Skip to main content
sharethis

แนวร่วม มธ.แต่งชุดนักโทษเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้นักโทษการเมืองล่าแสนรายชื่อยื่นจดหมายถึงอธิบดีศาลคืนสิทธิประกันตัว 6 พ.ค.นี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ 

4 พ.ค.2564 เวลาประมาณ 16.30 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เผยแพร่ภาพนักกิจกรรมราว 10 กว่าคนสวมชุดนักโทษพร้อมถือป้ายรณรงค์ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้กับนักโทษการเมืองที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันเช่น ไชยอมร หรือแอมมี่ ภาณุพงษ์ จาดนอกหรือไมค์ อานนท์ นำภา เป็นต้น

ก่อนที่จะมีการรณรงค์วันนี้ทางแนวร่วม มธ.ยังมีการระดม 100,000 รายชื่อในจดหมาย “ราชอยุติธรรม” ที่จะยื่นถึงศาลในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 6 พ.ค.นี้ โดยเนื้อหาในจดหมายระบุถึงการกระทำของรัฐที่ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายและใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่นการเอาตัวผู้ถูกจับกุมไปไว้ที่กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก. ตชด.1) และการตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 หรือ มาตรา 116 การปฏิเสธสิทธิประกันตัวในระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณาคดีทั้งที่ยังไม่เคยมีคำพิพากษาตัดสินว่าพวกเขาได้กระทำความผิดซึ่งผิดหลัก “สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” ไว้ก่อน เป็นต้น

ในจดหมายได้ระบุข้อเรียกร้องถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ให้มีการพิจารณาอนุมัติให้ประกันตัวผู้ต้องหาที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัวที่ในขณะนี้ยังเหลืออยู่อีก 17 คน

จดหมาย “ราชอยุติธรรม” ของ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

เรื่อง การเสริมสร้างและดํารงซึ่งกระบวนการยุติธรรม ในการดําเนินคดีทางการเมือง

จากกรณีการดําเนินคดีทางการเมืองต่อนักศึกษาและประชาชนที่อยุติธรรมยิ่ง ในช่วงเวลาที่ผ่าน มาได้เกิดปรากฏการณ์จากภาครัฐจับกุมราษฎรผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่เป็น ธรรม โดยบ่อยครั้งทางภาครัฐได้ใช้กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น จับกุมและควบคุมตัวไปยัง กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก. ตชด.1) แทนที่จะเป็นสถานีตํารวจในพื้นที่ การ ปฏิเสธให้ทนายและญาติเข้าร่วมการสอบสวน รวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ “ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง” และมาตรา 112 ที่รู้จักกันดีใน นาม “ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์” ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในหลายคดี ได้ปรากฏถึงการที่มีการฝากขังระหว่าง พิจารณาคดีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง ทั้งนี้พวกเขาทั้งหมดยังถูกปฏิเสธสิทธิ ในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดําเนินคดีและถูกฝากขังมาจนถึง ณ เวลานี้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคงอาจกล่าวได้ว่านี้คือความอยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้ กฎหมาย เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ไม่ว่าจะมาตราใด กลับ กลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดจากฝากฝั่งของฝ่ายรัฐบาล พร้อมทั้งการที่กระบวนการดําเนินคดีความกลับเต็มไปด้วยความเลวร้ายอย่างการไม่ให้ประกันตัวที่ เกิดขึ้น ซึ่งได้นํามาสู่ปัญหาในการสู้คดีความของผู้ที่ถูกกล่าวหา ดังเช่นการไม่สามารถรวบรวมหลักฐาน ในการต่อสู้คดีได้จากเหตุที่พวกเขานั้นถูกฝากขังในการพิจารณาคดี

ซึ่งหากว่าตามหลักการ "Presumption of Innocence” ซึ่งใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ได้ ระบุไว้ชัดเจนว่า ในคดีอาญา ระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุด ให้อนุมานว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยนั้นเป็นผู้ บริสุทธิ์ “ไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติ ต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ใน ฉบับปัจจุบัน ก็มีการรับรองสิทธินี้เอาไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 อย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิของปวงชนชาว ไทย แต่กลับกลายเป็นว่าศาลได้อ้างถึงการ “มีพฤติกรรมที่อาจกระทําความผิดซ้ำ” ซึ่งเป็นการ “กล่าวหาอย่างล่วงหน้า” ว่าที่ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิดจริงและอาจทําซ้ำนั้น จึงขัดต่อหลักการ “Presumption of Innocence” และเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของจําเลย

ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราขอเรียกร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตลอดจนผู้ที่อยู่ใน หน่วยงานอื่นใดอันเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ให้มีการพิจารณาอนุมัติให้ประกันตัวเหล่าผู้ต้องหา ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดีให้พวก เขานั้นสามารถออกมาสู้คดีทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และเพื่อชํารงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของศาล ที่ลดน้อยถอยลงในช่วงเวลาที่มืดมิดนี้ ให้กลับมาเป็นตราชูที่กลับมาฟื้นฟูความเชื่อมั่นของ ประชาชนอีกครั้งหนึ่งต่อกระบวนการยุติธรรม

“ เถิด ตุลาการ จงคิด อย่างอิสระ

รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่

หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี

ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย”

สนง.ศาลฯ ชี้ REDEM ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรงแทรกแซงศาล ร้อง จนท.ดำเนินคดี

ทั้งนี้ทางด้านสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีการออกแถลงการณ์ออกมาเมื่อวานนี้(3 พ.ค.) เพื่อตอบโต้กิจกรรมวันท่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการชุมนุมดังกล่าวมีบุคคลจำนวนหนึ่ง ใช้ความรุนแรงด้วยการขว้างปาสิ่งของ ใช้เครื่องมือยิงวัสดุเข้ามาในอาคารศาล การใช้วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง จนเกิดความเสียหาย ความรุนแรงและไม่สงบขึ้น เป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลอาญา ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยและอันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรมภายในกรอบของกฎหมาย อีกทั้งยังมีลักษณะของการก้าวล่วงใช้ความรุนแรงเพื่อแทรกแซงโดยหวังผลให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปในทางหนึ่งทางใดตามที่กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงมุ่งประสงค์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของกฎหมาย อันเป็นการมุ่งทำลายความอิสระของตุลาการตามรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

ส่วนทาง REDEM ในวันนี้ก็มีการออกแถลงการณ์ตอบโต้แถลงการณ์ของศาลด้วยเช่นกันว่าศาลมีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่มีอิสระในการตัดสินคดีตามอำเภอใจโดยไร้ขอบเขต และผู้คนก็ตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของศาลไม่ใช่เพื่อทำลายความเป็นอิสระของศาล แต่เพื่อทำให้ศาลเป็นอิสระโดยแท้จริงและที่ผ่านมาก็ประชาชนที่ต้องสูยเสียและถูกคุกคามเช่นเดียวกัน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net