COVID-19: 9 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,101 คน บุคลากรแพทย์ติดเชื้อระลอกใหม่ 512 คน กระจาย 57 จว.

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,101 คน เป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,674 คน และตรวจเชิงรุก 412 คน จากต่างประเทศ 15 คน รวมสะสม 83,375 คน หายป่วยเพิ่ม 2,186 คน รวม 53,605 คน รักษาในโรงพยาบาล 29,371 คน อาการหนัก 1,442 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 394 คน เสียชีวิตเพิ่ม 17 คน รวม 399 คน - พบบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่แล้ว 512 คน ใน 57 จังหวัด พยาบาลและผู้ช่วยมากถึง 34% 

COVID-19: 9 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,101 คน บุคลากรแพทย์ติดเชื้อระลอกใหม่ 512 คน กระจาย 57 จว.

9 พ.ค. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 158 ล้านคน เพิ่มวันเดียว 783,013 คน หายแล้ว 135 ล้านคน และเสียชีวิตสะสม 3.2 ล้านคน สหรัฐฯ ยังติดเชื้อสะสมมากสุด รองลงมาคืออินเดีย และบราซิล ส่วนไทย อยู่อันดับ 99 ของโลก

ส่วนไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,101 คน เป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,674 คน และตรวจเชิงรุก 412 คน จากต่างประเทศ 15 คน รวมสะสม 83,375 คน หายป่วยเพิ่ม 2,186 คน รวม 53,605 คน รักษาในโรงพยาบาล 29,371 คน อาการหนัก 1,442 คน และใส่เครื่องช่วยหายใจ 394 คน เสียชีวิตเพิ่ม 17 คน รวม 399 คน

สำหรับผู้เสียชีวิตจาก กทม. 8 คน สมุทรปราการ 3 คน ปทุมธานี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา แพร่ และชัยนาท จังหวัดละ 1 คน โดยโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงยังเป็นความดันโลหิตสูง และเบาหวานมากที่สุด ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากครอบครัวมากที่สุด เพื่อนร่วมงาน วงพนัน วงรับประทานอาหาร

ลอบเข้าไทยจากต่างประเทศติดโควิด 5 คน

ส่วนผู้ป่วยที่กลับจากต่างประเทศ พบลักลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ มาจากเมียนมา 1 คน มาเลเซีย 2 คน และกัมพูชา 2 คน โดยทั้ง 5 คน มีสัญชาติไทย สำหรับข้อมูลการลักลอบเข้าไทยข้อมูลวันนี้ ลักลอบเข้าไทยจากลาว 4 คน เมียนมา 15 คน กัมพูชา 4 คน และมาเลเซีย 1 คน โดยยอดรวมเดือน เม.ย.พบผู้ลักลอบเข้าไทย 32 คน

“ยอดรวมตั้งแต่เดือน ม.ค.พบผู้ลักลอบเข้าไทยถึง 15,378 คน ปัญหานี้ยังมีอยู่ตลอดแนวชายแดน”

พยาบาล/ผู้ช่วย ติดโควิดมากสุด 

นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลวันที่ 1 เม.ย. - 7 พ.ค. 2564 พบบุคลากรการแพทย์ติด COVID-19 แล้ว 512 คน อายุตั้งแต่ 17 - 66 ปี มีอาการ 285 คน ไม่มีอาการ 181 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพยาบาลและผู้ช่วยมากถึง 34% ไม่ระบุ 27% อื่น ๆ 18% ส่วนแพทย์ 10% พบเป็นบุคลากรโรงพยาบาลรัฐถึง 65% โรงพยาบาลเอกชน 29%

บุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อ 512 คน กระจายใน 57 จังหวัด มากสุด กทม. 137 คน รองลงมา คือ ตรัง 47 คน ชลบุรี 34 คน นครปฐม 25 คน และขอนแก่น 18 คน โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ สัมผัสผู้ป่วย 202 คน และสัมผัสเพื่อนร่วมงาน 63 คน นอกจากนี้ ยังพบป่วยนอกโรงพยาบาล 106 คน

กทม.ติดเชื้อรายวันสูงสุด ป่วยหนักสะสม 500 คน 

ส่วนผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ 10 อันดับสูงสุด ยังเป็น กทม. 980 คน รวมสะสมระลอกใหม่ 19,009 คน รองลงมา คือ นนทบุรี 221 คน สมุทรปราการ 108 คน ชลบุรี 96 คน สมุทรสาคร 95 คน สุราษฎร์ธานี 50 คน ระนอง 48 คน จันทบุรี 38 คน ปทุมธานี 31 คน และประจวบคีรีขันธ์ 8 คน

วันนี้ กทม.และปริมณฑลติดเชื้อรวมกัน 1,457 คน เกินครึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ สำหรับผู้ป่วยหนัก หรือ ปอดอักเสบในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพิ่มขึ้นสะสมกว่า 500 คนแล้ว

“การเสียชีวิตในเดือน พ.ค. บางวัน กทม.มีผู้เสียชีวิตถึง 2 หลัก และขึ้น ๆ ลง ๆ ต่อเนื่อง”

สำหรับการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ตรวจแล้ว 6,869 คน พบเชื้อ 241 คน รอผล 7,377 คน โดยตรวจสะสมรวม 107,366 คน พบเชื้อ 2,874 คน คิดสัดส่วนการพบเชื้อสะสมเป็น 2.68%

ส่วนการฉีดวัคซีน COVID-19 ในไทยรวม 1,743,720 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก ซิโนแวค 1,167,398 คน แอสตราเซเนกา 106,268 คน เข็มที่ 2 ซิโนแวค 470,038 คน และแอสตราเซเนกา 16 คน

แอสตร้าเซนเนก้า ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ คุณภาพผ่านแล้ว

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย โดยโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่ง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ อาทิ องค์ประกอบทางเคมีและความปลอดภัย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมีเรื่องที่น่ายินดีมาแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ตัวอย่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเราที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชุดแรกให้แก่รัฐบาลไทยเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยทั้งในกระบวนการผลิตและการจัดส่ง โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพวัคซีนในแต่ละรุ่นการผลิตรวมกันมากกว่า 60 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตไปจนถึงการฉีดวัคซีน และมีการประกันคุณภาพอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน แอสตร้าเซนเนก้าได้สร้างเครือข่ายการวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตจากทุกแหล่งการผลิตของแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีคุณภาพดีสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของประเทศไทย

นายเจมส์ กล่าวว่า เป้าหมายของแอสตร้าเซนเนก้า คือการส่งมอบวัคซีนที่มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้กับรัฐบาลไทยโดยเร็วที่สุด เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อทยอยส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศไทย บริษัทฯตระหนักดีถึงความกังวลใจและคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและความพร้อมในการจัดหาวัคซีน เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยและประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เลวร้ายนี้ เรามีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามปณิธานของบริษัทในการนำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยแอสตร้าเซนเนก้าจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลิตและกระจายวัคซีน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ โดยไม่หวังผลกำไร

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท