ชมรมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นิติศาสตร์ มช. เรียกร้องศาลตระหนักถึงหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ชมรมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ชมรมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออก แถลงการณ์เรื่อง ไม่เห็นพ้องกับคำสั่งของศาล และเรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม โดยระบุว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับผู้ต้องหาอื่น อาทิ นายอานนท์ นำภา, นายภานุพงศ์ จาดนอก, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, นายชูเกียรติ แสงวงศ์,นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายปริญญา ชีวินกุลปฐม ตลอดถึงผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองอื่น ๆ โดยให้เหตุผลในการทำคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวว่า “ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” 

เราในฐานะที่เป็นนักศึกษาและประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รวมไปถึงเป็นนักศึกษากฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เห็นพ้องกับคำสั่งของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ข้างต้น ด้วยเหตุผล 3 ประการดังนี้

ประการแรก เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสองกำหนดว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” หรือที่เรียกว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

เมื่อผู้ต้องหายังมิได้ถูกศาลพิพากษาว่าได้กระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ต้องหาจะถูกปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ และศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีโดยรับฟังพยานหลักฐานจนครบถ้วนสมบูรณ์เสียก่อนจึงจะสามารถพิพากษาชี้ขาดคดีได้ คำพิพากษาในคดีอาญาอาจกระทบกระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายหรือสิทธิในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขของบุคคล ดังนั้นบทบัญญัติในมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญจึงเป็นหลักการสำคัญในการประกันสิทธิของผู้ต้องหาและประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นประกันว่าบุคคลจะได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี

ประการที่สอง สิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายของผู้ต้องหา กล่าวคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 กำหนดว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” ผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมายในการได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพื่อมิให้ต้องติดคุกในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาและสามารถสู้คดีได้โดยไม่ต้องถูกจองจำภายในคุก ซึ่งโดยหลักการพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ผู้ต้องหาต้องได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นซึ่งเป็นเหตุ 5 ประการ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กำหนดว่าศาลอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ในกรณีที่

(1) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะหลบหนี 

(2) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

(3) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 

(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ 

(5) การปล่อยฯ จะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนหรือการดําเนินคดีในศาล

ซึ่งโดยหลักการนั้นต้องปล่อยชั่วคราวทุกกรณี ข้อยกเว้นที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้คือต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่มาตรา 108/1 กำหนด หากเป็นกรณีอื่นที่มิใช่เหตุตามที่มาตรา 108/1 ศาลไม่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า “คดีมีอัตราโทษสูง” หรือ“พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง” หรือ“ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” จึงไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 กำหนด และไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ อันหลักการพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
 
ประการที่สาม เมื่อคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวไม่เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด การตีความอย่างกว้างขวางเกินขอบเขตของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งขัดแย้งกับหลักการในทางนิติศาสตร์ที่ยอมรับและถือปฏิบัติร่วมกันว่า หากจะตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างแคบหรือตีความโดยเคร่งครัดเพราะกฎหมายอาญาส่งผลกระทบถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน การที่ศาลใช้ดุลยพินิจโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ซึ่งมิใช่เหตุผลตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการตอกย้ำถึงความบิดเบี้ยวของการนำหลักการทางกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริง แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาในกรณีดังกล่าวได้ แต่การใช้ดุลยพินิจของศาลนั้นก็ยังมีกฎหมายครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง หากศาลซึ่งควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนมิได้ถือปฏิบัติในหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ศาลจะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเพื่อให้เกิดความความยุติธรรมในสังคมได้อย่างไร หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตลอดจนการใช้ดุลยพินิจต้องสอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย ต้องไม่ตีความกว้างขวางจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล จึงจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันตุลาการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนนำไปสู่วิกฤตศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ ดังจะเห็นได้จากการตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่การใช้ดุลยพินิจในการทำคำสั่งของศาล ตลอดจนการแสดงออกถึงจุดยืนและกระแสต่อต้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดในทางการเมือง 

ในฐานะนักศึกษากฎหมายและพลเมืองของประเทศ เรามีความมุ่งหวังในการเรียนเพื่อให้สอดคล้องสัมพันธ์กับสังคม อันจะก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่านิติศาสตร์เพื่อสังคม (Law for Society) การต้องทนเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคนเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ “เพราะกฎหมายควรเป็นไปเพื่อสังคม สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” การใช้ดุลพินิจพิจารณาคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในกรณีความผิดทางอาญาอื่น ๆ กับกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดทางการเมือง มีสัดส่วนความต่างกันในการได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอยู่มาก และศาลมักให้เหตุผลในทำนองว่าอัตราโทษสูงหรือไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ซึ่งทำให้เกิดความกังขาต่อหลักวิชาทางกฎหมายว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ เราทั้งหมดที่ร่วมลงชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอแสดงออกถึงจุดยืนว่าไม่เห็นพ้องกับคำสั่งของศาลอาญาดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ศาลรวมถึงผู้พิพากษาตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเคารพหลักการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพและจริยธรรมทางกฎหมายอันจะก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้สืบไป 

4 พ.ค. 2564

 

*หมายเหตุภาพประกอบจากแฟ้มภาพ ไม่ใช่กิจกรรมของชมรมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท