ฉันโกนหัว .. ในวันที่ความอดทนและความกลัว (บางส่วน) สิ้นสุดลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความอดทนและความกลัว (บางส่วน) ของฉันได้สิ้นสุดลง

เมื่อได้เห็นภาพคุณสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ โกนหัวประท้วงความอยุติธรรม

และเมื่อนึกถึงสาเหตุที่แม่สุรีรัตน์ต้องออกมาเคลื่อนไหว สาเหตุที่เพนกวินต้องอดอาหาร ก็ยิ่งโกรธแค้นกับสิ่งที่รัฐไทยกระทำกับผู้เห็นต่าง

ฉันเพิ่งเข้าใจความรู้สึกอยากจะเผา .. อะไรสักอย่าง ก็ตอนนั้นเอง

แต่ฉันไม่ได้ลงมือหรือวางแผนจะเผาอะไรหรอก และไม่ได้เขียนบทความชิ้นนี้เผื่อชวนให้ใครไปเผาศาลอยุติธรรมที่ไหนด้วย

ฉันจัดการกับความรู้สึกตัวเอง ด้วยการโกนผมบนหัวของตัวเองทั้งหมดเพื่อแสดงจุดยืนเป็นเพื่อนคุณแม่สุรีรัตน์ของเพนกวิน และเพื่อแสดงออกว่า มีคนอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม [1] ไม่ยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงของรัฐไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทั้งหมดทันที เพราะความคิดต่างและการวิจารณ์เจ้า (หน้าที่รัฐ ต้องไม่ใช่อาชญากรรม

ฉันเติบโตมาจากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เคยถูกสอนและเชื่ออย่างสุดใจว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยพัฒนาประเทศให้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ฉันเฝ้าถามตัวเองว่า ในสังคมที่จำกัดเสรีภาพทางความคิด-การแสดงออก และมีคำถามต้องห้ามเต็มไปหมด ฉันจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบไหนกัน? ฉันจะรู้สึกอย่างไร.. หรือจะต้องรู้สึกอย่างไร กับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสังคมที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงและไร้เสรีภาพเช่นนี้?

ฉันมองว่าความเหลื่อมล้ำในไทยมีความโหดเหี้ยมในเชิงอำนาจและวัฒนธรรมอยู่มาก คนที่ท้าทายหรือพยายามทำลายเส้นแบ่งของชนชั้น มักได้รับการโต้กลับที่รุนแรงจากรัฐไทยเสมอ ตั้งแต่การสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยหลัง 14 ตุลา 2516 [2], การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ เช้าวันที่ 6 ตุลา 2519, การสังหารคนเสื้อแดงอย่างเลือดเย็นในปี 2553 (เหล่านี้ยังไม่มีการสะสางอย่างยุติธรรมตามกฎหมายที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่มีการนำตัวผู้สังหารหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาลงโทษ) จนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และเหล่าแกนนำราษฎรที่อยู่ในคุกตอนนี้ ก็เป็นตัวอย่างความรุนแรงที่ชัดเจนของรัฐ

ดังนั้น ตราบใดที่เราเพิกเฉยต่อปัญหาทางสังคมบางอย่างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีความหมายในเชิงพัฒนาประเทศสำหรับฉัน

ในช่วงปีที่แล้วที่มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลประยุทธ จันทร์โอชา มี “ผู้ใหญ่” บางคนบอกฉันว่า “รัฐบาลไหนก็เหมือนๆ กัน ประเทศนี้มันก็เป็นแบบนี้” ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็พบว่ามีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะรัฐบาลไหน ๆ ก็ถูกรัฐประหารได้เหมือน ๆ กัน และไม่ว่ายุคไหน รัฐประหาร (ที่สำเร็จ) ก็มีกษัตริย์ซึ่งมีอำนาจนำทางสังคมเป็นผู้เซ็นรับรองทุกครั้งไป

เป็นที่น่าขบคิดว่า ประเทศที่กระทำการรัฐประหารเฉลี่ยทุก 6 ปีครึ่ง [3] จะมีเสถียรภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร? และน่าคิดต่อไปว่า สถาบันใด ชุดความคิดหรือวัฒนธรรมแบบไหนกันที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ประเทศไทยยังพัฒนาไม่เสร็จเสียที?

ฉันเคยใฝ่ฝันถึงการลุกฮือของมวลชน ว่าวันหนึ่งผู้คนจะลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากรัฐเผด็จการ..อีกครั้ง วันนี้มีคนกล้าออกมาพูดถึงใจกลางปัญหาของสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน มีคนรุ่นใหม่อย่างรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวินและอีกหลายคนที่อดอาหารเอาชีวิตเป็นเดิมพัน มีแม่ๆ อย่างคุณแม่สุรีรัตน์ คุณแม่ยุพิน มะณีวงศ์ ของไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก รวมถึงแม่อื่นๆในคณะราษมัม ที่ออกมาต่อสู้ร่วมกับคนที่เขารัก

ฉันไม่กล้าหาญเท่าคนอย่างทนายอานนท์ นำภา รุ้ง ไมค์ เพนกวิน หรือคนอีกมากมายที่ติดคุก ลี้ภัย หรือถูกอุ้มหาย ฆ่าตายด้วยข้อหาทางการเมือง แต่ฉันทนเงียบและหวาดกลัวไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว

การโกนผมช่วยระบายความโกรธแค้นไปได้มาก

มันทำให้ฉันรู้สึกมีพลังและความหวังอย่างบอกไม่ถูก หลังจากที่รู้สึกห่อเหี่ยวสิ้นหวังไปพักหนึ่ง..

การโกนผม ทำให้ฉันกล้าบอกตัวเองได้บ้างว่า อย่างน้อยๆ จะมากจะน้อย เราก็สู้และเคียงข้างทุกคนที่สู้

ไม่ได้ทอดทิ้งผู้กล้าเหล่านั้นให้เผชิญกับความอยุติธรรมตามลำพัง

ไม่ได้ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามโชคชะตาหรือเวลา เหมือนอย่างพวกสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวเองไม่ได้และคอยไหลไปตามอำนาจกระแสธารหรือสายลม

พอกันทีกับความเงียบงัน

ขอให้ทุกคนที่รับไม่ได้กับความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ช่วยกันออกมาพูด แสดงออก ประท้วง และขัดขืนต่อความอยุติธรรมในทุกทางเท่าที่กำลังของตนเองจะทำได้ [4] เพื่อเสียงอันอื้ออึงและความโกรธแค้นของเราจะทำให้คนที่ถืออำนาจตอนนี้ได้สำเหนียกบ้างว่า ควรคืนอำนาจให้ประชาชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนเสียที ..

ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรให้ใครอดทน

และก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

 

อ้างอิง

[1] ชวนอ่าน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อีกครั้งเพื่อรำลึกถึงเพื่อนเราที่ยังถูกจองจำ: กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมยื่น 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อสภา https://prachatai.com/journal/2020/08/89231

[2] ชวนอ่านขบวนการต่อสู้ของชาวนาหลัง 14 ตุลา 2516 จากหนังสือ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรง ในภาคเหนือของไทย เขียนโดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น แล้วมาร่วมสะเทือนใจด้วยกันกับสิ่งที่รัฐไทยกระทำ (หรือไม่กระทำ) ต่อกลุ่มคนที่ถูกขนามนามว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ”

[3] มอง ‘รัฐประหาร’ ผ่านสายตานักเศรษฐศาสตร์สถาบัน https://www.the101.world/dictatorship-from-institutional-economics-view/

[4] ชวนอ่านปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจากบทความ สันติวิธี: ม็อบราษฎรใช้ 91 จาก 198 วิธี ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ ในปี 2020 https://prachatai.com/journal/2020/12/90843

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรีสุดากำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวัสดุศาสตร์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์แบบในโซลาร์เซลล์ นอกจากสาขาที่เรียนแล้ว ศรีสุดายังสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยตามที่เคยถูกสั่งสอนมา (ทั้งจากในและนอกบ้าน) ว่าอย่าลืมรากตัวเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท