Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าอยากเป็น ซีอีโอ ที่ดูดี ตอนนี้เป็นเวลาเหมาะที่สุดที่จะพูดถึงการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เพื่อเตรียมสังคมไทยในการเผชิญหน้ากับโลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบที่รุนแรงของการระบาดโควิด 19

เราได้ยินข้อเสนอ ความเห็น ของ ซีอีโอ ในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน การ ปฏิรูปภาครัฐในด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ การจัดเก็บภาษีรายได้ที่มีฐานแคบและกระจุกตัว การกระจายการลงทุนและการผลิตไปยังท้องถิ่นหรือพื้นที่ใหม่ๆ การลงทุน Infrastructure ด้าน Digital การเตรียมพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การจัดการมลพิษฝุ่น 2.5 (เพื่อการท่องเที่ยว?) ไปจนล่าสุด คือ การเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อการเปิดประเทศโดยเร็ว
 
ดูเหมือนว่า ข้อเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของเหล่านักธุรกิจขาใหญ่ เหล่านักวิชาการ ลอยลงมาจากสรวงสวรรค์ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

เป็นไปได้อย่างไรที่คนฉลาดๆที่ร่วมขบวนอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ ที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนี้ จะไม่เข้าใจว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาตั้งแต่มนุษย์ยังอยู่ในถ้ำด้วยซ้ำ การอยู่รวมเป็นกลุ่ม แบ่งงานกันทำ และสร้างแบบแผนของความสัมพันธ์ ทำให้มนุษย์ถ้ำค่อยๆค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าที่สลับซับซ้อนขึ้น จนกลายมาเป็นแบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้

ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจใดๆจะเกิดขึ้นได้อย่างโดดๆ โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่มีรากเหง้าจากคำอธิบายใหม่ๆต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ ยุคมืดในยุโรป ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบฟิวดัล ที่ใช้ในการตอบสนองต่อวิธีคิดของการครอบงำของเหล่าชนชั้นนำและศาสนาคริสต์ ทำให้ยุโรปกลายเป็นชนชาติที่ล้าหลังอยู่กว่าพันปี จนกระทั่งจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การค้าขายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเกิดการพิมพ์ที่ทำให้มนุษย์มีเสรีภาพมากขึ้นในการแสวงหาความรู้ด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์และพร้อมกับคำอธิบายใหม่ในเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ ทำให้ยุโรปพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองไปอย่างก้าวกระโดด เสรีภาพกลายเป็นฐานรากสำคัญของการเติบโตของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมของโลกในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา และยิ่งจะเป็นรากที่มีความสำคัญยิ่งๆขึ้น ในระบบเศรษฐกิจระดับโลกที่มีความพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิงในปัจจุบัน 

ประเทศไทยในสายตาของคนในโลก คือ ประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการ การเลือกตั้งเป็นเพียงรูปแบบ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคมที่มีเสรีภาพโดยแท้จริง ลองนึกภาพการสรุปสถานการณ์สำคัญที่สถานทูตทั่วโลกประชุมร่วมกับนักลงทุนในประเทศของตัวเอง เช่น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของไทยในประเด็นสำคัญๆ ไม่ได้รับการยอมรับ และมีปัญหาในการอธิบายต่อสาธารณะ และเกี่ยวพันกับการใช้เป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมือง การบังคับใช้กระบวนการยุติธรรมมีหลายมาตรฐาน ความตึงเครียดทางการเมืองที่รัฐไม่ประนีประนอมต่อการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เยาวชนคนหนุ่มสาว ไม่ยอมรับแนวทางการดำเนินการทางการเมืองของรัฐ และกำลังสะสมความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น ความไม่ยืดหยุ่นและไม่ปรับตัวของรัฐราชการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สังคมไทยเกิดความรุนแรงมากยิ่งๆขึ้นในอนาคต และการไม่ปฏิรูประบบราชการนำไปสู่ความล้มเหลวในการปฏิรูปทางการศึกษา ศักยภาพของประชากรและความสามารถในการแข่งขันมีแนวโน้มจะย่ำแย่ลง สวนทางกับระบบสาธารณสุขที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ไม่มีแนวทางของการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสวัสดิการ ยิ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความถดถอยยิ่งๆขึ้น ฯลฯ

ในสายตาของเยาวชนของสังคมไทย พวกเขาอายที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับขี้โกง กติกาที่เอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม โดยใช้ตรรกะง่ายๆว่า “เสรีภาพแบบไทยๆ” ชนชั้นนำที่กล่าวโทษนักการเมืองเป็นต้นเหตุแห่งความหายนะ ในขณะที่สิบกว่าปีของการแทรกแซงทางการเมืองของอำมาตย์ ทหาร รัฐราชการ และ ซีอีโอทั้งหลาย นำความเสื่อมถอย ตกต่ำในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความเห็นแก่ตัวที่ต้องการสงวนการครอบครองทรัพยากรของสังคมไว้ใช้กันในหมู่พวกเดียวกันเอง โดยไม่สนใจว่า เสรีภาพ ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้ในการเป็นมนุษย์ในยุคนี้ ที่ผ่านการอยู่ในถ้ำมาหลายแสนปี และเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบเศรษฐกิจแบบเสรี

ถ้าไม่ต้องคิดมาก ซีอีโอเหล่านี้ ล้วนเออออห่อหมกกับกติกาที่เอารัดเอาเปรียบคู่แข่งได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ก็เพราะพวกเขาเติบโตมากับกติกาที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขามาโดยตลอด ใช่หรือไม่ สัมปทานผูกขาดที่ได้มาง่ายๆ นโยบายที่ตนเองได้ประโยชน์ แหล่งทุนที่ตนเองเข้าถึงได้ไม่ยาก ค่าแรงที่กดไว้จะได้ไม่ต้องพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน ความร่วมมือกับรัฐอย่างใกล้ชิด จึงเป็นหนทางของความอยู่รอดของธุรกิจ 

เราจะขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การศึกษา รัฐรัชการที่ไร้ประสิทธิภาพ การกระจายรายได้ กระจายอำนาจ แก้ปัญหามลพิษ ไปจนถึงการร่วมมือในระดับโลกในเรื่องโลกร้อนที่กำลังจะเป็นภัยคุกคามเร่งด่วน และอื่นๆอีกมากมายทั้งหลายแหล่ได้ โดยไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองได้จริงหรือ

ถ้ารัฐธรรมนูญที่มีกติกาที่ไม่เป็นธรรมสุดๆแบบนี้ยังใช้ต่อไป ถ้าผู้กำหนดนโยบายของรัฐทางการเมืองยังผูกขาดโดยคนแก่ๆที่ไร้สมองและวิญญาณ ถ้าไม่ถกเถียงอย่างเปิดกว้าง เรื่องเสรีภาพ ความยุติธรรม ยอมฟังความเห็นที่แตกต่าง และให้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งที่มีความเป็นธรรม เป็นทางออก เราจะปฏิรูปโครงสร้างที่ล้าหลัง ผุกร่อนเหล่านี้ได้จริงๆเหรอ 

ข้อเสนอของซีอีโอเหล่านี้ ที่พยายามไม่พูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง อย่างดีก็ได้แต่ช่วยปะผุให้กับสังคมไทย ที่กำลังรอวันแห่งความเสื่อมถอยลง อนาคตจะอธิบายว่า แทนที่พวกเขาจะเป็นผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ตรงกันข้าม พวกเขากลับเป็นส่วนหนึ่งของพลังอนุรักษ์นิยมที่ล้าหลังในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

ข้อเสนอฯของพวกเขา นอกจากเราจะได้อานิสงส์จากการได้รับวัคซีนเร็วขึ้นแล้ว เรายังได้เห็นคนบางคนที่เรานึกว่าฉลาด กลายเป็นตัวตลกที่เราขำไม่ออก 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net