กองทัพพม่าแปะป้าย NUG เป็นกลุ่มก่อการร้าย-ยังไม่อนุญาตให้ผู้แทนอาเซียนเยือนจนกว่าประเทศจะมีเสถียรภาพ

กองทัพพม่าแปะป้ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เป็นพวกก่อการร้าย และอยู่เบื้องหลังเหตุความวุ่นวาย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. กองทัพพม่าแถลงว่ายังไม่อนุญาตให้ผู้แทนอาเซียนเยือนพม่า จนกว่าสถานการณ์ในพม่าจะกลับมามีเสถียรภาพ

มานวินข่ายตาน นายกรัฐมนตรี รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) แฟ้มภาพ
 

9 พ.ค.64 สำนักข่าวจากตะวันออกกลาง อัลจาซีรา รายงานวันนี้ (9 พ.ค.) ระบุว่า หัวหน้ากองทัพพม่า แถลงผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล แปะป้ายรัฐบาลคู่ขนาน หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เป็นผู้ก่อการร้าย พร้อมกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางระเบิด วางเพลิง และก่อคดีฆาตกรรม  

ตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. และควบคุมตัวแกนนำในรัฐบาลพลเรือน อย่างอองซานซูจี แห่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ทำให้ประชาชนพม่าไม่พอใจ จนกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการลุกฮือประท้วงกองทัพพม่าทั่วประเทศ เรียกร้องให่ฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย 

นอกจากการประท้วงแล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเหตุระเบิดรายวัน ชาวบ้านมีการจัดตั้งกองกำลังเพื่อปะทะและปกป้องตนเองจากกองทัพพม่า มีการประท้วงต้านรัฐประหารพม่าเกิดขึ้นในหลายประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการนัดหยุดงานทั่วประเทศพม่าส่งผลให้เศรษฐกิจต้องชะงักงัน  

การประกาศของกองทัพพม่า ขึ้นบัญชีดำให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เป็นกองกำลังก่อการร้าย เกิดขึ้นหลังจากช่วงที่ผ่านมา NUG ประกาศสถาปนากองกำลังของประชาชน เพื่อพิทักษ์ผู้สนับสนุนจากการใช้ความรุนแรงซึ่งมีกองทัพพม่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง 

ช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลเมียนมา 'MRTV' แถลงว่า NUG คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ CRPH และกองกำลังที่พวกเขาตั้งขึ้นมาใหม่ หรือกองกำลังความมั่นคงของประชาชน (People's Defence Force) จะถูกรวมอยู่ในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่  

“การกระทำของพวกเขา (ผู้สื่อข่าว NUG, CPRH และกองกำลังความมั่นคงของประชาชน) ทำให้เกิดการก่อการร้ายในหลายพื้นที่”

“มีเหตุระเบิด ไฟไหม้ เหตุฆาตกรรม และคุกคามเพื่อทำลายกลไกการทำงานของรัฐบาล” ถ้อยบางส่วนจากการประกาศในช่อง MRTV

ทั้งนี้ กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายไม่ได้ส่งผลแค่กลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ข้องแวะ และติดต่อกับกลุ่มดังกล่าว ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า ผู้เสียชีวิตโดยเงื้อมมือของกองทัพพม่า พุ่งขึ้นเป็น 774 รายนับตั้งแต่รัฐประหาร และมีนักโทษการเมืองอีก 3,778 ถูกควบคุมในเรือนจำ แต่ผู้ประท้วงต้านรัฐประหารยังคงออกมาชุมนุมตามท้องถนนในหลายพื้นที่

ขณะเดียวกัน เผด็จการทหารโต้แย้งตัวเลขผู้เสียชีวิตจากรายงานดังกล่าว พร้อมระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่ำ 24 ราย ที่เสียชีวิตจากการกระทำของผู้ประท้วงเช่นกัน  

ทัพพม่าแถลง อาเซียนเยือนประเทศได้ก็ต่อเมื่อพม่ากลับมามีเสถียรภาพ

แม้ว่าในการประชุมผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อคลี่คลายวิกฤตเมียนมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.64 ซึ่งมินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร เข้าไปชี้แจงในที่ประชุมดังกล่าวถึงเหตุผลทำรัฐประหารด้วยนั้น จะมีการบรรลุฉันทามติ 5 ข้อเพื่อแก้ไขสถานการณ์พม่า ประกอบด้วย 

1) หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด 

2) ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

3) ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ 

4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA 

5) สุดท้าย ผู้แทนพิเศษ  และคณะผู้แทน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ภาพการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.64 (ที่มา เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
 

แต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.64 สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า กองทัพพม่ายังไม่ตกลงให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน เดินทางเยือนพม่าจนกว่าสถานการณ์ภายในประเทศจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง พร้อมแสดงความกังวลว่า การเยือนของอาเซียน อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อชีวิตของผู้ประท้วง และชนกลุ่มน้อย  

“ตอนนี้ ความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศพม่าต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง” พลตรี ข่องเต็ดซาน โฆษกแห่งสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) แถลงข่าวออนไลน์เมื่อวันที่ 7 พ.ค.64  

โฆษก SAC กล่าวว่า ทางกองทัพพม่าจะให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษ ต่อเมื่อกองทัพสามารถฟื้นคืนความมั่นคงและเสถียรภาพภายในประเทศให้กลับมาอยู่ในระดับที่ต้องการ 

นอกจากนี้ ทางโฆษกระบุด้วยว่า กองทัพพม่าจะพิจารณาข้อเสนอแนะจากที่ประชุมผู้นำอาเซียน เฉพาะในส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อวิสัยทัศน์สำหรับประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นคำพูดเดียวกับที่มินอ่องหล่ายพูดที่ประชุมอาเซียน แม้ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่เคยเอ่ยว่า จะทำตามฉันทามติทุกข้อ

 

แปลและเรียบเรียง 

Myanmar military designates shadow gov’t as ‘terrorist’ group

Myanmar army says no ASEAN envoy visit until stability restored

Myanmar coup latest: Junta claims to approve biggest investment since takeover

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท