Skip to main content
sharethis

จรวดอวกาศสัญชาติจีนขนาดใหญ่ ลองมาร์ช 5 บี (CZ-5B) สูญเสียการควบคุมและมีโอกาสตกลงมายังพื้นโลก ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอาจตกลงมาภายใน 2-3 วันนี้ และเป็นครั้งที่ 2 ของปีที่จรวดจีนสูญเสียการควบคุม โดยยังไม่สามารถประเมินได้ว่าชิ้นส่วนที่เหลือของจรวดจะตกที่ใด

พ.ค. 2564 จรวดสัญชาติจีนที่ส่งขึ้นอวกาศขาดการควบคุมและมีโอกาศที่จะตกลงมาบนโลก โดยยังไม่มีใครประเมินได้ว่าจะตกลงที่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า จรวดอาจจะตกสู่โลกในรูปแบบของลูกบอลเพลิงประมาณสัปดาห์หน้า และนับเป็นครั้งที่ 2 ของปีที่จรวจสัญชาติจีนสูญเสียการควบคุม

จรวดดังกล่าว คือ จรวดลองมาร์ช 5 บี มีน้ำหนักประมาณ 21,000 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นไปในอวกาศเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 เพื่อลำเลียงชิ้นส่วนหลักที่จะใช้สร้างสถานีอวกาศจีนไปลอยไว้ในวิถีโคจรของโลก อย่างไรก็ตาม จรวดนี้สูญเสียการควบคุมในเวลาต่อมา และกำลังหมุนวนอยู่รอบโลก ห่างจากพื้นดินด้วยความสูง 300 กิโลเมตร

เว็บไซต์สำรวจวงโคจรของวัตถุที่โคจรรอบโลก orbit.ing-now.com ระบุว่า วัตถุนี้ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงในการตกลงมาจากความสูงเดิม 30 กิโลเมตร จากการเข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 22.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย) พบว่าจรวดนี้อยู่ห่างจากพื้นโลกสูงประมาณ 180-190 กิโลเมตร แล้ว

แอโรสเปซคอร์เปอเรชัน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า จรวดของจีนมีโอกาสตกถึงพื้นโลกประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 9 พ.ค. 2564 ตามเวลาประเทศไทย โดยอาจคาดเคลื่อนประมาณ 1-2 วัน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านอวกาศของทางการสหรัฐฯ ประเมินว่า จรวดจะตกถึงพื้นโลกก่อนหน้านั้น คือ ประมาณวันที่ 9 พ.ค. 2564 ตามเวลาประเทศนิวซีแลนด์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไมค์ โฮวาร์ด กล่าวว่า กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ติดตามการโคจรของจรวดลองมาร์ช 5 บี โดยยังต้องรอให้จรวดโคจรมาถึงจุดที่จะผ่านชั้นบรรยากาศได้เสียก่อน จึงจะสามารถระบุเวลาตกอย่างชัดเจนได้

ด้านรอสคอสมอส องค์การอวกาศของรัสเซีย ประเมินวันที่จรวดจะตกไว้ในช่วงระหว่าง 08.00 น. ของวันที่ 8 พ.ค. 2564 ถึง 03.00 น. ของวันที่ 10 พ.ค. 2564 ตามเวลาประเทศไทย

แม้จรวดโดยส่วนใหญ่ที่ลำเลียงวัตถุไปยังวงโคจรโลกจะแยกลำออกก่อนที่จะขึ้นสูงเกินไป เพื่อให้สามารถตกถึงพื้นโลกในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างปลอดภัย แต่จรวดลองมาร์ชของจีนไม่เป็นเช่นนั้น และเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือน เม.ย. 2563 ตัวจรวดลุกเป็นไฟก่อนตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แต่ยังมีชิ้นส่วนจรวดบางส่วนตกอยู่บนพื้นดินและพื้นน้ำในหมู่บ้านหลายแห่งของประเทศโกตดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากชิ้นส่วนเหล่านี้

การคำนวนว่าชิ้นส่วนของจรวดเหล่านี้จะตกลงมายังที่ต่างๆ ตอนไหนบ้างเป็นเรื่องยาก เพราะต้องคำนวนจากความเร็ว, ขนาด, สภาพอากาศ รวมถึงความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศ

จรวดลองมาร์ช 5 บี หรือ CZ-5B นี้มีความยาว 30 เมตร กว้าง 5 เมตร โฮลเกอร์ แครก ประธานโครงการความปลอดภัยทางอวกาศของสำนักงานอวกาศยุโรป ประเมินว่าชิ้นส่วนของจรวดร้อยละ 20-40 จะผ่านชั้นบรรยากาศมาได้โดยที่ไม่ได้เผาไหม้

นอกจากนิวซีแลนด์แล้วจรวด CZ-5B ยังจะโคจรผ่านส่วนต่างๆ ของโลก อย่างตอนใต้ของทวีปยุโรป, ออสเตรเลีย, อินเดีย, สหรัฐฯ, แอฟริกาตอนใต้, คิวบา, บราซิล, ฟิลิปปินส์, เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, อาร์เจนตินา, มาดากัสการ์, จีน, ปาปัวนิวกินี, อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งจะโคจรรอบโลกครบหนึ่งครั้งในทุกๆ 90 นาที

ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีชิ้นส่วนจากวงโคจรตกลงมายังโลกหลายครั้ง ในปี 2522 มีชิ้นส่วนของสถานีอวกาศสหรัฐฯ สกายแล็บตกลงมาที่โลก ในตอนนั้นนาซาสามารถควบคุมการตกของชิ้นส่วนได้สำเร็จเป็นบางส่วน โดยพยายามทำให้ตกในมหาสมุทรอินเดีย ห่างไกลจากที่ที่มีคนอยู่ แต่ก็มีบางส่วนไปตกที่ออสเตรเลียตะวันตก

ขณะที่ชิ้นส่วนอวกาศจากโครงการอวกาศของจีน มีกรณีการตกมาสู่โลกโดยไม่สามารถควบคุมได้หลายครั้ง เช่นกรณีในปี 2561 ที่สถานีอวกาศขนาดเล็กของจีน "เทียนกง" ตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับตาฮิติ

หนึ่งในกรณีที่ก่อวินาศภัยให้กับผู้คน คือกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2539 เมื่อจรวดลองมาร์ช 3 บี ของจีน ที่ใช้ลำเลียงดาวเทียมอินเทลแซต 708 เกิดผิดพลาดในการปล่อยจรวดจากศูนย์ชีชางในจีน ส่งผลให้จรวดหลุดออกนอกเส้นทางโดยทันทีหลังการเริ่มปล่อย แล้วพุ่งเข้าใส่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงศูนย์ดังกล่าวจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 รายจากตัวเลขของทางการ แต่ก็มีคนประเมินว่าตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านั้น

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net