะเป็นการมองของราชสำนักจีน อีกทั้งวัฒนธรรม ประเพณี เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษที่กลุ่มคนไทเหล่านี้ไม่เพียงแต่ จัดพิธีขึ้นเพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษของตนเพียงเท่านั้น แต่เป็นการจัดขึ้นเพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษทางชาติพันธุ์ของตน จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการบ่งบอกถึงความหลากหลาย ที่กระจัดกระจาย ผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ โดยการผสมผสานทางวัฒนธรรม เป็นการส่งผ่านทางรัฐพิธี เช่น การแต่งงาน การต่อสู้ และการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการระหว่างราชสำนักกับคนไท เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นชาติพันธุ์        ให้ดำรงอยู่ ผ่านการหล่อหลอมระหว่างช่วงเวลา ในเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เนื่องจากความสัมพันธ์นี้ส่งผลต่อการเมือง สังคม โดยประวัติศาสตร์เวียดนามนั้น มีความสัมพันธ์อันดีงามกับชนกลุ่มน้อย ในการกู้ชาติ บ้านเมือง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับราชสำนัก ผ่านการส่งหญิงสาวไปแต่งงาน ซึ่งกล่าวในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองมุน ทำให้การปกครองภายในของเวียดนามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีความราบรื้นมา          โดยตลอด กล่าวคือ ไม่ค่อยมีปัญหาภายในกับชนกลุ่มน้อย เนื่องจากประวัติศาสตร์เวียดนามให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยเป็นอย่างมาก เพราะการร่วมมือกันต่อต้านสงคราม

ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างคนไทกับกลุ่มชนกลุ่มน้อย บ่งบอกถึงการพึ่งพาอาศัยกันของเมืองชายขอบและเมืองรอบข้างของเวียดนาม อีกทั้งยังการเชื่อมสัมพันธไมตรีทางการเมือง ที่อาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อีกทั้งการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ร่วมกันอยู่นี้ ส่งผลต่อการกลืนเป็นไท(ย)  ในการสร้างรัฐชาติของไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากใช้การกลืนทางภาษา เช่น คำว่า “หมาก” ของเวียดนาม โดยคนไทในรัฐไทยก็มีใช้คำนี้ เป็นเดียวกัน ในการเรียก ผลไม้ นำไปสู่การกลืนกลายคนไทในเวียดนามเป็นของคนไทย เนื่องจากมีภาษาที่คล้ายคลึงกัน สร้างความงุนงงต่อชาวไทในเวียดนามเป็นอย่างมาก แต่การผสมผสานวัฒนธรรมเหล่านี้ ก็สร้างให้ความเป็นชาติพันธุ์ดำเนินอยู่ได้ ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากคนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้พยายามชูวัฒนธรรมของตนเองให้มีความ  โด่ดเด่น หรือรากเหง้าของตนให้อยู่รอดในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ  เสมือนเป็นการตอกย้ำความเป็นตัวตนของตนเองในชาติพันธุ์นั้น[1]

 

ประวัติศาสตร์ไทในเวียดนามกับแนวคิดและทฤษฎีชาติพันธุ์ไท

ไทในเวียดนามเป็นการเพิ่มเติมทางความรู้ในเรื่องราวของชาติพันธุ์ไท ในการเรียนผ่านรายวิชาชาติพันธุ์ ที่ผู้สอนได้บรรยายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของคน “ไท-ไต” ที่มีต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคน “ไท-ไต” เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์วรรณนาต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างเช่น “คนไต ไท ไทย ลาว ยวน และอาหม” โดยกล่าวกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้อพยพลงมาจากพื้นที่สูงในแถบ “Zomia” หรือบริเวณที่ราบหุบเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองแถง หรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน โดย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอ ในหนังสือ ความไม่เป็นไทของคนไทย ว่า “แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้มีการอพยพลงมาของผู้คนอย่างที่เข้าใจกัน แต่อาจจะเป็นแค่การรับเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรม และภาษาพูดของคน ไท-ไต ในแถบที่ราบหุบเขาสูงมาใช้แทน เช่นเดียวกับการบรรยายในหัวข้อเรื่องไทในเวียดนาม ที่มีความสอดคล้องกัน ในเรื่องของการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท ภายใต้การสร้างบ้านสร้างเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ในช่วงเวลาต่าง ๆ  เพื่อให้อยู่รอดได้ อีกทั้งการเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมของคนไท ผ่านศูนย์กลางทางการค้า ในที่ราบสูง Zomia อันเป็นที่อยู่อาศัยของพวก ไท – ไต[2]  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาษาของคน ไท – ไต เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาทำการค้าในพื้นที่แห่งนี้ และได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จนเกิดการผสมผสานและแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค ด้วยเหตุนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ไม่ว่าจะเป็น ไต ไท ไทย ลาว ยวน เขมร อาหม ฯลฯ จึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จะเห็นได้ว่า การผสมผสานกันทางวัฒนธรรมและภาษา นั้นเกิดขึ้นเพื่อสร้างความอยู่รอดทางชาติพันธุ์ในแต่ละยุคสมัย[3]

 

บทสรุป

1). วัฒนธรรมไทเมืองมุนเกิดจากการผสมผสานทางชาติพันธุ์ตั้งแต่ศตวรรษแรกของการสร้างบ้าน    แปงเมือง

2). การประนีประนอมกับอำนาจของพื้นถิ่น และการพยายามลบความผิดบาปในใจการรุกรานไล่ที่ของคนพื้นถิ่น ด้วยวัฒนธรรม เช่นการสร้างสืน (ศาลเจ้า) เรื่องเล่า การเขียนประวัติศาสตร์และการเซ่นเมือง

3). การรักษาอำนาจแบบเครือข่ายเมือง ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับอาณาจักรที่ใหญ่กว่า กล่าวคือการผสมผสานทางชาติพันธุ์และการสร้างความชอบธรรมของเจ้าเมืองด้วยการใช้อำนาจทางพิธีกรรมนั้น ไม่เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เมืองไทในแถบนี้พัฒนาและอยู่รอดมาเป็นเครือข่ายเมืองที่ใหญ่ขึ้น หรือเป็น   จูมุนได้ ทว่าพวกเขาได้พึ่งพิงอิงกันกับอำนาจที่อยู่เหนือกว่าในการจัดการกับความขัดแย้งภายในเมืองเล็ก ๆต่าง ๆ ภายในเครือข่ายของจูมุน โดยอาศัยอำนาจของราชสำนักในการจัดการกับศัตรูภายนอก เช่น กลุ่มฮ่อธงเหลือง เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ลักษณะความเป็นไต/ไทในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ไม่ได้สถิตมั่นอยู่ในตัวเองตลอดเวลา แต่เกิดการไหลเวียน เปลี่ยนแปลง และผสมผสานกลืนกลายอยู่เสมอ ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไตไทมีทั้งความต่อเนื่องและขาดช่วงไป การบรรยายในครั้งนี้นับเป็นการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง” หรือ “ล่างขึ้นบน” (History from below) ซึ่งสะท้อนผ่านตำนานท้องถิ่น และประวัติศาสตร์บอกเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม ที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไตกลุ่มต่าง ๆ ที่มีการขยายอำนาจ ต่อสู้ และช่วงชิงดินแดนของกันและกันอยู่เสมอ ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์  ไท-ไตในเวียดนามจึงมีลักษณะที่เป็น “พลวัต” กล่าวคือ มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่โดยตลอด        ไม่ได้หยุดนิ่งในตัวเอง หรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกัน

 

 

อ้างอิง

[1] พิเชฐ สายพันธ์. ไทดํา ไทขาว ไทเหลือง: อัตลักษณ์เปิด อัตลักษณ์ปิด. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551.

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ความไม่ไทยของคนไทย. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า 39-40.

[3] ยุกติ มุกดาวิจิตร, ประวัติศาสตร์ไทดำ: รากเหง้าวัฒนธรรม - สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม, 2557).

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ไท (834379) สอนโดย อ.ดร. ชัยพงษ์  สำเนียง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท