Skip to main content
sharethis

เปิดใจ แอมป์ ณวรรษ นักกิจกรรมการเมือง อดีตพิธีกรจากเยาวชนปลดแอก สู่คนอ่าน จม.ภาษาอังกฤษหน้าสถานทูตเยอรมัน จนได้รับหมายคดี ม.112 ถึงจุดเริ่มต้นทางการเมือง ผลกระทบการถูกดำเนินมาตรา 112 และความคิด-ความฝันในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์

แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมการเมือง
 

‘แอมป์’ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมการเมือง บัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในบทบาทพิธีกรเวทีปราศรัย แห่งกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ (Free Youth) สู่คนอ่านจดหมายภาษาอังกฤษหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ซึ่งเป็นครั้งแรก-คดีแรกที่ทำให้แอมป์ได้รับหมาย ม.112 ก่อนที่ต่อมาจะถูกหมาย ม.112 เพิ่มอีก 3 คดี 

นี่คือบทสัมภาษณ์ขนาดยาวที่ประชาไทได้มีโอกาสพูดคุยกับ แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถึงตัวตน จุดเริ่มต้นเส้นทางนักกิจกรรมการเมือง วันอ่าน จม.หน้าสถานทูตเยอรมัน การถูกดำเนินคดี 112 และความฝันผู้กำกับภาพยนตร์

เริ่มเป็นนักกิจกรรมการเมือง ชนิด ‘จับพลัดจับผลู’

ก่อนที่แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา จะกระโจนเข้าสู่เส้นทางนักกิจกรรมทางการเมืองเต็มตัว แอมป์ เปรยให้ฟังว่า เส้นทางของเขาเริ่มจากความ ‘จับพลัดจับผลู’ 

“ด้วยความบังเอิญที่เราไปเห็นในโพสต์ของ Free Youth (เยาวชนปลดแอก) ที่รับสมัครคนร่วมทำงาน มีกองที่เราคิดว่าเราน่าจะเข้าไปช่วยงานได้ ก็คือทีม PR  

“ตอนนั้นอยากรู้ ปรากฏว่าโทรกลับมาจริง มีการสัมภาษณ์จริง ก็ได้ทำงานจริงๆ เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะติด หรือได้เข้าไปทำงานตรงนั้น สุดท้ายแล้ว จับพลัดจับผลูเข้าไป ตอนแรกก็ทำวิดีโอคอนเทนต์ แต่ในวันที่ 16 ก.ค.63 เพื่อนก็เห็นว่า เรามีสกิลการพูดได้ เราสามารถรันคิวรายการต่างๆ ได้ ก็เลยลองให้ขึ้นเป็น MC หรือเป็นโฆษกในงานวันนั้น (ม็อบวันที่ 18 กรกฏา) หลังจากวันนั้นเป็นการเดบิวเข้าสู่วงการนักกิจกรรมอย่างเต็มตัว” แอมป์ กล่าว

‘ผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อ แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา เป็นตัวแทนจากกลุ่ม Free Youth หรือ เยาวชนปลดแอก รับหน้าที่เป็นพิธีกรนะครับ’ เสียงของแอมป์ (คนซ้าย ใส่เสื้อยืดสีดำ สกรีนเป็นข้อความ 'Democracy') ขณะแนะนำตัวในฐานะพิธีกรบนเวที จากคลิปม็อบเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 นัดรวมตัวโดย เยาวชนปลดแอก (Free Youth) เรียกร้องประยุทธ์ จันทร์โอชายุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่
 

ความรู้สึกในวันนั้นทำให้แอมป์ได้เข้าใจว่างาน MC เป็นงานที่ยากและท้าทาย เพราะมีเรื่องให้ต้องคิดและตัดสินใจหน้างานหลายเรื่อง และอีกความรู้สึกคือ ‘ตกใจมาก’ เพราะฟีดแบ็กม็อบ 18 กรกฎา ดีมากจนส่งให้แฮชแท็ก #18กรกฎาคม #เยาวชนปลดแอก ติดท็อปเทรนด์ลำดับต้น ๆ ของทวิตเตอร์ไปเลยทีเดียว

แม้จะเริ่มจากความบังเอิญ แต่ปัจจุบัน แอมป์ก็ยังคงโลดแล่นบนเส้นทางนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงได้รับหน้าที่เป็น MC ในม็อบอีกหลายครา เช่น ม็อบ 14 ต.ค.63 หน้ารัฐสภาเกียกกาย ม็อบ13กุมภา เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ม็อบหน้าสำนักงานใหญ่ SCB และอื่นๆ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ม็อบที่ตราตรึงที่สุด 

เมื่อถามถึงประสบการณ์การทำชุมนุมไหนน่าประทับใจที่สุด แอมป์ กล่าวว่า "ถ้าประสบการณ์ที่ค่อนข้างน่าประทับใจ จริงๆ ก็มีหลายครั้ง แต่ว่าอันที่เรารู้สึกว่าเฉียดตายที่สุด คิดว่าน่าจะเป็นวันที่ 13 ต.ค.63 ที่มีการเคลื่อนขบวนจากแยกเกียกกายเข้าไปที่หน้ารัฐสภาแห่งใหม่ 

แอมป์ ใส่แว่น-เสื้อยืดสีดำ ยืนอยู่ข้าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ ด้านขวา
 

"เราจำได้ว่ามันไม่ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมของเราเพียงกลุ่มเดียว แต่ว่ามีการชุมนุมที่เป็นกลุ่มรักสถาบัน ทำการเคลื่อนไหวอยู่ด้วย โดยเส้นทางที่เราจะต้องเคลื่อนขบวนไปมันก็ไปผ่านจุดที่กลุ่มรักสถาบัน กำลังทำกิจกรรมอยู่พอดี ทำให้มีช่วงหนึ่งของขบวนฝั่งซ้ายและขวาของเราเป็นกลุ่มประชาชนรักสถาบัน และก่อนที่จะอยู่จุดแนวปะทะ 500 เมตร มีเพื่อนของเรามาออกมาบอกว่า ด้านหน้าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และมีการใช้กระสุนจริงยิงกัน พวกเราที่อยู่บนขยายเสียงไม่มีเครื่องป้องกันตัวเลย ทำให้ตอนนั้นทุกคนเลือกที่จะใช้วิธีการคือก้มตัว เก็บตัว มุดลงอยู่บริเวณใต้ท้องรถให้ได้มากที่สุด โดยที่ตัวมือของเราก็ยังถือไมค์อยู่ และก็ยังพูดปราศรัยอยู่ หลายคนน่าจะงงว่าเสียงมันมาจากไหน เพราะว่ามองไม่เห็นตัวบุคคล ก็ถือเป็นประสบการณ์เคลื่อนไหวที่เราคิดว่าเฉียดตายและก็น่าประทับใจที่สุด" แอมป์ ย้อนให้ฟังอย่างมีรอยยิ้ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอบดูช่องโทรทัศน์ของ นปช. 

หากย้อนกลับไปก่อนที่จะสมัครเยาวชนปลดแอก แอมป์ กล่าวต่อว่า ตัวเขาเองมีความผูกพันกับเรื่องการเมืองมาตั้งแต่สมัยนักเรียน เพราะที่บ้านสนับสนุนม็อบพันธมิตร และ กปปส. ทำให้แอมป์ได้รับฟังเรื่องราวและรับชมม็อบเสื้อเหลือง 

แต่ด้วยความหัวขบถและดื้อรั้นของแอมป์เอง เขาก็เริ่มตั้งคำถามกับข้อมูลจากฝั่งเสื้อเหลือง และแอบดูช่องโทรทัศน์ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าคนเสื้อแดงคิดอะไร อย่างไรบ้าง  

“รู้สึกว่าทำไมสิ่งที่พวกเขาพูดเราต้องเชื่อไปซะหมด เราเลยลองตั้งคำถามดู ลองหาข้อมูล จนวันหนึ่งเราได้ลองที่จะเปิดใจฟังเสียงของฝั่งตรงข้าม ก็คือเสียงของกลุ่ม นปช. กลุ่มคนเสื้อแดง และทำให้เรารู้ว่าความคิดและทัศนคติเขา 

“ความแตกต่างระหว่างพันธมิตร และ นปช. ทางฝั่ง นปช. ดูมีเหตุผลมากกว่า เช่น เขามีข้อมูลอ้างอิงค่อนข้างเยอะ และก็จะมีหลักฐานที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ 

