Skip to main content
sharethis

ผู้ลี้ภัยกว่า 3,000 คนจากรัฐกะเหรี่ยง ประสบวิกฤติจากการขาดแคลนอาหาร วัสดุทำที่พักไม่เพียงพอ และเจ็บป่วยจากฝนที่ตกกระหน่ำ ด้านภาคประชาชน-UNHCR หารือกับ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัย ทางจังหวัดแจงจะเข้าช่วยเหลือได้ต่อเมื่อฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลผู้ลี้ภัย ร้องขอ

ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 30 เม.ย.64
 

7 พ.ค.64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ระบุว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) บริเวณชายแดนไทยริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านที่อพยพหนีภัยการสู้รบข้ามมาฝั่งไทยและพักอยู่ริมแม่น้ำสาละวินราว 3,000 คน แม้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา กองทัพพม่าไม่ได้ส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีทหารกะเหรี่ยง แต่ยังส่งเครื่องบินตรวจการและโดรนเข้ามาสอดแนม ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดกลัว และไม่กล้ากลับหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกอย่างหนักและพายุลมแรงได้เพิ่มความยากลำบากให้ชาวบ้านมากขึ้นทุกวัน เพราะนอกจากขาดแคลนข้าวปลาอาหารแล้ว ยังทำให้เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ประสบปัญหาสุขภาพและป่วยไข้จำนวนมาก เนื่องจากหลังคาเพิงพักที่ทำจากผ้าใบไม่เพียงพอ และไม่สามารถป้องกันฝนได้ดีเท่าที่ควร

ชาวบ้านรายหนึ่งที่หนีภัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวินในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง โดยเดินทางมากจากหมู่บ้านในตำบลบือโต่ จ.มือตรอ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ จ.ผาปูน แต่ไม่สามารถข้ามมาฝั่งไทยได้ เนื่องจากทหารไทยไม่อนุญาต กล่าวว่า ตนเองก็ยังพออดทนอยู่ได้  แต่สถานการณ์การโจมตีโดยเครื่องบินของทหารพม่าต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันก่อนหน้านี้ ทำให้นึกอะไรไม่ออกแล้วว่าจะทำยังไง ชาวบ้านต้องพากันหลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้ในป่า ตามถ้ำ และซอกลำห้วย มีเด็กเล็กก็หนีมาด้วยหลายคน กลัวว่าจะพากันตายกันหมด เพราะอาหารการกินไม่เพียงพอและคิดไม่ออกว่าจะอยู่กันอย่างไร

“การที่ศัตรู (ทหารพม่า) ทำแบบนี้เด็กเราไม่ได้กินอาหารเลย พืชผล บ้านเรือนเสียหายหมด ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีพื้นที่ให้อยู่เลย จึงต้องมาอยู่ในร่องลำห้วยหนีระเบิดแบบนี้”ชาวบ้านรายนี้ กล่าว

เขากล่าวว่า ความต้องการของชาวบ้าน มีทั้งอาหาร หม้อ จาน ผ้าเต็นท์คลุมหลังคา เราก็อยากเจอประสานกับคนที่จะมาช่วยเรา ตอนนี้เรายังไม่ได้พบ ความกังวลตอนนี้ คือ กลัวจะอดตาย หนาวตาย ทหารพม่ามายิงระเบิดทั้งกลางวันและกลางคืน เราทนไม่ไหวแล้ว รู้สึกกังวล ฝนก็ตกหนัก กลัวจนมือสั่นหมด อยากให้ช่วยเหลือลูกหลานเราด้วย

ผวจ.แม่ฮ่องสอน แจง จะเข้าช่วยเหลือได้ ต้องรอฝ่ายความมั่นคงส่งมา 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิสถานะบุคคล จ.แม่ฮ่องสอน เข้าพบนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) แม่ฮ่องสอน เพื่อหารือสถานการณ์ผู้หนีภัยจากการสู้รบ บริเวณชายแดนแม่น้ำสาละวิน และแนวทางในการชาวยเหลือ โดยสิธิชัย ชี้แจงว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังอยู่ในความดูแลของฝ่ายความมั่นคง และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใต้การดูแลกองกำลังนเรศวร อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดก็ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือหากทางฝ่ายความมั่นคงได้ร้องขอมา แต่เวลานี้จังหวัดยังไม่ได้รับการส่งมอบจากฝ่ายความมั่นคง จึงยังไม่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ หากฝ่ายทหารมอบหมายมา ก็พร้อมจะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยยึดหลักสำคัญ  คือ

1.เอกราช อธิปไตย ใครจะล่วงละเมิดมิได้ 2.เราจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายฝ่ายหนึ่งไม่ได้

3.จะช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมทุกกลุ่ม ทุกคน เท่าเทียมกัน

การประชุม NGO กับ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)
 

ทั้งนี้ ในวงหารือทางฝ่ายทหาร ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงยังไม่เปิดเส้นในการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือโดยเฉพาะเส้นทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิธิชัยจะแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเชื่อมประสานข้อมูลและแนวทางการให้ความช่วยเหลือร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคง และคณะทำงานภาคประชาสังคม

UNHCR พบ ผวจ.แม่ฮ่องสอน เตรียมความพร้อมช่วยผู้ลี้ภัย

ขณะเดียวกัน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ติดตามและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง เหตุการณ์แนวรบตะวันออกของพม่ากลับมาปะทุ โพสต์ว่า ผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย

แม้การโจมตีทางอากาศอย่างหนักในช่วงปลาย เม.ย. จะห่างหายไป ด้วยเหตุที่กองทัพพม่าหันไปให้ความสำคัญกับรัฐคะฉิ่น ปฏิบัติการทางทหารใน จ.มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ก็มิได้ถูกยกเลิก โดยเฉพาะเมื่อกองทัพพม่าเรียกกำลังเสริมจากทหารกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) จำนวน 500 นายเข้ามาในเขต จ.ตะโถ่ง (กองพลที่ 1) มีพื้นที่ต่อเนื่องถึง จ.มือตรอ

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง (KIC) ระบุว่า นับแต่ 27 มี.ค. เป็นต้นมา มีการโจมตีทางอากาศ (ทิ้งระเบิด และกราดยิง) รวม 27 ครั้ง ทิ้งระเบิดไปอย่างน้อย 47 ลูก ปะทะกันระหว่างทหาร 407 ครั้ง และยิงปืนใหญ่เข้าชุมชน 575 ครั้ง นอกจากบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลจะเสียหายแล้ว ยังมีพลเรือนไร้อาวุธเสียชีวิต “โดยตรง” 14 คน บาดเจ็บ 28 คน

นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากผลพวงของสงคราม และการพลัดถิ่นฐาน ไม่ทราบจำนวน เนื่องจากความหิวโหย ความป่วยไข้ที่ไม่ได้รับการเยียวยารักษา หรือดูแลอย่างเหมาะสม ร่างกายที่อ่อนแอจากการขาดอาหาร ที่พัก การพักผ่อนขณะอยู่ในความเครียด รวมถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตตากแดดตากฝนอยู่เกือบตลอดเวลา

“ล่าสุด มีเด็กพิการที่เสียชีวิตระหว่างการหนีภัยมาประเทศไทยอีก 1 ราย และคาดว่ายังมีที่ไม่ทราบอีกจำนวนหนึ่ง ถึงวันนี้ ชาวบ้านจาก จ.มือตรอ จำนวนกว่า 30,000 คน ยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านเรือน และกำลังขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาร ที่ผ่านมา ยุ้งฉางถูกทำลาย ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้ข้าวสารที่พกติดตัวไปเปียกปอนเสียหาย ขณะที่กองทัพพม่าปิดเส้นทางขนส่งอาหารจากเขตเมืองเข้าพื้นที่ ความช่วยเหลือจากทางฝั่งไทยก็เข้าไปได้ยากลำบาก”

ในวันเดียวกันนี้ ที่อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน สิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้การต้อนรับ คัตสึโนริ โคอิเกะ หัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) เพื่อประสานการเตรียมความพร้อมการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวพม่า โดยสิธิชัย เปิดเผยภายหลังการหารือว่า นายคัตสิโนริ มีความห่วงใยชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาหลบหนีภัยสงครามในฝั่งประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ราว 2 พันกว่าคน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทางจังหวัดชี้แจงแนวทางการดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบ ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกองกำลังนเรศวร กรมทหารพรานที่ 36 และกำลัง ตำรวจตระเวนชายแดนคอยดูแล และหากสถานการณ์มีความรุนแรง ทางจังหวัดก็ได้จัดเตรียมพื้นที่ซึ่งห่างจากชายแดน 1-2 กิโลเมตร โดยจะมีกลุ่มองค์กรภาคเอกชน NGO ช่วยเหลือ และจังหวัดจะเข้าไปดูแล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net