Skip to main content
sharethis

ศบค.แถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด 2,179 คน เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน ยังมีผู้ป่วยรอเตียงอีก 201 คน ด้านครม.มีมติที่ประชุมให้เพิ่มค่ารักษาของผู้ป่วยจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และค่าพาหนะส่งตัวผู้ป่วย ส่วนที่ทำเนียบสั่งงดสื่อเข้าพื้นที่ตั้งแต่พรุ่งนี้ถึง 7 พ.ค.นี้ อ้างเหตุสื่อทำเนียบไม่ทำตามข้อกำหนด

27 เม.ย.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การระบาดและการรักษาโควิด-19 ประจำวัน โดยแสดงยอดผู้ป่วยรายใหม่ 2,179 คน มียอดสะสม 59,687 คน และขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา 25,973 คน อาการหนัก628 คน และใส่เครื่องช่วยหายใจ 169 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 163 คน

ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพิ่ม 40,184 คน มียอดสะสม1,012,388 คน ส่วนผู้ที่ได้รับคซีนเข็มที่สองแล้วมีเพิ่ม 37,182 คน ยอดสะสม 214,644 คน

นพ.ทวีศิลป์อธิบายถึงผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมา 15 คนว่าเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันสูง ไตเรื้อรัง ทั้งนี้ในสไลด์ปรากฏว่ามีผู้ป่วยที่มีทั้งอาการอัลไซเมอร์ พากินสันและปอดอุดตันเรื้อรังร่วมด้วย

ทั้งนี้โฆษก ศบค. อธิบายถึงกรณีที่ยังคงมีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยว่า มาตรการชะลอการเดินทางเข้าประเทศนั้นจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.2564นี้ และทำความเข้าใจว่าบุคคลที่เดินทางเข้ามาได้อนุญาตเอาไว้ก่อนแล้วไม่ใช่ความผิดของใครเพราะบางคนก็เป็นญาติของคนที่อยู่ในไทยบางคนก็มีใบอนุญาตทำงาน (Work permit) อยู่แล้วแต่ทุกคนที่เดินทางเข้ามาก็จะอยู่ในสถานกักโรคของรัฐไม่ได้ปล่อยออกมาเดินในชุมชนตั้งแต่วันแรกที่เดินทางเข้ามาถึง และทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้แจ้งว่าก็มีบางรายที่จะเดินทางมาหลังวันที่ 1 พ.ค.จะขอใช้ข้อกำหนดเดิมซึ่งทางที่ประชุมก็บอกว่าไม่ได้ ดังนั้นก็จะไม่มีผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ไม่ได้แล้ว

นพ.ทวีศิลป์แสดงสถิติผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในรอบเดือนเมษายนว่ามีรวมทั้งหมด 30,635 คน จากการตรวจสอบพบคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ กรุงเทพเป็นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว สถานดูแลผู้สูงอายุ ชุมชนแออัดคลองเตย สำนักงานตำรวจและศาล ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้า ส่วนที่เชียงใหม่คลัสเตอร์ใหม่ที่พบอยู่ในศูนย์เด็กเล็ก งานเลี้ยง ลานธรรม สถานบันเทิง เรือนจำ ค่ายอาสาของนักศึกษา ทางด้านนทบุรีคลัสเตอร์ใหม่ที่พบคือ งานสัมมนา สถานบันเทิง ตลาด ร้านอาหาร สมุทรปราการพบเจอในสถานบันเทิง งานอีเวนท์ ฟิตเนส สัมมนาและพนักงานการไฟฟ้า

ส่วนประเด็นเรื่องเตียง นพ.ทวีศิลป์แจงว่าจากการที่มีผู้ป่วยติดต่อมาตามสายด่วนช่องทางต่างๆ ยอดเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ได้นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้ว 1,182 คน แต่ยังมียอดผู้ป่วยรอเตียงในวันที่ 26 เม.ย.อีก 201 คน

ครม.อนุมัติเพิ่มค่ารักษาผลข้างเคียงวัคซีน-ค่าพาหนะ

วันนี้มติชนออนไลน์รายงานว่าไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องหลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (ฉบับที่ 3)

สาระสำคัญของมติดังกล่าวคือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยาม “ค่าใช้จ่าย” ให้ครอบคลุมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีน หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขนี้

ส่วนนิยามของผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่เกิดอาการแพ้และอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการฉีดจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด

ไตรศุลี กล่าวว่าหลักเกณฑ์ที่มีการแก้ไขนี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนกลับไปถึง 24 ธ.ค.2563 แต่สำหรับประเด็นเรื่องผู้ป่วยจากการแพ้วัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มี.ค.2564

รองโฆษกสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่ามติ ครม.นี้ได้เพิ่มในส่วนของค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วย เช่น

  • ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท
  • ค่าเรือหรือแพขนานยนต์ส่งต่อผู้ป่วย จ่ายชดเชยตามระยะทางและชนิดของเรือ เช่นระยะทางไปกลับ 5-15 กิโลเมตร เรือหางยาวเร็ว 1,200 บาท เรือเร็ว 2,000 บาท เรือเร็ว 2 เครื่องยนต์ 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ 101 กิโลเมตรเป็นต้นไป เรือเร็ว 35,000 บาท
  • ส่วนค่าอากาศยานปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์ กรณีเฮลิคอปเตอร์ 1 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 40,000 บาท เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 80,000บาท เฮลิคอปเตอร์ 3 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 120,000 บาท และเฮลิคอปเตอร์ 4 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 160,000 บาท สำหรับค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท

การเพิ่มในส่วนของค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยนี้เป็นไปตามอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

ทำเนียบสั่งงดสื่อเข้าพื้นที่ 10 วัน

วันเดียวกันนี้ ไทยรัฐออนไลน์รายงานในประเด็นที่เกี่ยวกับโควิด-19 อีกว่านัทรียา ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรักษาการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านประสานกิจการภายในประเทศ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย ทั้งตำรวจ ผู้ติดตามผู้บริหาร และแม่บ้าน เพื่อลดความความเสี่ยงต่อสื่อมวลชนที่เข้ามาทำหน้าที่ในทำเนียบที่มีลักษณะการทำงานขัดแย้งกับข้อกำหนด เช่น การเว้นระยะห่างหรือการงดรุมสัมภาษณ์ อีกทั้งไม่ทราบว่าสื่อมวลชนได้ไปทำข่าวที่ไหนมาบ้างจึงเป็นความเสี่ยงของทุกคน

สำนักเลขาธิการนายกฯ ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอของสำนักโฆษก จึงให้มีมาตรการให้สื่อมวลชนงดเข้ามาปฏิบัติงานภายในทำเนียบตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. - 7 พ.ค.2564 และเข้าได้อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. โดยระหว่างนี้จะทำความสะอาดทำเนียบเพื่อรอรับสื่อมวลชนอีกครั้ง ส่วนข่าวการปฏิบัติการของนายกรัฐมนตรีจนถึงรัฐมนตรี สำนักโฆษกจะถ่ายทอดสดผ่านเพจไทยคู่ฟ้าและส่งเอกสารข่าวในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนทำเนียบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและทุกฝ่ายก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net