ศาลธัญบุรีไม่ให้ประกันตัว ฟ้า ‘พรหมศร’ เป็นครั้งที่ 5 ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทีมจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องที่ศาลอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ขอประกันตัว ฟ้า กลุ่มราษฎรมูเตลู ผู้ถูกกล่าวหา ม.112 จากกรณีเรียกร้อง-ติดตามให้ปล่อยตัว ‘นิว-สิริชัย’ โดยครั้งนี้เป็นการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 5 ก่อนที่ศาลฯ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

'ฟ้า' พรหมศร วีระธรรมจารี จากกลุ่มราษฎรมูเตลู
 

5 พ.ค.64 ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานบนเว็บไซต์วันนี้ (5 พ.ค.) ที่ศาลอำเภอธัญบุรี ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีปราศรัยดัดแปลงเนื้อเพลงที่หน้าศาลอำเภอธัญบุรี ระหว่างติดตามและเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีพ่นสีข้อความ “ภาษีกู” “ยกเลิก 112” บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์และป้ายบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64

ในครั้งนี้ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 5 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกัน 200,000 บาท พร้อมทั้งรับเงื่อนไข หากได้ประกันตัวจะไม่พูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์อีก อีกทั้งมารดาของพรหมศรได้แนบจดหมายลายมือท้ายคำร้องรับรองด้วยชีวิตว่าพรหมศรไม่หลบหนี แต่ศาลอำเภอธัญบุรียังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 

สำหรับการยื่นประกันตัวครั้งนี้ ทนายได้ยื่นคำร้องโดยสรุปในประเด็นที่ว่า 

1. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด ซึ่งวันก่อนหน้า (วันที่ 16 มี.ค. 64) ผู้ต้องหาได้ประสบอุบัติเหตุทางท้องถนน มีบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่ง ต้องเย็บที่ปาก ศีรษะ ขา แขน และมือทั้งสองข้าง แต่ผู้ต้องหาก็มาตามกําหนดนัดในหมายเรียก ทั้งนี้ ในท้ายคำร้องได้แนบภาพบาดแผล และภาพพร้อมข้อความบรรยายบาดแผลบนเฟซบุ๊กของตัวผู้ต้องหา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

2. ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ได้มีหลักประกันตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ศาลได้กําหนด ถือได้ว่าเป็นหลักประกันที่มีความน่าเชื่อถือโดยพยานหลักฐานในคดีนี้ ถูกรวบรวมไว้โดยเจ้าพนักงานตํารวจครบถ้วนแล้ว ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ และผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลําเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน รายละเอียดปรากฏตามสําเนา บัตรประจําตัวประชาชนผู้ต้องหาในสํานวน และหากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดอาจจะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม ดังนั้น หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี หรือการพิจารณาคดีของศาล โดยมารดาของผู้ต้องหาได้เขียนจดหมายแนบท้ายไว้ ตามเอกสารท้ายคําร้องเพื่อยืนยันด้วย

3. เหตุผลของพนักงานสอบสวนในการฝากขังผู้ต้องหานั้น ไม่มีเหตุผลและน้ำหนักเพียงพอ อีกทั้งในการไต่สวนคําร้องฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 64 ศาลอำเภอธัญบุรีเองก็ได้กล่าวกําชับกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า ให้ดําเนินการโดยเร็ว ปรากฏว่าผ่านไปเดือนกว่าแล้วก็ยังคงไม่เสร็จสิ้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนประเด็นนี้ หากศาลเห็นสมควรก็ขอให้เรียกพนักงานสอบสวนมาทําการไต่สวนเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจเพื่อสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาด้ว

สําหรับคดีอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในสถานีตํารวจอื่นนั้น ไม่ได้ลักษณะมีคดีและข้อหาข้อเท็จจริงต่างๆ เหมือนกับคดีนี้ เป็นแต่เพียงการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญเท่านั้น และการถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีของสถานีตํารวจอื่นๆ ก็เป็นเพียงการ กล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ยังไม่มีคดีใดที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี และยังไม่ปรากฏว่ามีศาลใด พิพากษาลงโทษผู้ต้องหาไม่ จึงต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่หากยึดถือเพียงข้อกล่าวหาจาก เจ้าหน้าที่ตํารวจมาเป็นเหตุผลประกอบว่าผู้ต้องหา ถูกดําเนินคดีในคดีอื่นลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหลายคดี และมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้อํานาจเบ็ดเสร็จแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลต่างๆ แล้วนําตัวมาฝากขังอ้างเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยไม่มีกลไกการถ่วงดุลตรวจตามหลักนิติรัฐ ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลได้โปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวนี้ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ไม่เชื่อเพียงข้อกล่าวหา กล่าวอ้างลอยๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น และขอศาลได้โปรดคํานึงยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา เป็นผู้บริสุทธิ์ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา และมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาตามกฎหมายต่อไปด้วย

4. ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวหาว่ากระทําความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่อย่างไร อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญามิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อความเสียหายในการดําเนินคดีในศาลแต่ประการใด

ทั้งนี้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้มีการภาคยานุวัติร่วมเป็นภาคี ยังระบุถึงหลักว่า ผู้กล่าวหาว่ากระทำผิดต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด (Presumption of Innocence) หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าผู้ต้องหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่อาจถือได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา

5. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของสํานักงานศาลยุติธรรม เรื่องการบริหารจัดการคดีระบุว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในสถานที่คุมขัง หรือเรือนจําการพิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ฉบับที่ 3 ข้อ 7

แนวทางดังกล่าวสรุปได้ว่า “จำเลยที่ยังไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขอื่น เช่น การใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ตามตัว (EM) หรือการจำกัดการเดินทางของจำเลย”

ท้ายคำร้องระบุ หากพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ ผู้ต้องหาขอศาลเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวนเหตุในการคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวว่ามีมูลเหตุจริงเท็จเพียงใด เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาล

ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังยินยอมให้ศาลกําหนดเงื่อนไขว่า “จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามนัด”

นอกจากนี้ ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ มารดาของพรหมศรได้ยื่นจดหมายแนบท้ายคำร้องมาด้วย โดยมีเนื้อหาว่า 

“ดิฉันขอรับรองด้วยชีวิตว่านายพรหมศรไม่เคยคิดที่จะหลบหนี เพราะดิฉันเคยเตือนและพูดคุยในการกระทำมาหลายครั้งแล้ว และอีกอย่าง พรหมศรก็รักดิฉันมาก เพราะเขารู้ดีว่าตนไม่สามารถสูญเสียลูกได้อีกคน เพราะเคยสูญเสียมาแล้ว ดิฉันยังทำใจไม่ได้ ดิฉันมีเพียงเขาเท่านั้นที่จะเยียวยาได้ จึงขอความเห็นใจมาในครั้งนี้ด้วย”

จดหมายลายมือมารดาของพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” กลุ่มราษฎรมูเตลู

อย่างไรก็ตาม เวลา 14.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์คำร้องขอปล่อยตัวช่วยคราวนี้ คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวช่วยคราวลงวันที่วันนี้ พฤติการณ์แห่งคดีและคำร้องคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่า เหตุผลตามคำร้องย้งไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง”

ปัจจุบัน พรหมศรถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี มาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.64 นับเป็นเวลา 50 วัน อีกทั้ง พรหมศรได้เริ่มอดอาหารอีกครั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.64 รวมเป็นเวลา 9 วันแล้ว โดยก่อนหน้านี้เขาได้อดอาหารครั้งแรกรวม 19 วัน ในเรือนจำช่วงเดือนมีนาคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท