Skip to main content
sharethis

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,940 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,183 ราย รวมรักษาหายสะสม 39,481 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 21 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 245 ราย - กทม.เผยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.63 – 2 พ.ค.64 มีผู้ป่วย 3,462 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,072 ราย

2 พ.ค. 2564 Thai PBS รายงานว่า พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผช.โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น 1,940 คน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 21 คน ยอดเสียชีวิตสะสม 245 คน พบว่าอาการหนัก 954 คนมีผู้ป่วยหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 คน

ผช.โฆษกศบค.ระบุว่า ในจำนวนนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,940 คนแบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,930 คน และเดินทางกลับจากต่างประเทศ 10 คน ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.นี้ ตั้งแต่ 1 เม.ย.-2 พ.ค.2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 40,121 คน เสียชีวิตสะสม 151 คน และยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 29,481 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต 21 คน เป็นเพศชาย 12 คน เพศหญิง 9 คน พบว่าเป็นคนกทม. 8 คน เชียงใหม่ 4 คน ชลบุรีและลำพูน จังหวัดละ 2 คน ส่วนนครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ และอุดรธานี จังหวัดละ 1 คน ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิต 2 คน ติดเชื้อขณะนอนอยู่ในโรงพยาบาล และบางกลุ่มใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ 7 คน สัมผัสใกล้ชิดเพื่อนร่วมงาน 1 คน และอีก 6 คนสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน

“ดูการติดเชื้อระลอกเม.ย.บางวันเหมือนยอดจะลดลงแต่พบว่าในช่วง 2-3 วันเริ่มกลับมามีตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมาจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยเฉพาะในกทม.-ปริมณฑล ซึ่งเฉพาะกทม.มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน 539 คน ส่วนปริมณฑล 570 คนดังนั้นสรุปว่ากระจุกใหญ่จึงอยู่ในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล”

ส่วนอีก 10 คนที่เข้ามาแล้วติดเชื้อมาจากออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นอร์เวย์ อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้นทั้งหมดยังเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วันและทางกรมควบคุมโรคยังพยายามตรวจค้นหาเชื้อกลายพันธุ์จากผู้ที่เดินทาง นอกจากนี้ขอให้ติดตามประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่เตรียมจะชะลอการเดินทางเข้ปาระเทศของกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทยกลับมาด้วย

“กรมควบคุมโรคสรุปว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตยังมาจากกลุ่มสมาชิกในครอบครัว และมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และมีกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง”

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดย กทม.539 คน เริ่มลดลงมาอยู่สีเขียวแต่ก็ยังถือว่ามากอยู่ ส่วน นนทบุรี 276 คน สมุทรปราการ 145 คน ชลบุรี 89 คน ปทุมธานี 62 คน เชียงใหม่ 55 คน สมุทรสาคร 52 คน สุราษฎร์ธานี 48 คน ระยอง 45 คน และฉะเชิงเทรา 37 คน

นอกจากนี้เมื่อดูแผนที่ประเทศไทย พบว่าสีขาวเริ่มมี 11 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มแล้ว ส่วนสีเขียวที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 คนมี 32 จังหวัด สวนสีเหลือง ผู้ติดเชื้อ 11-50 คน จำนวน 27 จังหวัด สีส้ม ผู้ติดเชื้อ 51-100 คนจำนวน 4 จังหวัด และสีแดง ผู้ติดเชือมากกว่า 100 คนจำนวน 3 จังหวัด

การประเมินทิศทางมาตรการที่เกิดขึ้นอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลังจาก WFH /ปิดสถานบันเทิง สถานบริการหลังสงกรานต์ พบแนวโน้มกราฟจะลดลงบ้าง ยกเว้นในกทม.ที่ยังมีตัวเลขที่สูง แม้ว่าตอนนี้พี่น้องประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการเพิ่มเติมที่ออกมา เช่น งดกินอาหารในร้าน และกิจกรรมกิจการเสี่ยง ก็จะเริ่มลดลงได้ เพราะส่วนใหญ่การติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด

กระจายยา "ฟาวิพิราเวียร์" แล้วกว่า 7 แสนเม็ด

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะประธานคณะทำงานภาร กิจด้านการจัดหาและกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวขั้นตอนการเบิกยาฟาวิพิราเวียร์มีความยากลำบากบางโรงพยาบาลไม่มียาเก็บไว้ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีระบบบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ โดยส่วนกลางเป็นหน่วยสำรองยาระดับประเทศ และกระจายยาไปทุกจังหวัดที่รับผู้ป่วย พร้อมทั้งสำรองในโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้งในกทม.และภูมิภาคทุกเขตสุขภาพมากกว่า 20 โรงพยาบาล เช่น ในกทม.โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกทม.เป็นแม่ข่ายกระจายยาให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย.นี้ มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วย ทุกเขตสุขภาพ 765,600 เม็ด เช่น โรงยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์แห่งละ 4,000–6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้งมีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉินโดยองค์การเภสัชกรรมผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย

กทม.เผยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2563 – 2 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วย 3,462 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,072 ราย

สำนักข่าวไทย รายงานว่านางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจเชิงรุกและนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ hospitel ดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2563 - 2 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 3,462 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,072 ราย ย้ายไปโรงพยาบาลนอกสังกัด จำนวน 21 ราย และเสียชีวิต 10 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,359 ราย

ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งสถานที่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ(รพ.สนาม/hospitel) จำนวน 9 แห่ง และสถานที่สำหรับรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการ (รพ.สังกัดกทม.) จำนวน 8 แห่ง นอกจากนี้ กทม. ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมดำเนินการ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และไม่มีผู้ป่วยตกค้างในแต่ละวัน โดยตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. -1 พ.ค. 2564 ศูนย์เอราวัณรับผู้ป่วย 3,266 ราย เข้ารับการรักษา 2,839 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 1,886 ราย รักษาในโรงพยาบาลอื่น จำนวน 953 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net