Skip to main content
sharethis

ส่องจุดยืนวันเสรีภาพสื่อโลก 

  • สมาคมนักข่าวฯ ขอพื้นที่ปลอดภัย ย้ำใครละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด
  • 'นักเรียนสื่อ' ค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ชี้ทำสื่อไทยไร้เสรีภาพ และตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐ
  • ยูเอ็นย้ำสื่อที่เป็นอิสระปราศจากการเซ็นเซอร์และมีเสรีภาพเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย

3 พ.ค.2564 เนื่องในวัน เสรีภาพสื่อมวลชนโลก นอกจากวันนี้ที่มีการเปิดตัว “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย” ที่มีกว่า 203 คนทำงานสายสื่อ-ศิลปวัฒนธรรม-งานสร้างสรรค์ทุกแขนงร่วมลงชื่อก่อตั้งแถลงจุดยืนเชื่อมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย เรียกร้องข้อแรก ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมือง และหยุดข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่างกับรัฐบาล แล้วนั้น

ยังพบว่ามีการออกแถลงการณ์ขององค์ที่ทำงานด้านการสื่อสาร องค์กรศึกษาด้านนี้และองค์กรสิทธิฯ ด้วย ดังนี้

สมาคมนักข่าวฯ ขอพื้นที่ปลอดภัย ย้ำใครละเมิดต่อเสรีภาพไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย เปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานของสื่อมวลชน โดยต้องหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน เรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวปลอม(Fake News) และควรใช้สิทธิในการตรวจสอบสื่อมวลชนควบคู่ไปด้วย

สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำหน้าที่รายงานถึงสาเหตุของปัญหา นำเสนอทางออก หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ตามหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ความขัดแย้ง และพื้นที่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งย้ำด้วยว่าองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำที่ทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก3พฤษภาคม”เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน”

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่3พฤษภาคมของทุกปี เป็น“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนมืออาชีพได้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีภาพและปลอดภัย 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ยืนหยัดสนับสนุนหลักการดังกล่าว ต้องการเห็นสื่อมวลชนทุกแขนงยึดมั่นและตระหนักถึงคุณค่าเสรีภาพ ภายใต้หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในปีนี้วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกครบรอบ30ปี ตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) และกลุ่มมวลชนทางการเมืองเคลื่อนไหวต่อสู้กันรุนแรงทุกมิติ กลายเป็นสมรภูมิขับเคี่ยวทางความคิดระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย อยู่ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้สำหรับควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  สุ่มเสี่ยงถูกอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน อำนาจรัฐควรปล่อยให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ดูแลความปลอดภัยการทำงานสื่อมวลชนที่เข้าไปรายงานในพื้นที่ชุมนุม และสื่อมวลชนไม่ควรตกเป็นเป้าของมวลชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง

ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย เปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานของสื่อมวลชน โดยต้องหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

2.ขอเรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวปลอม(Fake News) และควรใช้สิทธิในการตรวจสอบสื่อมวลชนควบคู่ไปด้วย

3.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทำหน้าที่รายงานถึงสาเหตุของปัญหา นำเสนอทางออก หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ตามหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ความขัดแย้ง และพื้นที่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19

4.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นอีกเสาหลักหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำที่ทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  

3 พฤษภาคม 2564

'นักเรียนสื่อ' ค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ชี้ทำสื่อไทยไร้เสรีภาพ และตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐ

ภาคีนักเรียนสื่อ หรือ Association Of Journalism Students ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษา ที่ศึกษาด้านการสื่อสารหรือนิเทศศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ที่ชื่อ "ฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ด้วยการคัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ"

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

[ฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ด้วยการคัดค้าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ]

เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก #ภาคีนักเรียนสื่อ ขอเตือนความจำคนไทยว่า ครม.ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับที่ ... ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2560 ให้ผ่านเข้าไปสู่สภา โดย พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ จะทำให้สื่อมวลชนไทยไร้เสรีภาพ และตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐ!

สาระสำคัญที่เป็นปัญหา 5 ข้อ ประกอบไปด้วย

1) ขอบ่อยไป ไม่ให้นะจ๊ะ (มาตรา 11/1)

-- หากประชาชนยื่นขอข้อมูลข่าวสารทางราชการ "เป็นจำนวนมาก หรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร" หน่วยงานรัฐมีสิทธิจะไม่จัดหาข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนก็ได้ เป็นการจำกัดสิทธิความรับรู้ของประชาชน ให้สงสัยได้เท่าที่รัฐอนุญาตเท่านั้น

2) ม.112 สำหรับสื่อมวลชน? (มาตรา 12/2)

-- ห้ามเปิดเผยข้อมูล "ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย" ต่อสถาบันกษัตริย์ การนิยามเช่นนี้กว้างขวางเกินไป เพราะไม่ว่าข้อมูลไหนก็สามารถตีความว่าก่อความเสียหายต่อสถาบันฯ ได้ทั้งนั้น เปิดโอกาสให้กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องลงโทษผู้เห็นต่างทางการเมือง เช่นเดียวกันมาตรา 112

3) ข้อมูลอ่อนไหวเกินไป ขอไม่เปิดเผยแล้วกัน (มาตรา 13/2)

-- ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็น "ความมั่นคงของรัฐ" รวมถึงข้อมูลด้านการทหาร การป้องกันต่างประเทศ และการปราบปรามการก่อการร้าย ที่แม้จะเป็นข้อมูลสำคัญมาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐกลับไม่ยอมให้สื่อมวลชนได้ตรวจสอบ โดยอ้างว่ากระทบความมั่นคง?

4) เรื่องของรัฐบาล ชาวบ้านไม่ต้องยุ่ง (หมวด 2 (1) )

-- การเข้าถึงเอกสารเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจหรือเงินการคลังของประเทศ" ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่งบประมาณเหล่านั้นก็มาจาก #ภาษีกู ทั้งนั้น และเป็นสาธารณประโยชน์ ประชาชาและสื่อจึงควรมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนเพียงกลุ่มเดียว

5) ขู่ให้กลัวด้วยระวางโทษรุนแรง

หากฝ่าฝืน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข มาตรา 13/1 หรือ 13/2 จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เทียบเท่ากับคดีอุกฉกรรจ์ทีเดียว

เพราะ #เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน สื่อมวลชนมีหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐ แต่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฉบับแก้ไขนี้ ถือเป็นการปิดปาก-มัดมือสื่อมวลชนอย่างชัดเจน เท่ากับเป็นปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชนไปด้วย

สิ่งที่เราทำได้ในฐานะประชาชน คือร่วมกันจับตา และพร้อมจะส่งเสียงคัดค้าน "ไม่เอา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข" อย่างถึงที่สุด โปรดติดตามความเคลื่อนไหวจากภาคีนักเรียนสื่อ พวกเราจะได้ร่วมมือกันเร็วๆ นี้!

สุขสันต์วันเสรีภาพสื่อ อย่าให้เสรีภาพสื่อไทย ถดถอยลงไปกว่าเดิม

ยูเอ็นย้ำสื่อที่เป็นอิสระปราศจากการเซ็นเซอร์และมีเสรีภาพเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย

ขณะที่ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกถ้อยแถลงเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ถ้อยแถลงของข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มิเชล บาเชเลต์

3 พฤษภาคม 2564

สื่อที่เป็นอิสระ ปราศจากการเซ็นเซอร์และมีเสรีภาพเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย สื่อสามารถให้ข้อมูลที่ช่วยชีวิตผู้คนในภาวะวิกฤต เป็นรากฐานของการมีส่วนร่วมของสาธารณะ อีกทั้งช่วยให้เกิดความตระหนักในภาระรับผิดชอบและความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกนี้เป็นโอกาสที่เราจะสดุดีงานอันสำคัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ตรงกับวันครบรอบ 30 ปีของการประกาศปฏิญญาวินด์ฮุค (Windhoek Declaration) ซึ่งนักข่าวชาวแอฟริกันได้ร่วมกันจัดทำหลักการพื้นฐานเสรีภาพสื่อมวลชนขึ้น

ถึงแม้นักข่าวจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่หลายคนกลับต้องเผชิญกับการถูกโจมตี ข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีอาญาที่เพิ่มสูงขึ้นและเกิดขึ้นเป็นประจำเพราะทำหน้าที่ของพวกเขา มีตัวเลขมากมายได้แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงทางเพศต่อนักข่าวผู้หญิง รวมถึงการคุกคามและทารุณกรรมทางเพศออนไลน์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก

นักข่าวและผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนถูกสังหารในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเกือบพันคน จำนวนการถูกโจมตีที่เพิ่มสูงมากอย่างน่าตกใจนี้ ทั้งกระทำจากรัฐ กลุ่มติดอาวุธและผู้ก่ออาชญากรรมก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เฉกเช่นเดียวกับการเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

มีเพียงแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีและได้รับโทษ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นผลมาจากการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมกว่าหลายปี และต้องแลกมากับผลกระทบมหาศาลที่ตกกับครอบครัวของเหยื่อ

การพ้นผิดลอยนวลโดยแทบจะสิ้นเชิงนี้เอื้อให้เกิดการละเมิดในลักษณะดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวแก่นักข่าว ครอบครัว และสังคมในวงกว้าง

วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประจักษ์ชัดกว่าที่เคยว่าการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงนโยบายของรัฐบาลหรือบุคคลสาธารณะ บ่อยครั้งจนเกินไปนำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมาย อีกทั้ง กฎหมายที่ได้รับการรับรองหรือบังคับใช้เพื่อจำกัดและเอาผิดการบิดเบือนข้อมูลระหว่างที่มีโรคระบาดกลับถูกนำมาใช้โดยรัฐเพื่อมุ่งเอาผิดนักข่าว

ทั่วโลกผู้คนต่างออกมาบนท้องถนนมากขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจของตน เรียกร้องการยุติการเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ และยุติการพ้นผิดลอยนวลและคอร์รัปชัน นักข่าวผู้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการรายงานข่าวการประท้วงทางสังคมต่างๆ กลับตกเป็นเป้าหมายอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้ หลายคนตกเป็นเหยื่อของการใช้กำลังอย่างไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ไม่ว่าจะจากการบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมตามอำเภอใจ และการดำเนินคดีอาญา

การโจมตี จับกุม และดำเนินคดีอาญากับนักข่าวเป็นการเพิ่มบรรยากาศความหวาดกลัว ทำให้นักข่าวคนอื่นไม่อยากรายงานประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา วิธีเหล่านี้บั่นทอนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะและขัดขวางความสามารถของเราในการรับมือกับความท้าทายทางสังคมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19

งานของนักข่าวและผู้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการฟื้นตัวของโลกจากความเสียหายของวิกฤตนี้ ข่าวที่อยู่บนพื้นฐานความจริง เชื่อถือได้ ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะหักล้างข้อมูลบิดเบือน นำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนและฟื้นตัวได้รวดเร็วให้กับความท้าทายในปัจจุบัน อีกทั้ง ช่วยเรียกร้องความโปร่งใสและการตระหนักในภาระรับผิดชอบ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ

ข้อมูลที่ถูกต้องจะส่งเสริมความผาสุขของมนุษยชาติ โดยถือเป็นสินค้าสาธารณะ (public good) อย่างนึง การปิดปากนักข่าวรังแต่จะสร้างความเสียหายให้กับสังคมโดยรวม

เพื่อสดุดีความกล้าหาญของเหล่านักข่าวที่ทุ่มเทเพื่อให้สาธารณะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน เราต้องช่วยกันเรียกร้องให้สิทธิของเขาเหล่านั้นได้รับการเคารพ คุ้มครองและเกิดขึ้นได้จริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net