COVID-19: 8 พ.ค. ไทยติดเชื้อใหม่ 2,419 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,419 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 81,274 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,247 ราย รวมรักษาหายสะสม 51,419 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 382 ราย - จับตา 4 คลัสเตอร์ใหม่ กทม. 'ชุมชนวัดโสมนัสฯ-ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก-ปากคลองตลาด-ศูนย์การค้าเขตพระนคร' - นักฟุตบอลทีมชาติไทย-จนท. ติดโควิด 8 คน ประสานส่งตัวรักษา

8 พ.ค. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 2,419 คน รวมผู้ป่วยสะสม 81,274 คน เสียชีวิตเพิ่ม 19 คน เสียชีวิตสะสม 382 คน หายป่วยกลับบ้าน 2,247 คน

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของกรมควบคุมโรค มีประเด็นที่น่าสนใจ คืออายุผู้เสียชีวิต อายุน้อยของวันนี้ คือ 42 ปี และอายุมากที่สุด คือ 93 ปี และยังพบว่าจำนวนมากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง คือการใกล้ชิดกับสมาชิกครอบครัว ที่ยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 9 คน และมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน 2 คน

ส่วนอีก 2 คนไม่ทราบว่าติดเชื้อมาจากใคร และอีก 1 คน ไม่ทราบว่าติดเชื้อ จนกระทั่งมารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน และแพทย์สงสัยว่าน่าจะมีการติดเชื้อ COVID-19 จึงตรวจ ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันเดียวกัน

ส่วนอีก 5 คน ระยะเวลาที่ทราบผลติดเชื้อ จนเสียชีวิต อยู่ในระยะ 1-6 วัน ซึ่งขอเน้นย้ำให้ผู้ที่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง มาตรวจโดยเร็วที่สุด เพราะหากล่าช้า อาการจะรุนแรงมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ

ขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากการไปตลาด สถานที่ชุมชน ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน

จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่ามาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากถึง 641 คน ส่วนอีก 71 จังหวัด ยังอยู่ในระดับทรงตัว ดังนั้น จึงต้องเน้นคัดกรองเชิงรุกมากขึ้น ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงเทพฯ ที่มีการเฝ้าะวังและคัดกรองเชิงรุก 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนวัดโสมนัสฯ, ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก, ปากคลองตลาด และศูนย์การค้าเขตพระนคร

ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ติดเชื้อ 10 คน ได้แก่ อินโดนีเซีย 1 คน, ปากีสถาน 1 คน, อังกฤษ 1 คน, คูเวต 1 คน, บังกลาเทศ 1 คน เมียนมา 1 คน กัมพูชา 1 คน และเนเธอร์แลนด์ 3 คน ซึ่งในจำนวนนี้มาจากการลักลอบเข้าเมือง

สถานการณ์โรค COVID-19 ทั่วโลก พบว่ายอดผู้ติดเชื้อรวม 157,530,729 คน อาการรุนแรง 108,598 คน รักษาหายแล้ว 134,954,947 คน และเสียชีวิต 3,283,727 คน

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,418,826 คน 2. อินเดีย จำนวน 21,886,611 คน 3. บราซิล จำนวน 15,087,360 คน 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,747,214 คน 5. ตุรกี จำนวน 4,998,089 ราย ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 81,274 คน

นักฟุตบอลทีมชาติไทย-จนท. ติดโควิด 8 คน ประสานส่งตัวรักษา

สืบเนื่องจากที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการดำเนินการตรวจเชื้อ COVID-19 ให้แก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมชาติไทยทั้งชายและหญิง ตามมาตรการ​ตรวจหาเชื้อทุก 7 วัน ที่สมาคมฯ ร่วมกับทีมแพทย์ ดำเนินการในช่วงที่มีการฝึกซ้อม เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พ.ค.2564 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งผลการตรวจ มีนักกีฬาชายและเจ้าหน้าที่ชายที่อยู่ในแคมป์เก็บตัวรอบที่ 1 จำนวน 6 คน มีผลตรวจออกมาเป็นบวก แบ่งออกเป็นนักกีฬา 2 คน และเจ้าหน้าที่ 4 คน ขณะที่นักกีฬาหญิงและเจ้าหน้าที่หญิง มีผลตรวจเป็นบวก 2 คน แบ่งเป็นนักกีฬา 1 คน และเจ้าหน้าที่ 1 คนด้วยกัน

ในเบื้องต้น ทางสมาคมฯ ได้ทำการประชุมร่วมกับแพทย์ผู้ดูแลทีม ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลทีมได้วินิจฉัยว่า การรับเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังจากการตรวจรอบแรกที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน แม้จะมีการฉีดวัคซีนโดสแรกไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม เพราะเกี่ยวกับระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ ขณะเดียวกัน ยังได้วางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด โดยมีข้อสรุปจากที่ประชุม คือ

1. ผู้ที่ผลเป็นบวก จะมีแพทย์ติดต่อเพื่อตรวจสอบอาการและสอบถามไทม์ไลน์ ซึ่งสมาคมฯ ได้ส่งชื่อและข้อมูลติดต่อเป็นที่เรียบร้อย และประสานเพื่อให้ผู้มีผลตรวจได้เข้ารับการรักษา และเข้าสู่กระบวนการของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

2. สำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีผลตรวจออกมาเป็นลบนั้น ให้ทำการกักตัวในห้องพัก สังเกตอาการอยู่ในห้องพักของตนเอง เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวนักกีฬาและคนรอบข้างโดยไม่แนะนำให้เดินทางออกจากแคมป์ ซึ่งพื้นที่แคมป์เก็บตัวได้แยกส่วนจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ สมาคมฯ จะเป็นผู้ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้ามาเก็บตัวอย่างในที่พักทุก ๆ 3-5 วัน จนแน่ใจว่ากลุ่มดังกล่าวไม่พบเชื้อแล้ว เพื่อเตรียมเข้ารับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2

3. ในส่วนของมื้ออาหาร ได้มีการจัดอาหารในแต่ละมื้อเป็นชุดส่วนบุคคล และจะจัดส่งให้แก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่ละคนพักแยกกันต่างหาก เพื่อลดความเสี่ยง

4. งดกิจกรรมการซ้อม และเลื่อนกำหนดการเข้าแคมป์ของนักกีฬาในกลุ่มที่ 2 ที่ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาเก็บตัวออกไป จนกว่าจะมีความปลอดภัย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทีมชาติไทย ทั้งนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกซ้อม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะมีการแจ้งกำหนดการกลับมาฝึกซ้อม และสถานที่ที่แน่นอนอีกครั้ง

5. เช่นเดียวกับทีมฟุตบอลหญิง ที่สมาคมฯ ได้ส่งชื่อและข้อมูลติดต่อของผู้ติดเชื้อให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ารับการรักษา ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบจะมีการกักตัวในห้องพักบริเวณแคมป์เพื่อสังเกตอาการ และมีการตรวจหาเชื้อทุก ๆ 3-5 วัน จนแน่ใจว่าปลอดเชื้อ ก่อนจะให้แยกตัวกลับภูมิลำเนาต่อไป

ทั้งนี้ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า การจัดสถานที่พักและฝึกซ้อมของแคมป์ทีมชาติภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แยกออกจากส่วนบริการอื่นๆ ของสถานที่ โดยมีการแยกห้องอาหาร และสถานที่ฝึกซ้อมเป็นแบบปิดทั้งหมด สมาคมฯ มีการดำเนินการภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด และเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้รับเมื่อทราบผลการตรวจดังกล่าว เราขอให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงในเร็ววัน

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท