Skip to main content
sharethis

พบป่วย Covid-19 เพิ่ม 2 พันราย เสียชีวิต 8 เรือนจำเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อ 146 ราย กทม.ปรับประยุทธ์ 6,000 เหตุไม่สวมแมสก์ประชุม สธ.เผยเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ ใช้ซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ดูแลบุคลากร /ผู้ติดเชื้อ สปสช.พร้อมช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ กรณีติดเชื้อโควิด-19 จากการดูแลรักษาผู้ป่วย 

ป่วยเพิ่ม 2 พันราย เสียชีวิต 8 เรือนจำเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อ 146 ราย

26 เม.ย.2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 ศบค.แถลงยอดผู้ป่วย รายใหม่ วันที่ 26 เม.ย.64 ผู้ป่วยใหม่ 2,048 ราย ป่วยสะสม 57,508 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย สะสม 148 ราย 

วันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ปัจจุบัน (26 เม.ย. 64) พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 146 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 2 ราย และผู้ต้องขัง 144 ราย เป็นการตรวจพบเชื้อใหม่ในวันที่ 25 เม.ย.64 จำนวน 85 ราย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงเดิม โดยทั้งหมดยังอยู่ในระหว่างการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ จนกระทั่งมีการตรวจหาเชื้อซ้ำและพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังกล่าว ตามมาตรการเชิงรุกของกรมราชทัณฑ์ เพื่อสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่เรือนจำชั้นใน เพิ่มเติมจากมาตรการเดิมที่มีเพียงการกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ รับย้าย และผู้ต้องขังออกศาลเป็นระยะเวลา 14 วัน ที่จะทำให้ตรวจพบเชื้อและดูแลได้อย่างทันท่วงที โดยผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อทั้ง 144 ราย ปัจจุบัน ได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปรับประยุทธ์ 6,000 ไม่สวมแมสก์ประชุม

กรณีมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดหน้ากากอนามัยระหว่างการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล โดยการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีนผู้ร่วมประชุมหลัก ๆ มี 8 คน คือ

1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม 2. สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พลังงาน 3. อาคม เติมพิทยาไพสิษฐ์ รมว.คลัง 4. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค.ในฐานะคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก

5.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 6.นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ 7.นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

หลังจากการประชุม นายกรัฐมนตรีได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ.2563 โดยมีอัตราการเปรียบเทียบตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท

ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้มายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กล่าวหา ในฐานความผิดดังกล่าว นายกรัฐมนตรียินยอมให้ทำการเปรียบเทียบ จึงได้ให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ทำการเปรียบเทียบตามอัตราดังกล่าว

สอดคล้องกับเฟซบุ๊กแฟนเพจผู้ว่าฯ อัศวิน ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. โพสต์ข้อความถึงกรณีมีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดหน้ากากอนามัยระหว่างการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล นั้น

“หลังจากการประชุม นายกรัฐมนตรีได้แจ้งมายังผม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่

ผมจึงได้แจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ.2563 โดยมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท

ต่อมา ผมพร้อมด้วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต จึงเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กล่าวหา ในฐานความผิดดังกล่าว นายกรัฐมนตรียินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จึงได้ให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เปรียบเทียบปรับตามอัตราดังกล่าวครับ”

(เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย)

สธ.เผยเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ ใช้ซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ ดูแลบุคลากร /ผู้ติดเชื้อ

สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรเงิน จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ โควิด 19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 25,825.88 ล้านบาท ใช้ใน 39 โครงการโดยเป็นโครงการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  25,175.32 ล้านบาท และหน่วยงานนอก ได้แก่ กระทรวง อว.,โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ,โรงพยาบาลตำรวจ,สำนักอนามัย กทม. จำนวน 650.56 ล้าน เพื่อดำเนินการใน 5 แผนงาน ได้แก่ ค่าเยียวยา ค่าชดเชย ค่าเสี่ยงภัย อสม. 4,726.38 ล้านบาท ,จัดหายา วัคซีน ห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีน 2,655.30 ล้านบาท, การบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรคและการวิจัย โดย สปสช. 6,764.90 ล้านบาท, เตรียมสถานพยาบาลในการรักษาและกักตัวผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 10,182.73 ล้านบาท และรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาด 1,496.57 ล้านบาท

นพ.สุระ กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินไปแล้ว 13 โครงการ วงเงิน 17,610.48 ล้านบาท ได้แก่ ค่าบริการสาธารณสุข, ค่าตอบแทน อสม./อุปกรณ์ห้องแยกโรค ,พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ,จัดซื้อชุด PPE, Isolation Gown, N 95, Mask, วัคซีนโควิด 19, วัสดุควบคุมป้องกันโรค, เครื่องฉายรังสีรักษา, พัฒนาห้องปฏิบัติการ/เครื่องมือ/คุณภาพวัคซีน และค่าปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์  ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 ได้ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้ว 5,859.92 ล้านบาท คิดเป็น 33.28 % ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่รอจัดสรรอีก 26 โครงการ วงเงิน 8,215.40 ล้านบาท และมีวงเงินเหลือ 19,174.12 ล้านบาท

“การใช้เงินที่ได้มามีแผนการใช้ชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติทั้งการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล รวมถึงการวิจัยพัฒนา การจ่ายค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ ทำให้เรามียารักษาโรค มีวัคซีนเพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย มีการเพิ่มเตียง ขยายเตียงรักษาในรูปแบบต่างๆรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเหมาะสมกับอาการ เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจดูแลประชาชน โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ประชาชน ที่สำคัญงบประมาณที่นำมาใช้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรค เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีที่สุด” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว 

สปสช.พร้อมช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ กรณีติดเชื้อจากการดูแลรักษาผู้ป่วย 

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ให้บริการในระบบสาธารณสุข ทั้ง แพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอย่างหนักในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในฐานะที่เป็นด่านหน้า ทำให้มีความเสี่ยงในการรับเชื้อในการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล และควบคุมการแพร่กระจายโรค 

ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้ให้บริการทั้งบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ รองรับการช่วยเหลือเบื้องต้นหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการให้บริการกรณีโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง โดยเป็นไปตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. 2559”  

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในปี 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์รับเงินช่วยเหลือจากกรณีโควิด-19 แล้วจำนวน 1 ราย และล่าสุดในปี 2564 นี้ มีผู้ให้บริการรวมถึง อสม. ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 11 ราย ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 3 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายเป็น อสม.ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2563 แต่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือในปีนี้ ส่วนที่เหลือนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน   

ทั้งนี้ ในส่วนอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข กำหนดใน 3 กรณี ดังนี้ 

1. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท 

2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท 

3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net