“หลังจากนั้น ทำให้เราเริ่มมีมุมมองทางการเมืองเปลี่ยนไป และกล้าที่จะพูดว่า เราแสดงจุดยืนทางการเมืองฝั่งไหนมากขึ้น” แอมป์ กล่าว 

ทีสิสเรื่อง HIV เหตุผลที่เริ่มอยากลองทำงานการเมือง 

เหตุผลหลักที่ทำให้แอมป์ อยากลองสมัครเป็นทีมงานเยาวชนปลดแอก คือ วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผู้ป่วย HIV ในประเทศไทย ผลจากการได้ศึกษาหาความรู้เรื่องผู้ป่วย HIV ทำให้แอมป์มีความรู้และความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเจ็บป่วยทางกาย แต่ยังมีเรื่องอคติต่อต้านจากคนในสังคม ตลอดจนค่าใช้จ่ายการรักษาที่พวกเขาต้องแบกรับ 

 

เรื่องเหล่านี้อยู่ในใจแอมป์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ที่ไทยมีการถกเถียงเรื่อง ความเหมาะสมที่ไทยจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) 

แต่เดิมไทยมีการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing หรือ CL) เพื่อให้นำเข้ายาต้านไวรัส HIV/เอดส์ (และยารักษามะเร็ง ยาสลายลิ่มเลือด) มาใช้ดูแลรักษาประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่สามารถเลือกยาที่ถูกกว่ายาติดสิทธิบัตรได้ 

แต่การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP ไทยอาจถูกบังคับให้นำเข้ายาต้านไวรัส HIV/เอดส์ ที่ติดสิทธิบัตรเท่านั้น ซึ่งการทำแบบนี้จะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย HIV เนื่องจากราคายาจะสูงขึ้น 

“ประเด็นเรื่อง CPTPP กำลังมา ซึ่งไปครอบคลุมถึงสิทธิบัตรยา ซึ่งสิทธิบัตรยาบางตัวเกี่ยวกับผู้ป่วยเชื้อ HIV มันอาจจะถูกจำกัดสิทธิ์ ซึ่งถ้าเกิดว่ามันจำกัดสิทธิ์ผู้ป่วย HIV ที่มีสิทธิ์การรักษาสามสิบบาท สิทธิ์บัตรทอง ซึ่งแต่เดิมเขาจะได้รับยาฟรี จะทำให้เขาต้องรับยาแบบเสียเงิน ขณะที่ยาต่อเม็ดตกอยู่ที่ 30-40 บาท และต้องใช้ตลอดชีวิต มันจึงเพิ่มค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าตรงนั้นผ่านขึ้นมาจริง ๆ โคตรไม่แฟร์เลย ก็เลยทำให้เรายื่น (ผู้สื่อข่าว - สมัครเข้าเป็นทีมงานเยาวชนปลดแอก) เข้าไปดู เผื่อเราจะทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยก็เป็น movement เล็ก ๆ ก็ยังดี” แอมป์ กล่าว

โดนมาตรา 112 ครั้งแรกในชีวิตจากกรณีหน้าสถานทูตเยอรมัน 

การอ่านจดหมายภาษาอังกฤษ ทวงถามถึงการใช้พระราชอำนาจนอกดินแดนของสถาบันกษัตริย์ไทย ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 คือการชุมนุมแรกที่ทำให้แอมป์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทีมเยาวชนปลดแอก ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ครั้งแรกในชีวิต 

แอมป์ ขณะอ่านจดหมายหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63
 

แอมป์เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นตนเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะราษฎร ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ไม่ได้นึกจะไปพูดอะไร โดยเริ่มเดินถือป้ายจากสามย่านมิตรทาวน์ไปที่หน้าสถานทูตเยอรมัน

เมื่อถึงจุดหมาย แอมป์จึงเดินไปหาเพื่อนนักกิจกรรมหลังเวทีปราศรัย ซึ่งห้วงยามนั้น เขากำลังมีการหาคนอ่านจดหมายภาษาต่างๆ ด้วยความที่แอมป์มีความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ จึงอาสาอ่านจดหมายในวันนั้น 

“พออ่านเสร็จแล้วก็ โอเค เราคงต้องรอรับพายุลูกใหญ่แน่ๆ เพราะเราคิดว่า การอ่านแถลงการณ์วันนั้น มันเป็นการพลีชีพเพื่อโดน ม.112 ค่อนข้างชัดเจนเลย ด้วยการที่เรารู้ว่าเนื้อหาในแถลงการณ์มันพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ...มันก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เราโดนรัฐเพ่งเล็งได้ ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเราก็กลัวบ้าง 

“แต่สุดท้าย ความกลัวมันน้อยกว่าความรู้สึกที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่เราอยากที่เห็นประเทศที่มันดีกว่านี้ อยากที่จะเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในจุดที่น่าจะอยู่ ที่ควรจะอยู่” แอมป์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้อ่านจดหมายภาษาอังกฤษในวันนั้น  

ทั้งนี้ คดีหน้าสถานทูตเยอรมันนับว่าเป็นคดีแรกที่มีการใช้กฎหมาย ม.112 ทั้งกับนักกิจกรรมการเมือง และประชาชนอาสาอ่านแถลงการณ์

หลังจากนั้น แอมป์ถูกออกหมายเรียก ม.112 ตามมาเป็นพรวนอีก 3 คดี เยอะเป็นลำดับต้น ๆ ของนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกดำเนินคดีเดียวกัน โดยมีตั้งแต่กรณีปราศรัยม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB กรณี #ม็อบ13กุมภา โดยแอมป์ เป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากม็อบครั้งนั้น และท้ายสุดคือกรณีสาดอาหารสุนัขหน้า สภ.คลองหลวง หลังไปช่วย สิริชัย นาถึง หรือ นิว ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหา ม.112 และบุกไปจับกุมยามวิกาล 

แอมป์ (คนซ้ายสุด) รายงานตัวที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 ก.พ.64 (ภาพจาก iLaw)
 
สำหรับแอมป์มองว่า ปัญหาอมตะนิรันกาลของ ม.112 คือการตีความเรื่องการหมิ่นประมาทสถาบันฯ อย่างคลุมเครือ ไม่รู้ว่าแท้จริงข้อความแบบไหนคือหมิ่นประมาท ข้อความใดคืออาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ ทั้งที่เรื่องที่กล่าวหรือโพสต์บนเฟซบุ๊ก อาจเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลตามหลักฐานประวัติศาสตร์ หรือเป็นข้อวิจารณ์ที่ส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ก็ตาม 
 

“กฎหมาย 112 ห้ามไม่ให้พวกเราพูด ก็เหมือนการที่ เราถูกปิดปากอยู่ และการถูกปิดปากนี้ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นจะไม่ได้รับการพูดถึง และถ้าปัญหาไม่ได้รับการพูดถึง วันไหนปัญหาจะได้รับการแก้ไขสักที ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 112 ก็จะทำให้เราสามารถพูดถึงประเด็นปัญหาได้มากขึ้น และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และน่าจะเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เข้ากับสังคม และอยู่ร่วมกับประชาชนได้อย่างแท้จริง” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อยากใช้ชีวิตให้เต็มที่

วันที่ 13 พ.ค. 2564 จะเป็นวันนัดส่งฟ้องผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทั้ง 13 คน จากกรณีอ่านจดหมายหน้าสถานทูตเยอรมัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกรุงเทพใต้ ที่ถนนเจริญกรุง หลังมีการเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 25 มี.ค.ในปีนี้

 

เมื่อถามว่ากังวลไหม ถ้าต้องถูกฝากขังระหว่างพิจารณาคดี 112 บัณฑิตรั้วศิลปากร กล่าวว่า เรื่องที่กังวลก็จะมีเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขบวน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักกิจกรรมจะเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ว่าอีกส่วนหนึ่ง เขาค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องของสภาพจิตใจของทางบ้าน เนื่องจากพ่อ-แม่อายุเยอะแล้ว ไม่อยากให้มีเรื่องกระทบจิตใจ 

ห่วงเรื่องของสภาพจิตใจของเพื่อนๆ เพราะว่าหลังจากที่โดนกฎหมายมาตรา 112 หลายคนก็เข้ามาคุย เป็นห่วง กลัวว่าจะโดนอะไรบ้าง เพราะหลายคนทราบเกี่ยวกับการดำเนินคดี ถูกกลั่นแกล้งระหว่างที่ถูกฝากขังคดี ม.112 กันมาบ้าง 

“เราก็ตอบกับเขาไปว่า เราพร้อมถ้าเกิดว่า มันจะเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จะถูกฝากขัง หรือถ้าเกิดมีการทำร้าย” แอมป์ กล่าว พร้อมระบุว่า “ก็มีความกังวลในทีแรก แต่สุดท้าย พอถึงจุดหนึ่งก็ตกผลึกกับตัวเอง ถ้าตอนนี้ยังพอมีเวลาที่จะทำอะไรได้ ยังมีแรง มีกำลัง มีสกิลพอที่จะทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่เราจะถูกฝากขังเข้าไป เราก็อยากจะทำให้มันเต็มที่ที่สุด ไม่ได้พูดถึงแค่ในเรื่องของการทำงานการเมือง เรื่องของการใช้ชีวิตด้วย” 

แรงเสียดทานจากครอบครัว

การเดินเส้นทางนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ โดยชูการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอการต่อต้านจากครอบครัวที่เชื่อในแนวคิดอนุรักษ์นิยม 

 

ถ้างั้นอะไรที่ทำให้ครอบครัว พ่อ-แม่ของแอมป์ยอมให้เขาเดินเส้นทางที่ยากลำบากนี้ต่อ แอมป์ เล่าว่า เรื่องนี้มีการคุยภายในครอบครัวหลายครั้งมาก แต่เหตุการณ์ที่ทำให้พ่อ-แม่ มีท่าทีอ่อนลง คือการถูกจับกุมจากกรณีแฟลชม็อบ 17 ต.ค.64 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ และถูกพาตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี 

“ที่บ้านเราจะมีปัญหากับเราเยอะมาก ทั้งพี่สาวถูกกดดัน ทั้งพ่อกับแม่ค่อนข้างเป็นห่วง กลายเป็นว่า เขาพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเขาเห็นว่า เราก็ได้รับผลกระทบจากการออกมาทำงานเหมือนกัน เขาก็เลยกลายเป็นว่ามองจากที่มองในมุม อคติกับเราบ้าง ก็ลดอคติลง และก็มองในแง่ของการเป็นห่วงและก็เห็นใจมากขึ้น การที่เราโดนคดีด้วย” 

แม้นให้เป็นนักกิจกรรม แต่การโดนคดีอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ม.112 จากกรณีหน้าสถานทูตฯ ทำให้แอมป์ต้องเจอแรงเสียดทานจากครอบครัวอีกครั้ง พี่สาวของแอมป์เคยส่งข้อความทางแอปฯ ไลน์ (Line) เพื่อขอให้แอมป์ทบทวนเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง 

“เรามองว่าเราคงหยุดและพอไม่ได้ เพราะถ้าเราเลิกเคลื่อนไหวตอนนี้ สิ่งที่เพื่อนของเราทำมา สิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่าง นปช.เคยทำมา หลายคนที่ต้องเสียสละชีวิตบนท้องถนนจะไม่ได้รับการสานต่ออุดมการณ์ แล้วความฝันของพวกเขาจะไม่ได้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ เราก็เลยพูดตรงๆ ว่า การที่เราออกมาทำ เรามองเห็นว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ ส่วนมากกว่าที่จะเป็นโทษ” 

เขาก็เปิดใจยอมรับฟังบ้าง และก็มองว่า เราก็มีแนวคิดไม่ตรงกับเขา แต่แนวคิดของเรามันทำให้เราเติบโตขึ้น ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเขาอาจจะมองเราเป็นแบบเด็กประมาณหนึ่ง”

‘เหนื่อยใจไม่พอ เหนื่อยกายอีกด้วย’ ว่าด้วยผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี  

ผลกระทบจากดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้ส่งผลต่อจิตใจของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความเหนื่อยกายอีกด้วย ซึ่งแอมป์สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้อย่างดี จากการหลั่งไหลของคดีความที่มุ่งตรงไปที่พำนักอาศัย และต้องมาเดินสายออนทัวร์ รายงานตัวที่ สน. หรือ สภ. ทั้งใน จ.กรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเวลาใช้ชีวิตหดหายตามกันไป

“เราต้องเสียเวลาในการที่เราเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา มีช่วงหนึ่งที่เราต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาทั้งอาทิตย์เลย ตั้งแต่จันทร์ยาวไปถึงวันศุกร์ เราไม่ได้มีเวลาที่จะได้พักเลยด้วยซ้ำ บางทีเรารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ มาอีกที ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองหลวง ซึ่งมันอยู่กันคนละโยชน์” 

“จริง ๆ ถ้าเราไม่ได้ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ชีวิตเราก็อาจจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุดท้ายมันก็คือราคาที่เราต้องจ่าย เพื่อให้เราได้สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม” 

ความฝัน-ผู้กำกับภาพยนตร์

บนหน้าสื่อบ่อยครั้ง หลายคนอาจจะเห็นแอมป์อยู่บนเวทีหรือรถเครื่องเสียง มือข้างหนึ่งจับไมค์เป็นพิธีกร หรือพูดปราศรัยเรื่องประเด็นปัญหาทางสังคม แต่ตัวตนของแอมป์ เปิดเผยว่า จริง ๆ ความฝันของเขาก่อนมาเป็นนักกิจกรรมการเมือง คือ การกำกับภาพยนตร์

 

“ถ้าความฝันจริง ๆ ด้วยความที่ชอบดูภาพยนตร์ ผูกพันกับภาพยนตร์ เราก็อยากที่จะทำ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีชื่อเราเป็นผู้กำกับ ถือว่าเป็นความฝันที่เราอยากประสบความสำเร็จสูงสุด ที่เราเคยคาดหวังไว้ 

“อยากลองทำหนังของตัวเองสักเรื่อง ที่มันพูดถึงเรื่องของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง เรื่องของปัญหาสังคม และด้วยความที่ตัวเอง เป็น LGBTQ+ เราก็มองว่า สิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคน LGBTQ+ ค่อนข้างจะถูกละเลยไปมาก สังคมไทยหลายคนอาจมองว่าเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เป็นสังคมที่ยอมรับได้ทุกเพศ และสังคมไทยที่แหละที่ปากบอกว่ายอมรับ แต่จริง ๆ แล้วภายในก็มีการกีดกัน อย่างเช่น การสมัครงานในบางตำแหน่งที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มคนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงานในส่วนนั้นได้ เราก็มองว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นกัน เราก็เลยอยากทำภาพยนตร์ในประเด็นนี้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมา และทำให้คนทุกคนมองคนให้เท่ากัน โดยที่ไม่จำกัดที่เพศสภาพ เชื้อชาติ หรือโรคต่างๆ” 

ภาพสังคมในอุดมคติที่ทุกคนเท่าเทียมกัน 

เมื่อถามแอมป์ว่าภาพการเมืองหรือโลกในฝันของเขามีหน้าตา ลักษณะเป็นแบบไหน แอมป์นั่งคิด ก่อนตอบว่า “คือโลกที่คนทุกคนเท่ากัน โลกที่ทุกคนเคารพในสิทธิและเสรีภาพของทุกคนเช่นเดียวกัน และเสียงของประชาชน และเสียงของคนทั่วไปบนถนน มันได้ถูกพูดถึง มันมีพลัง และได้รับการนำไปถ่ายทอดในสภา จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นจริงๆ” 
  
“ด้วยการที่เราเป็น LGBTQ+ เราอยากเห็นสังคมที่เปิดรับความแตกต่าง ไม่ได้จำกัดแค่ LGBTQ+ อย่างเดียว แต่พูดถึงเรื่องของความแตกต่างทั้งทางด้านสีผิวเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือสภาพกำเนิด คือเรามองข้ามการที่มองเห็นคน ...เราอยากเห็นสังคมที่ทุกคนมองว่า คุณกับผมก็คนเหมือนกัน ผมพูดอะไรก็ต้องคิดถึงจิตใจคุณด้วย เราอยากเห็นสังคมที่คนเคารพกัน และก็เปิดกว้างทางความคิด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net