Skip to main content
sharethis

งานรดน้ำดำหัวของสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พบผู้ป่วยโควิด-19 รวม 52 คน แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารัฐมนตรีติดเชื้อด้วยหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดห้ามรวมตัวเกิน 20 คน ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ใน กทม., จ.ชลบุรี, จ.เชียงใหม่, จ.นนทบุรี, จ.ปทุมธานี, และ จ.สมุทรปราการ อ้างประชาชนไม่ระมัดระวังป้องกันตัว

คลัสเตอร์รัฐมนตรีลาม 52 คน

ช่อง 3 รายงานว่า นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยเปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 3 ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจากคลัสเตอร์ร้านอาหารคาเฟ่เดอทรี ที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อโดยตรงจากการไปอยู่ในวงที่ร้านอาหาร 21 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พักรักษาตัวอยู่ที่สุโขทัย 18 คน หนึ่งในนั้นคือเจ้าของร้านอาหาร และคนกลุ่มนี้ก็นำไปติดคนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดอีก 31 คน รวมเป็นเฉพาะที่สุโขทัยจะมี 49 คน

อีกส่วนคือ ผู้ติดเชื้อที่ไปพักรักษาตัวที่กรุงเทพ มี 3 คน เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน เป็นหญิง ส่วนอีก 2 คือ สามีของผู้เสียชีวิต และผู้ติดตามของสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อนำมารวมกัน จึงมีผู้ติดเชื้อทั้งติดโดยตรงจากในวงที่ร้านอาหารและที่ติดเพิ่มคือ 52 คน 

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงเมื่อวันที่ 12 เม.ย. คาดว่ามีประมาณ 20 คน ซึ่งถ้านับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว คือ 21 คน 

ส่วนสมศักดิ์ซึ่งอยู่ในงานสังสรรค์วันดังกล่าว ติดเชื้อด้วยหรือไม่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า ไม่ทราบ เพราะสมศักดิ์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สุโขทัย แต่เดินทางกลับมาที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่หลังสงกรานต์แล้ว 

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้สมศักดิ์บอกว่า หลังจากรอบแรกตรวจไม่พบเชื้อโควิด จะตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้งในวันที่ 27 เม.ย. ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 27 เป็นต้นมา ทีมข่าวช่อง 3 พยายามติดต่อสมศักดิ์ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ 

นพ.ปองพล ระบุว่า สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อจากที่ร้านอาหารดังกล่าว ถึงวันนี้น่าจะนิ่งแล้ว โดยกลุ่มที่ติดเชื้อที่ร้านมีเฉพาะจากวงของรัฐมนตรีสมศักดิ์เท่านั้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สั่งปิดร้านอาหารนี้ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ค. 2564 

สำหรับภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ของ จ.สุโขทัย มีทั้งหมด 89 คน เป็นกลุ่มร้านอาหาร 49 คน เกินครึ่งของทั้งหมด ในผู้ป่วยทั้งหมดตอนนี้ รักษาหายแล้ว 14 คน ยังรักษาตัวอยู่ 75 คน ซึ่ง นพ.ปองพล บอกว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ จ.สุโขทัย

ออกข้อกำหนดเพิ่ม อ้างประชาชนไม่ระมัดระวังป้องกันตัว

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 22) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 29 เม.ย. 2564 มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 นั้น
 
โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในเดือน เม.ย. 2564 อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อยมากในระยะแรก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราอาณาจักร มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อมิให้เหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทวีความร้ายแรงมากขึ้น และให้สามารถยุติลงได้โดยเร็ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการแพร่โรคเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเพื่อจำกัดวงในการระบาดของโรค เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และต้องสวมให้ถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

ข้อ 2 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ จ.นนทบุรีจ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ รวม 6 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อให้การสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่จังหวัด รวม 45 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(3) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัด รวม 26 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม

จังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ตาม (2) และ (3) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายข้อกำหนดนี้

ข้อ 3 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คนในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเหตุยกเว้น วิธีการ และหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน (2) ของข้อ 1 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เม.ย. 2564

ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดยกระดับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการขึ้นเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

(2) สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งสามารถเปีดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีให้จัดการแข่งขันได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแล้วให้สามารถจัดการแข่งขันได้ต่อไป

(3) สำหรับการเปิดดำเนินการของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน หรือสถานประกอบการอื่นในลักษณะคล้ายกัน ให้ดำเนินการได้ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคเช่นเดียวกับมาตรการแบบควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เม.ย. 2564

(4) การงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

ข้อ 5 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เม.ย. 2564 รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

ข้อ 6 การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อมุ่งลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบในการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบจะติดเชื้อ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่ในสถานที่ตั้ง การสลับวันเวลาทำงาน หรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสมโดยพิจารณาให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 ราย อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.31

ด้าน ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,579 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 4 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 15 ราย สะสม 203 ราย อัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.31 ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 36,254 ราย ยังเหลือที่รักษาอยู่ 28,696 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 21,407 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 7,289 ราย ซึ่งมีผู้อาการหนัก 871 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 250 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net