Skip to main content
sharethis

ประชาชนโกนผมเรียกร้องสิทธิประกันตัวเป็นเพื่อน 'แม่เพนกวิน' สมยศตั้งข้อสังเกต คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มภายหลัง 'ไผ่ ดาวดิน' กังวลเพนกวินถูกพาไปรักษานอกเรือนจำไม่มีเพื่อนที่ไว้ใจดูแล ด้าน ส.ส.หญิงเพื่อไทยและสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเรียกร้องศาลคืนสิทธิประกันตัว

โกนผมเรียกร้องสิทธิประกันตัวเป็นเพื่อน 'แม่เพนกวิน'

30 เม.ย. 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมทำกิจกรรมคู่ขนานกับกลุ่มพีเพิลโกเน็ตเวิร์ก (People Go Network) ที่หน้าศาลอาญา

18.55 น. สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในจำเลยร่วมคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กล่าวว่า วันนี้ต้องมา มาเพราะเห็นแม่ของเพนกวินโกนหัว ทำให้กลั้นน้ำตาไม่อยู่ และไม่ใช่น้ำตาครั้งแรกที่ตนเห็นแม่ของเพนกวินต้องหลั่งน้ำตา ครั้งแล้วครั้งเล่า

สมยศเล่าถึงความแปลกของคดีนี้ว่า ที่ผ่านมาพวกเขามารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง ตั้งแต่ชั้นสอบสวนของตำรวจ ชั้นอัยการ และศาล คดีนี้มีความผิดปกติ เริ่มแรกกล่าวหาพวกเขาตามมาตรา 116 จากนั้นมีการออกหมายจับ ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกหมายจับก็ได้ แต่ท้ายสุดศาลก็ปล่อยตัว ต่อมามีการกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม การกล่าวหาเพิ่มเติมสะท้อนให้เห็นว่า เจตนาครั้งแรกไม่ได้ต้องการใช้ข้อหานี้แต่สุดท้ายก็ใช้

สมยศให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในชั้นตำรวจใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน ต่อมาส่งเอกสารสำนวนคดีผู้ต้องหาจำนวน 27 คนให้อัยการ อัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนก่อนสั่งฟ้องต่อศาลอาญาไม่กี่วันเท่านั้น วันที่ 29 ม.ค. 2564 จำเลยยื่นขอให้อัยการสอบสวนเพิ่มเติม แต่สุดท้ายไม่ได้พิจารณาและส่งฟ้องในวันที่ 9 ก.พ. 2564  และไม่ให้ประกันตัว ด้วยคดีมีโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดไม่เคยหลบหนี มารายงานตัวทุกครั้ง ก่อนหน้านี้ใครติดตามคดีฆาตกรรมของหมอนิ่ม ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่าผิด ขณะยื่นอุทธรณ์และระหว่างการพิจารณาศาลให้ประกันตัว นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ขณะที่พวกเรา จำเลยคดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรยังไม่มีความผิด เหตุใดต้องเข้าไปอยู่ในคุก

สมยศกล่าวอีกว่า ตอนที่เขาไปอยู่ในคุกนั่งคุยกันว่า เมื่อเราถูกกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกคุมขัง เราจะสู้อย่างไร ฝ่ายผู้กล่าวหาเป็นรัฐ มีทรัพยากรมากกว่า มองย้อนกลับมาพวกเราจะมีอะไรไปต่อสู้ได้ มีเพียงกรงขัง การพบทนายความก็ยาก เหมือนทำคดีแบบมัดมือชก

สมยศทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาเขาและเพื่อนต้องเผชิญกับความทุกข์ในเรือนจำ ขณะที่เพนกวินตัดสินใจเพิ่มความทุกข์ทรมานไปอีกขั้นด้วยการอดข้าวด้วยไม่รู้จะสู้อย่างไร เราทุกคนปรารถนาใช้การต่อสู้แบบสันติวิธีด้วยเหตุนี้จึงขอทรมานตนเองเพื่อให้ความทุกข์นี้ไปปลุกศีลธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และขอยกย่องเพื่อนที่ยังอยู่ในคุก เขาอยู่ด้วยความทุกข์ทรมานและขอกราบคารวะพ่อแม่พี่น้องที่ออกมาต่อสู้

จากนั้น 19.15 น. นักศึกษาและประชาชนร่วมโกนหัวประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นเพื่อนสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์

'เติร์ด' รัฐภูมิ เลิศไพจิตร จาก We Volunteer หรือวีโว่ กล่าวว่า เราต้องติดตามต่อไปว่า เพนกวินจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ เราจำเป็นต้องยืนยันในหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เราไม่ได้ร้องขอความเมตตาจากศาลเพราะความยุติธรรมมันควรเกิดขึ้นมาแต่แรก

19.40 น. ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มาในกิจกรรมเสวนาหน้าศาล โดยพีเพิลโกเน็ตเวิร์ก ที่หน้าศาลอาญา เล่าเรื่องการดูแลเพนกวินในเรือนจำว่า กิจวัตรประจำวันตื่นเช้ามาหมอจะมาตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดและวัดความดัน รวมทั้งการชั่งน้ำหนัก แต่ละวันเพนกวินจะดื่มเกลือแร่และนั่งคุยกัน เวลาที่เข้าห้องน้ำก็ประคองกันบ้าง ช่วงที่มีเสาน้ำเกลือก็จะช่วยถือเสา เวลาถอดเสื้อก็จะต้องช่วยเหลือ หลักๆ แล้วเพนกวินจะนอนในห้องพยาบาล บางครั้งก็จะชวนกันเดินเพราะกลัวกล้ามเนื้อจะอ่อนแรง หลังจากเขาได้ประกันตัวออกมาแล้ว 'แอมมี่' ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ เป็นผู้ดูแลเพนกวินต่อ

เขาเล่าด้วยว่า ตอนนี้แอมมี่กำลังแต่งเพลงใหม่เป็นเพลงรัก ตอนนี้ที่เพนกวินออกมาจากเรือนจำแล้วอาจจะน่าเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะไม่มีเพื่อนที่ไว้ใจอยู่ด้วย ในเรือนจำยังมีเขาและแอมมี่ ถึงแม้ไม่รู้เรื่องการรักษาแต่ก็ปลอดภัยทางใจ ตอนที่มีคนส่งจดหมายเข้าไปหาเพนกวินบอกให้เลิกอดข้าว เพนกวินก็รู้สึกดีใจที่มีคนเป็นห่วงและเก็บไปพูดคุยกัน แต่เนื่องจากเพนกวินใช้การอดอาหารยืนยันสิทธิการประกันตัว จึงต้องการไปให้สุดทาง ไหนๆ อดมาขนาดนี้ เหมือนกับว่าเดินมาไกลแล้ว

ไผ่กล่าวต่อว่า ระหว่างที่อดอาหารเพนกวินก็ท้อ อยากจะกินนั่นกินนี่ บทสนทนาตอนหลังๆ ก็เป็นเรื่องการกินแล้ว แต่ท้ายสุดก็ตัดสินใจไปต่อ เมนูอาหารที่อยากกินในเรือนจำคือ เป็ดพะโล้ ส้มตำ น้ำตก และอีกหลายอย่าง มีการจดรายการไว้เลย แต่อาหารที่อยากกินมากที่สุด คือ อาหารข้างนอกเรือนจำ

เมื่อถูกถามว่า ในปี 2559 ตอนที่ไผ่ถูกคุมขังในคดีแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 และเคยอดอาหารประท้วงนั้น แตกต่างจากการอดอาหารของเพนกวินอย่างไร ไผ่ตอบว่า แตกต่างกัน เพราะเพนกวินอดทนและอดนานกว่า ผู้คนที่มารักมาเห็นอกเห็นใจมากกว่า สังคม ณ วันนี้เข้าใจ และตั้งใจคำถามถึงความไม่ถูกต้อง สมัยก่อนไม่ได้มีแรงสนับสนุนเช่นนี้ แต่รูปแบบที่รัฐกระทำต่อนักเคลื่อนไหวยังเหมือนเดิม คือ จับคนไปขัง ซึ่งเมื่อถูกขังสิ่งเดียวที่จะสู้ต่อได้คือการอดอาหาร

20.00 น. เบนจา อะปัญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านแถลงการณ์และโปรยรายชื่อแนบท้ายจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเข้าไปในรั้วศาลอาญา จากนั้นประกาศว่า จะกลับไปปักหลัก #อยู่หยุดขัง ที่ศาลฎีกา และจะกลับมาใหม่พร้อม 100,000 รายชื่อ

“...หากเราไม่ยอมแพ้ เผด็จการและศักดินาก็ไม่มีวันชนะ...” เบนจากล่าว

ส.ส.หญิงเพื่อไทย แถลงทวงสิทธิประกันตัวถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ส.หญิงของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งหมด 20 คน ออกแถลงการณ์ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอความเป็นธรรมให้นักเคลื่อนไหวทางความคิดได้รับสิทธิประกันตัว โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ทุกฝ่ายได้พยายามต่อสู้และยื่นประกันตัว 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, 'รุ้ง' ปนัสยา สินธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก, 'แอมมี่ เดอะ บอตทอมบลูส์' ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, 'จัสติน' ชูเกียรติ แสงวงค์, และ 'พอร์ท ไฟเย็น' ปริญญา ชีวินกุลปฐม มาโดยตลอด โดยเฉพาะเพนกวินและรุ้ง ที่แสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้า เรียกร้องอย่างสันติวิธีด้วยการอดอาหารเพื่อขอความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

ทั้งนี้ ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยติดตามสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน ที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกได้รับสิทธิประกันตัวพร้อมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางความคิดทั้งหมด ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะยังไม่มีคำพิพากษาออกมาว่าได้กระทำความผิด จึงควรเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนทุกคนในประเทศนี้สมควรได้รับ ด้วยจิตวิญญาณของคนเป็นแม่ เราขอแสดงจุดยืนในฐานะแม่คนหนึ่ง ที่รับรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหัวอกของคนเป็นแม่ คงไม่มีแม้เพียงวันเดียวที่แม่จะกินอิ่มนอนหลับ ด้วยเพราะรู้ว่าลูกกำลังลำบากทางร่างกาย เพนกวินและรุ้งแสดงจุดยืนอดอาหารอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 40 วันแล้ว วันนี้ร่างกายซูบผอม อ่อนแรง การให้น้ำเกลือและวิตามินก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเกินขีดจำกัดที่ร่างกายมนุษย์จะรับได้

“เราจึงอยากวิงวอนขอให้ศาลมอบความเมตตากับนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนให้ได้รับสิทธิการประกันตัวตามกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมถึงพันธกรณี ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 วรรคหนึ่ง “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ การได้รับสิทธินี้คือความหวัง และเป็นตัวแทนของความเมตตาที่ผู้เป็นแม่ทุกคนต้องการได้รับจากความยุติธรรม เพราะชีวิตคนไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะเป็นใครก็ตามย่อมมีค่ามากที่สุดเสมอในสายตาของผู้เป็นแม่” จดหมายระบุ

ในจดหมายยังระบุอีกว่า 9 ครั้งที่ต่อสู้ 9 ครั้งที่ร้องขอสิทธิประกันตัว 80 วันที่นักเคลื่อนไหวทางความคิดถูกกักขัง แม้ถูกจองจำทางร่างกาย แต่หาได้ถูกจองจำอุดมการณ์ไม่ ศาลที่เคารพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง พรรคเพื่อไทย ขอแสดงเจตจำนงในการร้องขอความเป็นธรรมให้กับนักเคลื่อนทางความคิดทั้งหมด โดยมีรายนามดังต่อไปนี้

1. น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี เขต 3
2. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทท. เขต 29
3. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5
4. นางจุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี เขต 5
5. น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย เขต 2
6. น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.สปเชียงใหม่ เขต 1
7. นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี เขต 8
8. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. เขต 18
9. นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1
10. นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 8
11. นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล ส.ส.ชัยภูมิ เขต 5
12. นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2
13. นางมุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น เขต 4
14. น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย เขต 7
15. น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร เขต 5
16. นางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ เขต 1
17. น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น เขต 8
18. นางสิรินทร รามสูต ส.ส.น่าน เขต 1
19. นางอนุรักษ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร เขต 4
20. นางอาภรณ์ สาราคำ ส.ส.อุดรธานี เขต 4

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเรียกร้องศาลปรับปรุงกระบวนการให้ประกันตัว

ความเห็นทางกฎหมายต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์

ถึง ประธานศาลฎีกา และกระบวนการยุติธรรมไทย

ตามที่ศาลอาญา ได้เป็นผู้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 โดยมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว  ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าคำสั่งของศาลอาญา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้นำเหตุและพฤติการณ์ตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ทนายความได้ระบุไว้โดยละเอียด อันจะเป็นเหตุให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาพิจารณาประกอบการทำคำสั่งเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเหตุผลเรื่องสภาพร่างกายที่อยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต  ซึ่งทนายความได้ระบุในคำร้องไว้ชัดเจนว่า “ที่มากไปกว่านั้น ปัจจุบันพริษฐ์มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เกิดภาวะขับถ่ายเป็นเลือดและมีเศษบางอย่างคล้ายเนื้อเยื่อออกมาด้วย คาดว่าน่าจะเกิดจากร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหาร ถือเป็นความเจ็บป่วยรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้...  จำเลยจึงขอศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ทั้งนี้ หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ขอศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยจำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และหากศาลเห็นสมควรจะทำการไต่สวนจำเลยก็ขอศาลได้ออกหมายเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนหรือทำการไต่สวนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป”  หากมีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจะพบว่า จำเลยเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้ปล่อยจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 วรรคสาม แต่กลับไม่ได้มีการไต่สวนคำร้อง ละเลยไม่นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณา อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุผลในคำสั่งว่าเหตุใดศาลจึงไม่นำข้อเท็จจริงเรื่องอาการขั้นวิกฤตของนายพริษฐ์ ตามคำร้องมาประกอบการพิจารณา  ทั้งที่สามารถพิจารณาทำคำสั่งโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ได้

คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ปราศจากเหตุผลที่สามารถเข้าใจได้  ปราศจากหลักกฎหมาย และปราศจากมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง  การทำคำสั่งโดยอ้างคำสั่งเดิมของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ว่าเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อน ย่อมเป็นการทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยลงอย่างสิ้นเชิง  เพราะเป็นการประกาศต่อสังคมว่าหากศาลเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว  เมื่อมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีก ก็จะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว  เช่นนี้ย่อมขัดต่อหลักการและทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  มาตรา 119 ทวิ ที่บัญญัติว่า  ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้... คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่  ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอีกต่อไป

สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้ศาลทบทวนและปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจในการปล่อยชั่วคราว ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย และยุติการทำคำสั่งในลักษณะที่ระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม...” เพราะคำสั่งลักษณะดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ปราศจากเหตุผล ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย   ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 1 อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ 1 ที่ระบุว่า “หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผ้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน  เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

หากนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ต้องเสียชีวิตในเรือนจำภายใต้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาล  นั่นไม่ใช่เพราะการอดอาหาร แต่เพราะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวตามหลักการขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

จึงขอให้มีการทบทวนกระบวนพิจารณาหลักการและวิธีการดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

30 เมษายน 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net