Skip to main content
sharethis

อธิบดีศาลอาญาระบุ เตรียมตรวจสอบข้อมูลกล้องวงจรปิดเพื่อดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล หลังประชาชนรวมตัวเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ศาลอาญา เมื่อ 29 เม.ย. 2564 ชี้ไม่มีประเทศไหนให้ประชาชนมาข่มขู่ถึงหน้าศาล ย้ำเหตุไม่ให้ประกันเพราะปล่อยไปก็จะทำแบบเดิม ทนายโต้ ศาลเคยอนุญาตประกันเฉพาะความผิดฐานยุยงปลุกปั่น แต่ยังไม่เคยให้ประกันข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แม้แต่ครั้งเดียว

30 เม.ย. 2564 มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า สิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณบันไดศาลอาญาเพื่อเรียกร้องกดดันให้ปล่อยเเกนนำคณะราษฎร เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ว่า ศาลอาญากำลังตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิดและรายละเอียดทั้งหมดอยู่ ให้ละเอียดชัดเจน ถ้าหากมีการกระทำที่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทางศาลอาญาก็จะดำเนินการเอง

ในส่วนข้อหาอื่น ที่เป็นในภาพรวมเช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือความผิดลักษณะนี้ สิทธิโชติชี้แจงว่า จะขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมดูข้อมูลจากคลิปเพื่อดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป ส่วนความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ การดำเนินการต้องเเยกกัน ส่วนเรื่องการตรวจสอบจะใช้ระยะเวลานานหรือไม่นั้น ทางผู้อำนวยการศาลอาญากำลังตรวจสอบดูอยู่ คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการดำเนินการ อยากดำเนินการให้เร็วเเต่ติดปัญหาเรื่องการพิจารณาคดีเพราะติดโควิด เเต่ถ้ามีจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาลติดประกันอยู่ในคดีอื่นแล้วสามารถเรียกตัวมาได้ง่ายก็จะดำเนินการเร็วขึ้น

"พฤติการณ์ที่มากันเป็นม็อบและมาตะโกนด่า และเเสดงออกตามที่เห็นในคลิป มันเป็นการข่มขู่ศาล ข่มขู่ผู้พิพากษา และไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีการเข้ามาขู่ศาลถึงหน้าศาลแบบศาลอาญาประเทศไทย ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาจับกันไปหมดแล้ว ขนาดเราปล่อยให้เขาใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ในยุคนี้ ก็ยังถูกกล่าวหาว่าทำศาลให้เป็นเรือนจำ ซึ่งเป็นคำพูดของกลุ่มทนายมาหลายครั้งหลายครา ที่มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สังเกตจากเมื่อวานเราก็ไม่ได้คัดกรองอะไรเข้มจนเกินปกติ เเต่กลุ่มนี้กลับมาใช้ปฏิกิริยากดดันศาลด่าทอหยาบคาย อันนี้ไม่ใช่การใช้สิทธิแต่เป็นการก้าวร้าวไม่เคารพกฎหมายมากกว่า" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าว

ด้านไทยโพสต์รายงานเพิ่มว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราว กรณียกคำร้องประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรหลายครั้งว่า การปล่อยชั่วคราวตามสิทธิสามารถกระทำได้ตลอด แต่ต้องดู ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวว่าก่อนหน้านี้ ที่ศาลไม่ให้ประกันเป็นเพราะอะไร เพราะที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันก่อนหน้านี้ เพราะว่าเราพิจารณาตามลักษณะภาพและการกระทำของจำเลยแต่ละคนในคดีที่ถูกฟ้องว่าได้กระทำอะไรบ้าง จึงไม่อนุญาต โดยอาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น

“ซึ่งเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้วแล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อเขาฟ้องมาแล้วว่าคุณทำอย่างนี้ ปล่อยคุณไปก็ไปกระทำอีกอันนี้ ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้ หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ คือไปก่อเรื่องอื่นที่ผิดกฎหมาย เรื่องอื่นอันนี้ก็อยู่ในของเขตคำนี้ ศาลก็พิจารณาถึงข้อนี้จึงไม่อนุญาตไป” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระบุ

สิทธิโชติระบุต่อว่า การขอประกันครั้งต่อไป จึงต้องดูว่าสิ่งที่ศาลไม่อนุญาตเพราะเหตุใด และจำเลยหรือผู้ต้องหาจะสามารถแก้ไขเหตุนั้นหรือทำให้เหตุนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหมือนกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ทั้งสามได้แถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำแบบเดิม ศาลก็รับเงื่อนไข ซึ่งทั้ง 3 คนนั้น ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวอาจจะไปนั่งคิดพิจารณาขึ้นมาได้ ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันไม่ควร จะทำและเข้าใจในคำสั่งศาล ว่าคำว่าไปก่อเหตุภยันตรายประกันอื่นซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องมา จึงได้มาแถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำแบบเดิม มันจึงเป็นเหตุที่ถูกแก้ไข

เมื่อถามว่าทนายความอ้างว่าได้ยื่นคำร้องประกันตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับพวก โดยใช้เงื่อนไขเดียวกับ 3 คนก่อนหน้านี้ สิทธิโชติ ตอบว่า ไม่ใช่ ในคำร้องที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา แตกต่างกับ 3 คนที่ได้ประกันตัวในหลายประเด็น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขยายความว่า ของ 3 คนนั้น ตัวจำเลยเองเป็นคนลงชื่อในคำร้อง ยืนยันต่อศาลขอให้ศาลทำการไต่สวน และแถลงต่อศาลด้วยตนเอง ว่าจะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้องและจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ส่วนข้อกำหนดอื่นก็ให้ศาลสั่ง ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถสั่งอย่างอื่นได้ต้องสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลก็จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพราะจำเลยเป็นคนเสนอเงื่อนไขเองและจำเลยก็เป็นคนแถลงเอง ไม่ใช่ทนายความเป็นคนแถลงแต่ฝ่ายเดียว มันแตกต่างกัน

“ส่วนที่ทนายความยื่นคำร้องเมื่อวาน ทนายยื่นเอง ในเนื้อหาก็ไม่ได้พูดถึงเลย พูดเพียงแต่ว่าให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเอา ซึ่งศาลจะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ ศาลจะไม่บังคับใคร แต่ว่าหากตัวจำเลยเห็นว่าสิ่งที่ศาลสั่งว่าเกรงจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ที่ศาลก็บอกแล้วว่าที่ไม่ให้ประกันเกรงจะไปกระทำซ้ำในความผิดที่ฟ้อง และจำเลยตัดสินใจจะไม่กระทำแบบนั้นอีกพร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรมอีกศาลก็จะพิจารณา” นายสิทธิโชติ ระบุ

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวต่อว่า ที่ต้องระบุเรื่องการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในตอนหลังมีเหตุแทรกซ้อน ในกระบวนการพิจารณาซึ่งศาลได้กระทำตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง แต่อยู่ๆ มาบอกว่าไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และขอถอนกระบวนการพิจารณาถอนทนายพร้อมไม่ลงชื่อในรายงานพิจารณา พร้อมกับเอารายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเอง ภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งที่จริงเเล้วเรื่องนี้อาจจะต้องเข้าข่ายผิดละเมิดอำนาจศาลด้วย แต่ศาลเห็นว่าเราไม่ควรดำเนินคดีอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไป จึงได้มองแต่เพียงว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาและไม่ลงชื่อในการพิจารณาคดีต่อไป ตรงนี้มันทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จำเลยยืนยันว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เสนอมา ทำให้ศาลไม่เชื่อว่าจะกระทำตามเงื่อนไขได้ ในเคสของ 3 คนในตอนแรกจึงให้ประกันแต่นายปติวัฒน์ ที่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ส่วนอีก 2 คนไม่ได้ประกันตัวในครั้งนั้น จนมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตั้งทนายและยอมรับกระบวนการพิจารณาตามปกติ จนศาลเชื่อถือว่าปฏิบัติได้ จึงอนุญาตปล่อยนายสมยศและไผ่ ซึ่งเราสั่งไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรแปลกพิสดาร ทุกอย่างมันขึ้นกับข้อเท็จจริงเเบบนี้

“แต่เมื่อวานทนายไม่ได้ยื่นรายละเอียด ว่าเขาจะไม่ทำอะไรบ้างตามที่ศาลเคยสั่งไป สองตัวจำเลยไม่เคยพูดหรือไม่เคยเขียนรายละเอียดอะไรเลย แม้กระทั่งวันที่ออกศาลมาพิจารณาพร้อมกับหมอลำแบงค์ ตัวจำเลยคนอื่นก็อยู่ด้วยกันตลอดจำเลยทั้ง 7 คนที่ยื่นประกันก็ไม่เสนอเงื่อนไขอะไร เงื่อนไขที่อ้างว่าเจ็บป่วยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทางราชทัณฑ์ก็ยืนยันตลอด คือมันไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตรง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความกดดันต่อความรู้สึกผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษาจะต้องทำงานโดยปราศจากความกดดันใดๆ ทั้งสิ้น” อธิบดีผู้พิพากษาย้ำ

เมื่อถามว่าในส่วนที่ข้อเท็จจริงไม่ตรงกันเรื่องความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ จำเลย กับทางราชทัณฑ์จะมีทางพิสูจน์ได้หรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตอบว่า เห็นว่าตอนนี้ทางฝ่ายผู้ชุมนุม จะไปยื่นคำร้องต่อราชทัณฑ์ขอเข้าไปพบดูอาการและขอหมอมาตรวจอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ก็ต้องลองขออนุญาตดูว่าจะใช้หมอจากภายนอกได้หรือไม่ กรณีเราไม่เชื่อถือหมอข้างในของราชทัณฑ์ ตนคิดว่าทางราชทัณฑ์ไม่น่าจะขัดข้อง เราขอพาหมอเข้าไปตรวจสุขภาพ สิ่งนี้มันจะเป็นหลักฐานที่ดีกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ สร้างกระแสมากดดันศาล

อย่างไรก็ตาม นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยชี้แจงกรณีเหตุผลไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงจะไปทำผิดซ้ำว่า พริษฐ์, 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก และผู้ต้องขังคดีการเมืองอื่นๆ เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เท่านั้น แต่ยังไม่เคยได้รับการประกันตัวในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เลยแม้แต่ครั้งเดียว

"ทุกคนถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ไปพบพนักงานสอบสวน ไปพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดทุกครั้ง แม้แต่ในวันฟ้องก็เดินทางไปศาลตามที่อัยการนัด ไม่เคยหลบหนีมาก่อน เมื่ออัยการยื่นฟ้อง ทุกคนขอประกันตัว ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และถูกขังยาวมาจนถึงทุกวันนี้" ทนายความระบุ

 

ศาลเคยให้ประกันตัวหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไปกระทำความผิดซ้ำ ดังนั้นที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจึงสมเหตุสมผลแล้ว...

Posted by นรเศรษฐ์ นาหนองตูม on Thursday, 29 April 2021

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net