Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สาธารณชนคนไทยไม่เชื่อมั่นในความยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล แม้แต่ราชทัณฑ์ก็เป็นไปด้วย อย่างที่ทราบอยู่ในขณะนี้ อาจจะเป็นนิมิตอันดีที่จะต้องมาทบทวนหวนคิดกันว่าเราจะมีส่วนร่วมทำอย่างไรดีกับระบบยุติธรรมไทย

ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนกฎหมายหลังพฤษภา 35 และมีประสบการณ์ร่วมสมัยช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาก่อน จนแม้ปัจจุบันจะได้หันมาทำความเข้าใจสังคมไทยด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์แล้วก็ตาม 

แต่หากจะมองปรากฏการณ์วิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ตอนนี้ อย่างเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นประวัติศาสตร์ ก็มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจรวมทั้งข้อเสนอให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกันด้วยปัญญา มากกว่าจะก่นด่าหาผิด ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อสังคมจะต้องได้ความยุติธรรมคืนมา ขณะเดียวกันก็ต้องคิดหาทางออกในอนาคตข้างหน้าด้วย

สมัยเรียนกฎหมายความภาคภูมิใจที่อาจารย์สอนเรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเดือนตุลาที่มีเกียรติน่าเคารพในการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองในปลายทศวรรษ 2530 อยู่ด้วยตอนนั้น คือเรื่องเล่าว่าด้วยการต่อสู้ให้ได้มาซึ่ง “อิสระแห่งวิจารญาณ” การใช้กฎหมายของตุลาการและผู้มีส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องต่อสู้มาตั้งแต่ 100 กว่าปีก่อน

เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่าการที่ตุลาการและผู้ใช้หลักกฎหมายสมัยใหม่จะเอาชนะระบบการบริหารที่มีระเบียบราชการและอิทธิพลอำนาจบังคับบัญชาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนตุลาการไม่สามารถมี “อิสระในการพิจารณาคดีทั้งปวง” ได้ กว่าจะใช้อำนาจสั่งคดีอย่างเป็นอิสระจากอำนาจบริหารได้นั้นต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนัก โดยมีเป้าหมายคือให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมหรืออำนายความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างเสมอหน้า

ยังจำได้ถึงความประทับใจในเรื่องเล่าโดยพิสดาร (ภาษากฎหมายแปลว่าละเอียดลึกซึ้ง) ถึงองค์พระบิดากฎหมายไทยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ที่จบกฎหมายจากอังกฤษต่อสู้กับพระบิดาที่เป็นกษัตริย์คือรัชกาลที่ 5 และญาติพี่น้องจนต้องลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี และเหล่าผู้พิพากษาลูกศิษย์ที่พร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่งเพราะเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญสูงสุดของอิสระแห่งผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี โดยไม่มีอำนาจใดมาคอยแทรกแซงบังคับ แม้แต่ผู้มีอำนาจสูงสุดคือพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้บังคับบัญชา

เรื่องเล่าจบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งคือไทยสามารถปฏิรูประบบยุติธรรมอันเป็นสากลที่ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาคดีอันเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต 

แต่ในเรื่องเวลาผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าชัยชนะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังปฏิวัติ 2475 กันแน่  เรื่องเวลาจุดเปลี่ยนนี้ไม่แจ่มชัดแต่ก็ให้รู้สึกว่าในเรื่องเล่านี้เวลาไม่สำคัญเท่ากับตอนมาเรียนประวัติศาสตร์

ถ้าหากย้อนดูกฎหมายเก่าของไทยนั้นหลักความเสมอภาคของบุคคลต่อหน้ากฎหมายไม่เคยมีมาก่อน การใช้กฎหมายขึ้นกับสถานะและชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายทีเดียว เอาง่ายๆ ว่าคนสามัญที่เป็นไพร่ถ้าไม่มีนายที่ตนสังกัดรับรองก็เข้ากระบวนการฟ้องร้องคดีในศาลไม่ได้เลย และการทำความผิดและรับโทษนั้นก็คิดตามชนชั้นและศักดินาเป็นเกณฑ์

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องเล่าคือเรื่องราวการต่อสู้ของเหล่านักกฎหมายที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารในเรื่อง “กฎหมายโบว์ดำ” ที่สามารถต่อสู้ไม่ให้ฝ่ายบริหารกลับมามีอำนาจก้าวก่ายในการดำเนินงานยุติธรรมที่จะกระทบต่อหลักการความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีทั้งปวง จนนำมาสู่การพังทลายของระบบเผด็จการทหารหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั้นก็ทรงพลังอย่างยิ่ง ที่แสดงถึงการต้องธำรงหลักอิสระดังกล่าว

เรื่องเล่าดังกล่าวมักจะมาพร้อมกับการยกย่องความดีและความสุจริตของนิติชนเอกชนคนสำคัญแห่งการต่อสู้แต่ละครั้ง มากกว่าจะเสนอให้เห็นถึงระบบและการสร้างระบบให้อำนายความยุติธรรมอย่างเสมอหน้าทุกสถานการณ์ และไม่เลือกว่าใครจะมาทำหน้าที่ตรงนั้น 

นั่นคือต้องมีกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลความเป็นอิสระนั้นให้ยึดโยงกลับไปที่ประชาชนเจ้าของอำนาจในระบอบประชาธิปไตย แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะระบบทำงานอย่างน่าเชื่อถือเห็นๆ กันอยู่ และกล่าวได้ว่าในรัฐธรรมนูญ 2540 หลักการเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ชัดเจนพร้อมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 

แต่ไม่ถึงทศวรรษดีก่อนหน้ารัฐประหาร 2549 ได้เกิด “ตุลาการภิวัฒน์” ในการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อมาเรียกว่าการเมืองเหลืองแดง จนมีความคาดหวังให้คนดีเข้าปกครองบ้านเมืองและใช้หลักความอิสระนี้ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของชนชั้นนำในนามรวมๆ ของเสื้อเหลือง ที่กำลังต่อสู้กับเสื้อแดง นี่คือที่มาของคำกล่าวว่าสังคมไทยมีความยุติธรรม 2 มาตรฐานที่ถูกตั้งข้อสงสัยตลอดมา

ถามว่าใครบิดเบือนหลักการความอิสระนั้น หากมองตามแนวประวัติศาสตร์ก็พอเห็นว่ามันมีวิวัฒนาการในสังคมการเมืองไทยกว่าทศวรรษมาแล้ว จากการสร้างฉันทามติที่เหนือกว่าวิจารณญาณแบบวิญญูชนที่เคยเป็นหลักให้กับเหล่านิติชนในการตัดสินใจควบคู่กับความเป็นอิสระที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่เพื่ออำนายความเป็นธรรมให้กับประชาชนตามหลักประชาธิปไตย 

หลักฐานเชิงประจักษ์ของการพังทลายความอิสระของตุลาการที่เห็นตรงหน้าจากจดหมายลาตายเมื่อปลายปี 2562 ของผู้พิพากษานายหนึ่งคือ นายคณากร เพียรชนะ จนต้องสังเวยชีวิตไปเมื่อเดือนมีนาคมเมื่อปีกลาย จากการไม่มีอิสระในการพิจารณาคดี แต่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในทางบริหารงาน แต่ไม่มีใครในวงการยุติธรรมจะคิดสำเหนียก โดยเฉพาะคนในวงการตุลาการชั้นผู้ใหญ่

อาจจะเพราะเคยชินกับระบบอภิสิทธิ์แห่งอำนาจที่มีเหนือฝ่ายบริหารและสภาอันยึดโยงกับประชาชนที่การตรวจสอบถ่วงดุลลดลงมาตั้งแต่มีตุลาการภิวัฒน์ หรือในทางการเมืองแล้วทำให้กลายเป็นผู้นำทางสังคมโดยไร้ผู้ตรวจสอบมันง่ายกว่าก็ไม่รู้ได้ เพราะแม้แต่มีผู้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเข้าชุมนุมอย่างโจ้งแจ้งก็มาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้อย่างไร้มลทินและไม่มีปัญหาเรื่องความอิสระแห่งวิจารณญาณและความชอบธรรมแต่อย่างใด

หรือจะเป็นเพราะการเข้าไปมีอำนาจในทางบริหารและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากประชาชน ซึ่งเดิมอาจจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรคือวุฒิสภาที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนประชาชน 

แต่ในบรรยากาศการเมืองสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังเกิดการรัฐประหารสองครั้ง และมีสภาจากการแต่งตั้งได้บิดเบือนทำลายระบบที่เคยเป็นประชาธิปไตยได้สร้างมา เพื่ออำนวยธรรมและรับใช้ประชาชนได้พังสลายไปมากแล้วในทางปฏิบัติ แม้ว่าเราจะพอมีต้นทุนทางสังคมเป็นนิติชนที่ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์ความอิสระแห่งวิจารณญาณอยู่จำนวนมากในระบบก็ตาม

กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยอำนาจประชาชนแทบจะไม่มีเลยในระบบยุติธรรมไทย ส่วนใหญ่จะพึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลกันเองในวิชาชีพ อันอาจจะบิดเบี้ยวได้ง่ายหากใช้ไปนานๆ และมีระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้น หรือได้คนไม่ดีเท่าที่ระบบกำหนดไว้ไปใช้อำนาจอย่างอิสระไร้การตรวจสอบ

การไม่สั่งฟ้องของอัยการและไม่แย้งของตำรวจจนทำให้คดีถึงที่สุด โดยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลจากประชาชนได้เลย หรือสภาที่เป็นตัวแทนอำนาจประชาชนเหมือนอย่างในบางประเทศใช้กันนั้น ในตัวมันเองก็ชี้ให้เห็นว่าไม่น่าจะโปร่งใสสำหรับการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างเสมอหน้า 

ระบบยุติธรรมที่ดีโปร่งใสและเป็นธรรม อาจต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนคนธรรมดาในฐานะเป็นวิจารณญาณคนทั่วไปในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และในฐานะเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐนั้นแทบไม่ได้ถูกวางระบบเอาไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการหรือเป็นตัวแทนฝ่ายประชาชนในขั้นตอนต่างๆ ก็ตาม 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิวัติระบบยุติธรรมไทยทั้งระบบให้ประชาชนคนสามัญที่มีวิจารณญาณแบบธรรมดาปกติ มีความเป็นมนุษย์ที่อาจจะมีทั้งชั่วทั้งดีได้เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล 

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือสร้างระบบยุติธรรมที่โปร่งใสตรวจสอบได้ด้วยกลไกของระบบเอง ไม่หวังพึ่งคนที่ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นว่าต้องเป็นคนดีแล้วจะสามารถใช้วิจารญาณที่อิสระที่แม้ว่ายังสำคัญอยู่ก็ตาม แต่ต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมให้โปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชนให้มีขึ้น...จงได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net