Skip to main content
sharethis

ผุดแคมเปญล่าชื่อผ่าน change.org คัดค้านและปกป้องน​.​ศ. จากการใช้ 112 ไร้ความชอบธรรม ทำลายค่านิยมการแสดงออกอย่างเสรีของศิลปะ ทะลุ 2 พันแล้ว ย้ำ “ศิลปะ” ไม่ว่าจะนิยามความหมายไว้อย่างไร ก็มิใช่สื่อที่มีไว้เพื่อ สร้าง โฆษณาชวนเชื่อของใครและเพื่อใคร 

10 พ.ค.2564 จากกลุ่มนักศึกษา ภาควิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ และ นักศึกษา ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ได้จัดแสดงผลงานศิลปะ และผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ได้ยึดและทำลายผลงานนักศึกษาโดยไม่มีการชี้แจงและแจ้งล่วงหน้า ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาจนเป็นข่าวและกระแสที่คนให้ความสนใจเป็นวงกว้าง ต่อมาได้มีการชี้แจงโดยการออกแถลงการณ์ทั้งจากทางคณะวิจิตรศิลป์เอง และจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นเหตุผลอันสมควรต่อการกระทำดังกล่าว ว่านักศึกษาว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายกระทำผิดทางกฎหมาย อีกทั้งยังใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของนักศึกษา หากนักศึกษากระทำการไม่เหมาะสมตามที่กล่าวอ้าง คำถามคือ อะไรคือความไม่เหมาะสม การสอบถามและสืบสวนข้อเท็จจริงคือสิ่งที่พึงกระทำก่อนหรือไม่

โดยนอกจากผลงานของนักศึกษาที่ถูกทำลายแล้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา นักศึกษาเจ้าของผลงาน 2 คน ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจ แจ้งให้ไปรายงานตัวคดี หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือ 112 และพ.ร.บ.ธง โดยที่ไม่มีหมายเรียก ให้รายงานตัวภายในวันที่ 3 พ.ค. ทั้งนี้ทนายฝ่ายนักศึกษาได้ยื่นเอกสารขอเลื่อนวันรายงานตัว ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 11 พ.ค. ที่จะถึงนี้นั้น

ล่าสุดผู้ใช้ชื่อ 'แฮรี่ พอตเตอร์' ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ "คัดค้านและปกป้องน​.​ศ. จากการใช้ 112 ไร้ความชอบธรรม ทำลายค่านิยมการแสดงออกอย่างเสรีของศิลปะ" ผ่านเว็บไซต์ www.change.org  เพื่อร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ  และผู้มีอำนาจตัดสินใจอื่นอีก 5 คน ประกอบด้วย คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

เมื่อเวลา 19.50 น. วันที่ 10 พ.ค.64 มีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 2,000 รายชื่อ

บันทึกเมื่อเมื่อเวลา 19.50 น. วันที่ 10 พ.ค.64

ผู้สร้างแคมเปญฯ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา จากการแสดงผลงานศิลปะซึ่งอาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม แสดงออกในความเชื่อบางอย่างที่แตกต่าง ถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรงและไม่ชอบธรรม ทั้งที่ศิลปะคือสื่อที่สามารถสื่อสารได้อย่างเสรีในสากล เราสร้างศิลปะเพื่อตั้งคำถามกับสังคมในทุกประเด็น แต่ถูกกล่าวหาว่าสร้างความเดือดร้อนต่อสังคม หากเป็นเช่นนั้น นั่นหมายความว่าคนบางกลุ่มกำลังใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อครอบงำสังคมแห่งความหลากหลาย ซึ่งตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย เสรี และเท่าเทียม ด้วยความเชื่อบางอย่างให้เป็นไปในทิศทางเดียวหรือไม่  อย่างไรก็ตามการใช้กฎหมายร้ายแรงอย่าง ม.112 กับนักศึกษา และการแสดงออกทางศิลปะในสถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ยังมีนักศึกษาที่ถูกละเมิดสิทธิในการแสดงออกและถูกจับ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 2ปี 6เดือนจากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ในงานเทศกาลถนนศิลปะ (Art Lane) ที่ได้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2558 ทำให้ปติวัฒน์ ไม่สามารถได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาได้
           
การใช้กฎหมาย ม.112 กับการแสดงออกทางศิลปะเป็นการทำลายค่านิยมของศิลปะอันเป็นสื่อที่สร้างสรรค์กันอย่างเสรี กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว ปิดปาก ปิดกั้น การแสดงออกผ่านศิลปะอันเป็นผลงานจากการสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม จุดประกายความคิด ข้อสงสัย ข้อถกเถียง เปิดโลกทัศน์ให้กับสังคม การกีดกันทางศิลปะเป็นเรื่องน่าอายและแสดงให้เห็นว่าประเทศนั้น ๆ ขาดอารยธรรม ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และสุนทรียะในการเสพสื่อศิลปะ สิ่งที่คณบดีวิจิตรศิลป์ได้ใช้อำนาจในการยึดผลงานศิลปะ และไม่ออกมาปกป้อง แสดงท่าทีใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่นักศึกษากรณีถูกแจ้งจับ ม.112 เป็นเรื่องที่ไร้จริยธรรม และความเป็นมนุษย์ต่อนักศึกษาอย่างมาก อีกทั้งยังมีบรรยากาศการขัดขวางอาจารย์ท่านอื่นที่ประสงค์จะเป็นนายประกันแก่นักศึกษาที่ถูกหมายเรียก ม.112 อีกด้วย

"ไม่เฉพาะแค่กับนักศึกษา สิ่งเหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนไทยทุกๆ คน จึงขอความร่วมมือในการลงชื่อเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องอิสรภาพของนักศึกษาทั้งการแสดงออกและชีวิต ซึ่งไม่ควรถูกจับด้วยข้อหาที่ร้ายแรงจากผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ในรายวิชาและแสดงในมหาวิทยาลัย ทั้งที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาและควรเป็นองค์กรที่สนับสนุนกระบวนการศึกษามิใช่ขัดขวาง ที่สำคัญที่สุด “ศิลปะ” ไม่ว่าจะนิยามความหมายไว้อย่างไร ก็มิใช่สื่อที่มีไว้เพื่อ สร้าง “โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของใครและเพื่อใคร” ผู้สร้างแคมเปญฯ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net