กายาศาสตราวุธของผู้ถูกกดขี่: การเมืองเรื่องการอดอาหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุใดการอดอาหารจึงเป็นหนึ่งในรูปแบบวิธีการประท้วงของบรรดานักต่อสู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน? เราจะสามารถทำความเข้าใจกับปฏิบัติทางการเมืองนี้ผ่านกรอบคิดใดได้บ้าง? หากศตวรรษที่21คือศตวรรษแห่งการประท้วงทั่วโลก มีกรณีศึกษาใดบ้างที่สะท้อนการต่อสู้ผ่านการอดอาหารประท้วง โดยเฉพาะการต่อสู้ในหมู่นักโทษที่ถูกจองจำจากคดีทางการเมือง?

เมื่อเอ่ยถึงการต่อสู้ ต่อต้านกับระบอบที่กดขี่และเหลื่อมล้ำ เราต่างมักจะนึกถึงการเผชิญหน้า ปะทะกับอำนาจที่ผู้ต่อต้านมองว่าไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบผ่านคำปราศรัย บทเพลง งานเขียนต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจับอาวุธขึ้นสู้ ในโลกประชาธิปไตย การต่อสู้อาจหมายถึงแค่การรณรงค์ล่ารายชื่อ ยื่นฎีกาข้อเรียกร้อง เพียงเท่านี้ผู้มีอำนาจก็อาจตระหนักถึงแรงกดดันและยอมสนองความต้องการของผู้ต่อต้าน

อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ การอดอาหารประท้วงที่อาจไม่เข้าข่ายรูปแบบการต่อต้านข้างต้นกลับเป็นยุทธวิธีที่นักต่อสู้ทั่วโลกหยิบฉวยมาใช้ในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง มหาตมะ คานธีน่าจะเป็นนักอดอาหารประท้วงคนแรกๆ ที่ผู้อ่านนึกถึง ยุทธวิธีนี้ถูกใช้ร่วมกับการต่อสู้รูปแบบอื่นๆ เช่น การเดินทางไกลและทำสัตยาเคราะห์เกลือ โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ ผู้เขียนไม่ขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อสู้ของคานธี เนื่องจากน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด[1]

นอกจากนี้ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ท่ามกลางความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ยังไม่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับบุรุษ ไม่เพียงแต่พวกหล่อนไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทน พวกหล่อนยังถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ทรัพย์สินที่ถูกครอบครองโดยบิดาหรือสามีเท่านั้น ในยุคแห่งการเรียกร้องสิทธิสตรีระลอกที่หนึ่ง มีนักสตรีนิยมจำนวนมากหยิบฉวยเอาการอดอาหารประท้วงเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องทางการเมืองของตน[2] สำหรับผู้ที่สนใจการต่อสู้ของนักสตรีนิยมระลอกที่หนึ่งในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนแนะนำให้ดูภาพยนตร์เรื่อง Iron Jawed Angels (2004)[3] ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากที่น่าจดจำเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วงของเหล่านักโทษการเมืองหญิงที่ถูกจับเพียงเพราะไปยืนอ่านรัฐธรรมนูญหน้าทำเนียบขาว ฉากเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธไม่ทานอาหารของนักเคลื่อนไหวนามว่า Alice Paul (แสดงโดย Hilary Swank) ในโรงอาหารของคุก จากนั้นเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ ในห้องก็วางช้อนส้อมตาม พลังของจำนวนนักโทษที่มีมากกว่าและเจตจำนงค์ที่แน่วแน่ทำให้เจ้าที่ราชทัณฑ์ต้องรีบลาก Paul ออกจากห้องทันที Paul ขัดขืนและถูกลากเข้า “ห้องบังคับให้อาหาร (forced feeding)” ที่รายล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หมอ และนักโภชนาการ หล่อนถูกจับนั่งเก้าอี้ หัวและแขนของหล่อนถูกพันธนาการ ปากของหล่อนยังคงเม้มปิดแน่น เหล่าผู้เชี่ยวชาญปิดจมูกไม่ให้หล่อนหายใจ ในที่สุดสตรีนักอดอาหารก็ต้องยอมจำนนเปิดปากของหล่อน กรวยและสายยางให้อาหารถูกยัดเข้าปากหล่อนทันที เจ้าหน้าที่รัฐรีบเทอาหารเหลวใส่กรวย น้ำตาของหล่อนไหลออกมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเจ็บปวดทางสายที่ใส่ลงไปในท่ออาหารหรือเพราะความคับแค้นที่รัฐขัดเจตจำนงค์ของหล่อน     

ที่มา: https://alicepaulleaderlegacy.weebly.com/force-feeding.html

อาจกล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นการล่าอาณานิคมหรือระบอบปิตาธิปไตย ผู้ถูกกดขี่ต่างใช้การอดอาหารประท้วงเป็นหนึ่งในการต่อสู้คัดง้างกับระบอบที่ไม่เป็นธรรม หากเราจะพยายามทำความเข้าใจปฏิบัติการทางการเมืองนี้ ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่าการอดอาหารคือรูปแบบการต่อต้านของผู้ถูกกดขี่ที่มีต้นทุนต่ำ พวกเขาอาจไม่มีอำนาจ ทรัพยากรหรือกำลังมากพอในการเผชิญหน้ากับระบอบที่กดขี่พวกเขา ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงใช้ร่างกายของตัวเองเป็นพื้นที่ทางการเมืองแห่งการต่อสู้ ร่างกายที่ผ่ายผอมพร้อมเจตจำนงค์ที่แน่วแน่กลายเป็นสัญลักษณ์ให้คนในสังคมตระหนักถึงความอยุติธรรมของระบอบ บ่อยครั้งการอดอาหารประท้วงมักถูกมองผ่านกรอบสันติวิธี มันถือได้ว่าเป็นอารยขัดขืนประเภทหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการอดอาหารประท้วงไม่ใช่การต่อต้านเชิงรุก มันปราศจากการใช้ความรุนแรงทำลายทำร้ายศัตรูทางการเมือง บ่อยครั้ง ผู้ต่อสู้มักยอมให้ผู้มีอำนาจจับกุม ยอมถูกจองจำ ในแง่นี้ การอดอาหารไม่ได้มุ่งสั่นคลอนกายภาพของรัฐและระเบียบที่เป็นอยู่ หากแต่สั่นคลอนมโนธรรมสำนึกของผู้มีอำนาจและคนในสังคมเสียมากกว่า   

บทความชิ้นนี้มีเป้าหมายบอกเล่าเรื่องราวการอดอาหารของผู้ประท้วงในศตวรรษที่21 โดยจะเจาะลึกไปที่กรณีนักโทษชาวตุรกี เรื่องราวการต่อสู้อันแสนทรมาน ยืดเยื้อ ยาวนาน กระนั้นก็มั่นคง แน่วแน่ และ “ดื้อด้าน” อีกทั้งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตนับร้อย น่าจะเป็นบทเรียนเชิงเปรียบเทียบที่มีประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อปรากกฎการณ์อดอาหารของนักต่อสู้ของไทย นอกจากนี้บทความยังมุ่งทำความเข้าใจการอดอาหารประท้วงผ่านกรอบทฤษฎีการเมืองที่ก้าวข้ามมุมมองแบบสันติวิธีและการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ที่ไม่มีต้นทุน ทั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่ด้านล่างนี้ผู้เขียนสรุป เรียบเรียงมาจากหนังสือชื่อ Starve and Immolate: The Politics of Human Weapons (2014) ของ Banu Bargu หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของหล่อน โดยหล่อนได้ลงพื้นที่ไปคลุกคลี ใช้ชีวิตกับผู้อดอาหารประท้วงในตุรกี และบางครั้งก็อยู่ข้างเตียงนอนจนนักสู้เหล่านี้สิ้นลมหายใจ  

เส้นทางการต่อสู้ด้วยวิธีการอดอาหารของนักโทษทางการเมืองตุรกีในทศวรรษที่ 2000

การอดอาหารประท้วง และในบางกรณีคืออดอาหารจนเสียชีวิต (fasting to death) เป็นยุทธวิธีการประท้วงที่บรรดานักเคลื่อนไหวชาวตุรกีต่างคุ้นเคย เมื่อปีที่แล้ว (2020) Ebru Timtik ทนายความสิทธิมนุษยชนหญิงผู้ถูกรัฐตุรกีจับกุมด้วยข้อหาก่อการร้าย และต้องโทษจำคุกสิบสามปีกว่า ได้อดอาหารภายในเรือนจำเป็นเวลา 238 วันจนตัวตายเพื่อคัดค้านกระบวนการยุติธรรมของตุรกี[4] ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน นักดนตรีฝ่ายซ้ายชื่อ Ibrahim Gökçek ก็ได้เสียชีวิตจากการอดอาหาร (เป็นเวลา 288 วัน) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปล่อยตัวภรรยาของเขาซึ่งเป็นเพื่อนร่วมวงและถูกจับข้อหาเกี่ยวพันกับก่อการร้าย[5]   


 รูปสุดท้ายของ Timtik ถ่ายจากห้องพยาบาลในเรือนจำ
ที่มา: 
https://www.arabobserver.com/jailed-turkish-lawyer-ebru-
timtik-dies-on-238th-day-of-hunger-strike/

น่าสนใจว่า วัฒนธรรมการอดอาหารประท้วงของนักต่อสู้ชาวตุรกีเกิดขึ้นทั้งในและนอกเรือนจำ และดูจะเป็นแนวทางการต่อต้านของนักเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายและเห็นใจชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด เรื่องราวความเป็นมาของการอดอาหารประท้วงในตุรกีต้องย้อนรอยกลับไปที่ปี 2000 เดือนตุลาคม มีนักโทษการเมือง (ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวกับองค์กรฝ่ายซ้ายและถูกจับกุมด้วยข้อหาก่อการร้าย) นับร้อยอดอาหารประท้วงเพื่อตอบโต้มาตรการควบคุมสอดส่องนักโทษที่กระชับเคร่งครัดมากขึ้นของเรือนจำ รวมถึงการสร้างห้องขังแบบพิเศษเพื่อขังเดี่ยวและกีดกันมิให้ผู้ต้องขังมีชีวิตทางสังคม หนึ่งเดือนผ่านไป รัฐบาลเพิกเฉยและมิได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของเหล่านักอดอาหาร ผู้ประท้วงจึงยกระดับการอดอาหารโดยประกาศว่าจะอดอาหารจนตาย แม้จะได้รับความเห็นใจจากองค์กรภาคประชาสังคมภายนอก แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้รัฐปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ สองเดือนต่อมา รัฐตุรกีดำเนินการย้ายนักโทษที่อดอาหารประท้วงไปยังคุกพิเศษ พร้อมออกมาตรการรับมือที่มีชื่อเปี่ยมความปรารถนาดีว่า “Operation Return to Life (ปฏิบัติการคืนชีวิต)” โดยรัฐอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการทำร้ายตัวเองของนักโทษ เหล่านักอดอาหารต่างขัดขืนการโยกย้ายและปฏิเสธการยัดเยียดชีวิตจากรัฐจนเกิดเป็นจลาจลขึ้นภายในเรือนจำ ผลที่น่าตลกร้ายจากปฏิบัติการ “คืนชีวิต” ก็คือ มีนักโทษสามสิบคนเสียชีวิต (สาเหตุการเสียชีวิตมาจากถูกเผา ยิง และรมแก็ส)

สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นพร้อมๆ กับสหายแนวร่วมอดอาหารในเรือนจำที่ทวีจำนวนขึ้นตามลำดับ มิหนำซ้ำนักอดอาหารเหล่านี้ยังเพิ่มรูปแบบการต่อสู้ใหม่ บ้างก็เผาตัวเอง บ้างก็ผูกคอตาย ในช่วงกระแสสูงของการเคลื่อนไหว มีผู้ต้องขังจำนวนถึง 1500 คนร่วมอดอาหาร นอกจากนี้ แรงกดดันจากภาคประชาสังคมภายนอกยังเพิ่มมากขึ้น เกิดความวุ่นวายบนท้องถนน สุดท้าย ในเดือนพฤษภาคม ปี2001 รัฐบาลตุรกีจึงยอมถอย รัฐเลือกที่จะอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษ โดยเฉพาะพวกแกนนำอดอาหารสายฮาร์ดคอร์  

ดูเหมือนเรื่องราวจะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายต่อต้าน อย่างไรก็ตาม การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ข้อเรียกร้องแรกเริ่มเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของนักโทษ มาตรการกระชับความมั่นคง และคุกพิเศษยังดำเนินต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักโทษทางการเมืองบางส่วนที่แม้จะได้รับอิสรภาพแล้ว ยังยืนกรานจะอดอาหารจนตายต่อไป นักเคลื่อนไหวเหล่านี้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดและอดอาหารบนเตียงต่อไปในบ้านที่ถูกเรียกว่า resistance house หมู่บ้านของนักสู้เหล่านี้คราคร่ำไปด้วยมิตรสหาย ญาติโยม และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ คนเหล่านี้เดินทางมาให้กำลังใจและการสนับสนุนด้านอื่นๆ   

แน่นอนว่าการยืนกรานอดประท้วงภายหลังการปล่อยตัวนี้แม้จะได้รับความสนใจจากสื่อ และแรงสนับสนุนของภาคประชาสังคมในช่วงแรก แต่ก็ถูกเพิกเฉยจากฝ่ายรัฐ อีกทั้งเมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป สภาพนักสู้ที่ผอมโซบนเตียง และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นกลับกลายเป็นความชาชินของสังคม ความตายจากการอดอาหารประท้วงนี้ถูกมองว่าเป็นความตายที่ไม่มีค่าและไม่เป็นข่าว ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรฝ่ายซ้ายต่างกลายเป็น สิ่งที่Banuเรียกว่า passive spectator กล่าวคือ พวกเขาตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กล่าวคือ ด้านหนึ่ง รัฐบาลตุรกีก็เดินหน้าเรื่องคุก ไม่รู้สึกรู้สากับความตายของผู้อดอาหาร อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็เห็นใจผู้ประท้วง และโศกเศร้ากับสูญเสียชีวิตคนแล้วคนเล่า บรรดานักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน หรือแกนนำสหภาพแรงงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกร้อง “สิทธิในการมีชีวิตอยู่” ให้แก่นักอดอาหารประท้วงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม นักสู้เหล่านี้กลับยืนกรานใน “สิทธิที่จะตาย” อีกนัยหนึ่ง แม้การอดอาหารจนตายจะถูกมองว่าเด็ดเดี่ยวและแน่วแน่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป มันก็อาจจะถูกมองว่า “ดื้อด้าน” และ “ได้ไม่คุ้มเสีย” แม้กระทั่งในสายตาของมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ โดยเฉพาะเมื่อข้อเรียกร้องไม่ถูกขานรับโดยผู้มีอำนาจและความสูญเสียกลับมีแต่ในฝ่ายผู้ต่อต้านเสียเอง จวบจนปี2007 ทางกลุ่มเคลื่อนไหวก็ยุติการอดอาหารประท้วงที่ยาวนานนี้ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐตุรกียอมผ่อนปรนโดยปรับเปลี่ยนมาตรการจัดการนักโทษในเรือนจำเล็กน้อย กล่าวคือคุกพิเศษของรัฐไม่ได้ทำการขังเดี่ยวผู้ต้องหาอย่างสมบูรณ์ แต่ได้จัดหาเวลาบางส่วนให้ผู้ต้องหาได้พบปะกับคนอื่นๆ นี่คือผลลัพธ์จากการต่อสู้นับตั้งแต่ปี2000 นี่คือผลลัพธ์ที่แลกมากับ 122 ชีวิตของนักสู้ที่อดอาหารจนตัวตาย

การทำลายทำร้ายตัวเองในฐานะอาวุธทางการเมือง

หนังสือ Starve and Immolate ขอ Banu พยายามทำความเข้าใจ การทำลายทำร้ายตัวเองในฐานะยุทธวิธีการประท้วงของนักโทษการเมือง นอกจากนี้Banuยังมองว่าการอดอาหารประท้วงเป็นรูปแบบการต่อต้านที่ถูกหยิบฉวยมาใช้ทั่วโลกไม่เพียงแต่ในตุรกีเท่านั้น กรณีที่น่าสนใจอีกกรณีก็คือ การอดอาหารประท้วงของนักโทษในคุกกวนตานาโมซึ่งเกิดขึ้นในปี 2002 คุกแห่งนี้ฉาวโฉ่ไปด้วยเรื่องราวการทรมานรูปแบบต่างๆ และปิดกั้นไม่ให้ผู้ต้องขัง (ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย) เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม การอดอาหารประท้วงระลอกแรกจบลงด้วยการที่เหล่านักสู้แห่งกวนตานาโมถูกบังคับให้ทานอาหาร อย่างไรก็ตาม การอดอาหารประท้วงก็กลับมาใหม่อีกครั้งในปี 2005 ครั้งนี้มีนักโทษกว่า 200 คน (1/3ของนักโทษทั้งหมดในกวนตานาโม) ร่วมการประท้วงด้วย การต่อต้านของพวกเขาไม่ใช่แค่อดอาหาร หากแต่ยังครอบคลุม การปฏิเสธไม่อาบน้ำ ไม่ร่วมกิจกรรมพักผ่อนสันทนาการที่เรือนจำจัดให้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเรียกร้องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงน้ำที่สะอาด การต่อสู้ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการและแนวทางการปฏิบัติต่อนักโทษในกวนตานาโม  

นอกจากนี้ Banu ยังเชื่อมโยงการอดอาหารประท้วงเข้ากับการต่อต้านรูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะ “ทำลายตัวเอง (self-destructive)” อาทิ การตัดอวัยวะตัวเอง เย็บตา เย็บปาก เผาตัวเอง ทานยาเกินขนาด เป็นต้น การกระทำความรุนแรงต่อตัวเองเหล่านี้ล้วนถูกหยิบฉวยมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของบรรดานักต่อต้านร่วมสมัย อนึ่ง การกระทำเหล่านี้แตกต่างไปจากระเบิดฆ่าตัวตาย (suicide bombing) อันอาจนับได้ว่าเป็นการทำลายตัวเองเพื่อบรรลุมูลเหตุทางการเมืองแบบหนึ่ง ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือ การระเบิดฆ่าตัวตายก่อให้เกิดความเสียหายเชิงกายภาพภายนอก และการสูญเสียชีวิตของผู้อื่น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอดอาหารหรือการทำร้ายตัวเองที่รูปแบบอื่นๆ ข้อแตกต่างอีกประการก็คือ ในขณะที่ระเบิดฆ่าตัวตายคือความตายที่เกิดแก่ผู้กระทำการอย่างฉับพลัน การอดอาหารจนตัวตายกลับใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน และย่อมทรมานทั้งทางกายและใจต่อผู้กระทำการมากกว่าหลายเท่า (และหมายความว่า มันต้องใช้ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และอดทนในระดับที่ผู้เขียนเองก็จินตนาการไม่ได้)

หนังสือของ Banu พยายามทำความเข้าใจถึงนัยยะทางการเมืองของการกระทำเหล่านี้ บ่อยครั้งการต่อต้านโดยการทำร้ายตัวเองมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับมูลเหตุทางศาสนา ผู้อดอาหารจนตายได้รับการเชิดชูว่าเป็นผู้พลีชีพ (martyr) ในนามของความเชื่อทางศาสนา ในอีกด้านหนึ่ง หากมองในมุมของรัฐ รัฐก็มักสร้างคำอธิบายว่าพฤติกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกับสภาวะผิดปกติทางจิต เป็นปัญหาส่วนบุคคลเพื่อลดทอนนัยยะทางการเมืองของผู้ประท้วง ข้อโต้แย้งหลักของBanuในหนังสือเล่มนี้ก็คือ การทำลายตัวเองจนตายของนักสู้ร่วมสมัยเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีนัยยะทางศาสนาเสมอไป และเป็นปฏิบัติการทางการเมืองสมัยใหม่ได้ Banuมองว่ามันสะท้อนการสร้างชีวิตหรือการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางการเมือง โดยมีเป้าหมายในการปฏิเสธการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ (Acts of corporeal, existential, and total resistance and refusals to participate in one’s own dehumanization) Banuใช้คำว่า  Weaponization of life หรือการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นอาวุธ โดยยืนกรานว่า ชีวิตที่ดำรงอยู่นั้นไม่มีคุณค่าหากมันเป็นแค่ชีวิตที่ถูกยัดเยียดและควบคุมโดยรัฐ เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่แค่ในเชิงชีวภาพโดยปราศจากการเติมเต็มซึ่งเป้าหมายทางการเมือง มันอาจจะดูเป็นเรื่องนามธรรมไปสักนิด แต่ Banuกล่าวสรุปไว้ว่า นี่คือการใช้ต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงทำลายชีวิตตัวเองโดยมุ่งที่จะสร้างความเป็นมนุษย์ให้แก่ตัวนักสู้

ในทัศนะของ Banu เราจะเข้าใจการต่อต้านผ่านการทำลายทำร้ายตัวเองได้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจรูปแบบของอำนาจในรัฐสมัยใหม่ด้วย กล่าวคือ ในรัฐสมัยใหม่ อำนาจทำงานในลักษณะที่ซับซ้อนและแยบยลมากขึ้น อำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในรูปของการฆ่าและใช้ความรุนแรงที่ป่าเถื่อนโจ่งแจ้งเฉกเช่นยุคศักดินาหรือสมบูรณายาสิทธิราชย์ อำนาจมักอยู่ในรูปแบบของการสอดส่องตรวจตรา ระเบียบวินัย ในนามความรู้ อำนาจครอบงำร่างกายและพฤติกรรมของเราผ่านการอ้างวาทกรรมที่สวยหรูเช่น ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความสะอาด และสุขภาวะที่ดี[6] เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนสภาวะสังคมที่เมตตา หรือเป็นธรรมมากขึ้น หากแต่สะท้อนเทคโนโลยีของอำนาจในการครอบงำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียมากกว่า

คุกถือเป็นภาพสะท้อนของอำนาจสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ในอดีต อาชญากรหรือผู้ละเมิดรัฐมักถูกลงโทษด้วยความรุนแรง พวกเขาถูกทรมานในที่สาธารณะ ร่างกายของพวกเขาถูกตัด ฉีก เฉือนต่อหน้ามวลชนเพื่อให้ไพร่ฟ้าได้สำเหนียกว่าอย่าริอ่านละเมิดผู้ปกครอง อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ สถาบันคุกและระบบการลงโทษอย่างเป็นระบบ ในนามของความยุติธรรมและกฏหมายได้ถือกำเนิดขึ้น นักโทษหรือผู้ต้องขังต้องใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงที่ซ่อนเร้นจากสาธารณะ พวกเขาต้องเผชิญกับอำนาจแห่งระเบียบวินัย (หรือการดัดสันดาน) อำนาจที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างร่างกายเชื่องๆ พร้อมอัตลักษณ์ตัวตนที่สนองประโยชน์ของรัฐและทุน Banu มองว่าการอดอาหารประท้วงของนักโทษการเมืองในตุรกีมีนัยยะของการต่อต้านระบอบแห่งอำนาจประเภทนี้ การอดอาหารซึ่งหมายถึงการละเว้นไม่รับสิ่งที่จะช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายและชีวิต คือการประกาศว่าชีวิตเชื่องๆ ภายใต้ระบอบอำนาจเป็นอยู่นั้นคือชีวิตที่ไม่มีคุณค่า เป็นชีวิตที่ถูกพรากความเป็นการเมือง เป็นชีวิตที่มีค่าเพียงแค่การดำรงอยู่เชิงชีวภาพ สำหรับBanuแล้ว เราสามารถเข้าใจการอดอาหารประท้วงจนตายว่าเป็นการต่อต้านรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Necro-resistance มันคือการปฏิเสธการครอบงำทางอำนาจทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและโครงสร้าง โดยขัดขวางไม่ให้รัฐเข้ามามีอำนาจในจัดการควบคุมชีวิต หรือแม้กระทั่งกำหนดว่าชีวิตใดควรค่าที่จะอยู่หรือตาย

บทสรุป

ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ (รวมถึงBanu) ไม่ได้มุ่งจะสนับสนุนการอดอาหาร หรือเชียร์ให้เหล่านักสู้ยืนกรานอดอาหาร ทรมานร่างกายของตนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิต บทความชิ้นนี้มุ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ผ่านการอดอาหาร ในเชิงประวัติการต่อสู้ร่วมสมัย การอดอาหารถือเป็นยุทธวิธีที่ผู้ถูกกดขี่หยิบฉวยมาต่อสู้ ไม่ว่ากับระบอบอาณานิคม ระบอบปิตาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมของรัฐสมัยใหม่ หรือแม้กระทั่งการต่อต้านระบอบแห่งอำนาจที่แยบยลที่มุ่งหล่อหลอมให้เราเป็นพลเมืองเชื่องๆ ของรัฐและทุน

จากการศึกษากรณีการอดอาหารประท้วงร่วมสมัย โดยเฉพาะในหมู่นักโทษการเมืองของตุรกี จะเห็นได้ว่า การอดอาหารมักจะดำเนินควบคู่ไปที่กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบอื่นๆ ข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนองได้ก็ต้องพึ่งแรงกดดันจากภาคประชาสังคมนอกเรือนจำด้วย นอกจากนี้ การอดอาหารจะกลายมาเป็นพลังทางการเมืองที่กดดันผู้มีอำนาจได้จะต้องมีแนวร่วมอดอาหารที่เป็นหมู่คณะ

ดังที่กรณีของตุรกีให้บทเรียนแก่เรา แม้รัฐจะขานรับและยอมถอยบ้าง การอดอาหารประท้วงของนักโทษนี้ มีการสูญเสียชีวิต และเลี่ยงความรุนแรงและการปะทะกับรัฐไม่ได้ อีกทั้ง เมื่อนักสู้อดอาหารยืนกรานจะดำเนินการต่อไปในระดับปัจเจกบุคคล เมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน พวกเขาก็เสี่ยงที่จะถูกละเลยจากทั้งสื่อสาธารณะ องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนเองก็คงไม่ได้อยู่ในสถานะที่ตัดสินได้ว่า มันคุ้มกันหรือไม่ ในการชั่งน้ำหนักระหว่างความทรมานและชีวิตของนักสู้ใจเด็ดเหล่านี้ กับการที่รัฐยอมผ่อนปรนสนองข้อเรียกร้องบางส่วน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Banu ก็คือ เราไม่ควรดูแคลนเหล่านักสู้ทั่วโลกที่ดูเหมือนจะ “ดื้อด้าน” ดำเนินการทำลายทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะอดอาหาร ตัดอวัยวะ เย็บปาก เย็บตา หรือเผาตัวเอง การกระทำเหล่านี้หาใช่การกระทำที่บ้าบิ่นหรือไร้เหตุผล ภายใต้ระบอบที่อำนาจกระทำต่อร่างกายและจิตใจของเราอย่างแยบยล ภายใต้ระบอบแห่งอำนาจที่มุ่งสร้างชีวิตที่เชื่องชา ยอมจำนน การต่อต้านที่อาจดู self-destructive หรือใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพันอาจส่องสะท้อนการยืนกรานการดำรงอยู่ของชีวิตทางการเมืองก็เป็นได้       

 

อ้างอิง

[1] ดูชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: เผชิญการอดอาหารประท้วงด้วยความเมตตาและเอื้ออาทร,” Way Magazine, 24 มีนาคม 2021, https://waymagazine.org/hunger-strike-and-fasting/

[2] ดูชานันท์ ยอดหงษ์, “การประท้วงอดอาหาร ขบวนการสตรีนิยมคลื่นลูกแรก และการวัดมนุษยธรรมของผู้มีอำนาจ,” The Matter, 20 เมษายน 2021, https://thematter.co/thinkers/hunger-strike-in-faminism-1st-wave/140725

[3] https://www.youtube.com/watch?v=uh91kJ5XG_g (เนื้อหาในภาพยนตร์อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียน ฉากการประท้วงอดอาหารนี้สะท้อนนัยยะทางการเมืองที่ทรงพลังมากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง)

[4] Suzan Fraser, “Turkish lawyer dies on hunger strike demanding fair trial,” The Washington Post, 28 August 2020, https://www.washingtonpost.com/world/europe/turkish-lawyer-dies-on-hunger-strike-demanding-fair-trial/2020/08/28/313fc9d4-e925-11ea-bf44-0d31c85838a5_story.html.

[6] ดู Michel Foucault, Discipline & Punish: The Birth of the Prison, trans. Alan Sheridan  (New York : Pantheon Books, 1977).

หมายเหตุ: ผู้เขียนเขียนงานชิ้นนี้หลังจากได้ทราบว่าเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์นักโทษทางการเมืองของไทยซึ่งถูกจองจำและอดอาหารประท้วงมาเป็นเวลาเกินหนึ่งเดือน ได้สอบถามกับผู้มาเยี่ยมว่ามีนักวิชาการออกมาพูดเรื่องการอดอาหารบ้างหรือไม่ ผู้เขียนเกิดความละอายใจ อีกทั้งยังขำขื่นกับความไร้น้ำยาของตัวเองและแวดวงวิชาการไทยโดยรวม แม้จะเป็นงานเขียนที่เขียนขึ้นมาอย่างเร่งรีบ และคงไม่ได้ส่งผลกระทบที่สลักสำคัญใดใดต่อสังคม มิพักต้องพูดถึงการกดดันให้รัฐไทยคืนอิสรภาพให้แก่นักโทษทางการเมือง ผู้เขียนขออุทิศงานชิ้นนี้ให้แก่เพนกวินและนักโทษทางการเมืองที่ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรมในปัจจุบัน   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท