รู้จัก ‘ฟ้า ราษฎรมูเตลู’ กับภารกิจปลดแอกเผด็จการวัฒนธรรมด้วยคาถาอาคม

คุยกับพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ 'ฟ้า' จากเจ้าของธุรกิจผู้สนใจเหตุบ้านการเมืองและประวัติศาสตร์ สู่การเป็นอีกหนึ่งปากเสียงที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทำความรู้จักกับกลุ่ม 'ราษฎรมูเตลู' ที่เพิ่งตั้งก่อนเขาต้องเข้าไปใช้เวลา 53 วันในเรือนจำ กับภารกิจการใช้พิธีกรรมและความเชื่อเพื่อปลดแอกการยึดกุมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจากชนชั้นนำ

ฟ้า พรหมศร โอบกอดผู้ที่มารอรับการปล่อยตัวของเธอที่เรือนจำธัญบุรี

อิสรภาพหวนคืนสู่อ้อมกอดของพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ 'ฟ้า' อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. 2564 หลังถูกคุมขังในเรือนจำกลางธัญบุรีมาตั้งแต่ 17 มี.ค. 2564 หลังถูกตำรวจฝากขังด่วนแบบไม่ปราณีปราศรัยบาดแผลยับเยินบนร่างกายเธอที่เกิดจากอุบัติเหตุทางจราจร

เป็น 53 วันของการถูกจองจำ 52 วันของการอดอาหาร ถูกปฏิเสธการประกันตัว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ 5 เดือน 5 ปี 2564 ก่อนจะได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวแบบเร่งด่วนในการยื่นครั้งที่ 6 และได้รับการปล่อยตัวอย่างเร่งด่วนในวันพืชมงคล วันหยุดราชการที่แม้แต่พระโคยังหยุดงานเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ตัวเลขทั้งข้างต้นคงจะไม่มีนัยสำคัญในประเทศที่ประชาชนไม่ต้องช่วยเดาใจกองสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน แต่สำหรับประเทศไทย ราชอาณาจักรที่ขับเคลื่อนด้วยตรรกะผสมกับการโคจรของดาวเคราะห์และสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ตัวเลขและวันเวลามีความหมายมากกว่าที่ตามองเห็น ความพัวพันทางวัฒนธรรมและกรอบคิดเช่นนี้ย่อมทำให้กระบวนท่าการรณรงค์ทางการเมืองและประชาธิปไตยจึงไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการ

ฟ้าคืออีกหนึ่งนักกิจกรรมประชาธิปไตยที่มีศรัทธาในความเชื่อและไสยศาสตร์ แต่ที่แปลกใหม่คือ เธอและเพื่อนใช้มันในการรณรงค์ทางการเมือง ประชาไทชวนทำความรู้จักกับเส้นทางการเติบโตทางความคิดของฟ้าและกลุ่ม “ราษฎรมูเตลู” บนเส้นทางการปลดแอกโซ่ตรวนทางวัฒนธรรมและแสวงหาการเมืองที่ดีกว่าด้วยกุศโลบายทางไสยศาสตร์และความเชื่อ

(สัมภาษณ์เมื่อ 28 ม.ค. 2564)

จากผู้สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองสู่การปราศรัยสาธารณะ

ในวันที่สัมภาษณ์ ฟ้ามีอายุ 31 ปี เคยทำนิตยสารมาช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะออกมาทำธุรกิจส่วนตัวที่ต้องพักไปก่อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 เธอมีความสนใจการเมืองมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ความทรงจำที่เป็นหมุดหมายสำคัญของเธอคือการรัฐประหารเมื่อปี 2549

“ฟ้าเป็นบุคคลที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยมาก ขออ้างอิงคำพูดของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ครั้งหนึ่งที่มีทหารบุกสภาท่าช้าง เอาปืนใหญ่ยิง และทหารก็บุกเข้าไปเพื่อจับอาจารย์ปรีดี ทหารพูดว่าต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ท่านผู้หญิงตอบว่า ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำไมไม่เปลี่ยนแปลงที่รัฐสภา คำนี้สำคัญกับฟ้ามากว่าในระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลควรเริ่มที่รัฐสภา”

ความสนใจทางการเมืองและประชาธิปไตยสอดรับเข้ากับกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์ของประชาชนจำนวนมาก เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ฟ้าเล่าว่าเธอเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อมีโอกาสได้ปราศรัยในแฟลชม็อบที่ห้าแยกลาดพร้าว จากนั้นก็ได้รับการติดต่อให้มาปราศรัยในอีกหลายๆ เวทีในเวลาต่อมา

สังคมไทยในฝันของฟ้าคือสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ

“ฟ้าต้องการระบอบประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบจริงๆ สักครั้งหนึ่งในประเทศนี้สักที ไม่ใช่การที่มีอำนาจมืดอยู่เบื้องหลัง หรือมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรืออำนาจบางอย่างที่เราไม่สามารถแตะต้องได้ในระบอบประชาธิปไตย อันนั้นเป็นสังคมที่ สำหรับฟ้าคือสังคมที่น่ารังเกียจมาก”

“มากไปกว่านั้น รัฐสวัสดิการในด้านสาธารณสุขก็ดี ในด้านการศึกษาก็ดี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในประเทศ ไม่ว่ามีสถานะทางสังคมแบบใด หรือไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตามที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ทุกคนควรเข้าถึงสิทธินี้ ฟ้าอยากเห็นคนในชาติเราทุกๆ คน ไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็ตาม กลุ่มชายขอบก็ตาม หรือใครก็ตาม ได้เข้าถึงสองปัจจัยนี้ซึ่งเป็นปัจจัยหลักและปัจจัยสำคัญของความเป็นคน”

เมื่อลองถามเรื่องอื่นนอกจากการเมือง สิ่งที่ฟ้าตอบได้อย่างพรั่งพรูมากที่สุดคือเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟ้าบอกว่าให้ความสนใจมาก

“การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเป็นการศึกษาอยู่ฝ่ายเดียว เราจะมีมุมมองทางประวัติศาสตร์ฝ่ายเดียวตลอดมา เราจะไม่มีการศึกษาอย่างอื่นเลยยกเว้นคนที่จะสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ต้องไปหาอ่านเติมเรื่องเอา เราอยู่ในประเทศที่มีหลายส่วนภูมิภาค แต่เรากลับไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์ล้านนาเลยว่าประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผ่านมาในอดีตเป็นอย่างไร เราไม่เคยเห็นเลยว่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของอีสานหรือล้านช้างเลย เราไม่เคยเห็นประวัติศาสตร์ของทางใต้ที่จริงๆ มีอาณาจักรตามพรลิงค์นะที่อยู่บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช”

“เรายึดโยงประวัติศาสตร์ทั้งหมดเอาไว้แค่ภาคกลาง เราได้รู้แค่ไทม์ไลน์ของอยุธยา ตัดกลับมาต่อที่รัตนโกสินทร์ ธนบุรีจริงๆ ก็มีการศึกษาน้อยมาก หรือถ้าพูดกันตามตรง ประวัติศาสตร์ธนบุรีที่ย้อนกลับไปไม่กี่ร้อยปี เราแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเลย แม้กระทั่งประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ตั้งแต่ต้นกรุงฯ มา เราก็แทบจะไม่มีมุมมองใดๆ เลย ถ้าจะคิดกันง่ายๆ เราจะเห็นประวัติศาสตร์วังหลวง”

“ถ้าเราต้องการสนใจประวัติศาสตร์ อื่นๆ มากยิ่งขึ้น อย่างคนชอบประวัติศาสตร์เจ้า สนใจประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี คุณก็จะได้เห็นช่วงเวลาของราชวงศ์จักรีในช่วงรัชกาล 1-9 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน แต่คุณจะไม่เคยเห็นช่วงเวลาของสาแหรกที่แตกออกไป เช่น จะไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์เชิงลึกของสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่เป็น กษัตริย์คู่กันในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าทรงก่อปรคุณ (ปะ-ระ-คุณ) อะไรอย่างยิ่งในชาติ คุณจะไม่รู้เลยว่าจริงๆ มันมีศิลปกรรมวังหน้าในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถต้นกรุง”

“หรือเรื่องที่ฟ้า strict (เคร่ง) มากและตามมาพอสมควรคือเรื่องพระสุพรรณเทวีที่มีศักดิ์เป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวร แน่นอนว่าเราไปโยงว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงกระทำการโหดร้ายมาก เพราะเราผูกให้พม่าเป็นตัวละครตัวร้ายในประวัติศาสตร์บ้านเราว่าเป็นคนใจร้าย เอาเมียพ่อมาเป็นเมียตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วในราชสำนักพม่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ถือเป็นทรราชย์สุงสุด ในประวัติศาสตร์พม่า หากกษัตริย์พระองค์ใดทรงกระทำแบบนี้ ก็จะกลายเป็นทรราชย์ทันที จะไม่มีใครยอมรับเลย”

“มีการฆ่าพระสุพรรณเทวีอย่างโหดร้ายทารุณ ถึงกับมีการบุกเข้าไปยังห้องพระบรรทม แต่ประวัติศาสตร์พม่ามีการบอกว่าดันมีพิษณุโลกเมียวซา (เจ้าเมือง) ที่เป็นพระราชบุตรีของพระสุพรรณกัลยาเกิดขึ้น ก็ยังเป็นเมียวซาเมืองพิษณุโลกที่ยังมีการกินเงินส่วยในการที่จะให้ใครก็ตามที่จะกราบพระพุทธชินราช แปลว่าประวัติศาสตร์มันถูกโต้แย้งกัน แต่เรามีการรับเลือกฟังฝ่ายเดียว เพราะประเทศเราสอนว่าพม่าเป็นตัวโกง ชาวเมียนมาเป็นตัวโกงไปแล้ว ไม่มีทางที่เขาจะกลายเป็นตัวละครที่น่าสนใจได้ นี่คือสิ่งที่ต้องชำระ และแน่นอน ราษฎรมูเตลูก็จะนำมาชำระ”

ถนนสายเวทย์ของราษฎรมูเตลู

ฟ้าเริ่มก่อตั้งกลุ่มราษฎรมูเตลูกับคนที่มีความสนใจร่วมกันโดยมุ่งหวังที่จะรณรงค์ประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตย ชี้ถึงปัญหาของประเทศ และที่สำคัญคือการปลดแอกการยึดกุมทางศิลปะ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนชั้นนำ

ตัวอย่างของกิจกรรมฟิวชั่นลักษณะนี้คืองานทำบุญอัฐิคณะราษฎรวัดพระศรีมหาธาตุฯ โดยมีการปาฐกถาของ พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และการปราศรัยเรื่องประวัติศาสตร์จากนักศึกษาและนักกิจกรรม เมื่อ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงพิธีกรรมสาปแช่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ที่ต้องคดีจากการแสดงออกทางการเมืองโดยอ้างสิทธิ์ของ “ผู้เสียภาษี”

พรหมศรและผู้ร่วมกิจกรรมจูงมือ พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลงจากเจดีย์ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ

ฟ้ามองว่าสิ่งที่พวกเธอทำไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมที่อุดมความเชื่ออย่างประเทศไทย ที่แม้แต่การรัฐประหารก็มีการดูฤกษ์ยาม เช่น การรัฐประหารในปี 2490 และ 2500 (ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม) หรือการมีโหรมาดูดวงเมืองออกหน้าสื่อในช่วงต้นปีให้เห็นจนชินตา

“ประเทศไทยเรามีมานานพอสมควร ตลอดระยะเวลาของประเทศนี้เราอุดมไปด้วยสังคมของความเชื่อ ในเรื่องไสยศาสตร์ก็ตาม ศาสนาก็ตาม ในประวัติศาสตร์จะมีเรื่องความเชื่อกับไสยศาสตร์ตลอดระยะเวลา มากไปกว่านั้น การรัฐประหารหลายๆ ครั้งก็มีการนำเอาโหราศาสตร์ เอาความเชื่อเข้ามายึดโยง ทำให้สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด และไม่เคยหนีหายไปจากสังคมไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

“เราทำในเรื่องของความเชื่อ ศิลปะ ศาสนา ประวัติศาสตร์และรวมถึงวัฒนธรรมด้วย สิ่งที่เราจะทำก็คือจะยกเรื่องเหล่านี้มาตีแผ่มากยิ่งขึ้น ให้คนเห็นมากขึ้นว่าการเมือง ประวัติศาสตร์กับความเชื่อมันอยู่คู่กันมาโดยตลอด และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มีการยึดโยงสิ่งเหล่านี้ ในด้านการเมืองก็มีการยึดโยงสิ่งเหล่านี้ ราษฎรมูเตลูก็มีหน้าที่ตีแผ่สิ่งเหล่านี้ให้คนได้เห็นมากยิ่งขึ้น”

ช่วงชิงฐานวัฒนธรรมกลับมาที่ราษฎร

ฟ้าเล่าว่าราษฎรมูเตลูต้องการทำให้พิธีกรรมของราษฎรกลับมามีความศักดิ์สิทธิ์ ลดการผูกขาดทางวัฒนธรรมที่อยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นนำ เธอยกตัวอย่างว่าหลายพิธีที่เป็นพระราชพิธีนั้น แท้ที่จริงประชาชนก็ได้ทำกันมาอยู่แล้ว อาทิ พิธีที่เกี่ยวกับการเกษตรก็มีบุญกุ้มข้าวในภาคอีสานหรือพิธีทำขวัญข้าวในภาคกลาง แต่การไปยึดโยงพิธีกรรมกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดการยึดโยงความเชื่อและความศรัทธาของประชาชนไว้ที่สถาบันด้วย

“ถามว่ามันไม่ดีไหม คำตอบก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสียทีเดียว แต่ทำไมเราต้องเอาหลักความเชื่อไปยึดโยงกับบุคคลๆ เดียว หรือสิ่งๆ เดียว ทั้งที่ความเชื่อมันควรเป็นของทุกคนไม่ใช่เหรอ”

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมถูกยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทวราช แน่นอนว่าเราต้องไปยึดโยงกับความเชื่อเหล่านั้นมาโดยตลอด ทั้งที่จริงแล้วบุคคลก็สามารถเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ได้ พิธีกรรมของประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับพิธีกรรมของสถาบันกษัตริย์เลย”

“เราอยากเห็นศาสนาที่เป็นพุทธที่เป็นพุทธจริงๆ เราอยากเห็นพราหมณ์ที่เป็นพราหมณ์อย่างสมบูรณ์แบบในประเทศของเรา เราอยากเห็นความเชื่อที่ยึดโยงไปกับประชาชนและประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน”

ประชาธิปไตยของสายมู

ในมุมของสายมูเตลู ฟ้าบูชาเทพเจ้าฮินดู 2 องค์ ได้แก่พระศรีคเณศและพระแม่ทุรคา องค์แรกมีอิทธิฤทธิ์ในฐานะเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ส่วนองค์หลังเป็นปางอวตารของพระอุมา สัตติชายาของพระอิศวร เป็นตัวแทนของการเสริมพลังให้สตรีเพศลำดับต้นๆ ของโลกที่เกิดท่ามกลางสังคมฮินดูที่ผู้หญิงไม่มีปากเสียงมากนัก

ในมุมของนักกิจกรรมทางการเมือง ฟ้ามองว่าประชาธิปไตยก็คือความเชื่อแบบหนึ่งที่ศรัทธาในความเป็นคนเท่ากัน และการเติบโตของความศรัทธานี้ถูกขัดขวางโดยเผด็จการทางวัฒนธรรมที่ไม่เชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน

“ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพิธีกรรมๆ หนึ่งคือเปิดประตูศิวาลัยไกรลาศ ในตามหลักคืออัญเชิญพระศิวะหรือพระอิศวรที่เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูให้ลงมาสถิตที่พระมหากษัตริย์ ในหลายๆ ประเทศก็จะมีพิธีกรรมอย่างนี้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าสุดท้ายคนๆ หนึ่งถูกยกสถานะให้กลายเป็นดั่งพระผู้เป็นเจ้า โดยที่เขาก็เป็นคนเหมือนกันกับเรา”

“แต่อยู่มาวันหนึ่งความศักดิ์สิทธิ์ดันไปอยู่กับเขาทันที กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ดุจดั่งเทพเจ้าลงมาปกปักษ์รักษาโลกมนุษย์ ถ้าเราสังเกตง่ายๆ เช่น มันจะมีคำว่าสมเด็จพระรามาธิบดี เป็นต้น ก็แปลว่าพระรามผู้เป็นใหญ่ เท่ากับเราไปยึดโยงว่าพระมหากษัตริย์ที่มาปกครองประเทศ ปกครองชาติเราก็คือเป็นองค์พระรามอวตารลงมาปกครองเรานั่นเอง”

“ความศักดิ์สิทธิ์ไปอยู่กับเขาหมดเลย สถาบันกษัตริย์กลายเป็นแหล่งรวบรวมความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ตัดกลับมาที่ประชาชน ต้องไปก้มกราบก้มไหว้ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะมีคนเขาบอกว่าเขาศักดิ์สิทธิ์ สำหรับฟ้ามันไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และอย่างนี้เป็นการขัดต่อหนทางประชาธิปไตยอย่างยิ่ง”

“สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกสถาปนาเป็นดั่งพระผู้เป็นเจ้า เทพเจ้าอวตารลงมาปกครอง ดังนั้นเราจะต้องมีความเชื่อนะ เราจะไปละเมิดมิได้ ถ้าเราละเมิดจะเป็นยังไง อย่าด่าพระเจ้าอยู่หัวนะ อย่าพูดถึงพระเจ้าอยู่หัวในทางไม่ดี นรกจะกินกบาล จริงๆ นรกในทางศาสนาพุทธ ในการด่าพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่มีข้อไหนบอกเลยว่าถ้าเราด่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วเราจะตกนรก”

เรื่องเล่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่อยากให้แบบเรียนจดจำ

วิกฤตการณ์การไล่รื้อ-ไล่ลบประวัติศาสตร์การเมืองในไทยที่ถี่ขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ได้เล็ดรอดการสังเกตของคนที่สนใจประวัติศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรอย่างฟ้า เธอยกตัวอย่างเรื่องการถอนหมุดคณะราษฎรบริเวณพระบรมรูปทรงม้า การเปลี่ยนชื่อค่ายทหารพหลโยธินเป็นค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต (ค่ายภูมิพล) และการใช้ชื่อกบฏอย่างพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นชื่อห้องในกองบัญชาการกองทัพบก

เหล่านี้คือตัวอย่างเหตุการณ์ที่เธอมองว่าเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนเลือกจดจำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ผูกขาดความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่บางเรื่องยิ่งทำให้ลืมก็ยิ่งจำ

“เรื่องที่เราอยากลืม เรื่องที่เขาบอกว่าต้องลืมนะ มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย เรากลับจำ เช่น การฆ่านักศึกษาในช่วง 14 ตุลา (2516) 6 ตุลา (2519) หรือการสลายการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดงช่วงเดือนพฤษภา (2553) อันนี้คือสิ่งที่เขาอยากให้ลืม แต่เรากลับจำ และมันจะเป็นบาดแผลรอยล้าวที่ลึกลงไปเรื่อยๆ ที่ไม่ว่าต่อให้จะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตามก็ไม่มีวันสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ หรือไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองคนใดก็ตามจะไม่มีวันสามารถลบความทรงจำสีเลือดนี้ออกไปจากประวัติศาสตร์ไทยให้ได้”

ตั้งแต่ปี 2563 ความไม่ลืมเหล่านั้นยิ่งเห็นเด่นชัดในหมู่คนที่ออกมาชุมนุมทั่วประเทศที่หยิบยกโศกนาฏกรรมเลือดในประวัติศาสตร์มาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการสานต่อภารกิจทางอุดมการณ์ รวมถึงชำระล้างมลทินที่สังคมเคยตีตราในอดีต

เธออยากให้แบบเรียนประวัติศาสตร์บันทึกการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้เอาไว้ว่า:

“ครั้งหนึ่ง มีคนๆ หนึ่งชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มากระทำรัฐประหารต่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง ต่อมาหลังจากนั้น 7 ปี ขบวนการนักศึกษา ประชาชนทุกภาคส่วน ได้ออกกันมาร่วมต่อต้านเผด็จการในครั้งนี้กันอย่างเต็มรูปแบบในทุกภาคส่วน ในทุกวิถีทาง”

“แน่นอนว่าฟ้าไม่สามารถรู้เลยว่าจุดจบของครั้งนี้จะออกเป็นเช่นไร แต่แค่ถ้าประวัติศาสตร์บันทึก การบันทึกแต่เพียงเท่านี้ สำหรับฟ้าถือว่าเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุดแล้ว”

“เราไม่รู้จักอดีตว่าจริงๆ อดีตของเรามันเจ็บปวดขนาดไหน  เราไม่รู้เลยว่าอดีตของเรามันเน่าเฟะขนาดไหน เราจะสามารถสร้างสรรค์อนาคตที่ดีในชาติได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้จักอดีต”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท