‘ก้าวไกล’ จ่อชงกฎหมายเอาผิด ศาล-อัยการ-ตำรวจ ฐานบิดกฎหมาย

‘ก้าวไกล’ จ่อชงกฎหมายเอาผิด ศาล - อัยการ-ตำรวจ ฐานบิดกฎหมาย ‘โรม’ ยกคดี ม.112 สร้างเงื่อนไข ‘ค้านประกัน’ แบบตีความเกินกฎหมาย ส่วนกรณี ‘ธรรมนัส’ ตัดสินเหมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหา ‘สิทธิสภาพนอกอาณาเขต’ ย้ำ เพียงไม่กี่คดีก็อาจทำประชาชนหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้

 

12 พ.ค. 2564 รังสิมันต์ โรม และ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ซึ่งปรากฎชัดในหลายกรณีช่วงที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลเตรียมยื่นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่ได้รับการประกันตัวซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้จับตามาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม การได้รับการประกันตัวทั้งเมื่อวานนี้และหลายกรณีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ายินดีก็จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ลบล้างว่าภายใต้การได้รับการประกันตัวดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างไร และจากความไม่ธรรมเหล่านั้นจึงเป็นเหตุที่มีความจำเป็นในการร่างกฎหมายฉบับนี้

“สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือการเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ได้แก่ความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

รังสิมันต์ ระบุว่า เหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากในสังคมที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษาและตุลาการ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรมของประชาชนภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง เมื่อมีข้อกล่าวหาในทางคดีเกิดขึ้น การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรมจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติ โดยกล่าวได้ว่าเจ้าพนักงานในการยุติธรรมคือผู้รักษากฎหมาย ย่อมจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมายอย่างถึงที่สุด

“แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเวลาผ่านไป บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนด ราวกับว่าพวกเขามีอคติบังตา แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นมนุษย์ทั่วไปก็อาจกระทำไปโดยความรู้สึกส่วนตัวโดยไม่ได้สนใจว่า กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับตัวเองอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีการบิดเบือนในหลายกรณีและทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ใช่ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่เสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมที่อุตส่าห์สร้างและสั่งสมมาและอาจจะถูกทำลายด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน เพราะคดีเพียงไม่กี่คดีก็อาจทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้”

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนรู้สึก เช่น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับในข้อเท็จจริงกลายๆว่า เขาเคยถูกพิพากษาโดยศาลออสเตรเลียในประเด็นเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างถึงอำนาจอธิปไตยทำราวกับว่ายังอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากในปัจจุบันระบบกฎหมายไทยก็ยอมรับผลบางประการของคำพิพากษาของศาลต่างชาติ ทั้งกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่คนไทยกระทำนอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษและอยู่ในเกณฑ์ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหากต่างประเทศมีบทบัญญัติความผิดลักษณะเดียวกันด้วย และนั่นไม่ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยในทางศาลเหมือนในอดีต ในขณะที่บทบัญญัติลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. และรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งเน้นที่จะคัดกรองมิให้ผู้มีประวัติมัวหมองเข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งสำคัญ แม้จะเป็นการต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศก็ถือเป็นประวัติที่มัวหมองได้เช่นกัน คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ก่อประโยชน์ต่อ ร.อ.ธรรมนัส ให้ยังคงเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีต่อไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าเคยมีการกระทำที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง คือเมื่อปี 2556 มีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นักการเมืองท้องถิ่นกล่าวในรายการวิทยุเปรียบเปรยถึงบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าขาดอิสระเสรีภาพ โดยถูกพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างว่ากฎหมายมิได้บัญญัติว่าห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น และการหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ทั้งที่การที่มาตรา 112 กำหนดกรรมของการกระทำไว้ที่เฉพาะบุคคลใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ย่อมหมายถึงบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวและมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าว ณ ปัจจุบันเท่านั้น มิได้รวมถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งหากตีความแบบนี้ก็ต้องรวมพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยใช่หรือไม่ มิเช่นนั้นแล้วมาตรานี้ก็ยังต้องใช้กับการหมิ่นประมาทผู้ที่เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเสียหมดทุกคน ซึ่งนั่นไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตราดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าว แม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ได้สร้างความเสียหายแก่จำเลยให้กลายเป็นผู้มีความผิดติดตัว ทั้งที่เขาไม่ได้กระทำการอันเข้าข่ายความผิดนั้น จึงต้องถามว่าเป็นการตีความเกินกฎหมายและเป็นตัวอย่างของการบิดเบือนกฎหมายใช่หรือไม่

“ตัวอย่างล่าสุดคือในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ในเวลาต่อมามีความพยายามแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมคนสำคัญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปพบพนักงานสอบสวนหรือขึ้นศาล ไม่พบพฤติการณ์ของการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานแต่อย่างใด แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเกี่ยวกับมาตรา 112 ศาลกลับไม่ให้ประกันตัว หรือกว่าจะให้ประกันตัวต้องไปยื่นนับสิบครั้งถึงจะได้ เช่น กรณีคุณเพนกวิ้น และสร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แต่ไปห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามว่าจะต้องไม่เข้าไปร่วมกับการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเท่ากับว่าศาลกำลังตัดสินให้คนเหล่านี้ผิดไปแล้วโดยยังไม่มีการดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายแต่อย่างใด กลายเป็นศาลได้สร้างเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งกฎหมาย ศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ไม่ได้ละเมิดเหตุแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งไม่หลบหนีหรือไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การที่ศาลใช้ดุลพินิจแบบนี้ก็เกิดคำถามว่าศาลเอาฐานกฎหมายอะไรในการมาดำเนินคดีหรือพิจารณากับประชาชน”

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ถ้าปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงไม่มีประชาชนเชื่อกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป กระบวนการยุติธรรมจะพังทลาย และถ้ากระบวนการยุติธรรมพังทลาย ประเทศนี้จะอยู่อย่างไร จึงเป็นที่มาที่พรรคก้าวไกลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ไปการศึกษา พบว่า ในต่างประเทศได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายให้การบิดเบือนกฎหมายนั้นเป็นความผิดอาญา เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา (Strafgesetzbuch – StGB) มาตรา 339 (Section 339) ความว่า “ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานของรัฐ หรืออนุญาโตตุลาการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย กระทำการบิดเบือนกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายของคู่ความ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี” (Judges, other public officials or arbitrators who, in the course of conducting or deciding a legal matter, bend the law for the benefit or to the detriment of a party incur a penalty of imprisonment for a term of between one year and five years.) โดยนัยก็คือเขามองว่า เจ้าพนักงานเหล่านี้เช่นศาลก็สามารถกระทำความผิดบิดเบือนกฎหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีนักกฎหมายไทยให้ความสนใจในการศึกษา เช่น ในวิทยานิพนธ์ “ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา: ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมัน” ของ เหมือน สุขมาตย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนขึ้นเมื่อปี 2560 ได้เสนอว่า ควรมีการกำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้ในระบบกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังมิได้กำหนดฐานความผิดดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงนำขอเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคหนึ่ง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี และพนักงานสอบสวน ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี"

ส่วนในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี”

“ร่างกฎหมายพรรคก้าวไกลฉบับนี้จะเสนอสู่สภาโดยเร็ว หากผ่านกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นนิมิตรใหม่หรือเป็นก้าวย่างสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าศาลยุติธรรมอยู่ในสภาวะที่จะเรียกว่าจะโปร่งใสก็ไม่โปร่งใส จะมืดมนก็ไม่มืดมน ที่ผ่านมาอาจจะได้ยินมาตลอดว่าศาลยุติธรรมอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลกันข้างใน แต่จากกรณีต่างๆที่เกิดขึ้นกำลังแสดงให้เห็นว่า ศาลที่กำลังเป็นอยู่ เป็นศาลที่ปราศจากการยอมรับของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เราหวังว่า ผู้เกี่ยวของในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการบิดเบือนกฎหมายต่อไป เราเชื่อว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทวงกระบวนการยุติธรรมจากขุนนางผู้ใช้กฎหมายพื่อห้ำหั่นผู้บริสุทธ์ ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะถูกทำให้ไร้ความหมายไปมากกว่านี้ จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามและเราจะยื่นสู่สภาในเร็ววันนี้ ” รังสิมันต์ กล่าว

 

รับชมไลฟ์การแถลงได้ที่นี่ https://fb.watch/5rc_Zq7hRn/

อ่านและดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการแถลงข่าว ที่นี่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท