Skip to main content
sharethis

สธ. เผยแนวทางในการปฎิตนของพนักงานในโรงงาน ทำอย่างไรให้ห่างไกลจาก COVID-19

ช่วงเดือน พ.ค. 2564 จากกรณี สถานการณ์ COVID-19 ใน จ.สมุทรปราการ กับคลัสเตอร์สมุทรปราการ ในโรงงาน อ.พระสมุทรเจดีย์ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 160 ราย เริ่มต้นมาจากพนักงานชาวเมียนมามีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2564 และทำให้มีการติดเชื้อ COVID-19 ของคนในโรงงานแผ่ขยายเป็นวงกว้างรวมไปถึงชุมชนใกล้เคียง 

และเนื่องด้วยโรงงาน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีพนักงานทำงานร่วมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัดในการป้องกันเชื้อ COVID-19 ขณะเดียวกันพนักงานในโรงงานเอง ก็ต้องปฎิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด เช่นกัน ซึ่งล่าสุดทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้มีแนวทางในการปฎิตนของพนักงานในโรงงาน ทำอย่างไรให้ห่างไกลจาก COVID-19 ดังนี้ 1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 2. งดรับประทานอาหารร่วมกัน ห้ามพูดคุยขณะกินข้าว 3. เคร่งครัดเว้นระยะห่าง 4. แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ 5. ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสจุดเสี่ยง ราวบันได ลูกบิดประตู  และ 6. เมื่อมีการเจ็บป่วยเช่น ไอ จาม ไข้ มีน้ำมูก หยุดงานทันทีและรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

ที่มา: คมชัดลึก, 6/5/2564

กสร.ชี้ แจงประเด็น แรงงานถูกเลิกจ้างเหตุติด COVID-19 ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง จึงมีสิทธิรับค่าชดเชย

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ที่ขยายวงกว้างเข้าสู่สถานประกอบกิจการ เป็นความห่วงใยที่พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้ความคุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือมีความเสี่ยงที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับความช่วยเหลือ รักษา เยียวยา

โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ทราบว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางข้ามจังหวัดหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 แต่ภายหลังทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้

ทั้งนี้ นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกจ้างติดเชื้อ มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติมิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้างและเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องให้ความร่วมมือกันในการป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 6/5/2564

กระทรวงแรงงานส่งแรงงานไทย 252 คน ไปทำงานที่อิสราเอล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีกำหนดส่งแรงงานไทย จำนวน 252 คน แบ่งเป็นเพศชาย 251 คน และเพศหญิง 1 คน เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers:TIC)

ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำพิเศษ สายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY 082 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยเวลา 09.15 น. และมีกำหนดถึงปลายทางกรุงเทลอาวีฟ เวลา 15.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น

นายสุชาติ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและรู้สึกขอบคุณแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด ด้วยถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม สนับสนุน พัฒนากระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และขยายตลาดแรงงานไทยไปต่างประเทศอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล

"โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล จำนวน 5,000 คน ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 – เดือน พ.ค. 64 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานแล้ว รวมกับที่จะเดินทางในวันพรุ่งนี้ทั้งสิ้น 3,616 คน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ท่านรัฐมนตรีสุชาติ ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ดูแลพี่น้องแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลอย่างดี โดยก่อนเดินทั้งหมดจะได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ก่อนการเดินทาง

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ซึ่งมีหัวข้อการอบรมที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทย ฯ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายในประเทศและการปฏิบัติตัว การเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ วิธีเดินทางออกและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมาย สัญญาจัดหางาน สัญญาจ้างงาน และสิทธิประโยชน์กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า รวมทั้งช่องทางการติดต่อผ่านแอปพลิเคชั่น TOEA และข้อมูลหน่วยงานราชการไทยในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้กรมการจัดหางานจัดขึ้นโดยคำนึงถึงมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารสุขอย่างเคร่งครัด

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่าสำหรับโครงการนี้ มีระยะเวลาการจ้างงาน 2 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการต่ออายุใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงาน ตามข้อกำหนดของกฎหมายรัฐอิสราเอล

นายไพโรจน์ กล่าวว่าโดยคนหางานจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 48,073 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: คมชัดลึก, 6/5/2564

รมว.แรงงาน สั่งการเร่งช่วยเหลือเยียวยาพนักงานห้างสรรพสินค้ากลางเมืองโคราช

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับรายงานว่าลูกจ้างห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า ถูกเลิกจ้างและยังไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชยการเลิกจ้าง ก็ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จพบว่า บริษัท คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำกัด จำเป็นต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของทางห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ หรือคลัง 2 ที่ต้องแบกรับภาระมาตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก จนปัจจุบันต้องปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไป และได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 191 คน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้พูดคุยทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกจ้างในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับจนเป็นที่พอใจ และมีหนังสือนัดนายจ้างมาพบในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง และให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการรองรับปัญหาการเลิกจ้างนี้ไว้แล้ว โดยในเบื้องต้นมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาบรรเทากรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และมีเงินทดแทนระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วันต่อปีปฏิทิน จัดหาตำแหน่งงานว่างมารองรับ และฝึกอบรมยกระดับฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพตามที่ลูกจ้างสนใจ

ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กสร. ในฐานะโฆษกกรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเกิดขึ้น ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงาน เช่น อายุงาน 10 - 20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ทั้งนี้หากสิทธิวันลาพักผ่อนยังเหลืออยู่ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นเงินที่ลูกจ้างพึงได้รับด้วย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ตัวแทนลูกจ้าง 15 คน ได้มาพบพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อรับทราบขั้นตอนและวิธีการยื่นคำร้องสิทธิที่ไม่ได้รับเงินผ่านระบบ e-service ของกรมฯ และได้มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มลูกจ้าง โดยกลุ่มลูกจ้างได้กลับไปประชุมหารือกับนายจ้างเกี่ยวกับเรื่องเงินต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากไม่ได้รับสิทธิตามที่พึงได้สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งกรมจะดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 5/5/2564

กระทรวงแรงงานเปิดตรวจ COVID-19 เชิงรุก ผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ 5-11 พ.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย กทม. สปสช. เปิดบริการจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน และแรงงานนอกระบบรอบใหม่อีกครั้ง เพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี วันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วงใยผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและประชาชนทั่วไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก พร้อมแรงงานนอกระบบในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม บูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบ ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในวันนี้ (5 พ.ค. 2564) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ได้เปิดตรวจโควิด-19 เชิงรุก อีกครั้ง โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ในวันนี้ กระทรวงแรงงานยังได้เปิดศูนย์ตรวจโควิด-19 ที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี ให้บริการตรวจโควิด-19 เชิงรุกเช่นกัน โดยตรวจได้วันละ 1,000 คน รอบเช้า 500 คน รอบบ่าย 500 คน ผู้ที่ต้องการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php

จากนั้นผู้ประกันตนกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขพาสปอร์ต กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากผู้ประกันตนรายใดลงทะเบียนแล้วไม่มาตรวจตามนัดจะต้องลงทะเบียนใหม่ และเมื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจากผลการตรวจจะส่งทาง SMS ให้ผู้ประกันตนทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ขอให้ผู้ที่มาตรวจนำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย ซึ่งทั้งสองแห่งจะเปิดตรวจตั้งแต่วันที่ 5 – 11 พ.ค.นี้

ผู้ประกันตนสามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 1506 กด 6 เพื่อหาสถานที่ตรวจและสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งสิ้น 10 คู่สาย ช่วยเหลือผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบที่เดือดร้อนจากการตรวจโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอีกทางหนึ่งด้วย

กรณีตรวจพบเชื้อและมีอาการจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออยู่ในระดับสีเหลืองตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ Hospitel ของประกันสังคม ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/5/2564

แกลลอปโพลชี้คนไทยรายได้ลด 76% ช่วง COVID-19 ระบาดทำทั่วโลกตกงาน 1 ใน 3

บริษัทจัดทำโพล Gallop (แกลลอป) เปิดเผยผลโพลสำรวจประชาชน 300,000 คนใน 117 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับผลกระทบต่อรายได้จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรค โควิด-19 พบว่าเฉลี่ยแล้ว ประชาชนทุก 1 ใน 2 คน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสอบถามต้องประสบกับการมีรายได้ลดลง

โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกเลิกจ้างงาน รวมทั้งต้องถูกลดชั่วโมงการทำงาน จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมาจึงแปลได้ว่า มีประชากรโลกในวัยผู้ใหญ่ถึง 1,600 ล้านคน มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

ผลการสำรวจยังพบว่า เปอร์เซ็นต์ของประชาชนซึ่งมีรายได้ลดลงจากโควิด-19 ระบาด ในประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนานั้น มีช่วงห่างที่ค่อนข้างกว้าง โดยประเทศไทย มีผู้มีรายได้ลดลงจากโควิด-19 ระบาดสูงถึง 76% ขณะที่ประชาชนในสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนที่มีรายได้ลดลงเพียงแค่ 10%

แกลลอปโพล ยังพบว่า มีประชาชนทั่วโลกกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50% ต้องถูกพักงานชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด ซึ่งแปลได้ว่ามีประชาชนทั่วโลกในวัยผู้ใหญ่ถูกพักงานชั่วคราวถึงประมาณ 1.7 พันล้านคน ประชาชนใน 57 ประเทศรวมทั้ง อินเดีย ซิมบับเว ฟิลิปปินส์ เคนยา บังกลาเทศ เอลซัลวาดอร์ มีประชาชนกว่า 65% ต้องถูกพักงานชั่วคราว ในขณะที่ผลการสำรวจพบว่าประเทศในยุโรป อย่างออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี มีประชาชนน้อยกว่า 2-3 คนในจำนวน 10 คน ที่ต้องถูกพักงานจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีประชาชนถูกพักงานอยู่ที่ 39%

ส่วนผลการสอบถามประชาชนที่ต้องตกงาน ถูกเลิกจ้างจากการระบาดของโควิด-19 พบว่ามีประชาชน 1 ใน 3 คน ต้องตกงาน หรือปิดกิจการ ซึ่งแปลได้ว่ามีประชากรทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านตกงาน และสูญเสียธุรกิจจากการระบาดของโควิด-19

ที่มา: สยามรัฐ, 4/5/2564

สหภาพแรงงาน ขสมก. เรียกร้องตรวจ COVID-19 ให้พนักงาน 13,000 กว่าคน หลังเจ้าหน้าที่ติดเชื้อกว่า 30 ราย

นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(สร.ขสมก. )เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ระลอก 3 ในหลายพื้นที่ส่งผลให้พนักงาน ขสมก. ติดโควิด-19 แล้วมากกว่า 30 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงที่เฝ้าระวังอีกแทบจะทุกเขตการเดินรถที่มี 8 แห่ง ซึ่งทางสภาพแรงงานฯ ไม่นิ่งนอนใจส่งหนังสือถึง นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการขสมก. เพื่อดำเนินการเร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงาน ขสมก. ที่มี 13,000 กว่าคน โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสาร(รถเมล์)พนักงานเก็บค่าโดยสาร และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเดินรถทั้งหมด เช่น นายท่า และสายตรวจพิเศษ ที่ต้องสัมผัสกับผู้โดยสารจำนวนมาก เพื่อได้คัดกรองพนักงานที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันชัดเจน เพราะปัจจุบันไม่มีการตรวจโควิด-19 ไม่ทราบว่าพนักงานคนไหนติด และไม่ติดบ้าง หากติดจะทำให้เกิดการระบาดลุกลามขยายเป็นกว้างอย่างรวดเร็ว

"ถ้ามีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทำให้ง่ายต่อดำเนินการรักษา ปฏิบัติ การควบคุมโรคและลดความเสี่ยงลง ทั้งที่การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้พนักงานนั้นก่อนหน้านี้ ขสมก. ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ตรวจหาเชื้อได้ประมาณ 1,000-2,000คน แล้ว หลังจากนั้นหยุดตรวจไป ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานทั้งหมดโดยเร่งด่วน เนื่องจาก ขสมก. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล แต่ละวันมีผู้ใช้บริการหลายแสนคน หากได้รับวัคซีนช่วยเป็นอีกส่วนที่ช่วยลดการแพร่ระบาดได้"

ที่มา: สยามรัฐ, 4/5/2564

กระทรวงแรงงานนำร่องเปิด Hospitel ให้ผู้ประกันตน เบื้องต้นรองรับได้ 600 เตียง

4 พ.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดตัว Hospitel ประกันสังคม เพื่อรองรับผู้ประกันตน มาตรา 33,39 และ 40 ที่ป่วยโควิด-19 ณ โรงแรมทวินทาวเวอร์ ถนนรองเมือง และโรงแรมเอวาน่า แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ เขตบางนา เชื่อสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตนที่ป่วยให้ได้เข้ารับการรักษอย่างปลอดภัย และช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยทั้งสองโรงแรมมีเตียงรองรับ จำนวน 600 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และดำเนินมาตรการป้องกันโควิดตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณาสุขอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อประสาน Hospitel ให้แก่ผู้ประกันตนหาสถานที่ตรวจ และสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยโทรศัพท์ติดต่อที่เบอร์ 1506 กด 6 ให้บริการทุกวันจันทร์–อาทิตย์ เวลา 08.00–17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งสิ้น 10 คู่สาย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/5/2564

ภาพรวมตรวจ COVID-19 ผู้ประกันตนแล้วกว่า 45,000 คน พบผู้ติดเชื้อกว่า 700 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสายด่วน 1506 กด 6 ที่สำนักงานประกันสังคมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีความห่วงใยมายังพี่น้องผู้ประกันตนทุกคนจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มหรือจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. เพิ่มช่องทางหรือทางเลือกเพื่อบริการผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจอย่างรวดเร็ว ลดความแออัด ลดการแพร่ระบาด ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเสร็จแล้วหากพบติดเชื้อส่งรักษาทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดำเนินการตรวจโควิด–19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และ 40 ตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์เยาวชน (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง และขยายจุดตรวจไปยังจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ

ทั้งนี้ ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ได้ปิดศูนย์ชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-4 พ.ค. 2564 และจะเปิดให้บริการตรวจใหม่ในวันที่ 5 – 11 พฤษภาคมนี้ เช่นเดียวกับศูนย์ตรวจโควิด-19 ที่อาคารโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานีได้ปิดศูนย์ชั่วคราวและเปิดให้บริการใหม่ในวันที่ 5-11 พ.ค.นี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ได้หยุดพัก ทำความสะอาดสถานที่ และดำเนินการกลุ่มที่ตกค้างให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนศูนย์ตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 สมุทรปราการ ได้เปิดให้บริการตรวจตั้งแต่วันที่ 1-7 พ.ค. 2564 โดยภาพรวมขณะนี้ได้ตรวจไปแล้วกว่า 45,000 คน พบผู้ติดเชื้อกว่า 700 คน ซึ่งทั้งหมดถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนสาธารณสุขในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมและ Hospitel แล้ว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมการให้บริการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสายด่วน 1506 กด 6 ที่สำนักงานประกันสังคม ที่เปิดให้บริการเพื่อเป็นช่องทางติดต่อให้กับผู้ประกันตน ที่ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจและสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยจะให้คำแนะนำผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้คำปรึกษาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้คำแนะนำหลักเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานพยาบาล รวมถึงการส่งตัวผู้ประกันตนที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล และแนะนำเรื่องอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 โดยจะให้บริการทุกวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 10 คู่สาย ผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจโควิด-19 รวมทั้งกรณีที่ต้องการรถพยาบาลให้ไปรับที่บ้านเพื่อไปตรวจรักษา ประสานหาเตียงให้ผู้ที่ติดเชื้อ สามารถประสานมายังสายด่วน 1506 กด 6 และในขณะนี้ผมได้เปิดวอรูมที่กระทรวงแรงงานโดยให้เจ้าหน้าที่ทีมงานหน้าห้องผม ได้ช่วยกันประสานการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกันตนและประชาชนที่เดือดร้อนจากการตรวจโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่าจากการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้คลี่คลายลงโดยเร็ววันและให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/5/2564

ห้างดังโคราชเลิกกิจการ ยอมจ่ายเงินเดือนแล้ว แต่ค่าชดเชยยังตกลงกันไม่ได้

จากกรณีที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศปิดการประกอบกิจการห้างบางส่วน เนื่องจากแบกรับภาระไม่ไหวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พนักงานกว่า 200 ราย ต้องตกงาน ประกอบกับห้างดังกล่าวยังนิ่งเฉยไม่มีทีท่าจะจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 อดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างของห้างคลังพลาซ่า แจ้งว่า ทางผู้บริหารห้างคลังพลาซ่าได้จ่ายเงินเดือนๆ สุดท้าย และเงินค้ำประกันแรกเข้างาน ให้กับอดีตพนักงานทุกคนแล้ว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 และในวันนี้ พนักงานเกือบทั้งหมดได้เดินทางไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนำเอกสารหลักฐานขอยื่นเป็นบุคคลว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยการว่างงานจากหน่วยงานภาครัฐ หลังจากถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พร้อมสมัครทำงานในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ได้มีการประกาศไว้ในสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา

ด้าน นายเอก (นามสมมุติ) อดีตพนักงานห้างคลังพลาซ่า กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ ทางห้างฯ จะจ่ายเงินเดือนและเงินประกันที่คงค้างไว้แก่พนักงานแล้วก็ตาม แต่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างต่างบอกว่า เงินที่ได้รับมา อาจจะใช้จ่ายภายในครอบครัวได้ไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากแต่ละคนมีภาระทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ อีกทั้ง ค่าเล่าเรียนบุตร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประจำวัน บางรายถูกเลิกจ้างทั้งสามี ภรรยา ทำให้ต้องมายื่นขอเงินชดเชยจากหน่วยงานภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ บางคนอายุมาก มาตกงานในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ตอนนี้ครอบครัวลำบากมาก ซึ่งเข้าใจดีว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ แต่ก็อยากให้ผู้ประกอบการเห็นใจพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกบ้าง อยากให้จ่ายชดเชยเงินเลิกจ้างให้กับพนักงานที่เดือดร้อนโดยเร็ว ตามสิทธิ์ที่พนักงานควรจะได้รับตามกฎหมาย ซึ่งทุกคนมีความหวังว่า ผู้ประกอบการจะจ่ายหลังจากนี้ เพราะผู้ประกอบการได้แจ้งว่า จะพูดคุยกับพนักงานทุกคนในเรื่องนี้อีกครั้ง ใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากหารือปรึกษาระดับผู้บริหารแล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/5/2564

รัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน ม.33 รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเหตุสถานการณ์โควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงาน พร้อมให้ดูแลผู้ประกันตนที่มีกว่า 16.5 ล้านคน โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่ และสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ตามประกาศ “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563” และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างหรือถูกสั่งให้กักตัว มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในขณะนี้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก ผู้ประกันตนทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี ชลบุรี และเชียงใหม่ ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดโควิด-19 สำหรับผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งจะประสานให้ส่งตัวไปยัง Hospitel รวมทั้งกำชับให้ทุกสถานประกอบการทุกแห่ง เฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจโควิด-19 หรือสถานพยาบาล สามารถติดต่อสายด่วนได้ที่ 1506 กด 6

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/5/2564

นายกฯ ออกสารเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2564 ยันรัฐบาลมุ่งมั่นดูแลแรงงานทุกคน ทั้งในระบบ-นอกระบบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกคำปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ขอส่งความรัก ความปรารถนาดีมายังแรงงานไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโดวิด-19 จึงต้องงดการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ด้วยห่วงใยความปลอดภัย แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคควบคู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสทางการค้า และการมีงานทำของแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการ ม.33 เรารักกัน, โครงการเราชนะ และขยายเวลาลดหย่อยส่งเงินสมทบประกันสังคม ลดค่าน้ำค่าไฟ และมาตรการอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และพร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข้งในเร็ววัน พร้อมกันนี้ ยังให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และการพัฒนาความสามารถและศักยภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ห่วงใยพี่น้องแรงงานทุกคน ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง และพบแพทย์เมื่อมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/5/2564

สรส.-คสรท. เสนอ 12 ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2564

30 เม.ย. 2564 ที่ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน รับข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2564 จากนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำเสนอต่อรัฐบาล มีจำนวน 12 ข้อ และข้อเสนอเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวน 10 ข้อ

โดยนายสุชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม เป็นประเพณีปฏิบัติที่ผู้นำแรงงานจะได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลและกำกับกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ให้มีความมั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี เกิดการพัฒนาทุกด้านอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งในด้านการป้องกันและเเก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ความปลอดภัยในการทำงานการส่งเสริมการมีงานทำ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการยกระดับประกันสังคมเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องในปีที่ผ่านมา

สำหรับข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล จำนวน 12 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนี้ 1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ดังนี้ 2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี

3. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดังนี้ 3.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน 3.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 3.3 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา 4.รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ดังนี้ 4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

5.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว 6.รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ 7.รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังนี้ 7.1 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 7.2 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน 7.3 ดำเนินการบริหารจัดการให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 และมาตรา 33 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน 7.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็นอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย 7.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 7.6 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทนจนสิ้นสุดการรักษาตามวินิจฉัยของแพทย์ 7.7 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน) และจัดสร้างโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ตามสัดส่วนผู้ประกันตนในพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่นๆ ของสำนักงานประกันสังคม

8.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือการยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53) 9.รัฐต้องจัดตั้งหองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งการสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือรัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย 10.รัฐต้องพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

11.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรงงาน เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน 12) ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ด้งนี้ 12.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ 12.2 รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด 12.3 รัฐบาลต้องให้โครงการเยียวยา “ม33 เรารักกัน” ช่วยเหลือเยียวยากับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยไม่เลือกปฏิบัติและยกเลิกเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติไทยและให้การช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 38

ทั้งนี้ ข้อเสนอเร่งด่วน ให้รัฐบาลออกมาตารการใรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและคนทำงานในช่วงโควิด-19 จำนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1.ให้เร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้า และฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงาน ในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้อง ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย 2.กำหนดมาตรการดูแลที่ดีต่อบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคลากรทาง การแพทย์ สาธารณสุข พนักงานที่ให้บริการแก่ประชาชนในการบริการสาธารณะ ทั้งเรื่องวัคซีน เครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจ การป้องกัน ให้เพียงพอ 3.ให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการ การตรวจโรคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม

4) ให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพราะจะเกิดประโยชน์ กับทุกคน ทุกครอบครัว และการสนับสนุนนี้ต้องเป็นงบประมาณจากรัฐมิใช่ผลักภาระ ให้หน่วยงานบริการ 5.การเยียวยา ช่วยเหลือ หากมีความจำเป็น ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ครอบคลุมคนยากจน คนรายได้น้อย และดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมในฐานะ มนุษย์ที่มีความทุกข์ยากเหมือนกัน 6.ยกเลิก หรือ ลด การเก็บค่าบำรุงการศึกษา (ค่าเทอม) เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการ เรียนผ่านระบบออนไลน์ 7.รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความ ทุกข์ยากของประชาชน

8.รัฐต้องควบคุมการจัดการเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่าย งบประมาณ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับขั้นตอน 9.รัฐต้องหาแนวทาง สร้างมาตรการให้หน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐและ เอกชนให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือใช้สถานการณ์โควิดเลิกจ้าง คนงานเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤตเพิ่มมากขึ้น และ 10.รัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อ คนทํางานที่เจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว และในอนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนในเรื่อง ของการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนให้กับคนงานที่อาจ จะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/4/2564

ร้านอาหารในเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอทบทวนคำสั่งห้ามนั่งในร้านอาหาร เผยกระทบคนทำงานกว่า 8 หมื่นคน

30 เม.ย. 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ในจังวัดเชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 59 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,575 คน มีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,807 คน รักษาหายแล้ว 1,766 คน และยอดผู้เสียชีวิตคงเดิม 2 คน โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 6 จังหวัดที่ ศบค.ปรับระดับพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาปรับมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับประกาศของ ศบค. เพื่อยกระดับการป้องกันควบคุมโรค โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 นี้

ขณะที่ นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่ง เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องขอให้ ศบค.ทบทวนมาตรการห้ามนั่งรับประอาหารภายในร้านของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 6 จังหวัด ที่ ศบค.ยกระดับให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม และเพิ่มมาตรกาควบคุมป้องกันโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้

นายธนิต เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่มีร้านอาหารทุกประเภท ทั้งร้านอาหารทั่วไป สตรีตฟู้ด และร้านกาแฟ มากกว่า 14,000 ร้าน มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานที่มีอยู่กว่า 80,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เชื่อว่าจะมีพนักงานอีกจำนวนมากที่จะต้องตกงานจากคำสั่งล่าสุดนี้ ซึ่งสถานการณ์โรคโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ดีขึ้นตามลำดับ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมาบรรดาร้านอาหาร ก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการป้องกันโรคและเวลาเปิดปิดให้บริการ และไม่มีรายงานว่าร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ การยกระดับให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มจึงดูไม่สมเหตุผล

“ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ร้านอาหารทุกแห่งยอดขายหายไปกว่าร้อยละ 80 แม้จะอนุญาตให้ลูกค้าซื้อกลับบ้านได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของลูกค้าส่วนใหญ่ ต้องการที่จะนั่งรับประทานอาหารในร้านมากกว่าสั่งกลับบ้าน ขณะที่การให้บริการผ่านแอปลิเคชันส่งอาหาร ก็ส่งผลทั้งกับผู้ซื้อที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มจากราคาปกติ ส่วนผู้ขายก็ต้องถูกหักเงินให้กับแอปลิเคชันเหล่านี้ การเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้จึงเพื่อวิงวอนให้ ศบค. พิจารณาทบทวน ให้ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ภายใต้มาตรการที่เคยปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการและพนักงานที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว” นายธนิต กล่าว

นางสุนิสา ธุวานนท์ ตัวแทนร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ลูกค้าแทบไม่เข้ามาที่ร้านเพราะทุกคนงดออกบ้านป้องกันติดเชื้อ การให้ร้านอาหารต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันรับส่งอาหาร ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องเสียค่าจีพีให้กับแอปลิเคชัน จนแทบไม่เหลืออะไรเลย

“ช่วงเวลานี้เรียกว่าเป็นช่วงที่ร้านอาหารหายใจอย่างรวยริน หลายร้านต้องปิดตัวลงเพราะประคองไปต่อไม่ไหว ที่เหลืออยู่ก็ยื้อสุดชีวิต เพราะยังเป็นห่วงพนักงานที่ต้องกินต้องใช้ หากภาครัฐไม่เห็นความเดือดร้อนไม่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา คาดว่าอีกหลายร้านจะทยอยปิดตัวเพิ่มมากขึ้น” นางสุนิสา กล่าว

ที่มา: ch7.com, 30/4/2564

สภาองค์การลูกจ้างฯ ประกาศผู้ใช้แรงงานติดโควิด-19 เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ประสานขอความช่วยเหลือได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดซ้ำและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง “ผู้ใช้แรงงาน” จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ทำให้ สสส. ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เรื่อง “Safety Thailand” และ “ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” เพื่อวางระบบบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพ เน้นให้แรงงานทุกคน “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย และได้รับบริการทางสุขภาพตามสิทธิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

“แรงงานทุกกลุ่มต้องมีสุขภาพดี รู้เท่าทันกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการสร้างเสริมและระบบบริการสุขภาพครอบคลุม ที่ผ่านมาพบว่า สถานประกอบการมีสิทธิสวัสดิการดูแลแรงงานไม่เหมือนกัน พบการเข้าไม่ถึงบริการของแรงงานนอกระบบ ขณะที่แรงงานขาดความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทำให้ สสส. ต้องเน้นส่งเสริมความรู้เชิงรุก ขับเคลื่อนสังคมแรงงานมีสุขภาวะดี ผ่านการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย สนับสนุนงานวิชาการด้วยการนำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง และผลกระทบต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควบคู่กับการทำสื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยมีภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานช่วยกระตุ้น หนุนเสริม” นางภรณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาองค์การลูกจ้างฯ สานพลังกับ สสส. พัฒนาต่อยอดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการป้องกันและรักษาสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้มากที่สุด ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง “ผู้ใช้แรงงาน” คือกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำอาชีพรับจ้างรายวัน แต่ละวันต้องเผชิญความเสี่ยงมากมายในชีวิต ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เผชิญกับผู้คนจำนวนมาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงได้ไม่ง่ายเหมือนคนทั่วไป สะท้อนชัดเจนว่าสิทธิสวัสดิการทางสุขภาพแรงงานจำเป็นและสำคัญ

“โควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน ปรับแนวทางการจ้างงานให้เลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้มากที่สุด แรงงานทุกคนต้องดูแลตัวเองสวมหน้ากาก 100% หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ส่วนแรงงานที่เจ็บป่วยจากโรคประจำตัว หรือติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ สามารถประสานของความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 0-2755-2165 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506” นายมนัสกล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 30/4/2564

แรงงานขอนแก่นยื่น 10 ข้อ ขอสิทธิเท่าเทียมบริการด้านสาธารณสุขช่วง COVID-19 ระบาด

30 เม.ย. 2564 นายธีรพงศ์ ประเสริฐ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจ สาขาขอนแก่น เข้ายื่นหนังสือต่อนายศรัทธา คชพลายุกต์ รอง ผวจ.ขอนแก่น เนื่องในวันกรรมกรสากล ประจำปี 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด- 19 ทำให้ในปีนี้ต้องงดจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ยังคงกิจกรรมการยื่นข้อเรียกร้อง ให้กับผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานอิสระ พบว่าต้องเผชิญกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ไม่มีความมั่นคง ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ของแรงงานไม่สอดคล้องกับการระบาดของโควิด ปีนี้ได้ยื่นข้อเสนอเร่งด่วน 10 ข้อให้ทางรัฐบาลได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดย 10บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและคนทำงานในช่วงโควิด -19 ระบาดประกอบด้วย

การเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วและเปิดโอกาสให้ผู้มีความพร้อมในการนำเข้าและฉีดวัคซีนที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากรัฐเพื่อฉีดให้แก่คนใกล้ชิดและพนักงานในสถานประกอบการของตนเองเพื่อลดภาระของรัฐ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย,การกำหนดมาตรการดูแลที่ดีพอบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข พนักงานที่ให้บริการแก่ประชาชนในการบริการสาธารณะทั้งเรื่องวัคซีน เครื่องมืออุปกรณ์ การตรวจ การป้องกัน ให้เพียงพอ,การให้ประชาชน คนทำงาน ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการบริการการตรวจโรคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม,รัฐบาลต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ในเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพราะจะเกิดประโยชน์ กับทุกคน ทุกครอบครัว และการสนับสนุนนี้ต้องเป็นงบประมาณจากรัฐมิใช่ผลักภาระให้หน่วยงานบริการ

เรื่องของการเยียวยา ช่วยเหลือ หากมีความจำเป็น ต้องเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติครอบคลุมคนยากจน คนรายได้น้อย และดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมในฐานะมนุษย์ที่มีความทุกข์ยากเหมือนกัน, ยกเลิก หรือ ลด การเก็บค่าบำรุงการศึกษา (ค่าเทอม) เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์,รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้มีราคาแพงและลงโทษกับผู้ที่ฉวยโอกาส บนความทุกข์ยากของประชาชน,รัฐต้องควบคุมการจัดการเรื่องโควิด -19 โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับขั้นตอน

นอกจากนี้ รัฐต้องหาแนวทาง สร้างมาตรการให้หน่วยงาน สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนให้รักษาการจ้างงานเอาไว้ไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือใช้สถานการณ์โควิดเลิกจ้างคนงานเพราะจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤตเพิ่มมากขึ้น และเมื่อรัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด- 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อคนทํางานที่เจ็บป่วย และในอนาคตเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการคุ้มครอง การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ค่าทดแทนให้กับคนงานที่อาจจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 30/4/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net