Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

A พื้นฐานของหนังสือ และสังคมอินเดียยุคอาณานิคม

ดังที่ทราบกันแล้วว่า หนังสือ กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม[1] ตีพิมพ์ในยุคที่ฝ่ายซ้ายเริ่มหมดบทบาทในเวทีโลก รณชิต คูหาได้ถกเถียงกับฮอบสบอว์มที่ปรามาสว่ากบฏชาวนายังไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองหลัก เป็นเพียง sub-political หรือส่วนย่อยๆ เพราะว่ากบฏชาวนาเหล่านั้นยังขาด “จิตสำนึกทางการเมือง” แบบที่ฝ่ายซ้ายควรจะเป็น (จึงที่มาของชื่อ กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม - Elementary Aspects of Peasant Insurgency in Colonial India) ดังนั้นข้อเสนอหลักของงานนี้คือ การสร้างข้อถกเถียงผ่านการอธิบายลักษณะเฉพาะของสังคม ชาวนา และกบฏอินเดียเพื่อจะปฏิเสธการอธิบายแบบการใช้ต้นแบบของพวกมาร์กซิสต์ที่ยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง

แต่สำหรับผู้อ่านที่เป็นชาวไทย ด้วยความที่พวกเราเรียนตามตะวันตกมาไม่น้อย กลายเป็นว่าเราอ่านบริบทของอินเดียแล้วเราเข้าใจน้อยกว่ายุโรป เราอยู่ในภูมิศาสตร์สมมติที่เรียกว่าทวีปเอเชีย แต่เรากลับรู้จักภูมิศาสตร์การเมืองและภูมิปัญญาแบบยุโรปมากกว่า ผู้อ่านจึงค่อนข้างมีความรู้สึกว่าเรา “เป็นอื่น” ในการอ่านกบฏชวานาฯ พอสมควร สำหรับผู้เขียนได้อ่านในจังหวะที่ดีคือ หลังจากได้หนังเรื่อง White Tiger ไปแล้ว

กลับมาที่หนังสือกันต่อ รณชิต คูหา (ชื่อผู้เขียนที่ถูกถอดจากภาษาอังกฤษ Ronjit Guha ที่สำหรับผู้เขียนแล้วมันได้ทำให้นึกถึงชื่อของคนไทยมากกว่า) โต้เถียงโดยใช้วิธี “การอ่านย้อนเกล็ด” จากหลักฐานของเจ้าอาณานิคม “บริติชราช” เนื่องจากหลักฐานดังกล่าวไม่สามารถอ่านอย่างตรงไปตรงมาได้ เนื่องจากถูกบันทึกด้วยสายตาของผู้ปกครองกดขี่ หรือแม้แต่หลักฐานอย่างคติชาวบ้าน คติชนวิทยา บทเพลงชาวบ้านก็ยังเสี่ยงเสียด้วยซ้ำหากจะนำมาใช้ เพราะว่า ผู้แต่งหรือผู้ขับขานบทเพลงเหล่านี้มักได้รับอุปถัมภ์จากผู้นำหรือเจ้า

ข้อเสนอหลักอีกประการก็คือ “การเมือง” เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เศรษฐกิจซึ่งโต้กับฝ่ายมาร์กซิสต์ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทุนนิยม

แต่ละบทของหนังสือได้กล่าวถึงลักษณะ 6 ประการที่กบฏชาวนาได้ก่อร่างขึ้นมาจนเป็นลักษณะเฉพาะของอินเดีย

  1. การกลับด้าน การโจมตีศัตรู ปฏิบัติการเช่นนี้เป็นกลับด้านสัญลักษณ์ของผู้ปกครองภาษาที่เคยบ่งบอกความต้อยต่ำและสูงส่ง ได้กลายเป็นการต่อสู้ด้วยคำหยาบคายและเผาเอกสารราชการ การขี่ม้าฝ่าเข้าไปในที่เจ้าของที่ดิน ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม
     
  2. ความคลุมเครือของการเป็นอาชญากร – โรบินฮู้ด จากอาชญากรสู่ผู้ก่อกบฏ ที่จะก่อความเป็นไปได้ให้คนทั้งสังคมลุกขึ้นต่อต้าน
     
  3. กบฏเปิดเผยต่อสาธารณะต่างจากอาชญากรรมที่ปิดลับ เป็นการกระทำรวมหมู่ มีรูปแบบการลุกฮือคือ ทำลาย-เผา-เขมือบ-ปล้นสะดม กบฏคือ การขอแรงในการใช้แรงงานร่วมกัน  
     
  4. ความเป็นปึกแผ่น (solidarity) เพื่อสู้กับบริติชราชที่มักใช้กลยุทธ์สายลับ ซัดทอด และนกต่อ ภาดาฆาตทางจิตวิญญาณ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ความรุนแรงต่อผู้ทรยศ
     
  5. การแพร่กระจาย กบฏเปรียบได้กับการติดเชื้อของโรคระบาด เห็นได้จากการใช้จดหมายลูกโซ่  
     
  6. อาณาเขต ถกเถียงเรื่องสากลนิยมและท้องถิ่นนิยมใน 2 มิติคือ พื้นที่ทางชาติพันธุ์กับพื้นที่ทางกายภาพ อย่างหลังสัมพันธ์กับพื้นที่ทำกิจที่จะถูกพรากสิทธิ์ และยังเชื่อมกับเวลาที่ทำให้เห็นว่า ยุคนี้เสื่อมเมื่อเทียบกับครั้งบานเมืองยังดี  

อย่างไร เมื่อพิจารณาดูแล้วงานชิ้นนี้ มิได้มองแต่กรณีอินเดียล้วนๆ เพื่อแสดงว่ากบฏชาวนาในอินเดียมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครเท่านั้น แต่มีความพยายามเทียบเคียงประสบการณ์ของทั่วโลก ไม่ว่าจากจีนผ่านคำอธิบายเรื่องกบฏชาวนาของเหมา เจ๋อตง, กบฏรัสเซียในมุมมองทรอตสกี้, กบฏชาวนาในยุโรปอย่างเยอรมันหรืออังกฤษ การลักษณะร่วมกันเช่นนี้จึงมิได้เป็นไปตามที่เขาถูกเหมารวมวิพากษ์จากนักคิดคนอื่นมากนัก


 B พลังแบบหลังอาณานิคม และการวิจารณ์

การต่อสู้อาณานิคมของอินเดียที่ผ่านมาเราอาจเห็นถึงภาพผู้นำทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่อย่างมหาตมะ คานธี ผู้นำชาตินิยมที่เป็นผู้ปลดปล่อย แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับประวัติศาสตร์มหาบุรุษที่ยกย่องความสำเร็จ เสียสละของบุคคลเพียงคนเดียว ทั้งอาจยังให้ภาพที่บิดเบี้ยวด้วย มีผู้วิจารณ์ด้วยซ้ำว่าแม้อินเดียจะได้รับเอกราช แต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่คือ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นวรรณะยังมีอยู่สูงอย่างยิ่ง ชนชั้นปกครองยังอาจใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ ที่หยิบยืมวัฒนธรรมมาจากเจ้าอาณานิคมด้วยซ้ำไป กลุ่มศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง (Subaltern Studies Collective) ได้ตั้งคำถามต่อทั้งเจ้าจักรวรรดินิยมและไม่เชื่อใจผู้ปลดปล่อยทั้งหลายที่เป็นชนชั้นนำแบบกระฎุมพี-ชาตินิยม คนเหล่านี้ได้กำจัดการเมืองของมวลชนที่เป็นฐานต่อสู้สำคัญมาก่อน สิ่งเหล่านี้คือ หัวใจของประวัติศาสตร์นิพนธ์ของกลุ่มนี้

ข้อวิจารณ์มาจากในกลุ่มเดียวกันอย่างจักรปาตี สปิวัก มองว่าจะต้องระวังการสร้างสิ่งที่เป็นสารัตถะในหมู่ชาวนาขึ้นมา ทั้งที่อาจเป็นเพียงโรงละครแห่งสำนึกแห่งหนึ่ง ควรใช้มันในฐานะการรื้อความคิดชนชั้นนำและประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำอินเดียมากกว่า[2] ส่วนการวิจารณ์ของวิเวก ชิบเบอร์จากฝ่ายซ้ายที่มองว่า ความแตกต่างโดยรากฐานที่สุดของกลุ่ม Subaltern Studies กับมาร์กซิสต์อยู่ที่ ฝ่ายมาร์กซิสต์มองว่าการแพร่กระจายของทุนนิยม ตามสมมติฐานเกี่ยวกับการขยายตัวของทุนนิยมและความขัดแย้งทางชนชั้นว่ามีความเป็นสากล แต่ฝ่ายแรกแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างโลกาภิวัตน์ของทุน กับ ความเป็นสากลของทุน นั่นคือ ทุนแพร่ไปทั่วโลก แต่ไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกันและ "ไม่จำเป็น" ต้องเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางชนชั้น บทบาทของกระฎุมพีในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ และการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789[3] ถือแรงขับสำคัญที่ทำให้ทุนนิยมไม่สามารถเป็นสากลได้จริงในกรณีที่อื่นๆ   


C กบฏชาวนา จากยุโรป อินเดีย และหันมามองจากสังคมไทย

อินเดียถือเป็นต้นแบบของสังคมไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลทางศาสนา ระบบการปกครอง ภาษา  วัฒนธรรม ตั้งแต่ยุคก่อกำเนิดรัฐ มาถึงยุคอาณานิคม ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ของสยาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าได้รับอิทธิพลมาจากการปกครองของยุโรป อินเดีย ปัตตาเวีย มลายา ล้วนเป็นสถานที่ดูงานของชนชั้นสูงของสยามเมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมา ดูราวกับว่า การสร้างอาณานิคมของสยามพร้อมกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นพร้อมกันด้วยการแปลงไพร่ทาสทั้งหลายให้เป็น subject ที่อยู่คนละสถานภาพกับชนชั้นนำ การจลาจลที่รัฐเรียกว่ากบฏ ก็เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษ 2430-2440 ในช่วงที่เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองและประเทศราชให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามนั่นเอง

ในมุมมองของผู้เขียน การนำแนวคิดแบบหลังอาณานิคมมาใช้อภิปรายสังคมไทย ย้อนรอยในมิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่มาก

ก่อนหน้านั้นการแปลกบฏชาวนา ไม่ใช่ว่าวงการวิชาการจะไม่มีการกล่าวถึงกบฏชาวนาเลย กบฏและการจลาจลเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาอย่างช้าก็คือทศวรรษ 2510 แล้ว เช่น[4] “ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน ร.ศ.121” (2510) โดย เตช บุนนาค และผลงานของ Charles F.Keyes (2516) และ Yoneo Ishii (2518) อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาประเด็น “พระศรีอาริย์” หรือแนวคิดเกี่ยวกับ millennium ในประเทศต่างๆ ด้วยไม่ว่าจะในฟิลิปปินส์ กัมพูชา ฯลฯ ในปี 2525 ได้มีหนังสือรวมบทความที่ชื่อ กบฏชาวนา ที่แบ่งเป็น 2 ภาคคือ กบฏชาวนาในไทย กับ ในต่างประเทศ กรณีของไทยได้แก่ “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง: วิเคราะห์จากเอกสารพื้นเวียง” โดย วุฒิชัย มูลศิลป์, “กบฏพญาผาบ (ปราบสงคราม) : กบฏชาวบ้านในภาคเหนือ” โดย ชูสิทธิ์ ชูชาติ และ “เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว” โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและประนุช ทรัพย์สาร

หนังสือ “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย ปี 2527 ได้รวมบทความที่เกี่ยวข้องอย่าง “ความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏในภาคอีสาน : ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับอุดมการณ์และผู้นำ” (2522) โดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “กบฏพระยาปราบสงครามแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2432” (2527) โดย สรัสวดี อ๋องสกุล, “กบฏผู้วิเศษ : ผีบุญในภาคใต้” (2521), “อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน” (2525) โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและประนุช ทรัพย์สาร, “กบฏผู้มีบุญ : ความเป็นอิสระเฉพาะกลุ่มหรือขบวนการจัดตั้งอย่างมีระบบและขั้นตอน” (2527) โดย นงลักษณ์ ลิ้มศิริ, “พระศรีอาริย์แห่งบ้านธาตุจอมศรี” (2527) โดย จุฬาพร โชติช่วงนิรันดร์

หากมองย้อนมาสู่สังคมไทย กบฏชาวนาฯ ได้สนทนาอะไรกับเราบ้าง จะเห็นว่ากว่าหนังสือเล่มนี้จะกลายมาเป็นภาคภาษาไทยได้ใช้เวลาเดินทางมากถึง 38 ปี (ตีพิมพ์ปี 2526) ช่วงที่ผลงานของรณชิตตีพิมพ์เป็นเวลาที่ไล่เลี่ยกับความเฟื่องฟูของงานเขียนแนวกบฏชาวนาในสังคมไทยเช่นกัน แต่เข้าใจว่าในบริบทไทยนั้นจะเน้นในประเด็นเรื่องแนวคิดพระศรีอาริย์ การปะทุขึ้นของความไม่พอใจของชาวนาในประวัติศาสตร์มากกว่า หรืออีกทางก็คือการชี้ให้เห็นถึงความไม่พอใจของการกดขี่ของสยามอันเนื่องมาจากสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่บีบคั้นในระบบใหม่ จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากงานเขียนของรณชิตเพื่อที่จะโต้แย้งกับแนวคิดฝ่ายซ้ายเพื่อสถาปนาลักษณะเฉพาะของกบฏชาวนาที่ยืนอยู่บนมิติทางการเมืองเป็นตัวกำหนด แต่ลักษณะที่คล้ายกันก็อาจจะเป็นการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์จากฝ่ายรัฐ-เจ้าอาณานิคมเพื่อใช้ในการอธิบาย

 

D หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กับ การอ่านย้อนเกล็ดภาคบังคับ

การอ่านย้อนเกล็ด อาจเป็นกระบวนการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมไทย เมื่อเทียบกับโลกตะวันตกหรือสังคมที่ให้ความสำคัญกับการเก็บหลักฐานและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น เมื่อแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่อยู่ในเงื้อมมือของรัฐ อาจแบ่งได้หยาบๆ เป็น 3 แหล่งนั่นคือ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุ

เรามักจะขาดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งระยะใกล้และระยะไกล จำนวนมากเป็นหลักฐานที่ถูกควบคุมจากอำนาจส่วนกลางดังเห็นได้จากระบบหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติที่มีบทบาทในการเก็บเอกสารต่างๆ  ทำให้หลักฐานที่มีหรืออนุญาตให้เผยแพร่จึงมุ่งเน้นที่จะชี้นำผู้ใช้หลักฐานให้อยู่ภายใต้กรอบความคิดที่พวกเขากำหนด เช่น สถิติของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อสืบค้นเดือนเมษายน 2564 จะพบว่า มีจำนวนเอกสาร 1,211,764 ชิ้นที่จัดเก็บไว้ แต่ที่เผยแพร่เพียง 6 แสนกว่า ส่วนที่ไม่เผยมีเกือบครึ่ง แบ่งเป็น เอกสาร 516,104 ชิ้น และเอกสารโสตทัศน-ภาพ จำนวน 24,988 ชิ้น[5]

เราอาจพอทราบกันว่าเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นและการปิดข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนถึงการเซ็นเซอร์โดยอ้างความมั่นคง และเหตุผลเชิงนามธรรมเป็นปัญหาสำคัญที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตัวเลขที่ปรากฏจากสถิติหอจดหมายเหตุแห่งชาติ น่าจะทำให้เห็นปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นพวกเขา “อนุญาตให้อ่าน” อย่างจำกัดเพียงใด ยังไม่ต้องนับว่าจากประสบการณ์ของผู้ใช้บริการบางคนให้ความเห็นว่า เอกสารที่เคยอ่านได้ในช่วง 1-2 ปี ถูกระงับการเข้าถึงอย่างไม่ทราบสาเหตุ (หรืออาจมีสาเหตุที่ก็น่าจะพอคาดเดากันได้)

ดังนั้นการอ่านย้อนเกล็ดในสังคมไทย ในระยะยาวไกลก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความหลักฐานดังกล่าว “อ่านระหว่างบรรทัด” ให้มากขึ้น เมื่อเทียบเคียงกับหอจดหมายเหตุในต่างประเทศอย่างอังกฤษที่สามารถเข้าถึงต้นฉบับได้ด้วยการออนไลน์เข้าไป มิตรสหายบางท่านถึงกับเข้าไปอ่านเอกสารในยุคกลางเพื่อนำมาเล่นมุขใน Facebook ก็ยังมีด้วยซ้ำ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ บันทึกดูมสเดย์ เป็นหลักฐานการเก็บข้อมูลครัวเรือนของอังกฤษในช่วงปี 1068 ก็สามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากเว็บไซต์ https://opendomesday.org/ นี่คือ ฐานข้อมูลที่มีอายุเกือบพันปีที่แล้ว

นี่คือ มาตรฐานที่ต่างกันอย่างสุดขั้วแบบตลกร้ายและเป็นเหตุผลว่า ทำไมการอ่านย้อนเกล็ดของสังคมไทยยังจำเป็นอยู่.

 

 

อ้างอิง

[1] รณชิต คูหา, กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม, ปรีดี หงษ์สต้น, แปล (กรุงเทพฯ : อิลลูมิเนชั่น เอดิชั่นส์, 2564), หน้า 282

[2] สิงห์ สุวรรณกิจ, "งานศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง”:ทบทวนประวัติศาสตร์นิพนธ์และมวลชนผู้เคลื่อนไหว", วารสารสังคมศาสตร์, 27 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2558)

[3] ภาคิน นิมมานรวงศ์, "Marxism vs. Subaltern Studies วิวาทะระหว่าง Vivek Chibber กับ Partha Chatterjee", ฟ้าเดียวกัน, 13 : 1 (มกราคม-เมษายน 2558)

[4] ยงยุทธ ชูแว่น, ครึ่งศตวรรษแห่งการค้นหาและเส้นทางสู่อนาคต ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2552), หน้า 148-149

[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. "รายงานสถิติจำนวนเอกสารจดหมายเหตุ". สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2564 จาก https://archives.nat.go.th/th-th/สถิติ/สถิติจำนวนเอกสารจดหมายเหตุ

ที่มาภาพ: อิลลูมิเนชั่น เอดิชั่นส์

หมายเหตุ: บทความนี้เป็น เอกสารประกอบการบรรยายใน Live อ่าน 'กบฏชาวนา : มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม' ของ รณชิต คูหา (Ranajit Guha) แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น วันเสาร์ 24 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. ณ Facebook ของ Illuminations Editions

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net