กก. CESCR ชี้การผลักดันผู้หนีภัยสู้รบกลับฝั่งพม่า แหกแนวปฏิบัติสากล

'สำนักข่าวชายขอบ' สัมภาษณ์ กก. CESCR ของ UN ชี้งงไทยเร่งผลักดันผู้หนีภัยสู้รบกลับฝั่งพม่า-แหกแนวปฏิบัติมาตรฐานสากล ด้าน 'โฆษกกลาโหม' ระบุกองทัพได้ช่วยเหลือดำเนินการอพยพเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสู่รบของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

9 พ.ค. 2564 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่าสืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวว่าทหารไทยได้ผลักดันชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหารกะเหรี่ยง KNU ด้านชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กลับฝั่งพม่า ภายหลังจากที่อพยพเข้ามาหลบภัยฝั่งไทยตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2564 แม้ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบครั้งนี้พยายามอ้อนวอนขออยู่ต่อเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบยังไม่สงบเพราะเครื่องบินรบของกองทัพพม่ายังคงบินลาดตระเวนต่อเนื่องแต่ก็ได้รับการปฏิเสธนั้น

'เพื่อนไร้พรมแดน' เผยกองทัพกำลัง 'ผลักดันผู้ลี้ภัย' จากอิตูท่า ให้ข้ามน้ำสาละวินกลับ

ดร.เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights – CESCR) ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบ ว่ารู้สึกเห็นใจที่ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง และรู้สึกประหลาดใจด้วยเช่นกัน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้ลี้ภัยจากฝั่งพม่าข้ามมาพักพิงในไทยซึ่งประสบการณ์ที่มีเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเมื่อปี 1988 ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์อยู่ชายแดนและยังมีคนเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

“ครั้งนี้เกิดการผลักดันกลับทันที ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจว่าประสบการณ์ที่มีอยู่ ทำไมถึงไม่นำมาใช้ แต่เกิดเหตุผลักกลับทันที องค์ความรู้ที่เรามีอย่างน้อย 3 ระลอก น่าจะช่วยให้มีแนวปฎิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว จนกลายเป็นนโยบาย และเราได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยไม่ผลักเขากลับทันที แต่ให้ที่พักพิงในเบื้องต้น เรามีชายแดนที่ติดต่อกันยาวเหยียด ที่น่ากังวลคือวิธีปฎิบัติในกรณีนี้ จะถูกนำมาใช้กับกรณีอื่นด้วยหรือไม่” ดร.เสรี กล่าว

ดร.เสรีกล่าวว่า ไทยมีภาระของความใกล้ชิดกับพม่า ซึ่งกรอบอาเซียนกับพม่า และกรอบระหว่างไทยกับพม่า เราต้องแยกให้ออก คำถามว่ารัฐไทยทำไมปฎิบัติเช่นนี้ หรืออาจเป็นแค่กรณีนี้ แต่ถ้าเป็นแนวปฎิบัติทั่วไปก็ต้องกลับมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร เพราะมีหลายเหลี่ยมของเหตุการณ์ที่ต้องวิเคราะห์ ซึ่งตอนนี้นโยบายของรัฐไทยก็ยังเป็นไปตามกฏหมายระหว่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามย่อมเกิดปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะหากเจ้าหน้าในระดับปฎิบัติฝ่าฝืน ก็ต้องตั้งคำถามกับระดับนโยบาย

“ถ้าเราตั้งคำถามไปหลายครั้ง แล้วเขาไม่ตอบก็เท่ากับยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะหน่วยงานเฉพาะไม่ได้เสนอปฎิกริยาที่เหมาะสม เช่น ปฎิเสธ หรือยอมรับว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร” กรรมการ CESCR กล่าว และว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีแนวปฏิบัติมาตรฐานกรณีช่วยเหลือผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่แล้ว ว่าต้องให้ความเย็นเขาก่อน การผลักกลับเลยทำไม่ได้หากเหตุการณ์การต่อสู้ยังปะทุอยู่ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ดังนั้นการผลักดันครั้งนี้ต้องตั้งคำถาม เมื่อการสู้รบยังเกิดอยู่ ทำไมเจ้าหน้าที่ด่านหน้าถึงไม่รู้นโยบายใช่หรือไม่ เพราะไม่ไม่สอดคล้องกับนโยบายเดิมและหลักการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยความตาย

อ่านข่าว 'กก. CESCR ของ UN งงไทยเร่งผลักดันผู้หนีภัยสู้รบกลับฝั่งพม่า-แหกแนวปฏิบัติมาตรฐานสากล ชาวบ้านโอดชีวิตหนีอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่อยากอยู่บ้าน เผยเจ็บป่วยอื้อ' ฉบับเต็มในสำนักข่าวชายขอบ

'โฆษกกลาโหม' ระบุกองทัพไทยได้ช่วยเหลืออพยพไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสู่รบ ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันเดียวกันนี้ (9 พ.ค.) สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าพลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีการสู้รบของกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับกองกำลังทหารพม่าว่า ขณะนี้ยังมีการสู้รบกันอยู่ ซึ่งความรุนแรงมีผลกระทบต่อคนไทยที่อาศัยบริเวณตามแนวชายแดนประมาณ 300 คน ล่าสุดทางกองทัพไทยได้เข้าไปช่วยเหลือดำเนินการอพยพเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสู่รบของทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

สำหรับชนกลุ่มน้อยที่อยู่บริเวณแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนการใช้กำลังทางทหาร ทางกองทัพไทยจึงได้เปิดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวไว้รองรับซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลและได้รับการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมประมาณ 2,200 คน ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกรมควบคุมโรคทั้งเจ้าหน้าที่และผู้หลบภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสด พร้อมขอความร่วมมือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องงดการเดินทางเข้าพื้นที่ เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากลำบากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลถึงสิ่งของบริจาคได้ถูกนำส่งถึงมือผู้หลบภัยทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท