Skip to main content
sharethis

โฆษก กมธ. ป.ป.ช. สภาฯ เผยเดินหน้าพิจารณากรณี ร.อ.ธรรมนัส ต่อจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คาดสัปดาห์หน้ามีความชัดเจน ชี้ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรงเป็นสากล ยกข้อกฎหมายอนุสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดที่ไทยเข้าร่วม 


ธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ว่านายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เคยต้องคำพิพากษาศาลออสเตรเลียในคดียาเสพติด โดยประเด็นหลักที่นำมาพิจารณา คือ กรณีการรับรองสถานะตัวเองก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการปกปิดข้อมูลการต้องคำพิพากษาดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือไม่ รวมถึงการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วย ตลอดจนการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีการรับรองตัวเองว่าเคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ และสุดท้าย คือ กรณีที่ ร้อยเอกธรรมนัส เคยทำหนังสือแจ้งข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 มีข้อมูลใดคลาดเคลื่อนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ทั้งหมดอาจมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5) คือต้องเป็นบุคคลที่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์และต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ โดยประเด็นทั้งหมดนี้ คณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการ ชุดที่ 2 ซึ่งตนเองเป็นประธานพิจารณาต่อในรายละเอียด คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการต่อในประเด็นใดได้บ้าง

นายธีรัจชัย ยังระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นอนุสัญญาร่วมกับนานาชาติ 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1971 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้าน ลักลอบขนยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1988 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือของนานาชาติในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของทั่วโลก ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรงเป็นสากลไม่มีอำนาจอธิปไตยมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความร่วมมือของนานาชาติในการปราบปราม ซึ่งประเทศไทยได้อนุมัติตามอนุสัญญาดังกล่าว คือ การออกพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ซึ่งในมาตรา 5 กำหนดว่าผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้กระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ขณะเดียวกันในมาตรา 6 กำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดว่าผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นโดย (1) กำหนดว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นกรณีที่ยืนยันถึงความร่วมมือและมีข้อกฎหมายภายในรองรับว่าแม้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรก็สามารถรับโทษในราชอาณาจักรได้

ทั้งนี้ นายธีรัจชัย ย้ำว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เพื่อเป็นการกลั่นกรองบุคคลที่จะเข้าสู่การใช้อำนาจรัฐ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากมลทิน และไม่มีประวัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะ เพราะการใช้อำนาจหากนำบุคคลที่มีประวัติไม่โปร่งใสเข้ามาโอกาสที่จะใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมก็อาจมีมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นไปตามหลักการและความสุจริต โดยเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net