รู้จัก ‘บอล ชนินทร์ วงษ์ศรี’ น้องเล็กจากแนวร่วม มธ. ที่พร้อมสู้ต่อแม้โดน ม.112 จากม็อบหน้าสถานทูตเยอรมนี

รายงานสัมภาษณ์ ‘บอล’ ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้โดนข้อหา ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยหน้าสถานทูตเยอรมนี ใน #ม็อบ26ตุลา

ช่วงบ่ายวันหนึ่งท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนแรงไม่ต่างจากบรรยากาศทางการเมือง ‘ชนินทร์ วงษ์ศรี’ หรือบอล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 3 ในวันเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ เดินเข้ามานั่งที่หน้ารูปปั้นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใต้ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมแนะนำตัวสั้นๆ ก่อนจะแนะนำคณะที่ตนศึกษาอยู่

 

“วิทยาลัยป๋วย เรียนเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน CSR วิสาหกิจชุมชน อะไรทำนองนี้ เรียนเกี่ยวการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว เราอยากเรียนด้านพัฒนาชุมนุม ด้านวิสาหกิจชุมชน แต่ก่อนก็เคยมีฝันเล็กๆ ว่าอยากพัฒนาสินค้าพื้นบ้าน สินค้าพื้นเมืองให้เป็นที่รู้จัก ตอนนี้ผมสนใจเรื่องผ้าไหม เพราะแม่ชอบซื้อผ้าไหมจากทางภาคอีสาน เราคิดว่าผ้าไหมไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เคยคิดเล่นๆ ว่าน่าจะลองเอาไปตัดเสื้อตัดชุดให้เข้ากับแฟชั่น แต่ยังคงความเป็นผ้าไหมไว้” ชนินทร์ กล่าว

ชนินทร์ เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย และเป็น 1 ใน 13 คนที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

ประชาไท จึงขอพาผู้อ่านไปรู้จักกับ ‘ชนินทร์’ นักศึกษาผู้มีความฝันอยากจะเห็นสังคมไทยในรูปแบบที่ดีขึ้น พร้อมเปิดมุมมองทางการเมือง อาชีพในฝัน และสังคมที่อยากเห็นในอนาคต

‘น้องเล็ก’ ในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ชนินทร์ เล่าว่า เมื่อเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในระดับมหาวิทยาลัย ตนสมัครเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ ณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นหัวหน้าพรรค และมี ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค ตนจึงเริ่มต้นทำกิจกรรมการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยและขยายขอบเขตออกมาสู่นอกรั้วนับตั้งแต่นั้น

“จริงๆ ผมสนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานแล้ว เพราะรู้สึกเห็นอะไรที่มันผิดปกติของประเทศเรา สมัยมัธยม เรามีคำถามเล็กๆ อยู่ตลอดว่า ‘ทำไมเราต้องตัดผมทรงนักเรียน’ ‘ทำไมเราต้องไปเกณฑ์ทหาร’ แล้วผมต่อต้านการเกณฑ์ทหารมาก ผมอยากเปลี่ยนแปลงจุดนี้ จึงไปอยู่ในกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก จนกระทั่งขึ้นมหาวิทยาลัย เห็นว่าพรรคการเมืองหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ทำงานขับเคลื่อนในสภานักศึกษา เห็นว่ามี ‘เพนกวิน’ และมีการทำกิจกรรมที่ดูเป็นแนวทางเดียวกับเรา ก็เลยเข้าร่วม ซึ่งก็คือพรรคโดมปฏิวัติ”

“การเข้าร่วมพรรคโดมปฏิวัติทำให้รู้ใครหลายๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (หัวเราะ) เพนกวินจะชอบเรียกผมว่า ‘น้องเล็กของขบวนการ’ เพราะเป็นรุ่นน้อง รุ่นเด็กของกลุ่ม คือเพนกวินเรียกมาตั้งแต่ปี 1 แต่ถึงจะขึ้นปี 2 แล้ว เพนกวินก็ยังชอบเรียกว่าน้องเล็กอยู่ดี (หัวเราะ)”

“พออยู่พรรคโดมฯ ไปสักพักก็มีโอกาสทำงานกับสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งผมชอบ สนท. มากเลย เพราะมันทำให้เรารู้จักเพื่อนๆ ที่เคลื่อนไหวเหมือนกัน อยู่ มช. มมส. หรือ มอ. ได้เจอคนมากหน้าหลายตา ส่วนในพรรคโดมปฏิวัติ ผมทำหลายฝ่ายเลย ตอนแรกทำฝ่าย HR (ทรัพยากรมนุษย์) และฝ่ายนโยบาย สุดท้ายพรรคขาดคนทำงานฝ่ายเลขาฯ ก็คือคนทำเอกสาร (หัวเราะ) เพนกวินกับพี่ณัฐ (ณัฐชนน ไพโรจน์) ก็เลยบอกว่า ‘บอลลองมาทำฝ่ายเลขาดูไหม’ เราตอบไปว่าก็ได้ ก็เลยได้เป็นเลขาธิการพรรคโดมฯ” ชนินทร์ กล่าว

ยกเลิก TU100

ชนินทร์ เล่าว่า นโยบายหลักที่ตนรับผิดชอบในฐานะสมาชิกฝ่ายนโยบายของพรรคโดมปฏิวัติ คือ ‘นโยบายยกเลิก TU100’ ซึ่งเป็นวิชาเรียนรวมที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกคนต้องเรียนเมื่อเข้าปี 1

“TU100 เป็นวิชาบังคับในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาทุกคนต้องผ่านวิชา TU100 เพื่อสร้างจิตสำนึก ความเป็นธรรมศาสตร์ ความรักประชาชน แต่มันก็มีปัญหาอยู่มากเพราะวิชานี้เป็นวิชาที่คล้ายกับวิชาจิตอาสา แต่พอบังคับเรียนทุกคนก็เลยเกิดปัญหา คือต้องบอกก่อนว่าการเรียนด้านสังคมศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนเฉพาะทางเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอคนต้องเรียนทั้งมหาวิทยาลัย อาจารย์สอนมีไม่พอ ต้องไปดึงอาจารย์คณะอื่นมาช่วย ซึ่งอาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร แล้วก็ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในการให้คะแนน เพราะเรียนเป็นเซคใหญ่ มีคนเรียนต่อห้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีนักศึกษาร้องเรียนเข้ามามากเหมือนกันเรื่องการให้คะแนน นอกจากนี้ ยังมีโปรเจ็กต์ในวิชา TU100 ที่ให้นักศึกษาไปพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมรอบๆ มหาวิทยาลัย หรือในมหาวิทยาลัยก็ได้ ซึ่งนักศึกษาปี 1 เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย เขายังไม่ได้เรียนอะไรที่เป็นวิชาของคณะหรือวิชาเฉพาะอย่างลงลึก แล้วจะเอาให้ความรู้สมัยมธยมมาพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ผมว่ามันจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าประโยชน์ เช่น เราเห็นว่ามีคนเอาสีไปทาทางม้าลายในมหาวิทยาลัยให้ชัดขึ้น แต่ปัญหาคือเขาใช้สีผิดประเภท ทำให้ถนนลื่นกว่าเดิม เวลาฝนตกก็เกิดปัญหา หรืออย่างตอนลงชุมชน ก็ลงเพราะอยากได้คะแนน ไม่ได้อยากพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง ลงจนชุมชนช้ำเพราะนักศึกษาไปแต่ชุมชนเดิมๆ ไปขอความช่วยเหลือจากคนในชุมชน คือบางโครงการมีประโยชน์จริงๆ แต่หลายโครงการก็ทำให้เกิดความรำคาญกับชาวบ้านมากกว่า” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าพรรคโดมฯ ได้ศึกษาผลกระทบ พูดคุยกับนักวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ รวมถึงผลักดันนโยบายให้ผู้บริหารสถานศึกษารับทราบ เพื่อร่วมกันหาทางออกว่าจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรวิชานี้อย่างไร ซึ่ง ชนินทร์ เผยว่า ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับปากว่าจะปรับปรุงหลักสูตรวิชา TU100 และอยู่ในขั้นติดตามผลการดำเนินงาน

ขึ้นโรงพักครั้งแรกเพราะคดีผูกโบว์ขาว

นอกจากบทการการเป็นเวลขาธิการพรรคโดมปฏิวัติแล้ว ชนินทร์ ยังเผยว่า ตนมีอีกบทบาทหนึ่ง คือ หนึ่งในแกนนำของ สนท. และมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้นำนักศึกษาจากแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งกิจกรรมแรกๆ ที่ตนทำในนาม สนท. คือ การผูกโบว์ขาวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังเกิดกรณีอุ้มหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้า นักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา ซึ่งเป็นเหตุให้ตนต้องขึ้นโรงพักครั้งแรกในชีวิต จากข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

“ผมว่าแค่ผูกโบว์ ถ้าแกะออกก็สะอาดแล้ว ไม่เห็นต้องแจ้งข้อหาอะไร แต่ตอนแรกที่โดนแจ้ง ผมกังวลมากเรื่องโดนคดี แต่ไหนๆ ก็โดนข้อหาแล้ว ต่อจากนี้ ถ้าจะสู้ก็สู้ให้สุด (หัวเราะ)” ชนินทร์ กล่าว

 

#ม็อบ26ตุลา ไม่ใช่ครั้งแรกที่โดน ม.112

ชนินทร์ บอกว่า การอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยในวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตนโดนแจ้งจับข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ก่อนหน้านี้ ตนถูกแจ้งความข้อหาดังกล่าวจากการปราศรัยบนเวทีชุมนุม #ม็อบ24กันยา #ไล่ขี้ข้าเผด็จการ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 บริเวณหน้ารัฐสภา

“ต้องเล่าย้อนก่อนว่า ปกติเป็นคนสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว สนใจพวกนอร์ดิกโมเดล (Nordic Model) การใช้งบประมาณของรัฐ แล้ววันนั้น (24 ก.ย. 2563) เราก็พูดไปถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 พูดไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ว่ามากเกินไปไหม ถ้ามากเกินไป เราก็ควรจะวิจารณ์ได้ เรายกตัวอย่างกรณีของประเทศอังกฤษว่าใช้งบไปเท่าไร การใช้งบของกษัตริย์ของสวีเดน ของเดนมาร์ก เป็นอย่างไรบ้าง แล้วเราก็พูดว่า ‘แต่ประเทศไทยพูดไม่ได้นะ เพราะมีมาตรา 112 อยู่ มีมาตรา 6 คุ้มครองกษัตริย์อยู่ แล้วเราจะรู้ได้ไงว่างบพวกนี้ใช้ไปแล้วมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน’ ตอนนั้นพวกผมก็พูดกันเล่นๆ ว่า เราโดน ม.112 เพราะพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ (หัวเราะ)”

“การตรวจสอบอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องพูดได้ และเห็นเพื่อนๆ หลายคนก็เปิดหน้าออกไปพูด วันนั้น (26 ต.ค. 2563) เราเลยตัดสินใจขึ้นไปอ่านแถลงการณ์เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับเพื่อนๆ เพราะยิ่งคนน้อย ก็ยิ่งเกิดความกลัว เราไม่อยากให้เพื่อนเราต้องโดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วตอนนั้นเพื่อนเราหลายคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วย ก็อยากจะทำให้เรื่องนี้ (การพูดถึงสถาบันกษัตริย์) เป็นเรื่องปกติสักที”

“ก่อนหน้านี้ วันที่ 10 ส.ค. รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ชวนให้เราขึ้นไปพูดเรื่องงบประมาณ เพราะเห็นเรามีความเข้าใจเรื่องนี้ แต่เราปฏิเสธไป พูดตรงๆ ในตอนนั้นก็คือกลัว (หัวเราะ) แต่พอเราเห็นเพื่อนเราสู้ เราเห็นรุ้งไปพูด 10 ข้อเรียกร้อง เราเห็นเพนกวินไปปราศรัยหลายๆ เวที เราเห็นอานนท์เปิดหน้าชน เราเห็นเพื่อนเราหลายๆ คนทำ พอถึงวันที่ 24 เราก็… ก็เหมือนเหตุผลวันที่ไปหน้าสถานทูตเยอรมัน คือเราไม่อยากให้เขาเดียวดาย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ความรู้สึกหลังโดน ม.112

“สิ่งที่รู้สึกก็คือ ข้อหาเหล่านี้มีเอาไว้ปิดปากคน อย่างข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ที่เราโดนคดีแรก เราก็บอก [กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ] ว่าสุดท้ายแล้ว [โบว์ที่ผูกไว้] ตำรวจแกะออกก็ได้ มันก็สะอาดแล้ว แต่เขาก็เลือกที่จะจับ ผมคิดว่าการจับของเขาเป็นการขู่ เป็นการปิดปาก เพื่อที่จะบอกว่าคุณทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณจะโดนแบบนี้ รวมถึงการใช้ ม.112 ด้วยเช่นกัน เราใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหา แต่สิ่งที่เขา (ตำรวจ) ใช้กับเรา ใช้กฎหมายแบบนี้ เพื่อที่จะบอกว่าเรื่องแบบนี้พูดไม่ได้ ผมมองว่าการใช้กฎหมายทุกวันนี้คือใช้เพื่อปิดปากคน เป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของคนไทยมาก จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ไปไหนสักทีด้านสิทธิเสรีภาพ เพราะมีความพยายามจะปิดปากคนแบบนี้นี่แหละ” ชนินทร์ กล่าว

“สำหรับผม สู้ก็คือสู้ (หัวเราะ) แต่กังวลที่บ้านมากกว่าว่าจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งที่บ้านก็ตกใจ (ตอนโดนคดีครั้งแรก) แต่หลังๆ ที่บ้านก็ชินแล้ว (หัวเราะ) เขาก็ถามว่ามีใครโดนบ้าง จะสู้คดีกันอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไป เราก็พูดให้เขาสบายใจที่สุดว่า ‘ชิลๆ เดี๋ยวก็ชนะ ไม่มีอะไรหรอก เพราะเราไม่ได้ว่าอะไรใคร’ ประมาณนี้” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าทางครอบครัวเข้าใจที่ตนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่สิ่งที่ครอบครัวห่วงที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย

“ครอบครัวก็บอกประมาณว่า เราก็อยู่ของเราไป ออกไปมันเหนื่อยตัวเองเปล่าๆ ทำอะไรก็ระมัดระวังตัวด้วย แต่เราก็พยายามพูด ถกเถียงว่า ถ้าเราไม่รู้ แล้วเมื่อไรประเทศเราจะเปลี่ยนสักที” ชนินทร์ กล่าว

เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรหากถูกคุมขัง

“เตรียมใจมาแล้วระดับหนึ่ง ก็ฟ้องไป แต่เราเชื่อว่ามีคนจำนวนมากเห็นด้วยกับเรา และสิ่งที่เราทำไปมันคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ผมคิดว่าสักวันมันก็ต้องเปลี่ยน สักวันมันก็ต้องมีคนมาทำต่อ เพราะมันไม่ใช่สิ่งเราต้องการคนเดียว แต่มันคือสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ส่วนเรื่องการเรียน ก็เคยคุยเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ของคณะและเพื่อน ในกรณีที่ติดคุก เจ้าหน้าที่คณะบอกว่าจะลองประสานกับกรมราชทัณฑ์ดูว่าเอาหนังสือเข้าไปในนั้นได้ไหม ประสานกับอาจารย์ว่าเรียนอย่างไรได้บ้าง สอบในนั้นได้หรือเปล่า ซึ่งเขาก็ยินดีจะช่วย อย่างน้อยเราต้องได้เรียน” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าหากไม่ถูกคุมขังตนก็จะเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ

กระบวนการยุติธรรมไทย

“ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเอียงมานานแล้ว เช่น กรณีคุณธรรมนัส หรือกรณีพรรคอนาคตใหม่ ผมว่าตุลาการเป็นทั้งองคาพยพเลย รวมถึงศาลอาญาที่ไม่ให้สิทธิประกันตัวทั้งๆ ที่ควรจะได้ [นักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง]ไม่ได้พยายามจะยุ่งกับพยานหลักฐาน ไม่ได้พยายามจะหนี แต่ก็ยังขังเราไว้ และยังบีบให้เรายอมรับข้อเสนอ ซึ่งตรงนี้คือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ผมมองว่าตุลาการเป็นองค์กรหนึ่งที่เราต้องแตะและพูดถึง ตุลาการต้องเปลี่ยน” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ตนอยากเห็นตุลาการไปเปลี่ยน คือ โทษของข้อหาละเมิดอำนาจศาล

“การละเมิดอำนาจศาล ต่างประเทศก็มีนะ แต่ผมมองว่าโทษมันสูงเกินไปมาก และการตีความมันกว้างเหมือน ม.112 ผมศึกษาเปรียบเทียบโทษของข้อหานี้ระหว่างต่างประเทศกับไทย โทษของต่างประเทศเบากว่า และศาลมีหน้าที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ตัดสินเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ของสังคม ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตุลาการไม่ควรรับใช้ใบสั่ง” ชนินทร์ กล่าว

 

“ผมว่าตุลาการไทยพยายามทำตัวเป็นใหญ่ จนเกือบจะกลายเป็นฝ่ายบริหารซะเอง ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตุลาการณ์ภิวัฒน์” ชนินทร์ กล่าว

คิดอย่างไรกับเงื่อนไขการประกันตัวของนักกิจกรรม

“ผมรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่จับเข้าไปอยู่ในคุกแล้วแหละ บอกว่าคุมขังเพราะกลัวจะไปกระทำความผิดซ้ำ แต่ศาลยังไม่พาพากษา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความผิด เช่น ผมพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วมาบอกว่ากลัวเรากระทำความผิดซ้ำ คือกลัวเราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการอีกเหรอ ซึ่งเงื่อนไขที่เขาให้มาก็ชัดเจนว่าเขาต้องการปิดปาก เขาไม่ต้องการให้เราพูด เขาต้องการจะให้เราทำอะไรได้น้อยลง แต่ถึงเราไม่ทำ ก็มีคนอื่นลุกขึ้นมาทำอยู่ดี” ชนินทร์ กล่าว

คงจะดีถ้าประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการ

ชนินทร์ เล่าว่า ตนสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะอ่านหนังสือด้านการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับการศึกษาดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่าประชาชนในประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะมีระบบรัฐสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า

“รัฐสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งระบบบิสมาร์ค คือเป็นระบบประกันสังคม ให้เฉพาะคนที่ทำงานเท่านั้น หรือระบบอังกฤษที่รัฐดูแลบางส่วน และขายประกันด้วย ส่วนนอร์ดิกโมเดล คือ รัฐสวัสดิการที่รัฐดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย มีเงินเด็กแรกเกิด มีเงินผู้สูงอายุ ค่าเล่าเรียนถูกและมีคุณภาพเป็นอย่างน้อย ถ้าอย่างมากก็คือเรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา ทุกคนได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพเหมือนกันหมด และก็มีการประกันคนว่างงาน ใครว่างงานก็สามารถรับเงินเดือนเป็น UBI (Universal Basic Income, รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) แนวคิดมันง่ายมากๆ เลย ทุกคนช่วยกัน คนมีเงินเยอะช่วยเยอะ ช่วยดูแลเด็ก ช่วยดูแลสังคม เป็นสังคมที่เกื้อกูล” ชนินทร์ กล่าว

 

ถ้าได้เป็นรัฐบาล อยากนั่งเก้าอี้ รมต.คมนาคม

ชนินทร์ เผยว่า หากในอนาคต ตนมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นรัฐบาล ตนอยากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

“อีกเรื่องหนึ่งที่สนใจ คือ เรื่องคมนาคม เราเห็นปัญหาชัดเจนที่สุด ทำไมถนนทุกสายของไทยต้องออกจากกรุงเทพฯ ทำไมไม่มีโครงข่ายเชื่อมต่อสักที ถ้าการคมนาคมดี เม็ดเงินก็จะกระจายสู่ภูมิภาค แหล่งทุนก็จะไม่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรามองว่าเศรษฐกิจของคนต่างจังหวัดจะเติบโต ถ้าการคมนาคมดี” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าตนสนใจด้านการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟและระบบขนส่งสาธารณะ

“ดูๆ ไปแล้ว เมืองไทยมันบีบให้ทุกคนซื้อรถกันหมดเลยเนอะ อย่างในต่างจังหวัด ถ้าไม่มีรถก็เดินทางลำบาก เราอยากให้มีรถรางหรือรถไฟรางเบาให้คนเดินทางได้ทุกที่ หรือมีรถไฟรางเบาที่ขนย้ายคนและสิ่งของข้ามจังหวัดโดยไม่ต้องมาต่อรถที่กรุงเทพฯ ให้ทุกอย่างเป็นโครงข่าย” ชนินทร์ กล่าว

“เราอยากเห็นประเทศไทยที่เปลี่ยนไป ทุกคนทำมาหากิน ใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย ไม่ต้องลำบาก ใครอยากเรียนก็ได้เรียน ทุกคนมีเงินค่ารักษาพยาบาล ทุกคนมีความสุข นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น ซึ่งเมืองไทยในปัจจุบัน [สิ่งเหล่านี้] มีลักษณะผูกขาดไปซะเยอะ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย แผนพัฒนาถูกกำหนดโดยคนไม่กี่คนในสภาพัฒน์ ไหนจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (หัวเราะ)”

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘เด็กรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง’

“มาล้างเราสมองเรากลับได้นะ (หัวเราะ) อันนี้คือพูดปั่นๆ แต่ถ้าเอาจริงๆ ผมมองว่าการโน้มน้าวหรือการชี้นำคนมีทุกที่นั่นแหละ แต่ทุกที่ควรจะถกเถียงได้ คุณนำเสนอแนวคิดของคุณมาเลย ใครอยากนำเสนอแนวคิดอะไรก็ว่ามา แต่มันขึ้นอยู่กับว่าปัจเจกแต่ละคนจะซื้อแนวคิดใคร และผมเชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีเหตุผล ล้วนมีความสามารถ ล้วนมีวิจารณญาณ อะไรดี อะไรไม่ดี ผมว่าทุกคนรู้หมด มันเป็นสิทธิของแต่ละคนว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ถกเถียงกันได้ ไม่ใช่ว่าต้องคิดแบบผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจไล่ปิดปากคนที่เห็นต่าง” ชนินทร์ กล่าว

ขอฝันใฝ่ในฝันนั้น ถ้าการเมืองดี...

ชนินทร์ บอกว่า ถ้าในอนาคต การเมืองไทยดีขึ้น นอกจากอาชีพนักการเมือง ตนอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือ

“เราอยากเป็นอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่าจะยกตนเหนือคนอื่นนะ แต่เราอยากแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เราว่าการเป็นอาจารย์มันได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่น ทั้งกับอาจารย์ด้วยกันเอง หรือกับนักศึกษา เราไม่ได้อยากเป็นอาจารย์เพื่อสอน (หัวเราะ) เราอยากแลกเปลี่ยน ได้คุยกับคนเยอะๆ มากกว่า” ชนินทร์ กล่าว

หนังสือเล่มโปรด

“ถ้าเรื่องที่อ่านแล้วชอบ ขอเป็นหนังสือด้านแนวคิดทางสังคมแล้วกัน คือ มารู้จักมาร์กซิสต์กันเถอะ ของสำนักพิมพ์องค์กรเลี้ยวซ้าย เล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ เลย มันหนังสือเล่มแรกๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองที่ผมอ่าน แล้วผมคิดว่าคำอธิบายในหนังสือมันเข้าใจง่าย ไม่ใช่ศัพท์ยากไป มีการเชื่อมโยงประเด็นทั้งความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม เข้ากับมิติต่างๆ แล้วยังพูดถึงแนวคิดทางการเมือง รวมถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ว่ามันคืออะไร มาร์กซิสต์คืออะไร แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ คืออะไร” ชนินทร์ กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์ก แตกต่างจากความเชื่อและความหวาดกลัวในสมัยสงครามเย็น

“คอมมิวนิสต์ตามแนวคิดในยุคสงครามเย็นที่คนรุ่นเก่ากลัว มันเป็นคอมมิวนิสต์ลัทธิแก้ คอมมิวนิสต์ที่ผิดเพี้ยนไปโดยสหภาพโซเวียต ก่อนอื่นต้องเข้าใจที่มาของแนวคิดคอมมิวนิสต์ แล้วจริงๆ คาร์ล มาร์กซ์ไม่ได้พูดถึงระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์นะ คนที่คิดระบอบนี้จริงๆ คือ วลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิค สร้างสหภาพโซเวียตขึ้นมา สร้างระบบโปลิตบูโร สร้างสภาแรงงาน แต่กรรมสิทธิ์ทุกอย่างเป็นของส่วนรวมและถูกควบคุมโดยรัฐ แนวคิดเหล่านี้ก็ผิดเพี้ยนไปเรื่อยๆ จากสิ่งที่มาร์กซ์เคยเสนอว่าทุกคนควรจะมีสิทธในการเข้าถึงทรัพยากร แต่การปกครองของโซเวียตกลับกลายเป็นการรับคำสั่งจากบนลงล่าง ซึ่งเหมาเจ๋อตุงก็รับแนวคิดนั้นมาต่อ จนทำให้แนวคิดที่เลนินบอกว่ามาจากมาร์กซ์ มันเริ่มบิดเบี้ยว บวกกับการสร้างภาพความกลัวคอมมิวนิสต์ของชนชั้นนำไทยด้วย” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าจริงๆ แล้ว แนวคิดคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ถูกนำไปปรับใช้กับหลายอย่างในยุคปัจจุบัน เช่น การตั้งสหภาพแรงงาน การรวมกลุ่มกันเรียกร้องสิทธิของแรงงาน เป็นต้น

“จริงๆ แล้วการเรียกร้องสิทธิแรงงานในยุโรป ได้แนวคิดมาจากคาร์ล มาร์กซ์ซะเยอะ แต่รัฐไทยกลับเหมารวมว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์ไปซะหมด เราไม่ได้มองคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน แบบเหมา แต่เรามองว่าเราอยากได้สังคมที่ทุนไม่เป็นภาระไม่เป็นโซ่พันธนาการมนุษย์ และทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน” ชนินทร์ กล่าว

 

10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมฯ

“ผมมองว่าเราเป็นแกนนำ เราชี้นำมวลชน แต่ข้อเสนอของเรามันจะชอบธรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าเขาจะเลือกหรือไม่เลือก เราเห็นว่า พอเราออกข้อเสนอไปปุ๊บ มีคนมาม็อบ แสดงว่าเขาซื้อข้อเสนอเรา แล้วก็มีการถกเถียงเกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะในโลกจริงๆ หรือโลกออนไลน์ เมื่อเกิดการถกเถียง ทุกอย่างก็จะเกิดพลวัต ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประชาชนเห็นด้วยก็จริง แต่ก็ตามมาด้วยการถกเถียงว่าข้อไหนเป็นไปได้ จะทำอย่างไร จะเริ่มที่ขั้นตอนไหนก่อน นอกจากนี้ก็ยังมีภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย คือกลุ่มแนวร่วมฯ สตาร์ทรถ ออกตัวก่อน เปิดด้วย 10 ข้อ แล้วก็จะมีองค์กรอื่นๆ ขับตามมา เช่น กลุ่มไอลอว์ (iLaw) ที่ผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่ามันเป็นการปฏิรูปเหมือนกัน หรือกลุ่มอื่นๆ เช่น พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ลดโทษ ม.112 แต่ทางกลุ่มแนวร่วมฯ เสนอให้ยกเลิกนะ คือพอมีประชาชนเห็นด้วย มีหลายๆ กลุ่มขยับตาม การเคลื่อนไหวเรียกร้องก็เกิดพลวัตของมันแล้ว” ชนินทร์ กล่าว พร้อมบอกว่าการเปลี่ยนข้อความในข้อเรียกร้องข้อที่ 3 จาก ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ มาเป็น ‘ยกเลิก ม.112’ เพราะเป็นข้อความที่สื่อถึงข้อเรียกร้องได้ชัดเจน และการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นประตูก้าวแรกที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

“อย่างคำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ที่เปลี่ยนมาเป็น ‘ยกเลิก ม.112’ เพราะคนเห็นว่ามันน่าจะเป็นรูปธรรมและเป็นไปได้ เรามองว่าการปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ คือสิ่งที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยๆ ควรยกเลิก ม.112 เพื่อที่ว่าประชาชนควรจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น การพูดเรื่องลดงบสถาบันฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมฯ ถ้ายังมี ม.112 อยู่ เราพูดไปสุดท้ายก็โดนคดี” ชนินทร์

ถึงเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนทุกคนที่ร่วมต่อสู้

“รู้สึกนับถือ นับถือที่พวกเขาพูดจนถึงที่สุด อย่างเพนกวิน แม้แต่ตอนอยู่ในคุกก็ยังอดอาหารประท้วงอย่างสันติวิธี ที่สามารถทำได้เลย แม้จะอยู่ในนั้น ถูกพลัดพรากเสรีภาพ ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ แต่พี่กวิ้นก็ยังสู้อยู่ ส่วนแอมมี่ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ก็สู้เหมือนกันหมด ทุกคนต่างเป็นนักสู้ ซึ่งผมยอมรับและนับถือ พวกเขาคือหนึ่งในคนที่ร่วมกันพัฒนาสังคมของเรา และถึงประชาชนทุกคน เราต้องช่วยกันสู้ต่อไป ถ้าเราไม่สู้มันก็หยุดอยู่แค่นี้ แล้วถ้าเราสู้ต่อก็น่าจะมีโอกาสที่เราจะได้สังคมที่ดีขึ้น มันอาจจะใช้เวลา แต่ศึกนี้คือการต่อสู้ที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนเอาชีวิตมาเสี่ยง แบกรับความเสี่ยงในหลายๆ อย่าง เราอยากให้ทุกคนช่วยกันต่อไป ไม่ว่าจะช่วยในรูปแบบใดก็ตาม ช่วยในแบบที่ตัวเองพอจะทำได้ ไม่ว่าจะให้กำลังใจ มาร่วมชุมนุม หรือร่วมขับเคลื่อนในรูปแบบใด ซึ่งสักวันมันก็ต้องเปลี่ยนแหละ สักวันเราก็ต้องชนะไปด้วยกัน ถ้าเราไม่สู้เราก็ไม่มีโอกาสชนะ ไม่มีโอกาสเห็นสังคมที่ดีขึ้น สังคมที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” ชนินทร์ กล่าว

การต่อสู้นี้จะยาวนานเท่าไร

“ผมว่ามันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วนะ ตั้งแต่เราเริ่มชุมนุมด้วยกัน สิ่งที่เราได้มีหลายอย่าง ในมุมมองของวัฒนธรรม ในมุมมองของการต่อสู้ เช่น แต่ก่อน การชูป้ายเป็นเรื่องยาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติ แต่ก่อน การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ทุกวันนี้คนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกันเป็นเรื่องปกติ จนไปถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ ที่แต่ก่อนอยู่ในวงซุบซิบนินทา แต่ปัจจุบันถูกพูดถึงในที่สาธารณะ ผมว่าสังคมมันเปลี่ยนแล้ว ตอนนี้เราขาดอำนาจทางการเมือง ถ้าสู้ต่อไป สักวันก็ต้องมีวันที่อำนาจทางการเมืองจะเป็นของประชาชน” ชนินทร์ กล่าว

 

อนึ่ง 10 ข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งนำเสนอผ่านเวทีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ณ จากลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นความพยายามเรียกร้องให้สถาบันฯ อยู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท