ไอลอว์เผยโควิดระบาดในเรือนจำ แต่ราชทัณฑ์ไม่เปิดเผยข้อมูลล่าสุด

'สมยศ' กลุ่ม 24 มิถุนาฯ เผยเรือนจำพิเศษกรุงเทพเกิดโควิดในขั้นวิกฤติแล้ว โฆษกเพื่อไทยวอนป้องกันโรคในเรือนจำตามหลักสากล แอมเนสตี้ทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมจี้เร่งดำเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในภาวะโรคระบาดของผู้ต้องขังโดยด่วน

12 พ.ค. 2564 วันนี้ ไอลอว์รายงานว่า หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้ต้องขังทางการเมืองติดเชื้อโควิด 19 และจากจำนวนวันที่พวกเขาถูกคุมขัง จึงค่อนข้างชัดเจนว่า พวกเขาติดเชื้อหลังจากที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว โดยชูเกียรติ หรือจัสติน เข้าเรือนจำวันที่ 23 มีนาคม 2564 และผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อวันที่ 23 เมษายน 2564 และอานนท์ นำภา เข้าเรือนจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 และผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564

 

โควิดระบาดในเรือนจำ ราชทัณฑ์ไม่เปิดเผยข้อมูล . . หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้ต้องขังทางการเมืองติดเชื้อโควิด 19...

โพสต์โดย iLaw เมื่อ วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2021

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ว่า มีจำเลยในคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครติดเชื้อโควิด19 อีก 4 คน ซึ่งเป็นจำเลยคดี "ทุบรถ" เพื่อช่วยเพื่อนที่ถูกจับ ได้แก่ สมคิด ศักดิ์ชัย ฉลวยและธวัช และเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ออกมาชี้แจงว่า เธอติดเชื้อโควิด19 โดยคาดว่าได้รับเชื้อมาจากทัณฑสถานหญิงกลางก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564

เมื่อคนที่เป็นที่รู้จักในสังคมติดเชื้อจากในเรือนจำ ทั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่คุมขังผู้ชาย และทัณฑสถานหญิงกลาง ที่คุมขังผู้หญิง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ตอนนี้สถานการณ์โควิด19 ในเรือนจำรุนแรงเพียงใด แล้วกรมราชทัณฑ์ยังมีศักยภาพดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ต้องขังได้หรือไม่

จากคำบอกเล่าของไมค์-ภาณุพงศ์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เขาระบุสถานการณ์ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตอนนี้ "แย่มาก" เกือบทุกห้องขังมีคนป่วยที่มีอาการคล้ายกับโรคโควิด19 โดยทุกคนยังต้องอยู่รวมกันภายในห้องขังทั้งคนที่มีอาการและไม่มีอาการ โดยแพทย์จะเข้ามาทำการตรวจให้ในช่วงเวลา 7 หรือ 14 วัน เนื่องจากแพทย์มีจำกัด อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า ทางเรือนจำได้ตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละแดนขึ้นเพื่อรองรับผู้ต้องขังที่มีอาการเล็กน้อย (เคสเขียว) ส่วนผู้ต้องขังที่มีอาการหนักขึ้น (เคสเหลืองและแดง) จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยแพทย์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเข้าไปตรวจหาเชื้อโควิด19 คือแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ก่อนหน้านี้ทราบจากปากคำของผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนที่เล่าตรงกันว่า เมื่อเข้าเรือนจำใหม่ต้อง "กักตัว" เป็นเวลา 14 วัน โดยไม่ให้ไปเจอกับผู้ต้องขังที่อยู่มาก่อน แต่คนที่เข้าไปใหม่ในเวลาพร้อมๆ กันหรือไล่เลี่ยกัน ก็ต้อง "กักตัวรวมกัน" อยู่ภายในห้องเดียวกันประมาณ 20-30 คน และใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง ทั้งกินข้าวและเข้าห้องน้ำในห้องรวมนั้น ทำให้สุ่มเสี่ยงว่าหากมีผู้ติดเชื้อหนึ่งคนก็อาจจะติดต่อกันภายในห้องทั้งห้องได้ง่ายมาก ยกเว้นกรณีของ วรรณวลี หรือ "ตี้ พะเยา" ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อนเข้าเรือนจำอยู่แล้ว จึงได้แยกกักตัวในห้องที่อยู่คนเดียวตลอด 24 ชั่วโมง

จากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตเรือนจำคลองเปรมและเป็นศูนย์กลางรับดูแลผู้ต้องขังและนักโทษที่ป่วยจากทั่วประเทศ มีการจัดให้แพทย์เข้าไปตรวจที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยทำการตรวจหาเชื้อให้กับผู้ต้องขังไปทั้งสิ้น 1,025 ราย 

 

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เรียน ผู้บริหาร นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข...

โพสต์โดย ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อ วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2021

 

ทางเพจเฟซบุ๊กของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจและรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่เป็นประจำตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 ดังนี้ วันที่ 27 เมษายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 13 ราย, 28 เมษายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 13 ราย, 29 เมษายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 38 ราย, 30 เมษายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อ 63 ราย และรายงานผลครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 64 ราย

 

โพสต์โดย ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2021

 

อย่างไรก็ตาม พบว่าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 มีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่จำนวน 322 รายแต่ข้อมูลดังกล่าวถูกลบไปในภายหลัง อีกทั้งข้อมูลในส่วนของเรือนจำแต่ละแห่ง ก็ยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในเรือนจำ เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายลงทุกวัน เมื่อคนที่ถูกส่งเข้าไปมาจากหลากหลายสถานที่และต้องเข้าอยู่รวมกันอย่างแออัด

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุข้อมูลผ่านบนบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "ได้ทราบข่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ค.64 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ณ เรือนจำแห่งหนึ่ง มีการตรวจคัดกรองโควิด19 เชิงรุกไป 4,582 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 1,073 ราย"

อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้วันนี้จะมีนักเคลื่อนไหวทางความคิดบางส่วนได้รับการปล่อยตัว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ และมีบางส่วนที่ติดเชื้อล่าสุดวานนี้อีกหลายคน เช่น ธวัช สุขประเสริฐและศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี ผู้ต้องขังคดีทุบรถควบคุมไมค์-เพนกวิน ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความเป็นห่วงว่าการดูแลป้องกันโรคระบาดในเรือนจำจะเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ อยากให้กรมราชทัณฑ์ ปฎิบัติตามมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติในการปฎิบัติต่อผู้ต้องขัง ทั้งการรักษาความสะอาดภายในเรือนจำตลอดเวลา, จัดสรรหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ, ได้รับการดูแลจากแพทย์ในมาตรฐานกับบุคคลทั่วไป, มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน,แยกผู้ติดเชื้อออกจากห้องปกติ และต้องได้รับวัคซีนโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติด้วย

สมยศ พฤษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงกรณีแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำ ตอนหนึ่งใจความว่า ประมาณการจากที่เคยเข้าไปอยู่แดน 6 มาก่อน หาก พอร์ท ไฟเย็นซึ่งอยู่แดน 6 ติดโควิดแล้วป่านนี้ โควิดน่าจะระบาดไปทั่วเรือนจำแล้ว เมื่อวานผมไปหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดนไล่ตะเพิดออกไป ถึงกับให้เจ้าหน้าที่จู่โจมเข้ามาอุ้มตัวออกไป เจอญาติมารอรับคนปล่อยตัวที่ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 15.00 น. กว่าจะได้รถรับโควิดปาเข้าไป 21.00 น. นั่นแสดงว่าภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเกิดโควิดในขั้นวิกฤติแล้ว 

 

รัฐมนตรียุติธรรมหายหัวไปไหน ? เมื่อนักโทษติดโควิดถึงหลักพันแล้ว ศาลไม่ให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎรจนกระทั่ง อานนท์ นำภา...

โพสต์โดย Somyot Pruksakasemsuk เมื่อ วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2021

 

ขณะที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล ประเทศไทย ได้ทำหนังสือ เปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการ ‘ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเเละประธานศาลฎีกา

โดยที่ผ่านมา ได้สังเกตการณ์การดำเนินคดีต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมชุมนุมตลอดระยะเวลาช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองแล้วตั้งเเต่เดือน ก.ค. 2563 ถึงเดือน เม.ย. 2564 รวม 635 คน ใน 301 คดี ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งระหว่างการสอบสวน ระหว่างรอการดำเนินตามกระบวนการพิจารณาในศาลชั้นต้น รวมถึงระหว่างรออุทธรณ์คดี ทั้งหมด 18 คน

พบว่าขณะนี้ มีภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะผู้ต้องขังและนักโทษซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานคุมขังอื่นทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งเรื่องสถานที่ในการกักตัว ความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตลอดทั้งการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและทนายความ เฉพาะในปี 2563 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รายงานว่า อย่างน้อย 100 ประเทศทั่วโลกมีความพยายามในการปล่อยผู้ต้องขังและนักโทษกว่า 600,000 ราย เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท