คุยกับ 3 แอดมินขนมหวาน เจ้าของแอคฯ ‘No Salim Shopping List’ ผู้สนับสนุนสินค้าประชาธิปไตย

รายงานสัมภาษณ์ทีมแอดมินประจำทวิตเตอร์ ‘No Salim Shopping List’ ผู้รวบรวมข้อมูลสินค้าประชาธิปไตย และส่งเสริมค่านิยมการบริโภคแบบใหม่ให้คนบนโลกออนไลน์ พร้อมวิเคราะห์ทิศทางเรื่องการเมืองในอนาคตบนสังคมทวิตเตอร์

ผู้ที่ใช้งานทวิตเตอร์เป็นประจำ คงคุ้นชื่อหรือเคยเห็นทวีตของแอคเคานต์ ‘No Salim Shopping List’ (@NoSalimList) ผ่านตาบ้าง ด้วยรูปแบบการนำเสนอข้อมูลและเนื้อหาที่ชัดเจน ตามคำอธิบายสั้นๆ ที่ปรากฏบนหน้าโปรไฟล์ (bio) ว่า #ร้านนี้ปลอดเชื้อสลิ่ม ก็พอจะทำให้ทราบแล้วว่าแอคเคานต์นี้มีจุดยืนในการฝากร้านอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงชวนเปียกปูน ลอดช่อง และบัวลอย (นามสมมติ) 3 แอดมินผู้อยู่เบื้องหลังคลังข้อมูลสินค้าประชาธิปไตยมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปในการตัดสินใจผลิตเนื้อหา พร้อมเปิดมุมมองด้านการเมือง รวมถึงวิเคราะห์พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต

จุดเริ่มต้น No Salim Shopping List

เปียกปูน: ต้องย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว (2563) ที่มีกระแส #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ในทวิตเตอร์ เราเห็นพลังของคนในทวิตที่ช่วยกันดันแฮชแท็ก มีคนรวบรวมรายชื่อสปอนเซอร์ออกมากางให้ดู มีคนส่งข้อความไปถามแบรนด์สินค้าตรงๆ ในอินบอกซ์ (inbox) ว่าสนับสนุนสื่อแบบนี้เหรอ ขอให้แสดงจุดยืนออกมา ผลก็คือการกดดันของผู้บริโภค ทำให้แบรนด์สินค้าจำนวนไม่น้อยต้องออกแถลงการณ์ถอนสปอนเซอร์ออกจากช่องเนชั่นทีวี

บัวลอย: พอเกิดกระแส #แบนสปอนเซอร์เนชั่น แล้วมีคนรวบรวมสปอนเซอร์กัน เราก็เห็นคนบ่นเต็มหน้าไทม์ไลน์เลยว่า ‘นู้นก็กินไม่ได้’ ‘นี่ก็ไม่ได้ ไม่รู้จะกินอะไรแล้ว’ แต่ในความคิดเราคือผู้บริโภคยังมีตัวเลือกอีกเยอะ เดี๋ยวเราจะมาช่วยรวบรวมตัวเลือกให้เองว่าอะไรกินได้บ้าง เลยทำให้เราสร้างแอคเคานต์ No Salim Shopping List ขึ้นมา คอนเซปต์สั้นๆ ก็คือ ‘เป็นรายการสินค้าของผู้รักประชาธิปไตย’ โดยเราจะรวบรวมตัวเลือกสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย #ป่ารอยต่อ ไม่ได้เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่ม กปปส. และไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนให้สื่อที่นำเสนอข้อมูลบิดเบือน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค และเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ค้ารายย่อย โดยที่การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้านั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริโภคเอง

ข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ เปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ

ลอดช่อง: เอาข้อดีก่อนละกัน สังคมทวิตเตอร์มีคนอยู่ในการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเยอะกว่า ด้วยช่วงอายุและความสนใจของผู้ใช้ ทำให้สื่อสารกันง่ายกว่า มีความเปิดกว้าง เพราะความเป็นนิรนาม (anonymous) ทำให้กล้าพูดอะไรที่อาจจะพูดไม่ได้ในชีวิตจริง และทำให้ดูที่ความคิดคนเป็นหลัก เช่น ปกติในชีวิตจริงคนก็จะเคารพหมอ หมอพูดอะไรก็เชื่อหมอ แต่ในโลกทวิตเตอร์เราก็เห็นแล้วว่า หมอก็อาจจะไม่ได้พูดถูกเสมอไป

บัวลอย: ความเป็นนิรนามทำให้มีเหยี่ยวข่าว หรือ ‘นาตาชา’ คนพวกนี้ก็จะกล้าเล่าข้อมูลวงในที่เขามี ส่วนข้อเสียก็คือความเป็นนิรนามด้วยเช่นกัน ที่ทำให้คนกล้าด่ากันง่ายขึ้น หรือการใช้คำพูดต่อแอดมิน คนก็มักจะไม่ได้มองว่าเบื้องหลังแอคเคานต์นี้คือคนจริงๆ ที่ต้องนั่งอ่านคำพูดพวกนั้น แต่ทั้งนี้ เรามองว่า จุดเด่นของทวิตเตอร์ คือ ระบบแฮชแท็ก ที่ทำให้ข้อมูลไปได้ไว แต่ทวิตเตอร์มันแก้ไขข้อความไม่ได้เลย ถ้าจะแก้ต้องใช้ฟังก์ชันรีพลาย (reply) หรือลบทวีตแล้วลงใหม่ ซึ่งข้อมูลเดิมมันแพร่ไปเป็นวงกว้างแล้ว ส่วนในแง่การจัดการเนื้อหา ทวิตเตอร์ไม่สามารถรวบรวมอัลบั้มหรือจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นระเบียบ เหมือนที่ทำได้ในเฟซบุ๊ก ข้อจำกัดอีกเรื่องหนึ่ง คือ ทวิตเตอร์ไม่สามารถเข้าถึงคนเจเนอเรชัน (generation) อื่นๆ เช่น Gen X หรือ Boomers ได้มากเท่าไร

No Salim Shopping List เป็นที่รู้จักในทวิตภพเพราะ...

บัวลอย: ตั้งแต่ทวีตแรกเลย ที่เป็นอินโฟกราฟิกรวบรวมยี่ห้อน้ำดื่ม ยอดผู้ติดตาม (follower) ขึ้นไวมาก ประมาณ 10,000 คน ตั้งแต่อาทิตย์แรก

 

 

ขั้นตอนการ ‘ตรวจสอบสินค้า’ ของทีมแอดมิน

บัวลอย: ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ขั้นแรก เราจะดูว่าสินค้านั้นอยู่ภายใต้บริษัทไหน ทั้งบริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่าย เราก็เอาชื่อบริษัทไปตรวจสอบตามฐานข้อมูลเปิด (open data) ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว ดูว่าอยู่ในเครือข่ายมูลนิธิป่ารอยต่อไหม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คณะกรรมการหรือผู้บริหาร มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เป็นท่อน้ำเลี้ยง กปปส.ไหม ดูว่าเป็น #นายทุนหนุนคิง หรือเปล่า ประมาณนี้ ต่อมาสเต็ปที่ 2 เราจะดูว่าสินค้านั้นมีใครเป็นพรีเซนเตอร์ จุดยืนทางการเมืองของพรีเซนเตอร์เป็นอย่างไร

 

 

ลอดช่อง: ส่วนสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์รายการ เราก็แค่เข้าไปดูรายการพวกนั้น แล้วเอามาข้อมูลกางดูว่ามีสินค้าไหนบ้าง ตัวอย่างเช่น รายการที่พิธีกรมีความเห็นสนับสนุนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รายการที่ปรากฏพฤติกรรมคุกคามทางเพศ (Sexual harassment) หรือทัศนคติเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อะไรพวกนี้มันก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้นะ ในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งถ้าสปอนเซอร์เลือกจะสนับสนุนรายการแบบนี้ ผู้บริโภคก็มีสิทธิตัดสินใจได้เหมือนกัน

 

 

บัวลอย: แอคเคานต์ No Salim Shopping List เราไม่ได้ดูแค่ว่าสินค้านี้สลิ่มหรือไม่สลิ่ม แต่เรายังดูไปถึงมิติอื่นๆ เช่น ประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความเป็นธรรมกับแรงงาน เป็นต้น

เปียกปูน: เรื่องการเมืองมันไม่ใช่แค่จุดยืนว่าคุณอยู่ฝั่งไหน แต่มันคือวิธีคิด วิธีการมองโลก ทุกเรื่องมันคือการเมือง ถ้าคุณบอกคุณอยู่ฝั่งประชาธิปไตย แต่ธุรกิจของคุณมีประเด็นเรื่องการจ้างงานไม่เป็นธรรม อันนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราอยากได้

หลังทำหน้าที่ 'แอดมิน' ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ลอดช่อง: เป็นคนสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว บวกกับกำลังค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร บริษัทที่เคยทำอยู่ก็ค่อนข้างมีสภาพแวดล้อมเป็นพิษ แนวคิดก็ไม่สอดคล้องกับเรา พอได้มาทำตรงนี้ก็รู้สึกว่าใช่ เลยตัดสินใจมาทำตรงนี้แบบเต็มเวลาแทนงานที่เคยทำอยู่ ถึงแม้จะชอบ แต่การมานั่งมอนิเตอร์ ดูแลแอคเคานต์นี้ตลอดเวลาก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจอยู่ดี คนทั่วไปที่เล่นทวิตเตอร์ยังต้องทำทวิตเตอร์ดีท็อกซ์เลย (หยุดใช้งานชั่วคราว) เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างกดดันและเครียดมาก เจอทั้งการจิกกัด ส่งข้อความหลังไมค์มาข่มขู่จากหลายฝ่ายจนถึงขั้นโดนแจ้งความ ถึงแม้จะเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่พออยู่ในประเทศนี้ก็ทำให้เรากังวลถึงความปลอดภัยมากเหมือนกัน

เปียกปูน: พอเราเป็นคนหาข้อมูล เราก็ได้รู้จุดยืนบริษัทต่างๆ ไปพร้อมๆ กับผู้ติดตามเช่นเดียวกัน แอดมินเองก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น พยายามอุดหนุนผู้ค้ารายย่อยให้ได้มากที่สุด หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะทำทุกทางให้เงินเข้ากระเป๋าเผด็จการน้อยที่สุด ก็คือซื้อของตามลิสต์ที่เราทำเองเนี่ยแหละ

 

 

พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา

บัวลอย: พลังของทวิตเตอร์ มันส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ทั้งการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน หรือการกดดันสปอนเซอร์รายการทีวี ซึ่งก็เป็นผลจากการที่คนทุกคนช่วยกันรีทวีต ช่วยกันดันแฮชแท็ก ทำให้บริษัทต้องออกมาแสดงจุดยืน ทั้งการออกแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่งตัวแทนทีมการตลาดหรือแอดมินโซเชียลมีเดียของสินค้ามาสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง หรือกระทั่งเจ้าของธุรกิจบางท่านก็มาพูดคุยหลังไมค์กับเราด้วยตัวเอง นี่เป็นสัญญาณที่ดีมากๆ ที่เราเห็นแล้วเราดีใจ

เปียกปูน: มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะเลี่ยงสินค้าชนิดนี้ได้ยังไง จะใช้ยี่ห้อไหนแทน ซึ่งมันไม่ได้ผุดขึ้นมาแค่ในโลกออนไลน์แล้วดับไป แต่มันหมายถึงความยินดีที่จะปรับพฤติกรรมการซื้อ เราเห็นแฮชแท็กที่น่ารักอย่าง #ตลาดสดวันนี้ #อร่อยได้ไม่เข้าห้าง ที่คนจะมาเล่าว่าตลาดในละแวกบ้านตัวเองมีอะไรบ้าง หรือเมื่อมีแฮชแท็กแบนอาหารประเภทหนึ่ง ก็จะมีชาวทวิตเตอร์เข้ามาแนะนำร้านของรายย่อย มาแจกสูตรให้ทำกินเอง นี่คือพลังของคนที่ยอมที่จะสู้กับความเคยชินของตัวเอง เพื่อไม่ให้เงินตกไปถึงหน่วยงานหรือองค์กรไหนก็ตามที่เป็นแขนขาให้กับเผด็จการ เป็นการสู้โดยเริ่มที่ตัวเอง โดยปัจเจกชนตัวเล็กๆ ที่มาร่วมกันทำ

ลอดช่อง: การที่รัฐต้องการจะออก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่เน้นปกปิดข้อมูล ก็ชัดเจนมากว่าเขาไม่อยากให้คนตื่นรู้ แต่คนตื่นแล้วไง และที่คนตื่นเยอะขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากข้อมูลในทวิตเตอร์

 

 

อนาคตของทวิตเตอร์กับเรื่องการเมือง

บัวลอย: พูดถึงฟีเจอร์ใหม่ของทวิตเตอร์ละกัน ก็คือ สเปซ (space) ที่จะเป็นการแชตด้วยเสียง คล้ายๆ ห้องสัมมนารวม แนวโน้มในเร็วๆ นี้เราก็อาจจะมีการพูดคุยในรูปแบบเสียงในทวิตเตอร์ ส่วนถ้าเป็นในเชิงกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็อาจจะมีผลกับเพดานเสรีภาพในการถกเถียงประเด็นต่างๆ

ลอดช่อง: สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ คนสนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่ในไทย อย่างการเกิดขึ้นของ Milk Tea Alliance หรือพันธมิตรชานม เรามองว่าในอนาคต ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยในภูมิภาคจะมีความเหนียวแน่นกันมากขึ้น เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ว่าจะในแง่มุมไหน เราและประเทศ สามารถส่งพลังและเรียนรู้ได้จากกันและกัน Milk Tea Alliance ก็มีโอกาสพัฒนาไปถึงการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นแอคเคานต์ No Salim Shopping List เราจะไม่หยุดแค่ภาษาไทยแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท