เผย 'ฟ้า พรหมศร' ได้ประกัน รอยื่น 2 แสน-ติดกำไล EM 11 พ.ค. นี้

ทนายเผย 'ฟ้า พรหมศร' ได้ประกัน รอยื่น 2 แสน-ติดกำไล EM ด้านโฆษกศาลยุติธรรมแจงศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว 11 พ.ค. เป็นความพร้อมของผู้ต้องหาเอง


ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี | แฟ้มภาพ iLaw TH

8 พ.ค. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่าแฟนเพจเฟสบุ๊ค “ราษฎรมูเตลู” เปิดเผยความคืบหน้าการยื่นขอประกันตัว นายพรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำราษฎรมูเตลู ผู้ถูกกล่าวหา ตามความผิดอาญามาตรา 112 จำนวน 4 คดี ซึ่งขณะนี้อดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในเรือนจำธัญบุรี โดย ราษฎรมูเตลูระบุว่า

ฟ้า พรหมศร ได้รับการประกันตัวแล้ว !
แต่เนื่องจากติดวันหยุดราชการจึงจะได้ออกมาในวันทำการ ซึ่งตรงกับวันอังคารพอดี
ใครสะดวกมารับเพื่อนเรากลับบ้าน ขอให้มาด้วยกันเยอะๆ เลยนะครับ

ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ “ทนายแจม” ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ Sasinan.T @lawyerJammy โดยระบุว่า ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของนายพรหมศรเมื่อวานนี้ (7 พ.ค.) โดยวันนี้ เวลา 11.00 น. ได้ไปฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ที่ศาลธัญบุรี น่าจะเป็นครั้งที่ 8 ที่ต้องไปฟังคำสั่งด้วยความหวัง

ต่อมาเวลา 11.31 น. น.ส.ศศินันท์ได้ทวีตข้อความอีกว่า
ฟ้า พรหมศร ได้ประกันนะคะ วันอังคารนัดทำสัญญาประกันและติด EM ค่ะ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ประกันกำหนดหลักประกัน 200,000฿ + ติด EM เลยต้องเขียนคำร้องให้มาติด EM ในวันทำการ คือวันอังคาร (11 พ.ค.) ค่ะ วันนี้ฟ้ายังไม่ได้กลับบ้านนะคะ

ด้านแฟจเพจ ราษฎร โพสต์ข้อความด้วยว่า
ฟ้า พรหมศร ได้ประกันตัว !!!

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ประกันตัว “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี ด้วยวงเงิน 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไขติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) หลังทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้นเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยไม่ถูกออกหมายจับ และให้การปฏิเสธ ผู้ต้องหาให้คำรับรองว่าจะไม่หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่ทำการอันมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะก่อความเสียหายดังเช่นที่ต้องหา ประกอบกับมีคำรับรองของมารดาของผู้ต้องหา ผู้ต้องหายินยอมให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนได้ ตีราคาประกัน 200,000 บาท กับให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยถือให้คำรับรองของผู้ต้องหาเป็นเงื่อนไขต้องปฏิบัติในการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป

พรหมศรจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษธัญบุรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ (11 พ.ค. 2564) เนื่องจากศาลต้องเบิกตัวพรหมศร เพื่อทำสัญญาประกัน และติดกำไล EM ในวันทำการ 

เป็นเวลากว่า 53 วันที่พรหมศรถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษธัญบุรี จากการร้องเพลงและปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ขณะติดตามการจับกุมตัว “นิว สิริชัย” เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 ก่อนหน้านี้ทนายความได้ยื่นประกันตัวรวมทั้งหมด 5 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีก 2 ครั้ง (ไม่นับการยื่นอุทธรณ์ครั้งล่าสุด) 

ก่อนหน้านี้ในการยื่นประกันตัว แม้ทนายความจะยื่นคำร้องและแนบเอกสารรูปภาพบาดแผลของพรหรมศร ที่ประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้ม 2 วัน ก่อนเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน. หรือแนบจดหมายของมารดารับรองว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีก็ตาม แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกัน อ้างว่า “คดีมีอัตราโทษสูง ตามพฤติการณ์คดีและลักษณะการกระทำเกรงว่าจะหลบหนีและไปกระทำความผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก” หรือ “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” 

ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว หลังพรหรมศรต้องถูกจองจำไป 53 วัน (1 เดือน 21 วัน) 

เปิดคำร้องอุทธรณ์ครั้งที่ 3 ก่อนศาลให้ประกัน 

ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ โต้แย้งคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลชั้นต้น โดยแจกแจงเหตุผลคล้ายคลึงกับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 5 และสามารถสรุปได้ ดังนี้ 

ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งผู้ต้องหายังเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.ธัญบุรีด้วยตนเอง แม้ก่อนหน้านี้ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มจนมีบาดแผลฉกรรจ์ และถ้าหากได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตามที่มารดาของผู้ต้องหาได้แนบจดหมายยืนยันมาในท้ายคำร้อง 

นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด ตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Political Rights – ICCPR) ผู้ต้องหาควรได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา และมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังยินยอมให้ศาลกําหนดเงื่อนไขว่า “จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามนัด”

หลังพรหมศรได้รับการปล่อยตัวในวันอังคาร จะยังคงมีผู้ต้องขังทางการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 20 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ถึง 7 ราย

โฆษกศาลยุติธรรมแจงศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว 'ฟ้า พรหมศร' 11 พ.ค.เป็นความพร้อมของผู้ต้องหาเอง

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีมีข่าวการยื่นขอประกันตัว นายพรหมศร หรือฟ้า วีระธรรมจารี แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู ผู้ถูกกล่าวหา คดี ป.อาญา ม.112 ในศาลจังหวัดธัญบุรี โดยระบุว่ายังติดวันหยุดราชการจึงจะได้ออกมาในวันทำการ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 11 พ.ค. 2564 ว่าในข้อเท็จจริงคดีนี้ ผู้ต้องหายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน โดยขอใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564

ศาลจังหวัดธัญบุรีอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 8 พ.ค. 2564 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยไม่ถูกออกหมายจับและให้การปฏิเสธ ผู้ต้องหาให้คำรับรองว่าจะไม่หลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่ทำการอันมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะก่อความเสียหายดังเช่นที่ต้องหาคดีนี้ ประกอบกับมีคำรับรองของมารดาผู้ต้องหา ผู้ต้องหายินยอมให้ใช้อุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ (EM) จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน ตีราคาประกัน 2 แสนบาท ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยให้ถือคำรับรองของผู้ต้องหาเป็นเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป โดยได้รับรายงานจากศาลจังหวัดธัญบุรีว่า นายประกันของผู้ต้องหาจะมายื่นประกันตัวในวันที่ 11 พ.ค. นี้

ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ทางผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความพร้อมในการทำสัญญาประกันตามเงื่อนไขภายหลังมีคำสั่งอนุญาต ก็สามารถทำสัญญาประกันตัว ปล่อยตัวในวันดังกล่าวได้เลย ส่วนเรื่องที่มีการระบุว่าจะต้องปล่อยวันที่ 11 พ.ค. 2564 จึงเป็นความพร้อมของฝ่ายผู้ต้องหาที่มีความประสงค์จะยื่นทำสัญญาประกันในวันดังกล่าวเอง

โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า สำหรับนโยบายการประกันตัววันหยุดที่มาจากยุคนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา ได้ตระหนักว่าชาวบ้านจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยและถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดีอาญาไม่ได้มีวันหยุดด้วย หากถูกจับตัววันเสาร์ก็ถูกคุมขังตั้งแต่วันเสาร์ แต่วันอาทิตย์ราชการไม่มีใครทำงานศาลก็ปิดทำการ เปิดทำการอีกทีก็วันจันทร์ จึงยังเป็นปัญหาเรื่องเวลาที่กระทบความยุติธรรม จึงมีนโยบายนี้ เรียกติดปากว่าความยุติธรรมไม่มีวันหยุด

ในปัจจุบันนี้นอกจากศาลยุติธรรมเปิดทำการให้ประชาชนสามารถมายื่นขอขอประกันตัวได้ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา จึงต่อยอดให้มีการยื่นขอประกันตัวอีกอย่างหนึ่ง คือการขอประกันตัวออนไลน์ ทำให้แม้หลังเวลา 16.30 น. ศาลปิดทำการแล้ว แต่ระบบบริการออนไลน์ของศาลเปิดตลอด 24 ชั่วโมง สามารถยื่นขอประกันได้ทางออนไลน์ หลัง 18.30 น. จนถึงเช้าก่อน 08.30 น. ก็สามารถยื่นเข้ามาได้ตลอดเวลา พอ 08.30 น. เมื่อศาลเปิดทำการก็จะได้พิจารณาคำขอประกันได้ทันที ยกระดับเป็นการประกันตัวแบบไม่มีเวลาหยุดที่ประชาชนสามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตรงนี้ทำให้ข้อจำกัดเรื่องเวลาหมดไป โดยในเคสนี้มีการใช้กำไล EM ซึ่งศาลอาจกำหนดเงื่อนไขการให้ประกันตัวหรือ วางเงื่อนไขใดที่เกี่ยวกับพื้นที่หรือการเดินทาง จึงใช้เครื่องมือสั่งติดเพื่อเฝ้าระวังอีกชั้นหนึ่งได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท