'ก้าวไกล' เตือนครึ่งปีก่อน COVID-19 รอบ 3 รัฐเก็บรายได้พลาดเป้า 1.2 แสนล้าน

'ศิริกัญญา ตันสกุล' รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย เตือนครึ่งปีก่อน COVID-19 รอบ 3 รัฐบาลเก็บรายได้พลาดเป้า 1.2 แสนล้าน เสนอต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณเพื่อแก้วิกฤต


ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย | แฟ้มภาพ

8 พ.ค. 2564 เพจ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party รายงานว่าศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีที่กระทรวงการคลังได้ออกมาเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ครึ่งปีแรกต่ำกว่าเป้าที่วางไว้

จากรายงานของกระทรวงการคลัง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564) รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 1,018,711 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,545 ล้านบาท กรมที่จัดเก็บรายได้หลักอย่างกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้พลาดเป้าถึง 10% คิดเป็นรายได้ที่หายไปกว่า 100,000 ล้านบาท มีแค่กรมศุลกากรที่จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไม่มากแต่ก็พลาดไป 2.5% ทั้งที่ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกค่อนข้างดี

“แต่ที่ดิฉันเป็นห่วงคือรายได้รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐต่ำกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 35,000 ล้านบาท พลาดเป้าถึงร้อยละ 40 ซึ่งส่วนหนึ่งคงมาจากรายได้ของบริษัทท่าอากาศยานไทยหรือ AOT ที่ไม่มีผู้โดยสารนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย และได้ประกาศมาตรการเยียวยาลดค่าเช่าให้กับผู้เช่า และลดรายได้จากรับสัมปทานเจ้าใหญ่อย่างคิงพาวเวอร์อย่างมหาศาล”

“ถ้ามองอย่างผิวเผิน เราคงคิดว่านี่คือผลกระทบจากโควิด ทำให้รัฐเก็บรายได้ได้ลดลง  แต่ความเป็นจริงก็คือตัวเลขประมาณการรายได้ของปีงบ 2564 จัดทำเมื่อต้นปี 2563 ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิดเมื่อปีที่แล้วเสียอีก แถมยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 5%  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าเดิม "

"ซึ่งดิฉันได้เตือนในสภาไปแล้วในการอภิปรายงบประมาณวาระที่ 2 และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ ถ้าเราใช้ตัวเลข GDP ล่าสุดที่คาดว่าจะโตประมาณ 2%  รายได้ที่รัฐบาลตั้งเป้าในเวลานั้นมากเกินจริงไป 2-3 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้ ศิริกัญญายังย้ำว่านี่คือตัวเลขรายได้ของรัฐในห้วงเวลาที่มีการระบาดรอบที่ 2 ก่อนที่การระบาดรอบที่ 3 จะเริ่มขึ้น น่าเป็นห่วงว่าการจัดเก็บรายได้ในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2564 จะยิ่งต่ำกว่าเป้าลงไปอีก

“ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ถ้ารัฐบาลจะใช้งบประมาณตามที่ขอจากสภาราว 3.28 ล้านล้านบาท เราจะต้องกู้เพิ่มเพื่อมาชดเชยการขาดดุลมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เพดานเงินกู้ที่ระบุไว้ในกฎหมายอนุญาตให้กู้เพิ่มแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ผลที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลอาจไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ในทุกโครงการที่ตั้งไว้ในงบ 64 แต่เราคงไม่อยากเห็นภาพที่หน่วยราชการต้องไปลุ้นกันในปลายปีว่า โครงการไหนจะได้-ไม่ได้งบประมาณ”

"ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะฯ กำหนดว่าเราจะกู้เพื่อชดเชยขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของเงินชำระคืนต้นเงินกู้"

สุดท้าย ศิริกัญญาให้ทางออกรัฐบาลว่าตอนนี้มีทางเลือก 2 ทาง ถ้าไม่กู้เงินเพิ่ม ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณ 2564

"ทางเลือกแรก คือรัฐบาลอาจกู้เพิ่มสภาพคล่องไม่เกิน 3% ของงบประมาณรายจ่าย ตามที่กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะเปิดช่องไว้ ซึ่งน่าจะทำให้ได้เงินเพิ่ม 98,600 ล้านบาท แต่ต้องชำระคืนภายใน 120 วัน ซึ่งไม่พอชดเชยรายได้ที่พลาดเป้า หรือถ้าจะออกพรบ.ใหม่เพื่อกู้เงินก้อนใหม่โปะส่วนที่ขาดก็อาจจะขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ไว้วางใจกับการใช้เงินของรัฐบาลในปัจจุบัน”

“อีกทางเลือกที่ดิฉันเสนอคือ ให้รัฐบาลทบทวนโครงการทั้งหมดที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจากงบ 64 แล้วจัดลำดับความสำคัญใหม่ว่าโครงการใดบ้างที่จำเป็นในการพาประเทศผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ และตัดโครงการที่ยังไม่จำเป็นทิ้งไปก่อน เพื่อเป็นการทบทวนกรอบงบประมาณรายจ่ายใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้ที่คาดว่าน่าจะหายไป” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

อ่านและดาวน์โหลดผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท