Skip to main content
sharethis

ตำรวจพม่าแจ้งข้อหาผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น หลังเข้าไปทำข่าวประท้วงต่อต้านรัฐประหารในพม่า อาจถูกจำคุกนาน 3 ปี หากศาลตัดสินว่าผิดจริง ด้านผู้ใช้อินเทอร์รายหนึ่งผุดแคมเปญในเว็บ change.org เรียกร้องยูเอ็น สถานทูตพม่าในญี่ปุ่น และอื่น ๆ ช่วยเหลือนักข่าวญี่ปุ่นคนนี้  

สถานการณ์สู้รบที่รัฐกะฉิ่นยังรุนแรง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ทัพพม่าส่งเครื่องบินรบโจมตี KIA ต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้านี้เฮลิคอปเตอร์พม่าเพิ่งถูกยิงร่วง  

ยูกิ คิตะซูมิ นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น ถูกกองทัพพม่าจับกุมเมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 (ที่มา change.org)

4 พ.ค.64 สำนักข่าว เกียวโด และเจแปนไทม์ส ของญี่ปุ่น รายงานวันนี้ (4 พ.ค.) โดยอ้างอิงข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ยูกิ คิตะซูมิ อายุ 45 ปี นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น ซึ่งถูกกองทัพพม่าควบคุมตัวตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางการพม่าตั้งข้อกล่าวหา คิตะซูมิ ฐานเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ และหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง นักข่าวจากแดนอาทิตย์อุทัยคนนี้ อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดนานถึง 3 ปี 

ยูกิ คิตะซูมิ ถูกจับกุมที่บ้านของเขาในนครย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดในพม่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา และถูกนำตัวไปไว้ในเรือนจำในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง 

ก่อนหน้านี้ เขาเคยถูกควบคุมตัวช่วงเวลาสั้น ๆ โดยกองกำลังพม่ามาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะทำข่าวการประท้วงในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ.64

ทั้งนี้ สถานทูตญี่ปุ่น กล่าวเพิ่มว่า คิตะซูมิไม่มีปัญหาเรื่องสภาพร่างกายปรากฏออกมา และทางสถานทูตฯ จะเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวพลเมืองของเขา

คัตสึโนบุ คาโต เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และโฆษกรัฐบาล กล่าวในระหว่างฟังสรุปสถานการณ์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัว คิตะซูมิ เช่นกัน 

คิตะซูมิ อดีตนักข่าวสื่อหนังสือพิมพ์ นิเคอิ บิสซิเนส พับลิเคชัน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียวนั้น ในช่วงหลังจากกองทัพพม่าทำรัฐประหาร เขาออกมารายงานข่าวผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร และโพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ประท้วงลงสื่อโซเชียลออนไลน์เฟซบุ๊กของเขา ซึ่งทำให้กองทัพพม่ามองว่า เขากำลังวิพากษ์วิจารณ์กองทัพพม่าอยู่   

ตลอดสามเดือนของการประท้วงต้านรัฐประหาร มีผู้ประท้วงหลายพันถูกจับกุม เช่นเดียวกับการคุกคามสื่อมวลชนฝั่งประชาธิปไตยของพม่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 กองทัพพม่าเพิกถอนใบอนุญาตทำสื่อของสำนักข่าวอิสระ 5 สำนัก ได้แก่ Myanmar Now, DVB, Mizzima, Khit Thit Media และ 7 Day มีการดำเนินคดีกับสำนักข่าวอิระวดี ตลอดจนมีรายงานการบุกเข้าไปในสำนักงานข่าวอีกด้วย ซึ่งการคุกคามอย่างหนักหน่วงของกองทัพ ทำให้นักข่าวพม่าต้องทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ   

สำนักข่าวบีบีซี จากเกาะอังกฤษ รายงานว่า ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ ก.พ. จนถึงปัจจุบัน มีนักข่าวถูกจับกุมทั้งสิ้น 80 ราย ขณะที่รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า มีนักข่าวประมาณ 50 คนถูกคุมขัง และครึ่งหนึ่งถูกตัดสินคดีไปแล้ว 

มีนักข่าวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งถูกจับกุมด้วย

อนึ่ง หลังจาก ยูกิ คิตะซูมิ ถูกจับกุม มีผู้ใช้อินเทอร์รายหนึ่งตั้งแคมเปญในเว็บไซต์ change.org ระดมรายชื่อ เพื่อส่งเสียงถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สถานทูตพม่าในญี่ปุ่น และอื่น ๆ ให้ดำเนินมาตรการกดดันพม่า ปล่อยตัวนักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นคนนี้ โดยวันที่ 4 พ.ค.64 เวลา 22.39 น. มีผู้เข้ามาลงชื่อสนับสนุนแคมเปญทั้งสิ้น 2,262 ราย

กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศต่อ แม้เพิ่งถูก KIA สอยเฮลิคอปเตอร์ร่วง 

สำนักข่าว Myanmar Now รายงานวันที่ 3 พ.ค. ระบุว่า กองทัพพม่าเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเขตเทศบาลโมเมาก์ รัฐกะฉิ่น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะถูกกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) สอยเฮลิคอปเตอร์ร่วงมาแล้ว 

ภาพควันจากเฮลิคอปเตอร์พม่าที่พวยพุ่งออกมา หลังจากถูกทหาร KIA ยิง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.64 (ที่มา Khit Thit Media)
 

โฆษกกองทัพ KIA พันเอก หน่อบู ให้สัมภาษณ์ Myanmar Now ถึงการยิงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพพม่าตก ระหว่างหมู่บ้านเมียวติ๊ด และโคนลอ เขตโมเมาก์ รัฐกะฉิ่น เมื่อเวลา 8.00 น.    

หลังจากนั้น เผด็จการพม่าเริ่มโจมตีทางอากาศต่อเนื่องในเมืองเมียวติ๊ด เมืองโคนลอ และหมู่บ้านซิฮัต รัฐกะฉิ่น โดยมีรายงานจากสำนักข่าวท้องถิ่นรัฐกะฉิ่น ระบุว่า ผู้เสียชีวิตเป็นพระสงฆ์ ไม่ทราบอายุ และชายอายุ 60 ปี เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ 

ขณะที่สำนักข่าว กะฉิ่นเวฟส์ (Kachinwaves) รายงานมีประชาชนอย่างต่ำ 10 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศครั้งนี้   

ทั้งนี้ การต่อสู้ระหว่าง KIA และกองพลทหารเบาที่ 77 ของกองทัพพม่า รุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีแหล่งข้อมูลของ KIA ระบุว่า การสู้รบเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา มีทหารของกองทัพพม่าเสียชีวิต 20 ราย และกองกำลัง KIA สามารถยึดอาวุธของกองทัพพม่าได้ 

การปะทะเกิดขึ้นที่ทางใต้ของฐานอะลอบัม (Alaw Bum) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่บนภูเขา โดย KIA สามารถยึดได้เมื่อ 25 มี.ค.64 เพื่อยึดฐานดังกล่าว ทหารพม่าจึงเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และภาคพื้นดินหลายต่อหลายครั้ง แต่ต้องพบกับการสูญเสียอย่างหนักหน่วงกลับไป  

ย้อนกลับไปในช่วงวันกองทัพพม่า 27 มี.ค.64 จนถึงปัจจุบัน กองทัพพม่าใช้การโจมตีทางอากาศประมาณ 30 ครั้ง โดยเฉพาะในเขตมือตรอ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตควบคุมของกองพลน้อยที่ 5 แห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นปีกทางการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KIA) 

ทั้งนี้ อ้างอิงรายงานจาก เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง (KPSN) มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายการโจมตีทางอากาศ และการยิงปืนใหญ่ ส่วนมากมีการเจาะจงไปที่เป้าหมายพลเรือน ส่งผลให้มีประชาชนมากกว่า 3,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ข้ามฝั่งหนีความตายมายังชายแดนไทย 

ครั้งล่าสุดที่มีการทิ้งระเบิดโจมตี KNU คือเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจาก KNLA สามารถยึดฐาน ซอแลท่า ของกองทัพพม่า ซึ่งตั้งอยู่ริมสาละวินฝั่งพม่า ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 

การโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าในรัฐกะเหรี่ยงโดยมากจะเกิดขึ้นใกล้กับค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน ‘อิตูท่า’ ริมลำน้ำสาละวิน ส่งผลให้คนในค่ายต้องหนีไปหลบซ่อนตัวในป่า และอีกหลายคนต้องลี้ภัยข้ามฝั่งไปอยู่เขตไทย 

การลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงข้ามมาฝั่งไทยคงเกิดขึ้นอีกมาก ถ้ากองทัพพม่ายังโจมตีทางอากาศต่อไป 

 

แปลและเรียบเรียง 

Japanese journalist indicted in Myanmar on "fake news" charge

Airstrikes continue after KIA shoots down junta helicopter in Momauk

Myanmar charges Japanese journalist over alleged fake news

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net