Skip to main content
sharethis

“ย้ายประเทศกันเถอะ ย้ายประเทศไปหิ้วแป้ง แล้วกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้” โลกออนไลน์แชร์กันว่อน

ไม่ได้ประชดประชัน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยมีบรรทัดฐานทางกฎหมายรองรับ แต่สังคมรับไม่ได้

ศาลยึดหลักอธิปไตย ไม่สามารถตีความให้คำพิพากษาศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับศาลไทย ซึ่งเป็นหลักที่ใช้กันทุกประเทศ กฤษฎีกาเมื่อปี 2554 ก็ตีความไว้แนวเดียวกัน จึงพูดได้ว่า คำวินิจฉัยนี้มีบรรทัดฐานทางกฎหมาย

ทำให้สังคมฮือถามว่า แล้วเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญล่ะ “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เขียนไว้ซะสวยหรู สกัดกั้นผู้มีมลทิน มีประวัติอาชญากรรมร้ายแรง ทุจริต ฉ้อโกง ค้ายาเสพติด ไม่ให้เป็น ส.ส. รัฐมนตรี แต่กลับไม่มีความหมายกับ “เส้นเลือดใหญ่” รัฐบาลประยุทธ์

ทั้งที่คำวินิจฉัยก็ชี้ว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนลงสมัคร ส.ส. ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย” ซึ่งแปลได้ว่า “มันไม่ใช่แป้ง” สิ่งที่ธรรมนัสปฏิเสธมาเกือบ 2 ปี ศาลชี้เป็นข้อเท็จจริง

คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จึงตั้งคำถามว่า เหตุใดศาลไม่เอ่ยถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แม้ยึดหลักอธิปไตยทางศาล ก็สามารถนำคำพิพากษามาพิสูจน์ว่า เข้าองค์ประกอบบังคับใช้ได้หรือไม่

ประเด็นนี้ศาลควรชี้แจงให้ชัด หรือรีบเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม อย่าปล่อยให้คนพากันตั้งคำถามว่า ค้ายาค้าอาวุธค้ามนุษย์ติดคุกต่างแดนก็เป็นนายกฯ ไทยได้หรือ

อย่างไรก็ตาม เห็นใจตุลาการอยู่เหมือนกัน ในข้อเรียกร้องให้วินิจฉัยธรรมนัส “ผิดจริยธรรม” เพราะอำนาจตุลาการไม่ควรตัดสินจริยธรรม แม้แต่การยื่น ป.ป.ช. ส่งศาลฎีกา ก็เป็นกับดักรัฐธรรมนูญมีชัย ที่วางไว้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม ถ้าได้เป็นรัฐบาล

จริยธรรมทางการเมืองต้องตัดสินโดยสังคมประชาธิปไตย คนที่ต้องรับผิดชอบทางจริยธรรมในการแต่งตั้งหรือปลดธรรมนัสคือประยุทธ์ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ถูกสังคมรุมกระหน่ำขนาดนี้ ต้องปลดแล้ว ไม่รอให้ยื่น ป.ป.ช.หรอก แต่ประยุทธ์ไม่แยแสใคร เพราะมี 250 ส.ว.โหวตให้เป็นนายกฯ

คำวินิจฉัยศาลมีบางครั้งที่ชอบแล้ว แต่สังคมเห็นต่าง เช่น คดีประยุทธ์พักบ้านหลวง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นว่าผิดที่ระเบียบกองทัพบก แต่ไม่เป็นเหตุพ้นตำแหน่ง เพราะหลักกฎหมายมหาชน ไม่ควรให้คนเป็นนายกฯ ตกเก้าอี้ง่ายๆ ด้วยเรื่องขี้ปะติ๋ว เช่นเดียวกับสมัครไม่ควรตกเก้าอี้เพราะทำกับข้าวออกทีวี แล้วศาลเปิดพจนานุกรมชี้เป็น “ลูกจ้าง”

นั่นแหละคือประเด็นที่สังคมไม่ยอมรับ เหมือนเทียบธรรมนัสกับธนาธร คนหนึ่งโดนตัดสินจำคุก ข้อเท็จจริงเห็นประจักษ์ อีกคนแค่ถือหุ้นสื่อที่ปิดไปแล้ว ไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใช้สื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ซ้ำยังโอนหุ้นแล้ว

หรือที่เป็นชนวนให้เกิดแฟลชม็อบทุกมหาวิทยาลัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยตีความเงินกู้เป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น อาจบอกได้ว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้มีบรรทัดฐานทางกฎหมาย แต่ไม่อาจปฏิเสธว่า คำวินิจฉัยที่เป็นผลดีกับรัฐบาล อยู่ในวังวนของวิกฤตศรัทธา “สองมาตรฐาน” ที่ยาวนานมา 15 ปี หรืออย่างน้อยก็ 4 ปี ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ

ประชาชนอาจไม่สังเกตด้วยซ้ำว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป 5 คน ช่วงหลังๆ พยายามใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง

แต่ก็ไม่มีความหมาย เพราะวิกฤตความเชื่อถือ สั่งสมจากวิบัติทางกฎหมายจนกลายเป็นเรื่องการเมืองไปหมดแล้ว พูดง่ายๆ ว่าสังคมวันนี้ ความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม ล้มละลายอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่ความเชื่อว่าใครเป็นพวกใคร อำนาจอยู่ข้างไหน

เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ในคดีแกนนำม็อบราษฎร ศาลอาจยกเหตุผลทางกฎหมายได้มากมาย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ม็อบไม่ได้ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ไม่ได้ชัตดาวน์ ปิดสถานที่ราชการ แค่ต้องการให้ยอมรับความคิดใหม่ แต่อำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม ตั้งข้อหาร้ายแรง 112,116 กบฏ ต่อสู้ขัดขวาง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ

ซึ่งถ้าก้มหน้าก้มตาตีความตามกฎหมาย บางข้อก็คงผิดจริง เช่น ไปชุมนุมผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ แหงอยู่แล้ว แต่มีใครติดโควิดจากม็อบบ้าง กฎหมายมีไว้ป้องกันโรคติดต่อ ตำรวจกลับใช้เป็นเครื่องมือสลายม็อบด้วยกำลัง ด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง

พอตำรวจตั้งข้อหา อัยการก็สั่งฟ้อง ศาลว่าไปตามกฎหมาย แม้ไม่มี “ใบสั่ง” อย่างที่คนเชื่อกัน บางกรณีก็จะผิดจริง เช่น ประชาชนโกรธตำรวจไล่ทุบ ก็ทุบแม่-มั่ง แต่ในแง่ความเป็นธรรม ประชาชนโดนเล่นงานอยู่ข้างเดียว แม้บอกว่าเคร่งครัดกฎหมาย แต่กฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ

สุดท้ายก็ไม่อาจพ้นวังวนความขัดแย้ง กระทั่งโดนปาไข่ปามะเขือเทศ เพราะความโกรธที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

วิบัติยุติธรรม ความไม่เชื่อถือไม่ยอมรับ จะลุกลามไปเรื่อยๆ จนทำลายทั้งระบบ หากไม่สามารถโละรื้อโครงสร้างอำนาจ และปฏิรูปใหม่หมดทั้งกระบวนการยุติธรรม

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_6383076

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net