รัฐบาล NUG ของพม่า ตั้งกองกำลังพลเรือน-อองซานซูจีขาดสิทธิ์พบทนาย คดีความลับราชการ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักการเมืองฝ่ายพลเรือน แถลงเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ระบุว่า พวกเขาจะตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน เพื่อปกป้องผู้สนับสนุนจากการโจมตี และความรุนแรงที่มีกองทัพเป็นผู้ก่อการ

ด้านทนายความของอองซานซูจี ร้องศาลแขวงตะวันออกในย่างกุ้ง ขอสิทธิ์พบลูกความ ไม่งั้นกระบวนการศาลดำเนินต่อไปไม่ได้ หลังอองซานซูจีถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืนกฎหมายความลับราชการ อาจถูกจำคุกสูงถึง 14 ปี

คณะ ครม. ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG
 

6 พ.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG โพสต์วิดีโอเมื่อ 5 พ.ค. 2564 ดูหว่า ละชิละ รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาล NUG อ่านแถลงการณ์ก่อตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF เพื่อปกป้องประชาชนจากการโจมตีและความรุนแรงที่มีกองทัพเป็นผู้ก่อการ

นับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD มีผู้นำพรรคคือ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ประชาชนพม่าลงถนนมาประท้วงเป็นรายวัน ขณะที่กองทัพเลือกใช้ปฏิบัติขั้นรุนแรงในการปราบผู้ประท้วง จนยอดผู้ประท้วงเสียชีวิตในปัจจุบันพุ่งทะลุเพดานไปมากกว่า 760 รายในเวลา 3 เดือน 

NUG อธิบายว่า กองกำลังกลุ่มใหม่นี้ถือเป็นขั้นเริ่มแรกของการตั้งกองทัพสหพันธรัฐ ซึ่งมีพันธกิจเพื่อหยุดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ และรับมือการโจมตีและความรุนแรงที่ก่อการโดยสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากกองทัพพม่า  

รัฐบาลเอกภาพ ก่อตั้งเมื่อเดือน เม.ย. โดยนักการเมืองจากพรรค NLD นักกิจกรรมรุ่นใหม่ และ ส.ส.ชาติพันธุ์ พวกเขาให้คำมั่นว่าจะหยุดยั้งความรุนแรง ฟื้นฟูประชาธิปไตย และสถาปนาระบอบ “สหพันรัฐ” อย่างแท้จริง  

ขณะที่กลุ่มที่ให้การสนับสนุน NUG คือ กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU หนึ่งในกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่พม่า โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา กองพลน้อยที่ 5 แห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง (KIC) ระบุว่า ทหารของ KNLA ปลิดชีวิตทหารของพม่าไปทั้งสิ้น 194 ราย หลังแนวรบฝั่งตะวันออกของพม่ากลับมาปะทุอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.64

นักกิจกรรมการเมืองจากเมืองมัณฑะเลย์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า เขากำลังวางแผนเข้าร่วมกองกำลังสหพันธรัฐ เพื่อช่วยสู้รบกับกองทัพพม่า และเครือข่ายนักกิจกรรมหลายคนเดินทางไปฝึกฝนยุทธวิธีการรบในป่า

กองทัพปกครองพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ถึงปี ค.ศ.2011 ก่อนจะเริ่มนำประเทศเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และปฏิรูปทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ สมัยประธานาธิบดี เตงเส่ง 

แต่ความฝันนี้ต้องหยุดลง หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.64 สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชน ซึ่งไม่ต้องการไปสู่ยุครัฐบาลทหารอีกต่อไปแล้ว 

กองทัพพม่า หรือทัตมาดอ ถือเป็นกองทัพที่มากพร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ และมีประสบการณ์สู้รบอย่างโชกโชน 

ทั้งที่ทราบชื่อเสียงของกองทัพพม่า แต่ผู้ต่อต้านรัฐประหาร ก็ยังหาช่องทางตอบโต้ โดยใช้เพียงอาวุธพื้น ๆ ที่สามารถหา หรือประดิษฐ์ขึ้นมาเองได้ ขณะที่อีกหลายคนเลือกไปฝึกฝนกับนักสู้มืออาชีพของกำลังชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีประวัติศาสตร์ขับเคี่ยวกับกองทัพพม่ามาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

กองทัพพม่าอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องยึดอำนาจ เพราะพรรค NLD ทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เลือกจะเมินเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น 

ทนายของอองซานซูจี ระบุกระบวนการศาลไปต่อไม่ได้ หากขาดสิทธิ์พบลูกความ

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ทนายความของอองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อปนะชาธิปไตย หรือ NLD ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงตะวันออกในย่างกุ้ง เพื่อขอพบลูกความ ไม่งั้นไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้

อองซานซูจี ขณะนี้ถูกควบคุมตัวในบ้านพัก จากแฟ้มภาพ

สืบเนื่องช่วงปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา อองซานซูจี พร้อมด้วยที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวออสเตรเลีย ชอน เทอร์เนลล์ พร้อมด้วยสมาชิกคณะรัฐมนตรีอีก 3 คน ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี 

ขณะที่คณะรัฐมนตรีจากพรรค NLD ที่ถูกตั้งข้อหานี้ ประกอบด้วย โซวิน  อดีต รมต.กระทรวงวางแผนและเศรษฐกิจ จ่อวิน  อดีต รมต.กระทรวงเดียวกัน คนก่อนหน้าโซวิน และเซตอ่อง รมช.กระทรวงวางแผนฯ โดยละเมิดมาตรา 3(1)(c)/9 ว่าด้วย ครอบครอง เก็บรวบรวม บันทึก ตีพิมพ์ หรือเผยแพร่ข้อมูลรัฐที่เป็นประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม ให้กับศัตรู  

ซานมาลาญุน ทนายความของอองซานซูจี และเซตอ่อง กล่าวถึงคดีของ เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาของอองซานซูจี ก่อนที่จะถูกทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดหลักของคดีนี้ 

ซานมาลาณุน กล่าวด้วยว่า เธอไม่เห็นอองซานซูจี และเซตอ่อง ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งผู้พิพากษาแจ้งว่า อองซานซูจีต้องการสิทธิ์พบทนายความของเธอ

“เราส่งให้ผู้พิพากษาพิจารณาคำร้องไปแล้ววันนี้ เพื่อขอสิทธิ์ให้ทนายพบผู้ต้องหา ...ฉันไม่เห็นทนายความว่าความให้ชอน และไม่แน่ใจว่าเขาจ้างทนายความหรือไม่” ซานมาลาญุน ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now 

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาจะตัดสินใจเรื่องคำร้องในการพิจารณาคดีคราวหน้า วันที่ 20 พ.ค.64 

“เราสามารถทำคดีต่อได้หลังจากที่ทนายความและลูกความได้เจอกันต่อหน้าแล้วเท่านั้น มันต้องอิงไปตามกระบวนการศาล” ซานมาลาญุน กล่าวย้ำ

ขณะนี้ อองซานซูจี อายุ 75 ปี ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คดี โดย 5 คดีที่กรุงเนปยีดอ และอีก 1 คดีในนครย่างกุ้ง และถูกศาลตัดสินจำคุก 26 ปี 

นอกจากข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความลับราชการแล้ว เธอยังถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายนำเข้าและส่งออก จากการนำเข้าวิทยุสื่อสาร กฎหมายยุยงปลุกปั่น และกฎหมายโทรคมนาคม 

เผด็จการกองทัพพม่าดำเนินคดีอองซานซูจี เพิ่มอีก 2 ข้อหา ฐานละเมิดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท