คุยเรื่องความโกรธ เมื่อคุณค่าถูกละเมิด เราต้อง ‘โกรธ’

มองจากแง่มุมพุทธศาสนา ความโกรธเป็นบ่อเกิดความทุกข์ แต่ในสังคมเวลานี้ การไม่โกรธดูเหมือนไม่ใช่คำตอบเพราะคนจำนวนหนึ่งกำลังโกรธ ความรู้สึกโกรธจึงอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่คิดหากโกรธอย่างเหมาะสม และยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรม การไม่โกรธอาจชวนให้ตั้งคำถามทางศีลธรรมมากกว่า

  • อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวบอกว่ามนุษย์คนหนึ่งให้คุณค่ากับอะไรและเป็นเข็มทิศว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ มนุษย์ควรรู้สึกอย่างไร
  • ขณะที่พุทธศาสนามองว่าความโกรธเป็นบ่อเกิดของความทุกข์และต้องการก้าวพ้นอารมณ์ความรู้สึก จริยศาสตร์คุณธรรม (virtue ethic) มองว่าความโกรธเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม
  • จริยศาสตร์คุณธรรมเห็นว่ามนุษย์ควรโกรธอย่างเหมาะสมคือรู้ว่าควรโกรธใคร แค่ไหน อย่างไร และควรตอบสนองต่อความโกรธอย่างไร เพราะการไม่โกรธเลยเป็นการดูถูกตัวเองอย่างหนึ่ง
  • กรณีการไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ศาลมีสมมติฐานเบื้องต้นแบบจารีตนิยมไม่ใช่เสรีนิยมประชาธิปไตย และใช้คุณค่าที่ตนยึดถือส่วนตัวในการพิจารณา ซึ่งระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่อนุญาต
  • การพูดคุยอย่างเสรีเป็นทางออกจากความคุกรุ่นทางการเมืองซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีอำนาจปิดปากอีกฝ่ายไม่ให้พูดได้อย่างเสรี และนี่เป็นสิ่งที่ควรโกรธ

สังคมไทยเวลานี้เหมือนจะปกคลุมด้วยความรู้สึก 2 อย่างคือโกรธกับสิ้นหวัง อันเนื่องจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ

แต่เราจะชวนคุยถึงความรู้สึกแรกคือความรู้สึกโกรธ

ถ้าตั้งต้นจากศาสนาที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมไทย ความโกรธจัดอยู่ในโทสะซึ่งเป็น 1 ใน 3 อกุศลมูลหรือรากเหง้าของกิเลส ดังนั้น เราจึงไม่ควรโกรธเพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ประเด็นคือเราจะไม่โกรธเมื่ออยู่ต่อหน้าความไม่เป็นธรรม การกดขี่ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ได้หรือไม่ อย่างไร

ถอยออกมาจากแนวคิดแบบพุทธ ความโกรธกลับมีที่ทางในจริยศาสตร์คุณธรรม (virtue ethics) ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้มนุษย์ถอดถอนความรู้สึกโกรธออกไป แต่เรียกร้องให้มนุษย์มี ‘ความรู้สึกที่เหมาะสม’ (good temper) ต่อสถานการณ์ทางศีลธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เราควรรู้ว่าจะโกรธใคร เมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์

‘ประชาไท’ สนทนากับเหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์ จากสาขาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องความโกรธที่กำลังคุกรุ่นในสังคมถึงหน้าที่ของมันในทางจริยศาสตร์เพราะการไม่โกรธเลยเป็นการดูถูกตัวเองแบบหนึ่ง

การไม่โกรธเลยเป็นการดูถูกตัวเอง

เหมือนมาดอธิบายว่า อารมณ์ความรู้สึกมีบทบาทและคุณค่าทางจริยธรรม ซึ่งความโกรธแสดงว่าเราให้คุณค่ากับอะไร เพราะมนุษย์จะโกรธในสิ่งที่ตนให้คุณค่า เธอยกตัวอย่างอย่างการนำสัตว์ไปทดลองเครื่องสำอางหลายคนโกรธ หลายคนไม่โกรธ มันแสดงให้เห็นว่าระบบคุณค่าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประการต่อมาเรียกว่า heuristic guide คือเป็นเข็มทิศนำทางว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ เราควรรู้สึกอย่างไร เช่น กรณี ส.ส.ผู้หญิงว่าสวย ทำไมบางคนจึงรู้สึกถูกดูถูก

“บางทีความรู้สึกมาก่อน ถ้าคนที่ฝึกความรู้สึกมาดีแล้ว พอมีความรู้สึกที่เราไม่สบายใจหรือโกรธ มันชี้ให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกแบบไหน มันกำลังบอกเราว่ามีบางอย่างผิดหรือบางอย่างถูก

“ถ้าไม่โกรธเลยเป็นการดูถูกตัวเอง ในหนังสือ Nicomachean Ethics ของอริสโตเติ้ลเขียนว่าขอบเขตของหนังสือคือชีวิตที่ดีและชีวิตที่ดีนี้เป็นชีวิตที่ดีของมนุษย์ อย่าลืมว่าอริสโตเติ้ลเป็นนักชีววิทยาแสดงว่าต้องมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เรียกได้ว่ามีความเจริญงอกงามสมกับความเป็นมนุษย์ จริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ลจึงมีความเป็นมนุษยนิยมในลักษณะนี้ ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะทำให้คนเป็นพระเจ้า อริสโตเติ้ลบอกเองว่าถ้ามีอะไรที่ดีสำหรับพระเจ้าไม่ต้องมาพูดกับฉันเพราะฉันเป็นคน รู้ไปก็เอามาทำให้ชีวิตฉันดีขึ้นไม่ได้

อารมณ์ความรู้สึกในพุทธและอริสโตเติ้ล

เมื่อจริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ลถามหาถึงชีวิตที่ดีของมนุษย์ ความรู้สึกย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดชีวิตที่ดีในฐานะมนุษย์ ขณะที่พุทธมีความเหมือนกับปรัชญาสโตอิกของโรมันที่ต้องการให้ชีวิตสงบสุข ไม่ถูกรบกวน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองว่าชุมชนของมนุษย์ดี ถ้าดีก็ดีในฐานะที่เป็นเงื่อนไขให้ไปสู่นิพพาน

“ศาสนาพุทธกับปรัชญาสโตอิกของโรมันจึงมีความคิดเหมือนกันว่าความรู้สึกนำมาสู่ความทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องจัดการกับความรู้สึก โดยเฉพาะปรัชญาสโตอิกคือทำยังไงให้อยู่เหนือความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไป ศาสนาพุทธก็เหมือนกัน มันจึงมีลักษณะก้าวข้ามเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ต่างๆ แล้วความรู้สึกมันคือความเป็นมนุษย์มากๆ

“พุทธก็บอกว่าความรู้สึกทำให้เกิดความทุกข์และก็ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับความสุข เพราะทั้งสุขและทุกข์เป็นอารมณ์ พุทธอยากจะอยู่เหนืออารมณ์ต่างๆ ซึ่งคืออะไรไม่รู้ มนุษย์ธรรมดาเข้าใจไม่ได้ว่าภาวะนิพพานคืออะไร เพราะมันอยู่เหนือสภาวะความเป็นมนุษย์”

แต่แนวคิดของอริสโตเติ้ลไม่ได้พยายามก้าวข้ามสภาวะความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เป็นคนแรกที่บอกว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นพลเมือง อยู่ในสังคมมนุษย์ มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ และชีวิตที่ดีก็คือชีวิตที่มีเพื่อน ได้ทำประโยชน์กับสังคม

“เราจะเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมคุณธรรมถึงดี ถ้าไม่เข้าใจเสียก่อนว่ามนุษย์อยู่ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เช่น ความมีน้ำใจ ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ ล้วนแล้วแต่จะมีความหมายเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น คุณธรรมที่อริสโตเติ้ลพูดถึงคือแบบแผนที่บอกว่าเราควรมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นอย่างไร”

ความรู้สึกที่เหมาะสม ความโกรธที่เหมาะสม

คุณธรรมข้อหนึ่งตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลคือ good temper ซึ่งแปลว่าความรู้สึกที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างความเกรี้ยวกราดกับการเฉยชายอมทุกอย่างแบบไม่มีกระดูกสันหลัง ตรงกลางในที่นี้หมายถึงยอมในเวลาที่ควรจะยอม ในเรื่องที่ควรจะยอม โกรธในเรื่องที่ควรจะโกรธ มีมุมมองว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ และควรจะโกรธมากน้อยแค่ไหน ความรู้สึกที่เหมาะสมจึงเป็นค่ากลางระหว่างความเกรี้ยวกราดกับความไม่มีกระดูกสันหลัง

“โกรธในเวลาที่เหมาะสม ต่อบุคคลที่เหมาะสม ในแบบที่เหมาะสม และวิธีที่เหมาะสม สิ่งที่จะทำให้เรารู้ได้คือ practical wisdom หรือปัญญาทางจริยธรรมที่เราจะอ่านสถานการณ์ทางจริยธรรมได้ถูกต้อง ไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นสากลใช้วัดสถานการณ์ทั้งหมดได้เพราะไม่ใช่ทฤษฎีจริยศาสตร์ที่มาจากยุคภูมิปัญญา ต้องดูบริบท มันไม่มีสองสถานการณ์ในชีวิตมนุษย์ที่เหมือนกัน เราต้องรู้ ต้องเข้าใจว่าที่มาที่ไปของทุกฝ่ายในสถานการณ์หนึ่งคืออะไร และหลักการพื้นฐานของชีวิตมนุษย์คืออะไร คุณค่าที่มนุษย์ควรจะมีในฐานะมนุษย์คืออะไร

“คุณค่าใดที่ถูกละเมิดหรือถูกมองข้ามเหยียบย่ำ ถูกเหยียบย่ำขนาดไหน เช่น ถ้าคุณไปด่าพ่อล่อแม่เขากับการไปฆ่าเขาก็ไม่เหมือนกัน และยังขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร เช่นถ้าคุณเป็นคนที่มีอำนาจมากทำอะไรกับเสือดำที่ทำอะไรคุณไม่ได้ อันนี้ควรจะโกรธมากขึ้นเพราะคนที่มีความยุติธรรมก็จะไม่ทำอะไรแบบนั้น เป็นตัวอย่างว่าเราต้องดูหลายๆ มิติถึงจะเข้าใจว่าควรโกรธขนาดไหน ไม่มีคำตอบที่ตอบไว้ก่อนล่วงหน้าได้ แต่คุณต้องมีความรู้สึกนึกคิดของความเป็นมนุษย์”

เหมือนมาดยกตัวอย่างอีกว่า ถ้ามีคนถูกรังแกอย่างไม่ยุติธรรม เราต้องรู้ก่อนว่าความยุติธรรมเป็นคุณค่าหนึ่งของมนุษย์และมนุษย์มีศักดิ์ศรี ที่ไหนที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกละเมิด เราควรจะโกรธ มีการตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งได้มาจากความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความสามารถที่จะรู้ทันสถานการณ์ จึงจะรู้ได้ว่าการตอบสนองที่เหมาะสมคืออะไร ควรโกรธแค่ไหน และเราควรทำอะไร เพราะหากมีความรู้แต่ไม่มีความสามารถในการอ่านสถานการณ์ก็อาจส่งผลให้เกิดการกระทำที่ผิด

อย่างกรณีการเปิดเผยชื่อญาติและครอบครัวของผู้พิพากษา เหมือนมาดกล่าวว่าไม่ใช่ความโกรธที่เหมาะสม แต่เป็นการกระทำที่ผิดทิศทาง

“ทิศทางมันผิดตั้งแต่แรกเพราะถ้าคุณจะเป็นเสรีนิยม คุณต้องให้คุณค่าสิทธิของปัจเจก คุณไม่ควรลงโทษคนเพราะเขาเป็นลูกใคร ในทำนองเดียวกับที่คุณปฏิเสธว่าไม่ควรสรรเสริญคนเพียงเพราะเขาเป็นลูกใคร ในทางเดียวกันคุณก็ต้องไม่ด่าใครเพียงเพราะเขาเป็นลูกใคร คุณต้องทำตามตรรกะของคุณ เพราะฉะนั้นญาติพี่น้องเขาไม่เกี่ยวก็คือไม่เกี่ยว”

สมมติฐานเบื้องต้นที่ต่างกัน

ลองนำสถานการณ์ทางการเมืองอย่างการไม่ยอมให้ประกันตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เหมือนมาคลี่ให้เห็นเบื้องต้นว่าเกิดจากสมมติฐานเบื้องต้น (basic assumption) ไม่เหมือนกัน เพราะเราไม่เข้าใจว่าสมมติฐานพื้นฐานของแต่ละฝ่ายคืออะไร ถ้าสมมติฐานเบื้องต้นคือมนุษย์มีเสรีภาพและรัฐไม่สามารถจำกัดเสรีภาพของคนได้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ และต้องจำกัดเสรีภาพให้น้อยที่สุดก็จะเห็นและเข้าใจว่าทำไมระบบกฎหมายจึงประกันเสรีภาพของคนและต้องถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิพากษาว่าผิดจริง

“ถ้าคิดแบบเสรีนิยมมันเข้าใจได้ว่าทำไมคนจึงโกรธ การไม่ให้ประกันแสดงให้เห็นว่าศาลตัดสินไปแล้วว่าเพนกวินทำผิด ทั้งที่ยังไม่สิ้นสุด แต่การพูดแบบนี้เขาจะเถียงกลับมาได้ง่ายเพราะศาลก็แค่บอกว่า ฉันไม่ได้คิดว่าเขาทำผิดหรือทำถูก ฉันแค่คิดว่าเขาจะกลับไปทำอย่างเดิมอีกและต้องการป้องกันไม่ให้ทำอย่างเดิมจนกว่าการตัดสินสุดท้ายจะออกมา

“คำถามจึงไม่ใช่ว่าศาลตัดสินไปแล้วหรือเปล่าว่าเพนกวินผิดหรือไม่ เพราะยังไม่มีการตัดสิน คำถามคือถ้าอยู่ในประเพณีเสรีนิยม เราต้องเห็นว่าเสรีภาพมีคุณค่า การที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัวต้องมีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เช่น ถ้าเพนกวินเป็นผู้ก่อการร้าย เอาระเบิดไปซ่อนตามตึก กรณีอย่างนี้ไม่มีใครคิดว่าควรจะให้ประกันเพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่น

“แต่ argument ของศาลไม่ได้มีสมมติฐานเบื้องต้นแบบเสรีนิยมที่เชื่อว่าเสรีภาพมีคุณค่า แต่มาจากจารีตนิยมที่บอกว่าความจงรักภักดีมีคุณค่าและมีคุณค่าอะไรบางอย่างที่คนที่เป็นคนดีทุกคนในประเทศต้องนับถือ เช่นการไม่ว่าพระมหากษัตริย์ เราไม่ได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก แต่ในฐานะนักปรัชญา เราแกะสมมติฐานเบื้องต้นออกมาให้ดู พอศาลคิดว่าคุณค่าพื้นฐานในสังคมคือการไม่ว่าพระมหากษัตริย์ เป็นคุณค่าพื้นฐานเหมือนกับชีวิตคน ศาลก็เลยคิดโดยตรรกะของเขาว่าถ้าเพนกวินออกมาเท่ากับผิดประหนึ่งว่าไปวางระเบิด”

ศาลตั้งสมมติฐานเกินกว่าที่ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยอนุญาต

คำถามต่อมาคือศาลในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยมีสิทธิที่จะเลือกข้างจารีตนิยมหรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าศาลในรัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ควรมีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง แต่ควรว่าไปตามระบบกฎหมายเสรีนิยมประชาธิปไตย ถ้าศาลมีจุดยืนของตัวเองเพิ่มขึ้นมา เช่น บอกว่าการพูดกระทบกระเทือนใจคนไทยนี่เป็นสมมติฐานที่เพิ่มขึ้นมามากเกินไป ซึ่งจุดนี้สามารถถามได้ว่าศาลรู้ได้อย่างไร

“ปัญหาคือถ้าเราอยู่ในรัฐเสรีนิยม มโนธรรมสำนึกเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา รัฐมายุ่งไม่ได้และต้องประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ทำให้คนตาย ศาลที่ตัดสินว่าประกันไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะไปว่าพระมหากษัตริย์ แสดงว่าศาลไม่เห็นคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่ากับคุณค่าดั้งเดิมของจารีตนิยมที่บอกว่าคนควรจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

“ศาลจึงตั้งสมมติฐานเกินไปกว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยอนุญาต ศาลไม่มีสิทธิจะใช้ความเชื่อส่วนตัวในการพูดเรื่องสาธารณะ บางทีสังคมไทยต้องจับเข่าคุยกันว่าจะเอาเสรีนิยมประชาธิปไตยและมีคุณค่าพื้นฐานแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือจะเอาจารีตนิยม แล้วถ้าเราเอาจารีตนิยมจะถึงขนาดไหน”

ต้องโกรธการใช้อำนาจปิดปาก

เหมือนมาดมองโลกในแง่ดีว่า ปัญหาทางการเมืองแก้ไขด้วยการพูดคุยถกเถียงด้วยหลักเหตุผล ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นปัญหาเพราะในสังคมไทยแม้แต่การถามก็ถามไม่ได้ เนื่องจากมีกฎหมาย 112

“สมมติถ้าเราไม่เห็นด้วยกับจารีตนิยม เราพูด เราก็เหมือนเพนกวิน ทำให้ไม่มีการถกเถียงถึงขั้นพื้นฐานได้ ทำให้คนในสังคมไทยพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะจะพูดกันรู้เรื่องต้องถอยกลับไปว่าสมมติฐานเบื้องต้นของคุณคืออะไร ของฉันคืออะไร ต่างกันยังไง แล้วในฐานะที่เราทั้งคู่เป็นเจ้าของประเทศเท่าๆ กันมีข้อดี ข้อเสียยังไง ที่เราจะพยายามโน้มน้าวอีกฝ่ายหนึ่งได้ อันนี้โดยตัวมันเองก็เรียกร้อง free speech ถ้าไปปิดกั้น free speech มันก็ทำให้สังคมไทยคุกรุ่น

“จารีตนิยมอาจจะดีเลิศเลอก็ได้ แต่คนก็จะไม่รู้ว่ามันดีเพราะคุณปิดปากไม่ให้คนเถียง คือคุณไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าดีด้วยเหตุผล แต่พิสูจน์ว่าดีด้วยการจับคนที่บอกว่าไม่ดีเข้าคุก กรณีนี้ควรโกรธ เพราะถ้าคุณค่าพื้นฐานของคุณอิงกับเสรีนิยมประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นมันละเลยคุณค่าที่สำคัญของเสรีนิยมประชาธิปไตย เราไม่ได้บอกว่าอันไหนดี เราบอกว่าถ้าคุณจะให้คุณค่าเสรีนิยมประชาธิปไตย กรณีนี้เป็นกรณีที่คุณควรจะโกรธ ไม่ใช่เพราะศาลตัดสินเพนกวินไปแล้ว แต่เพราะศาลให้คุณค่ากับเสรีภาพน้อยมาก ไม่เห็นว่าเสรีภาพมีความหมาย ถ้าเทียบกับคุณค่าบางอย่างที่ลอยมาจากฟ้าที่อยู่ในสังคมไทยมาก่อน ซึ่งศาลคิดเองว่าอยู่มาก่อนและไม่มีใครรู้ว่าอยู่มาก่อนจริงไหม”

“ทำไมวาทกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิไปปิดปากอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เพราะอีกฝ่ายหนึ่งถืออำนาจแค่นั้นเอง ดังนั้นก็ต้องโกรธ ต้องอึดอัด เพราะฉันเป็นเสรีนิยมและก็ถูกสอนมาว่าประเทศนี้ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ มันจึงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคุณไม่ได้เล่นตามเกมที่คุณบอกว่าคุณเองก็ยอมรับ และถ้าคุณบอกว่าคุณไม่ยอมรับ ไม่เอาแล้วประชาธิปไตย ก็ยังต้องเถียงกันว่าถ้ามีคนที่เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกันแล้วบอกว่าเขาจะเอาประชาธิปไตย มันต้องเปิดโอกาสให้สองคนมาดีเบต แต่นี่คุณไม่ให้อีกฝ่ายดีเบตและเอาอำนาจไปปิดปากเขา”

ความโกรธไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไปหากโกรธอย่างเหมาะสม เพราะมันเป็นแรงผลักดันที่นอกจากทำให้เราตระหนักรู้สถานการณ์ว่ามีบางอย่างผิด และเมื่อโกรธแล้วเราจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

“เพราะถ้าเราไม่รู้สึกอะไร เราก็ไม่ทำอะไร เวลาเรามีอารมณ์ความรู้สึกไม่ว่าจะโกรธหรือรัก เท่ากับเรา personalize เราคิดว่านี่เป็นเรื่องของเรา ถ้าเราเชื่อในความยุติธรรม ความเท่าเทียม เมื่อเราเห็นสิ่งนี้ถูกละเมิด เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของเรา เราก็จะอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ถูกต้อง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท