โจ ไบเดน จัดงบเยียวยา 2.86 หมื่นล้านเหรียญ ช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหาร-ผับบาร์ทุกประเภท

โจ ไบเดน ประกาศแผนมอบทุนฟื้นฟูร้านอาหารจำนวน 2.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทุกประเภท โดยสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้สูงสุดร้านละ 5,000,000 เหรียญสหรัฐฯ และเป็นเงินให้เปล่าไม่ต้องใช้จ่ายคืนแก่รัฐบาล ขณะที่ผู้ประกอบการไทยปิดร้านยาวแต่ไร้มาตรการเยียวยา

7 พ.ค. 2564 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติเงินจำนวน 28,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเงินที่นำมาใช้จ่ายในมาตรการเยียวยาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจเงินเยียวยา 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ไบเดนอนุมัติไปตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ไบเดน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก President Joe Biden เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงวอชิงตันดีซี ว่า "ร้านอาหารคือสถานที่ทำงานแห่งแรกของชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 และชาวอเมริกันเกินครึ่งเคยทำงานที่ร้านอาหารในช่วงหนึ่งของชีวิต นี่คืออุตสาหกรรมที่มอบโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยมากกว่าอุตสาหกรรมใดๆ นี่คืออุตสาหกรรมที่พนักงานรู้สึกเหมือนอยู่ในครอบครัว และเป็นครอบครัวจริงๆ กองทุนฟื้นฟูร้านอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อชาวอเมริกัน จะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ประกอบการร้านอาหารโดยตรง รวมถึงผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น บาร์ ร้านเบเกอรี ซุ้มขายอาหาร ฟู้ดทรัค หรือผู้ให้บริการจัดเลี้ยง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่แต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งสิ้น รัฐบาลจะจัดสรรเงินในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อชาวอเมริกันให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอีกครั้ง" พร้อมกันนี้ ไบเดน ได้แนบลิงก์เว็บไซต์สำนักบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ (SBA) ซึ่งประชาชนสามารถศึกษาหลักเกณฑ์ยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือได้ โดยแบบฟอร์มในเว็บไซต์ SBA มีให้เลือกทั้งหมด 34 ภาษา รวมภาษาไทย

 

For nearly one in three Americans, a restaurant provided their first job. More than half of all Americans have worked in...

Posted by President Joe Biden on Thursday, May 6, 2021

 

วัตถุประสงค์ของโครงการทุนเพื่อฟื้นฟูร้านอาหาร (RRF) มีไว้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยการจัดหาเงินทุนให้กับผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้อย่างมากอันเกิดจากโรคระบาดโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายเงินทุนอย่างเท่าเทียมให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่มีผู้หญิง ทหารผ่านศึก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและทางเศรษฐกิจเป็นเจ้าของ โดย SBA จะรวบรวมข้อมูลจากผู้ยื่นคำร้องทั้งหมดไปพิจารณาว่าใครมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนบ้าง

โครงการทุนเพื่อฟื้นฟูร้านอาหารจะมอบเงินช่วยเหลือสูงสุดสำหรับผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ตั้งแต่ 1,000-5,000,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสถานที่หรือสาขาของร้านอาหารนั้นๆ และผู้ประกอบการ 1 คนสามารถรับเงินช่วยเหลือรวมทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผู้ได้รับเงินจากโครงการนี้ไม่ต้องชำระเงินคืน เว้นแต่จะนำเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต และต้องใช้เงินที่ได้รับภายในวันที่ 11 มี.ค. 2566 โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือจะต้องดำเนินกิจการร้านอาหารมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 และคำนวณรายได้ของกิจการตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ SBA ยังเปิดให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ทหารผ่านศึก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจ สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนใน 21 วันแรก ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถยื่นเรื่องได้ตั้งแต่วันที่ 22 เป็นต้นไป

ด้านทำเนียบขาว แถลงเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า หลังเปิดให้ยื่นคำร้องในโครงการดังกล่าวไปได้เพียง 2 วัน มีผู้ประกอบการยื่นคำร้องเข้ามาแล้วกว่า 186,200 ราย ขณะที่กรมแรงงานของสหรัฐฯ ระบุว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ปีที่แล้ว ร้านอาหารที่ให้บริการแบบนั่งกินในร้านต้องปิดตัวลงกว่า 2,700 แห่ง และมีคนในธุรกิจร้านอาหารตกงานกว่า 1.8 ล้านคน

นโยบายเงินเยียวยา 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในมาตรการย่อยที่ไบเดนใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การมอบเงินช่วยเหลือประชาชนที่เสียภาษีทุกคนจำนวน 1,400 เหรียญสหรัฐฯ รวมใช้เงินทั้งสิ้น 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ไบเดนยังต่ออายุโครงการเยียวยาคนตกงาน และทุ่มงบจำนวนมากในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนชาวอเมริกันอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า

ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารให้สหรัฐฯ อย่าง UberEats, DoorDASH, Skip the Dishes และ D.C. To-GoGo ต่างน้อมรับมาตรการของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีคำสั่งให้ลดส่วนแบ่งค่าอาหารจากทางร้านเหลือไม่เกิน 15% จากเดิมที่สามารถเรียกเก็บส่วนแบ่งสูงสุดที่ 30% โดยรัฐโอเรกอน วอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก เท็กซัส และกรุงวอชิงตันดีซี เริ่มบังคับใช้ข้อกำหนดนี้เป็นที่เรียบร้อย

ผู้ประกอบการร้านอาหารในไทยไร้การเยียวยา

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงภาพยนตร์ ผับบาร์ ร้านคาราโอเกะ ต้องปิดกิจการอีกครั้งตามคำสั่งของรัฐบาลและผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากคลัสเตอร์ผับทองหล่อ ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือใดๆ จากมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการหลายรายออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เช่น มารุต ชุ่มขุนทด เจ้าของร้านกาแฟ 'คลาส คาเฟ่' ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง ที่เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหอการค้าประจำจังหวัดเร่งหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรีกับธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ เพราะค่าใช้จ่ายการเช่าแพลตฟอร์มและค่าเช่าร้านนั้นคิดเป็นกว่า 60% ของต้นทุน ยังไม่รวมค่าแรงพนักงานและค่าวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบการแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ไหวในสถานการณ์เช่นนี้

มารุต ชุ่มขุนทด โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ
(บันทึกภาพหน้าจอเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลา 22.46 น.)

 

ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Tira Titathakosol เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น 'ปลื้มสุโก้ย' โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตนในฐานะเจ้าของร้านอาหารขนาดเล็กที่พึ่งพาแพลตฟอร์มเดลิเวอรีต่างชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการเค่าแพลตฟอร์มสูงถึง 30-35% จากราคาอาหารที่ปรากฏในแพลฟอร์มเหล่านั้น ซึ่งในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ไม่สามารถเปิดให้นั่งกินในร้านได้ ตนยิ่งต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ทางร้านกลับไม่ได้กำไร เพราะส่วนแบ่งกำไรเกือบทั้งหมดไปตกอยู่ที่เจ้าของแพลตฟอร์ม จึงร้องขอให้เจ้าของแพลตฟอร์มเห็นใจผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ และหากมีกฎหมายควบคุมส่วนแบ่งการค้าที่เป็นธรรมอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

โพสต์เฟซบุ๊กของ Tira Titathakosol (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลา 22.33 น.)

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวมติชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ยอดขายของร้านอาหารลดลงกว่า 70% หลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ตนจึงต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติม เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมาตรการที่ผ่านมาของรัฐบาล โดยความช่วยเหลือที่กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารต้องการ คือ การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการยืดเวลาชำระภาษีรายได้ และภาษีอื่นๆ ที่ใกล้จะครบกำหนดชำระ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐช่วยสมทบเงินชดเชยเงินประกันสังคมแก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราว พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำให้รัฐบาลนำเข้าและกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศอย่างครอบคลุมและทั่วถึงจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้ เพราะหากยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ความเสี่ยงในการระบาดไวรัสและสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายภาคส่วน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมเศรษฐกิจด้วย

ด้าน ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย​​ กล่าวว่า ประชาชน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ต้องรับกรรมจากการระบาดโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มชนชั้นนำ โดยไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะคนทำงานกลางคืน พนักงานผับ บาร์ และนักดนตรีจำนวนมากที่ขาดรายได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ตนจึงอยากให้รัฐบาลนำข้อมูลจากการระบาดทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้ามาจัดทำกรอบการเยียวยาและจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารในหลายจังหวัด ที่ขอให้ภาครัฐทบทวนคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน เพราะเมื่อไม่ได้มีคำสั่งล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ ประชาชนยังต้องออกมาใช้ชีวิต ซึ่ง ชนินทร์ กล่าวว่า การจัดพื้นที่นั่งรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทสะดวก และทำตามมาตรการเว้นระยะห่าง น่าจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประชาชนมากกว่า

ที่มา:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท