Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานเผยนี้ตรวจ COVID-19 ผู้ประกันตนไปแล้วกว่า 30,000 คน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก ให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 โดยได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันอำนวยความสะดวกให้แรงงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัดเสี่ยง ทั้งกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ได้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองฟรี ซึ่งการตรวจเชิงรุก ทราบผลไว ก็ช่วยให้ระบบสาธารณสุข ควบคุมการระบาดได้

และสำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้แรงงาน ผู้ประกันตนฟรี ล่าสุด ให้บริการไปแล้ว 32,476 คน โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้รับบริการมากที่สุด 24,130 คน

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำการทำงานเชิงรุก นอกจากเดินหน้าตรวจคัดกรองอย่างเต็มที่แล้ว ยังต้องประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่มาก ก็ให้เตรียมประสาน Hospitel หรือ โรงพยาบาลสนาม

ทั้งนี้ จะมีการเปิดหน่วยบริการคัดกรองโควิด-19 ทั้ง 5 พื้นที่ ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 นี้ โดยบริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง อาจมีการพิจารณาให้เปิดอีกรอบ ระหว่างวันที่ 5-11 พ.ค. 2564 นี้

ที่มา: ch7.com, 29/4/2564

รองนายกฯ สั่ง พม.-ก.แรงงาน ตั้ง รพ.รองรับเด็กติดโควิด-19

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจราชการที่กระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานทุกกลุ่ม และผู้ประกอบการทุกประเภท ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติ ดังนั้น กระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ มาตรการการคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก ใน 5 จังหวัดที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด และขอให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว โดยให้ประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ส่วนผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ ให้ประสานการส่งตัวไปยัง Hospitel ต่อไป

นอกจากนั้น ยังขอให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือคนทำงาน และแรงงานนอกระบบ ที่อาจว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมทั้งกำชับกระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เร่งสร้างโรงพยาบาลรองรับเด็กที่ติดโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/4/2564

ภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงงาน 98% ยอมรับมีหนี้ 85% เคยเบี้ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 64 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,256 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย.64 ว่า จากการสอบถามภาระหนี้สินปี 64 เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนกับเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ตอบมากถึง 98.1% ตอบว่ามีหนี้ และมีเพียง 1.9% ที่ตอบไม่มีหนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่ตอบมีหนี้ 95% และไม่มีหนี้ 5% โดยภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยมีสูงถึง 205,809 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 29.56% จากปี 62 ที่มีภาระหนี้ 158,855 บาท หรือมีภาระหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีภาระผ่อนชำระ 8,024 บาท/เดือน

โดยส่วนใหญ่ 71.6% กู้หนี้ในระบบ มีภาระผ่อนชำระ 7,781 บาท/เดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.25% ต่อปี และอีก 28.4% กู้หนี้นอกระบบ มีภาระผ่อนชำระ 3,223 บาท/เดือน ดอกเบี้ย 19% ต่อปี ขณะที่มากถึง 85.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี และอีก 14.9% ไม่เคย สำหรับสาเหตุการก่อหนี้มากขึ้นมาจากเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้ว่าเงินเดือนหรือรายได้ไม่ได้ถูกปรับลดลงก็ตาม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก รวมถึงจ่ายหนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ซื้อยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ลงทุน เป็นต้น

“ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้เสริมที่ลดลง ทำให้แรงงานใช้จ่ายมากขึ้นสวนทางกับรายได้ ส่งผลให้มีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น และเงินออมลดลง โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มหาเช้ากินค่ำ

คนมีรายได้น้อย แรงงานภาคบริการท่องเที่ยว และคนกลุ่มนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน มีโอกาสตกงานสูง ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการประคองการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่งและนายจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (โคเพย์) เพื่อช่วยภาคธุรกิจประคองการจ้างงานในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก จนทำให้เศรษฐกิจซึม”

นอกจากนี้ แรงงานไทยยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย และการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหยุดการแพร่ระบาดเร่งฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยโครงการของภาครัฐที่สามารถช่วยเหลือภาคครัวเรือนได้มากที่สุดในด้านการลดค่าครองชีพ คือโครงการคนละครึ่ง รองลงมาโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน

ส่วนการสอบถามถึงการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดแรงงานในวันแรงงาน 1 พ.ค.ปี 64 เทียบกับปี 62 เพราะในปี 63 ไม่ได้มีสำรวจการใช้จ่ายวันแรงงาน เพราะมีโควิด-19 ระบาด และรัฐงดจัดกิจกรรม พบว่าจะมีการใช้จ่ายรวม 1,793 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 55 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 1,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5%

นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยว่า ประเมินว่าการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปประมาณวันละ 6,000 ล้านบาท หรือหายไปวันละ 30-40% จากเดิมที่คาดการณ์การควบคุมแบบไม่เข้มข้น เม็ดเงินหายไปประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 14 วันจะมีเม็ดเงินหายไปเป็น 80,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าหายไป 40,000 ล้านบาท

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/4/2564

กลุ่มคนขับแท็กซี่ บุกคมนาคม ร้อง “ศักดิ์สยาม” ค้านชง ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯ ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้บริการผ่านแอปถูกกฎหมาย

บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม กลุ่มคนขับแท็กซี่ประมาณ 30 คน นำโดย วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และ เกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย เดินทางมาในวันนี้เพื่อยื่นหนังสือถึง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องขอคัดค้านการเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างดังกล่าวในเร็วๆ นี้ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ)มาขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะให้บริการผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างถูกกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้

เกรียงไกร เผยว่าทางกลุ่มคนขับแท็กซี่พยายามทำการคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2563 ผ่านการพูดคุยกับตัวแทนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยรับปากแล้วว่าจะไม่มีร่างนี้ สำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาของร่างกฎกระทรวงนี้ คือการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) สามารถรับส่งผู้โดยสารผ่านระบบแอปพลิเคชันหรือระบบอื่นใดได้ การผลักดันร่างนี้จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการแท็กซี่รายเดิมที่อยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ เกรียงไกร ระบุว่า ทางกลุ่มพร้อมเปิดรับ เพียงแค่ต้องการให้ประเภทรถที่จะเอามาให้บริการต้องเป็นรถที่มีการจดทะเบียนสาธารณะ (ป้ายเหลือง) และมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะเหมือนกับรถแท็กซี่ในระบบทุกอย่าง ในตอนนี้ อยากร้องขอให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเสมือนพ่อ-แม่ของผู้ประกอบการแท็กซี่ไทย หันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียรายได้ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่ควรยกร่างดังกล่าวขึ้นมาซ้ำเติมกัน แต่ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ผ่านการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ที่มา: Voice online, 26/4/2564

สำนักทะเบียนกลาง ระงับปรับปรุง-ออกบัตรแรงงานต่างด้าว ชั่วคราว ตั้งแต่ 26 เม.ย.

26 เม.ย. 2564 เฟซบุ๊ก กรมการปกครอง โพสต์ประกาศว่า สำนักทะเบียนกลาง แจ้งระงับการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวฯ ให้แก่แรงงานต่างด้าว (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ไว้เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลาย หากจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/4/2564

พบแนวโน้มการเลิกจ้างสูงขึ้นในช่วง COVID-19 ระลอกใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการและลูกจ้าง จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอให้นายจ้าง ลูกจ้างนำมาตรการและแนวปฏิบัติการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อประคองการดำเนินธุรกิจก่อนหยุดกิจการหรือเลิกจ้างลูกจ้าง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดี กสร. กล่าวว่า จากสถิติการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 - 18 เม.ย. 2564 พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,789 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 7,614 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,708 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 6,621 คน และมีการหยุดกิจการตามมาตรา 75 จำนวน 708 แห่ง เป็นการหยุดกิจการบางส่วน 517 แห่ง ลูกจ้าง 130,407 คน และหยุดกิจการทั้งหมด 289 แห่ง ลูกจ้าง 61,566 คน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้ ซึ่งมี 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการลดค่าใช้จ่าย 2.มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และ 3.มาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ ทั้งนี้นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/4/2564

ประกันสังคมตรวจโควิด เชิงรุก 20,000 คน พบติดเชื้อกว่า 400 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 ว่า กระทรวงแรงงาน ได้รับการประสานจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ว่าให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด -19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตนกับกระทรวงสาธารณสุขที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อ โดยให้เพิ่มมาตรการตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด ดังนี้

1) เว้นระยะห่างจาก 1.5 เป็น 2 เมตร

2) หากตรวจเจอว่าผู้ประกันตนรายใดมีความเสี่ยงสูงหรือไข้สูง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที และ

3) ส่วนผู้ที่มีผลเป็นบวกแล้วแสดงอาการจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการจะส่งเข้ารักษาที่ Hospitel

ทั้งนี้ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้แล้วว่าต้องดำเนินการเชิงรุกให้มากที่สุด เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการยังเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุกภาคส่วน รัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีความห่วงใยมายังพี่น้องผู้ประกันตนทุกคนจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในขณะนี้ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดพื้นที่สีแดงหรือจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. เพิ่มช่องทางหรือทางเลือกเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัด ลดการแพร่ระบาด ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเสร็จแล้วหากพบติดเชื้อส่งรักษาทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และ 40 ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ประกันตนรวมจำนวนกว่า 4,700,000 คน ซึ่งที่ศูนย์เยาวชน (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เริ่มตรวจจริงเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา และขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดง เมื่อวันที่ 24 -30 เม.ย. 2564 ในจังหวัดปทุมธานี ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดชลบุรี ที่โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร และจังหวัดเชียงใหม่ที่ รพ.นครพิงค์ รพ.สันป่าตอง รพ.มหาราช รพ.ราชเวช รพ.เทพปัญญา รพ.ลานนา และ รพ.เชียงใหม่ใกล้หมอ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่าจากผลการตรวจพบว่า (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย. 2564 เวลา 16.00 น.) ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 20,000 คน ติดเชื้อกว่า 400 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการจะถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 81 แห่ง ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการจะถูกส่งตัวไปยัง Hospitel ซึ่งมีทีมแพทย์ดูแลตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รมว.สุชาติ กล่าวว่าการดำเนินการของกระทรวงแรงงานในการเปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนในครั้งนี้ สอดคล้องกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันตรวจให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากประชากรทั่วไปให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ทางฝ่ายรัฐจะต้องเป็นผู้ดูแล ผู้ที่ตรวจให้ผลบวกทั้งหมด และจัดสรรผู้ที่มีอาการมากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ที่มา: TNN, 25/4/2564

รมว.แรงงาน เผยยอดผู้สมัครงานใช้บริการหางาน 191,564 คน บรรจุงานแล้ว 152,158 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การว่างงานของคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก ในฐานะ รมว.แรงงาน ทราบสถานการณ์เป็นอย่างดีและไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้กำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตลอดว่า ยิ่งมีคนว่างงานมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของเรายิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้ สามารถรับมือจนวิกฤติโควิด-19 นี้ผ่านพ้นไป

โดยจากสถิติผู้สมัครงานที่ใช้บริการจัดหางานกับกรมการจัดหางานในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 ) มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 191,564 คน ได้รับการบรรจุงาน 152,158 คน หรือร้อยละ 79.43 แบ่งเป็นใช้บริการ ณ พื้นที่กรุงเทพมหานคร 39,495 คน บรรจุ 31,948 คน หรือร้อยละ 80.89 ปริมณฑล 19,075 คน บรรจุ 14,773 คน หรือร้อยละ 77.45 ภาคกลาง 47,708 คน บรรจุ 42,163 คน หรือร้อยละ 88.38 ภาคเหนือ 26,827 คน บรรจุ 21,509 คน หรือร้อยละ 80.18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,540 คน บรรจุ 22,344 คน หรือร้อยละ 73.16 และ ภาคใต้ 27,919 คน บรรจุ 19,421 คน หรือร้อยละ 69.56 โดยสามารถใช้บริการจัดหางาน ณ พื้นที่ที่ต้องการทำงานหรือเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีงานทำ.com ได้ตามที่สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สะดวกรวดเร็ว และลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19 จากการเดินทางไปที่สาธารณะ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้สั่งการ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดให้บริการประชาชนที่ว่างงาน ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผู้ต้องการหางานทำทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความลำบากของคนหางานให้มาก

ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีการนำบริการที่ครอบคลุมภารกิจทุกด้านของกรมการจัดหางาน เข้าหาประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งบริการของรัฐ ทั้งด้านข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน การให้บริการจัดหางาน รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และฝึกอาชีพอิสระ ที่เน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือนที่ยากจน โครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ศูนย์บริการจัดหางาน Part Time โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) ตลอดจนสนับสนุนเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน

ที่มา: สยามรัฐ, 24/4/2564

ประธานหอการค้าภาคตะวันออกชี้ให้เงินเยียวยาเป็นเรื่องดีแต่ไม่เหมาะระยะยาว หวั่นเสียระบบคนไม่หางานทำรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยกับสำนักข่าวสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่าในปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องเจอวิกฤตโควิดระลอกใหม่ บางธุรกิจแบกภาระไม่ไหว ต้องปลดพนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คนว่างงานน่าจะมีจำนวนไม่น้อย แต่กลับเป็นว่า ภาคเอกชนหรือธุรกิจกลับหาแรงงานได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลผลไม้แล้ว ต้องติดตามแรงงานในส่วนนี้ด้วยว่า จะเพียงพอในการเก็บผลผลิตหรือไม่ เพราะผลไม้ถ้าต้องแขวนไว้ที่ต้นนานไปคงไม่ดีกับราคาและรายได้ของเกษตรกรชาวสวน

ส่วนมาตรการภาครัฐ ที่ควรเข้าไปดูแลในช่วงที่โควิดระบาดนั้น การให้เงินถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การให้ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะระบบแรงงาน ที่บางคนอาจไม่คิดจะหางานประจำ เพราะถ้ามีงานแล้วต้องเข้าระบบ ทำให้รัฐรู้ข้อมูลและฐานรายได้ การจะได้รับความช่วยเหลือย่อมมีความแตกต่างจากคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 23/4/2564

50 เขตใน กทม. งดบริการงานทะเบียนแก่แรงงานต่างด้าวในทุกกรณี

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโค (COVID-19) ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวออกไปครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว โดยฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ยังคงเปิดให้บริการประชาชน และมีประชาชนมาใช้บริการอย่างหนาแน่น จึงมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเป็นไปตามแนวทางหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงให้สำนักงานเขตดำเนินการ ดังนี้ ในวันราชการปกติ (วันจันทร์ - วันศุกร์) ให้บริการเวลา 08.00-16.00 น. งานทะเบียนราษฎร ให้บริการเฉพาะการรับแจ้งเกิด - ตาย และให้บริการตรวจ คัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร งานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนเฉพาะกรณีบัตรหาย งานทะเบียนทั่วไป ให้บริการตรวจ คัดและรับรองเอกสารเกี่ยวกับงานทะเบียนทั่วไป

สำหรับในวันหยุดราชการ (วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักชัตฤกษ์) เวลา 08.00-16.00 น. ให้บริการเฉพาะรับแจ้งเกิด - ตาย รวมทั้งงดจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ) และงานทะเบียนแก่แรงงานต่างด้าวในทุกกรณี (ยกเว้นการแจ้งเกิดกรณีปกติ และการแจ้งตาย) ในกรณีที่ประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เอกสารหลักฐานทางการทะเบียนให้พิจารณาดำเนินการเป็นกรณี ๆ ไป อย่างไรก็ตามให้พิจารณากำหนดสัดส่วนผู้ปฏิบัติงานที่บ้านตามความเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการและไม่เกิดความเสียหายแก่ราชการ

ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้กำชับ 50 สำนักงานเขต พิจารณากำหนดจำนวนผู้รับบริการ (คิว) ในการให้บริการประชาชนให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของประชาชนที่มารับบริการ โดยให้นำระบบจองคิวออนไลน์ (BMAQ) มาใช้ในการบริหารจัดการจำนวนผู้มาขอรับบริการ และนำระบบลงทะเบียนออนไลน์ "ไทยชนะ" มาใช้อย่างเคร่งครัด

ที่มา: บ้านเมือง, 23/4/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net