Skip to main content
sharethis

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ของสหรัฐฯ วิจารณ์กรณีที่ชิ้นส่วนจรวดอวกาศของจีนตกลงสู่โลกโดยขาดการควบคุมว่า นับเป็นความล้มเหลวในด้านมาตรฐานความรับผิดชอบ ซึ่งชิ้นส่วนจรวดอวกาศของจีนที่ชื่อลองมาร์ช 5B หรือ CZ-5B เพิ่งตกลงสู่ทะเลอินเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึงกรณีจรวดลองมาร์ช 5B หรือ CZ-5B ของจีนสูญเสียการควบคุมในวิถีโคจรของโลก และมีการประเมินจะตกลงสู่พื้นโลกแต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะตกลงที่ไหน ล่าสุดในช่วงคืนวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ชิ้นส่วนจรวด CZ-5B ก็ตกลงที่ทะเลอินเดีย ประเทศที่อยู่ใกล้ที่สุดจากจุดที่ตกคือประเทศมัลดีฟส์

เรื่องนี้ทำให้นาซาวิพากษ์วิจารณ์จีนว่า "ล้มเหลวในการรักษามาตรฐานความรับผิดชอบเกี่ยวกับชิ้นส่วนอวกาศของพวกเขา" นาซาวิจารณ์อีกว่า "ประเทศที่เดินทางสู่อวกาศควรจะต้องลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและทรัพย์สินบนโลกให้เหลือน้อยที่สุดในเรื่องการทำให้วัตถุอวกาศกลับลงสู่พื้นโลก และควรจะมีความโปร่งใสอย่างถึงที่สุดในการปฏิบัติการเหล่านี้"

องค์การด้านการบินอวกาศของจีน CMSEO เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนที่เหลือของจรวดลองมาร์ช 5B ที่มีความยาวประมาณ 30 เมตร และมีความกว้างเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ซึ่งภายในกลวงเปล่า ได้ตกลงสู่ทะเลอินเดียที่ลองติจูดที่ 72.47 องศาตะวันออก และละติจูด 2.65 องศาเหนือ

ในเวลาต่อมาข้อมูลของกองบินควบคุมอวกาศที่ 18 ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ที่ทำการติดตามจรวด CZ-5B  ระบุว่ามีการตกลงมาห่างออกไปทางตะวันออกของชายฝั่งคาบสมุทรอาหรับ โดยระบุเสริมอีกว่า "ไม่ทราบว่ามีเศษชิ้นส่วนตกกระทบผืนดินหรือผืนน้ำ" ทั้งนี้สื่อซีเอ็นเอ็นยังระบุว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าชั้นส่วนของจรวดนี้ตกลงใส่แนวปะการังหรือไม่

ชิ้นส่วนจำนวนมากของตัวจรวด CZ-5B ได้เผาไหม้ในช่วงที่กลับสู่ชั้นบรรยากาศ เว้นแต่ชิ้นส่วนที่ทนต่อความร้อนอย่างถังเชื้อเพลิงและทรัสเตอร์ที่ผลิตจากสเตนเลสสตีลหรือไทเทเนียมจะเป็นชิ้นส่วนที่เหลือตกลงมา

จรวด CZ-5B ได้ถูกยิงขึ้นจากสถานีอวกาศของจีนได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายลำเลียงชิ้นส่วนสถานีอวกาศของจีนขึ้นไปบนวงโคจรของโลก แต่หลังจากที่ใช้เชื้อเพลิงไปหมดแล้ว ตัวจรวดก็ลอยเคว้งขาดการควบคุมจนกระทั่งตกลงมาพบโลกด้วยแรงโน้มถ่วง

โดยทั่วไปแล้ว ประชาคมนานาชาติด้านอวกาศจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น จรวดส่วนใหญ่ที่ใช้ลำเลียงดาวเทียมหรือวัตถุต่างๆ ขึ้นไปบนอวกาศจะมีการควบคุมการกลับลงสู่พื้นโลกโดยมุ่งเป้าให้ไปตกในมหาสมุทร หรือไม่ก็ทิ้งให้อยู่ในวงโคจรที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "หลุมศพ" ของจรวดเหล่านี้ ที่จะทำให้พวกมันลอยอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษ

แต่ก็มีการวิเคราะห์ จากโจนาธาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่ากรณีของลองมาร์ช 5B นี้กลับออกแบบให้มันถูกปล่อยทิ้งให้ลอยอยู่ในวงโคจรระดับต่ำ ซึ่งเว็บไซต์สเปซนิวส์ระบุว่าเป็นเรื่องผิดวิสัยที่จะการปล่อยให้ตัวจรวดขั้นแรกไปอยู่ในวงโคจรระดับต่ำเช่นนี้ เพราะจะทำให้มันตกสู่พื้นโลกโดยไม่สามารถควบคุมได้

สเปซนิวส์ระบุว่าโดยทั่วไปแล้วขั้นแรกสุดของตัวจรวดจะไม่ถูกปล่อยให้ลอยไปถึงระดับชั้นวงโคจร แต่จะถูกปล่อยให้ตกลงกลับสู่ชั้นบรรยากาศเลยเพื่อให้สามารถควบคุมการตกของมันได้ไปยังส่วนการตกที่จะไม่เสี่ยงต่อการสร้างความเสียหาย แต่ดูเหมือนว่าสื่อโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนก็พยายามบ่ายเบี่ยงในเรื่องนี้หรือใช้คำที่ชวนให้ไขว้เขวเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาด หรือกล่าวโทษ "สื่อตะวันตก" ซึ่งสเปซนิวส์ได้วิจารณ์ในเรื่องนี้ไว้ด้วย

การที่ชิ้นส่วนเหลือของจรวดลอยหมุนวนตามวงโคจรโดยไม่สามารถควบคุมได้นั้นทำให้องค์การอวกาศต่างๆ พยายามประเมินเวลาตกและประเมินความเสี่ยงว่าจะตกลงใส่พื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือไม่ องค์การอวกาศยุโรปเคยประเมินว่าพื้นที่เสี่ยงต่อการตกเป็นพื้นที่ระหว่าง 41.5 ละติจูดองศาเหนือ และ 41.5 ละติจูดองศาใต้ ซึ่งนับได้คือตอนใต้ของนิวยอร์ค สหรัฐฯ, แอฟริกาทั้งทวีป, ออสเตรเลีย, ส่วนหนึ่งของเอเชียที่อยู่ใต้ญี่ปุ่น, บางประเทศในยุโรปคือ สเปน, โปรตุเกส, อิตาลี และกรีซ อย่างไรก็ตามมีโอกาสสูงเช่นกันที่จะไปตกในมหาสมุทรเพราะผืนโลกส่วนใหญ่เป็นมหาสมุทร

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าถึงแม้จะมีความพยายามในการจัดการกับชิ้นส่วนเหลือทิ้งของวัตถุอวกาศให้ดีกว่านี้ แต่รอบวงโคจรของโลกก็เต็มไปด้วยขยะอวกาศลอยวนอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเศษชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ซม.

วัตถุส่วนใหญ่เหล่านี้มักจะเผาไหม้ไปหมดเมื่อมันหล่นผ่านชั้นบรรยากาศของโลกก่อนที่จะถึงพื้นโลก แต่ชิ้นส่วนขนาดใหญ่อย่างจรวดลองมาร์ชล่าสุดนี้จะเผาไหม้ได้ไม่หมดและมีโอกาสหล่นสู่พื้นโลกสร้างความเสียหายได้

แมคโดเวลล์กล่าวว่าในเรื่องมาตรการปล่อยจรวดนี้ไม่มีกฎหมายนานาชาติระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีบรรทัดฐานทางจรรยาบรรณที่ทั่วโลกมักจะปฏิบัติกันคือเวลาที่ปล่อยจรวดขนาดใหญ่นั้นไม่ควรจะทิ้งขยะอวกาศด้วยวิธีแบบเดียวกับลองมาร์ช 5B ที่ปล่อยไว้โดยไม่สามารถควบคุมได้ที่ชั้นวงโคจรระดับต่ำ


เรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net