Skip to main content
sharethis

ฟังเสียงของความฝันและความหวังจากชีวิตแรงงานที่หลากหลายทั้งแพลตฟอร์ม แรงงานข้ามชาติ แรงงานทำงานบ้านและในโรงงาน ภาคเกษตรและภาคบริการ ช่วงโควิด-19 พร้อมแนวทางขับเคลื่อนความฝัน ความหวังของแรงงานผ่านมุมมองนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เนื่องในวันกรรมกรสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และประชาไท ร่วมกันจัดงานเสวนาออนไลน์ “ความหวัง ความฝัน และชีวิตของแรงงาน ในภาวะวิกฤติโควิด 19” ภายในงานมีการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวแทนแรงงานจากอาชีพต่างๆ และฝ่ายนักวิชาการ ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ร่วมกันมาหาขับเคลื่อนความฝันและความหวังของแรงงาน และหาแนวทางที่ดีในการช่วยเหลือแรงงานในช่วงวิกฤติโควิด-19

เสียงของความฝันและความหวังจากชีวิตแรงงานช่วงโควิด-19

คำอิ่ง ลุงแสง ตัวแทนแรงงานไร้สัญชาติในภาคเกษตร

คำอิ่ง ลุงแสง ตัวแทนแรงงานไร้สัญชาติในภาคเกษตร จาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้สะท้อนปัญหาในชีวิตของแรงงานที่อยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ฟังว่า แรงงานในภาคเกษตรในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่มักได้รับค่าจ้างไม่ถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และนายจ้างหลายคนไม่พาแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐที่ควรจะพึ่งพิงได้ “ในพื้นที่นายจ้างไม่พาไปเข้าระบบประกันสังคม แม้แรงงานอยากจะเข้าเท่าไหร่ก็ตาม แรงงานไม่มีการต่อรองได้เลย”

เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นแรงงานจึงยิ่งได้รับความเดือดร้อน อย่างแรกแรงงานถูกจำกัดในเรื่องของการออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้แรงงานไร้สัญชาติยังไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐในช่องทางไหนได้ เนื่องจากไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักที่จะใช้ขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็ทำให้เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือกรณีว่างงานหรือการช่วยเหลืออื่นๆ ครอบครัวคำอิ่งเป็นคนไร้สัญชาติทั้งหมด ทำให้ไม่มีใครได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐแม้แต่คนเดียว “แรงงานไทยพอมีโควิด-19 มายังได้รับการเยียวยาเราชนะ เรารักกันม.33 มาช่วยเยียวยาช่วงหยุดงาน เราก็เป็นแรงงานเหมือนกัน แรงงานข้ามชาติก็จ่ายภาษี 7 เปอร์เซ็นต์จากการซื้อของเหมือนกัน ดังนั้น เราน่าจะมีกองทุนอะไรที่จะมารับแรงงานข้ามชาติตรงนี้ด้วย”

นอกจากนี้ค่าแรงที่แรงงานเคยตกลงกับนายจ้างในปีที่แล้วว่าจะขึ้นให้ 20 บาท นายจ้างก็เอาเรื่องเศรษฐกิจมาอ้างและขึ้นค่าจ้างให้แรงงานในไร่แค่ 5 บาท รายได้ที่น้อยจกการทำงานยังส่งผลกระทบถึงปัญหาด้านการศึกษาของคนที่เป็นลูกหลานแรงงานไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้ตัวคำอิ่งจะมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่รายได้ที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของพ่อแม่ไม่สามารถที่จะส่งเสียให้ลูกหลานเรียนอย่างเดียวเหมือนเด็กคนอื่นได้ หลายคนต้องเรียนไปทำงานช่วยพ่อแม่ไปด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานหลายคนในช่วงที่ผ่านมา ก็คือค่าต่อเอกสารใบอนุญาตทำงานต่างๆ เพื่อให้ได้อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายที่แพงขึ้น ทั้งค่าต่อวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน บัตรประกันสุขภาพ เนื่องจากต้องเพิ่มค่าตรวจโควิด-19 เข้าไปด้วย ขณะที่แรงงานหลายคนรายได้ลดน้อยลงหรือถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 คำอิ่งและครอบครัวต้องใช้เงินหลักหมื่นสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เนื่องจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องต่อใบอนุญาตทำงาน เมื่อเทียบกับค่าแรงที่ได้รับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในส่วนนี้จึงถือว่าแพงมากสำหรับเธอและครอบครัว และในใบอนุญาตทำงานยังระบุให้เธอและครอบครัวทำงานได้แค่ในภาคเกษตรเท่านั้น ไม่สามารถทำงานอย่างอื่นได้ คำอิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์หวังว่าตัวเองจะมีโอกาสสามารถทำงานตรงตามความสามารถหรือความรู้ที่เรียนมาได้ “ตอนนี้เรารู้สึกเหมือนเป็นต่างด้าวในบ้านเกิดตัวเองไปแล้ว” ความหวังสูงสุดของคำอิ่งคือการได้รับความเป็นพลเมือง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้เธอได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและร่วมพัฒนาประเทศไทยที่เธออยู่อาศัยบ้าง

ปติภาร นาหลง ตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร

ปติภาร นาหลง ตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร ระบุว่า ในช่วงโควิดแรงงานแพลตฟอร์มแม้คนทั่วไปจะคิดว่าคนขับรถส่งอาหารจะมีรายได้ดี ทุกคนต่างเก็บตัวอยู่บ้านและสั่งอาหารทานกัน แต่ความจริงแล้วยอดสั่งซื้ออาหารของพนักงานขับรถส่งอาหารลดลงอย่างมากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากคนสั่งเองก็มีรายได้ลดลง ยิ่งเชียงใหม่เป็นจังหวัดในพื้นที่สีแดงช่วงเวลาในการทำงานยิ่งถูกจำกัดมากขึ้น จากที่เคยรับออร์เดอร์ได้ 24 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 22.00 – 23.00 น. ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของคนขับรถส่งอาหารในแต่ละวัน และภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อาชีพขับรถส่งอาหารยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 เนื่องจากต้องทำงานพบปะผู้คนทั้งวัน พวกเขาควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นกัน

ด้านมาตรการเยียวยาของรัฐปติภารโชคดีที่เป็นคนไทยจึงสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทั้งหมดที่ออกมาได้ แต่เทียบไม่ได้กับรายได้ที่ต้องเสียไป

ในด้านการทำงานนอกจากแรงงานแพลตฟอร์มอย่างคนขับรถส่งอาหารจะยังไม่มีกฎหมายใดมาคุ้มครองแล้ว เกือบทุกแพลตฟอร์มไม่ถือว่าคนขับรถส่งอาหารเป็นลูกจ้าง ไม่มีการนำพนักงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม ขณะที่บางแพลตฟอร์มไม่มีประกันอุบัติเหตุให้พนักงานด้วยซ้ำ หรือคนขับต้องรอ 6 – 8 เดือน หลังทำงานจึงจะได้รับประกันอุบัติเหตุจากบริษัท ในระหว่างนั้นคนขับต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตตัวเอง ปติภารระบุว่ามีหลายกรณีที่บริษัทใส่ใจพนักงานไม่พอ เช่น เคยมีกรณีที่เพื่อนร่วมงานถูกรถชนและบริษัทสั่งให้ซ่อมรถให้เสร็จภายใน 15 นาทีแล้วไปรับออร์เดอร์ต่อ

แรงงานแพลตฟอร์มเองก็อยากได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีการประกันรายได้ให้คนขับ อย่างแพลตฟอร์มของปติภารการวิ่งส่งอาหารเริ่มต้นเที่ยวละ 20 บาท ทำให้คนขับได้รับค่าตอบแทนน้อย และคนขับยังถูกหักเงินตอบแทนเข้าให้กับแพลตฟอร์มอีก 3 เปอร์เซ็นต์ คนขับรถส่งอาหารหลายคนทำงานขั้นต่ำ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่บางคนมีรายได้ไม่ถึง 300 บาทต่อวัน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือดูแลคนทำงานบนแพลตฟอร์มให้มีสวัสดิการ ได้รับค่าจ้างที่ธรรมมีมาตรฐาน มีสิทธิให้ในการต่อรอง และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้แก่แรงงานแพลตฟอร์ม เพราะแม้งานแพลตฟอร์มดูเหมือนจะเป็นงานชั่วคราว แต่มีหลายคนเลือกทำเป็นงานประจำ

ปี ตัวแทนแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานทำงานบ้าน

ปี ตัวแทนแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานทำงานบ้าน ที่มาจากรัฐฉาน ก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทยเขาฝันว่าอยากจะมีรายได้ไปช่วยเหลือครอบครัว แต่เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วปีพบความจริงที่ว่า “หางานน่ะมี แต่หานายจ้างที่ดี หางานที่เงินดี ยากมาก” ปีทำงานในไทยมาได้ 7 ปี ปัจจุบันเขาเป็นพ่อบ้านในบริษัทรับจ้างทำความสะอาดได้ค่าจ้างวันละ 325 บาท แต่บริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้ทุกๆ สิ้นเดือน หากไม่มาทำงานก็จะไม่ได้เงิน และนายจ้างไม่มีการพาไปเข้าสู่ระบบประกันสังคม

เมื่อมีโควิด-19 หลายสถานที่ปิดทำการให้พนักงาน work from home ทำให้ปีไปทำงานได้ลดลง รายได้ลดลง แต่เขามีค่าเช่าห้องที่ต้องจ่ายทุกเดือน และยังต้องเสียค่าต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ปีจึงคาดหวังให้ภาครัฐช่วยลดค่าต่อบัตรต่างๆ ให้แรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ต่างจากคนไทย

นานสีลา ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานต้องหยุดไปหลายเดือนหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เธอเพิ่งกลับมาทำงานได้เพียงไม่ถึง 3 เดือนก็เกิดโควิด-19 รอบ 3 ทำให้ต้องหยุดงานอีกครั้ง พอประกันสังคมออกโครงการ “เรารักกัน ม. 33” มาเยียวยาแรงงานที่อยู่ในระบบ นานสีลาก็คิดว่าตัวเองจะได้รับความช่วยเหลือด้วย เนื่องจากเธอก็อยู่ในประกันสังคม ม. 33 มาหลายปี แต่ปรากฎว่าการเยียวยาไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เธอเองก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

ความหวังของนานสีลาคือการได้ทำงานตามสาขาที่เรียนจบมา เธอเรียนจบคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่ไม่สามารถทำงานได้ต้องทำงานกรรมกรตามอาชีพของพ่อแม่ จึงอยากให้ภาครัฐให้โอกาสลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ได้เรียนหนังสือให้สามารถเข้าถึงงานที่หลากหลายตามความสามารถตัวเองมากขึ้น

นานสีลามีข้อเรียกร้องส่วนตัว 3 ข้อหลักๆ ด้วยกันที่อยากฝากให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยผลักดัน

1. ขอให้กระทรวงศึกษาและกระทรวงแรงงานให้โอกาสแรงงานข้ามชาติได้ใช้วุฒิการศึกษาที่ตัวเองมีสมัครงานตามความสามารถ

2. ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงค่าจ้างขั้นต่ำ และควรขึ้นจ่ายขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพขณะนี้

3. ช่วยลดค่าต่อบัตร ต่อวีซ่าลง แรงงานข้ามชาติแต่ละคนต้องเสียต้องเสียค่าต่อบัตรไม่ต่ำว่าปีละ 6,880 บาท ยิ่งคนที่ไม่รู้หนังสืออ่านภาษาไม่ได้ต้องเสียค่าจ้างนายหน้าเพิ่มอีก

ผึ้ง อาซิว ตัวแทนแรงงานภาคบริการ

ผึ้ง อาซิว ตัวแทนแรงงานภาคบริการ คนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่ลงมาทำงานภาคบริการกลางคืนในเชียงใหม่ ทุกครั้งที่มีการระบาดของโควิด-19 ร้านกลางคืนถูกสั่งปิดเป็นอันดับแรก และปิดเป็นลำดับสุดท้าย ตอนรอบ 1 รอบ 2 เธอยังพอมีเงินเก็บประคับประคองชีวิตไปได้ แต่ในรอบที่ 3 นี้ผึ้งไม่เหลือเงินเก็บแล้ว ต้องยืมเงินเพื่อนและย้ายมาอยู่หอพักร่วมกับเพื่อนเพื่อประหยัดค่าเช่า เมื่อเธอซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานไม่ได้คนที่บ้านก็ต้องลำบากไปด้วย

การมีสัญชาติไทยทำให้ผึ้งเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐ แต่เธออยากให้คนชาติพันธุ์คนอื่นที่ยังไม่มีสัญชาติได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผึ้งยังเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม. 33 เคยได้รับเงินช่วยเหลือเหลือตามสิทธิว่างงาน แต่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเธอตกงานจนต้องออกจากระบบประกันสังคม

ผึ้งมีความหวังว่าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ได้กลับไปอยู่บ้านเปิดร้านขายของชำเล็กๆ และสามารถส่งลูกชายเรียนหนังสือสูงๆ ได้ และอยากให้ sex worker เป็นงานที่ถูกต้องได้รับการยอมรับ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางขับเคลื่อนความฝัน ความหวังของแรงงานในหัวข้อ “ถ้าจะทำให้ชีวิตของแรงงานดีขึ้น เกิดความเท่าเทียมกัน ภาครัฐควรที่จะมาตรการอย่างไร”

สุนี ไชยรส : เรียกร้องให้กองทุนประกันสังคมปรับตัวรองรับแรงงานทุกกลุ่ม

สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธมนุษยชนและคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า (แฟ้มภาพ)

สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธมนุษยชนและคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าวว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แรงงานก็อยู่ในจุดที่รัฐให้น้ำหนักกับกลุ่มทุนมากกว่า ดำเนินทิศทางการพัฒนามาตามแนวทางแรงงานราคาถูก และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ไม่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้ตั้งสหภาพแรงงานเป็นของตัวเอง แม้แต่คนงานไทยที่มีสหภาพกฎหมายก็ยังคุ้มครองไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ช่วงโควิดที่ผ่านมาระบบประกันสังคมเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาแรงงาน แต่ตอนนี้แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานแพลตฟอร์ม ถูกทำให้แยกออกจากกัน บางกลุ่มเข้าประกันสังคมได้ บางกลุ่มเข้าไม่ได้ แทนที่รัฐจะเข้ามาทำให้ระบบประกันสังคมเป็นพื้นฐานทางสวัสดิการของแรงงานทุกรูปแบบ ประกันสังคมต้องขยายวงกว้างให้ครอบคลุมคนทุกระบบ

เมื่อเกิดโควิด-19 แรงงานถูกเลิกจ้าง ถูกลดค่าจ้าง ลดวันทำงาน คนที่จะช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ได้ เนื่องจากการเยียวยาของรัฐบาลไม่ได้เยียวยาถ้วนหน้าทำให้มีคนตกหล่น รัฐต้องวางแผนการเยียวยาคนในกลุ่มฐานใหญ่ของประเทศที่เดือดร้อนให้ได้ก่อนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในขณะที่ความช่วยเหลือในระยะยาวรัฐต้องขยายฐานประกันสังคมออกไปให้เป็นระบบครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นข้อท้าทายที่กองทุนประกันสังคมต้องปรับตัว นอกจากนี้ต้องผลักดันให้มีสวัสดิการเด็กเล็กอายุ 0 – 6 ปี เพื่อทำให้เกิดฐานของระบบสวัสดิการถ้วนหน้ากับคนทุกกลุ่ม

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา : ภาครัฐต้องเข้าช่วยกำกับดูแลชีวิตแรงงานแพลตฟอร์ม

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการและสหภาพคนทำงาน กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานโลกมีความเปลี่ยนไปมากจนประเทศไทยปรับตัวตามไม่ทัน กฎหมายหรือระบบต่างๆ ที่วางไว้เหมือนยังอยู่ในการปฏิวัติอุสาหกรรมระยะที่ 2 ที่การผลิตยังอยู่บนสายพาน แต่ปัจจุบันระบบการผลิตเปลี่ยนไปไกลมาก เกิดรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายขึ้น ภาคธุรกิจพยายามขยับตัวเองออกไปในพื้นที่ที่มีอำนาจมากขึ้น ทำให้ควบคุมได้ยาก

อย่างในกรณีของแพลตฟอร์มเป็นตัวอย่างที่ทำเห็นว่าจริงๆ แล้ว แรงงานมีความเป็นอิสระจริงหรือไม่? แรงงานไม่สามารถเจรจาต่อรองกับระบบได้เลย อำนาจเหนือของเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีต่อแรงงานบนแพลตฟอร์มสูงมาก แรงงานสามารถถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ถูกปิดระบบ คนขับรถส่งอาหารบางคนทำงานวันละ 12 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แต่ไม่มีภาครัฐหรือกฎหมายเข้ามาดูแล ทางกระทรวงแรงงานกำลังพยายามออกกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งคนงานที่อยู่ในแพลตฟอร์มจะถูกผลักให้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้สร้างหลักประกันสำคัญที่จะทำให้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานเหมือนกับแรงงานที่อยู่ในกฎหมายฉบับอื่นได้รับ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือกระทั่งกฎหมายประกันสังคม สิทธิและเสียงของคนงานยังไม่ได้ถูกทำให้ดังขึ้นภายใต้กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบที่จะออกมา

รัฐต้องเชื่อมั่นว่าคนทำงานเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า รัฐควรจะยอมรับให้แรงงานมีสิทธิในการเจรจาต่อรอง โดยเริ่มต้นจากการให้สัตยาบันในอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 67 และ ฉบับที่ 89 ที่ส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองของแรงงาน ดังนั้นถ้ารัฐบาลเห็นคุณค่าของแรงงานทุกกลุ่ม เราก็ควรจะรักษาคนกลุ่มนี้ไว้และให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่เขา 

สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ของรัฐสภา (แฟ้มภาพ)

สุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน ของรัฐสภา ได้ระบุว่า ปัจจุบันมีความพยายามในการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคมให้คุ้มครองแรงงานทุกคน สร้างให้เกิดประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของแรงงานเป็นขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง ทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน

นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  เหตุที่แรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถทำงานตามวุฒิการศึกษาที่จบมาได้ เนื่องมาจากการที่แรงงานคนนั้นมาเมืองไทยในฐานะผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติ เมื่ออายุเกิน 18 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือถ้าต้องการทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อก็ต้องขอขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งการทำงานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มนี้จะถูกกำกับด้วยงานห้ามและงานที่อนุญาตให้ทำได้ ข้อจำกัดในส่วนนี้จึงส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา ไม่ได้สามารถทำงานตามวุฒิการศึกษาได้

ส่วนมาตรการเยียวยาของประกันสังคมตามโครงการเรารักกัน ม. 33 ไม่ได้ใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม แต่ใช้เงินจากพระราชบัญญัติเงินกู้ เป็นเงินกู้ของประเทศที่กู้มาเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้จำกัดการช่วยเหลืออยู่ที่แรงงานที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนแรงงานที่อยู่ในประกันสังคม ม. 33 ทุกคนไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติก็จะได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิในประกันสังคม เช่น หากรัฐบาลมีการสั่งปิดกิจการในช่วงโควิด-19 ให้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งขอรับเงินในกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยได้

สำหรับค่าต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานที่แรงงานหลายคนเห็นว่ามีราคาสูง ควรปรับลดลงมาช่วยเหลือแรงงานช่วงโควิด-19 นภสรยินดีรับเรื่องไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ส่วนข้อเสนอที่ให้จัดตั้งกองทุนรองรับแรงงานข้ามชาติ กระทรวงแรงงานโดยประกันสังคมก็มีแนวคิด ก็พยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ทุกวันนี้ปนกันระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างให้เกิดความคุ้มครองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net