Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนุสนธิข่าวแจกสื่อมวลชนของศาลยุติธรรม เรื่อง การพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรม ในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมาว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาลจำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน นั้น

ภายหลังที่ข่าวข้างต้นได้เผยแพร่ออกไปได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะในข่าวแจก นั้น นอกจากจะอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่กำหนดให้ศาลอาจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวหากปรากฏกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่ออันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี โดยเมื่อเจ้าพนักงานหรือศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ต้องระบุเหตุผลโดยอ้างอิงไปยังเหตุตามกฎหมายด้วย 

แต่ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไปอีกว่ากรณีที่เกรงว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาอาจก่ออันตรายประการอื่นนั้น กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยชั่วคราวได้ 

อีกทั้งยังได้อ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตลอดจนยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักรได้กำหนดไว้ใน Criminal Justice and Public Order Act 1994 และ The Bail Act 1976 กำหนดให้ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวได้เว้นแต่ในบางกรณีกฎหมายห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวในความผิดบางประเภทอีกด้วย

ผมขอโต้แย้งในประเด็นที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1.ตามมาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯปี 60ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” และหลักของการดำเนินคดีอาญา นั้นเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในเบื้องต้นให้สันนิษฐานและปฏิบัติต่อเขาในฐานะเสมือนหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ฉะนั้น การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดตามที่ฟ้องมานั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดการไปแจ้งความดำเนินคดี เพียงหวังให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกจับกุมคุมขัง โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาพิพากษาจนถึงที่สุดก็ได้ ซึ่งเสมือนหนึ่งการอาศัยศาลเป็นเครื่องมือนั่นเอง

สำหรับการอ้างถึงกฎหมายของสหราชอาณาจักร ได้แก่ Criminal Justice and Public Order Act 1994 โดยอ้างว่าต่างประเทศก็ยังมีกฎหมายที่ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในความผิดบางประเภท นั้น ในเนื้อหาของ Criminal Justice and Public Order Act 1994 กำหนดว่าการห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนั้นให้ใช้กับความผิดฐานฆาตกรรม (Murder), พยายามฆาตกรรม (Attempted murder), ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (Manslaughter), กระทำชำเรา (Rape) หรือความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศบางประการเท่านั้น 

ที่สำคัญคือต้องเป็นกรณีที่จำเลยเคยถูกพิพากษาในความผิดดังกล่าวมาก่อนแล้วเท่านั้น แต่นี่เป็นการขังตั้งแต่ก่อนพิจารณาคดี (pretrial detention)ซึ่งศาลยังได้มีคำพิพากษาว่าเขาผิดจริงเสียด้วยซ้ำ แล้วจะเป็นการป้องการกระทำผิดอีก (recidivism)หรือการกลับมาทำผิดอีก (reoffending)ได้อย่างไร
ส่วน The Bail Act 1976 ก็กำหนดในลักษณะที่คล้ายๆ กันกับมาตรา 108/1 ของกฎหมายไทย แต่ สหราชอาณาจักรไม่ได้มีการใช้กฎหมายอาญาอย่างมาตรา 112 ของไทย โดยใช้เพียง Defamation Act 1996 กับการหมิ่นประมาทบุคคลโดยทั่วไปเท่านั้น

ส่วนการอ้างข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เองก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าอาจมีการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างพิจารณาได้เพียงแต่ไม่พึงใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งเนื้อความในICCPRก็ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่เข้าใจเหมือนกันว่านำมาอ้างทำไม ที่ถูกควรจะอธิบายให้ชัดไปเลยว่าทำไมถึงใช้กับคดีนี้ต่างหาก

2.การอ้างว่าในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา แม้จะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่หาได้ทำให้ถึงขั้นขาดความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ จำเลยหรือผู้ต้องหามีสิทธิปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแก่ทนายความของตนได้อย่างเต็มที่ และอาจปรึกษาเป็นการลับก็ได้หากมีความจำเป็นในการดำเนินคดี การสืบพยานและซักถามพยานในกระบวนพิจารณาตามปกติ 

แต่ในความเป็นจริงมีการแทรกแซงการปรึกษาหารือกันเป็นการส่วนตัวระหว่างจำเลยกับทนายความดังเช่นกรณีการแถลงขอถอนทนายความของจำเลย 21 รายเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ทั้งการตรวจเช็ครายชื่อทนายจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด, การไม่เปิดโอกาสให้จําเลยและทนายได้ปรึกษากันเป็นการเฉพาะตัว ฯลฯ แล้วจำเลยจะไปต่อสู้คดีได้อย่างไร

3.การอ้างว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตถึง 217,904 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.26 นั้น เป็นคดีโดยรวมทุกประเภท แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาถกเถียงกันในสังคมทุกวันนี้คือคดีมาตรา 112 มีกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแม้ศาลจะออกข่าวแจกสื่อมวลชนชี้แจงออกมาก็ตาม แต่ยิ่งชี้แจงยิ่งเข้าตัว  เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้เชื่อเฉพาะจากตัวหนังสือ แต่จะวิเคราะห์วิจารณ์ตามที่ได้รู้ได้เห็น วิธีการชี้แจงที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนี้ให้เหมือนดังเช่นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นๆหรือในคดีอื่นๆ น่ะครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net