สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 7-13 พ.ค. 2564

สตม.เปิดตัวเลขตั้งแต่ต้นปี ดำเนินคดีลอบเข้าไทยแล้ว 4,000 คน

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา สตม.จับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 4,000 กว่าคน โดยเน้นย้ำว่าหากพบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือช่วยเหลือการหลบหนี จะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยอย่างเด็ดขาด

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ตำรวจ สตม. ขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดเข็มแรกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม.แล้ว ร้อยละ 52 และฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว ร้อยละ 38 นอกจากนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ยังชี้แจงกรณีที่ พ.ต.ท.วิญญู พันธุ สารวัตรกองกกำกับการ 3 สตม.เสียชีวิตนั้น ผลการชันสูตรไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข้าในร่างกายและทำให้เสียชีวิต

ที่มา: Thai PBS, 13/5/2564

คลัสเตอร์โรงงานอะไหล่รถยนต์ สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 142 ราย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทีมปฏิบัติการ เข้าตรวจหาผู้ติด COVID-19 กลุ่มใหม่ ที่โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์แห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรมเทพารักษ์ ย่าน ต.บางเสาธง หลังทราบว่ามีพนักงานรายหนึ่งระดับหัวหน้าเดินทางไปเยี่ยมญาติในย่านชุมชนคลองเตยเมื่อกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก่อนเกิดการแพร่กระจายคนในชุมชนคลองเตยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลเจ้าหน้าที่ระบุว่า โรงงานแห่งนี้มีพนักงานไทย และแรงงานข้ามชาติ 342 คน ผลการตรวจเชิงรุก แยกเป็นแรงงานไทย 164 คน ติดเชื้อ 18 คน แรงงานข้ามชาติ 196 คน ติดเชื้อ 111 คน รวมผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ จนถึงขณะนี้ 142 คน เจ้าหน้าที่จึงมีคำสั่งปิดโรงงาน ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 24 พ.ค.2564 แต่เพื่อความปลอดภัยโรงงานขอขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2564

การสอบสวนโรคทราบว่าก่อนตรวจพบคลัสเตอร์ระลอกใหม่นี้ มีพนักงานระดับบังคับบัญชาไปเยี่ยมญาติที่ชุมชนคลองเตย และเมื่อกลับเข้าทำงานมีการเรียกประชุมพนักงาน 12 คน ต่อมาพนักงานคนนี้ทราบว่า ญาติที่ไปพบติดเชื้อ COVID-19 จึงไปตรวจร่างกาย ผลยืนยันติดเชื้อเช่นกัน โรงงานจึงประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพื้นที่เข้าตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมด เริ่มจาก 12 คน ที่เข้าประชุม ซึ่งผลยืนยันติดเชื้อทุกคน ทั้งหมดจึงถูกส่งตัวไปรักษาแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฯ ต้องประสานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติเฉพาะทางมูลนิร่วมกตัญญู นำรถพยาบาลรถบรรทุก 6 ล้อ รถโดยสาร 2 แถว มารับพนักงานยืนยันติดเชื้อไปส่งโรงพยาบาล ตามสิทธ์ประกันสังคม และโรงพยาบาลสนาม ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงอีกราว 200 คน ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่และเขตรอยต่อ ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามเข้าสู่กระบวนการสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนแล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/5/2564

สกศ.เผยแรงงานไทยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยแค่ ม.ต้น ยิ่งเจอโควิด ยิ่งเรียนกระท่อนกระแทน

12 พ.ค. 2564 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษาทำให้ผู้เรียนขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2563 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15 - 59 ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ 9.86 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.15 ปี จึงเป็นเรื่องน่าวิตกต่อภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจากการปิดภาคเรียนที่นานขึ้น และยังมีข้อจำกัดของการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลต่าง ๆ ช่วงรอยต่อของการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาหางานทำยากขึ้น และยังขาดโอกาสสั่งสมประสบการณ์ทำงานและรายได้ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลยังพบว่าวัยแรงงานจำแนกตามภูมิภาคในปี 2563 โดยเฉลี่ยแต่ละภาคมีการศึกษาระดับ ม.ต้น หรือมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภูมิภาค สำหรับกรุงเทพ ฯมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด 11.76 ปี รองลงมาเป็นภาคกลาง 10.08 ปี ภาคใต้ 9.63 ปี ภาคเหนือ 9.18 ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.02 ปี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามจังหวัดมีข้อค้นพบ 53 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 68.83 ที่มีการศึกษาในระดับ ม.ต้น และมี 24 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 31.17 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัด พบว่าวัยแรงงานที่อาศัยในจังหวัดนนทบุรี มีปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 11.80 ปี และน้อยที่สุด จ.แม่ฮ่องสอน 7.20 ปี โดยจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจน ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันกลุ่มวัยแรงงานอายุ 15-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอดการพัฒนาประเทศอนาคต โดย สกศ. สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ ที่ 21 รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree ริเริ่มการใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในยุคหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจร

“แม้ว่าผลการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยวัยแรงงานไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 0.1 ปี แต่ สกศ. มองว่าโควิด-19 คือตัวเร่งความท้าทายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี2579 อยู่ที่ 12.5 ปี จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้นอีก”เลขาฯ สกศ. กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/5/2564

'สมุทรสาคร' นำร่องจับมือสภาอุตฯ-หอการค้าประกาศแบนนายจ้างแรงงานเถื่อน

12 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันตอนหนึ่งว่า ประเด็นที่สำนักอนามัยเป็นห่วงคือเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะโดยปกติแล้วแรงงานต่างด้าวหากเกิดการเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าจะเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย เมื่อมาอยู่กับนายจ้างแล้วป่วยเราก็ต้องให้การดูแล โดยให้มีการตรวจหาเชื้อ ถ้าพบเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องจัดสถานที่ให้เขาได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่การกระทำความผิดจะต้องได้รับการทบทวนและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปด้วย เมื่อเขาหายป่วยแล้วต้องกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงาน

โดยในที่ประชุมศบค.ชุดเล็กพูดคุยกันว่า จะต้องจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ประกาศในวันเดียวกันว่า มีการเปิดศูนย์สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 12-31 พ.ค. หากผู้ใช้แรงงานคนใดอยู่ในประกันตนสามารถไปขอตรวจสวอปเพื่อค้นหาการติดเชื้อได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ หรือถ้าอยู่ต่างจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดได้ประสานงานกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด เพื่อดูว่าสถานประกอบกิจการใด โรงงานไหน จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ขอให้ผู้ประกันตนไปติดตามได้ในจังหวัดและสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ฟรีโดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เราจับได้ว่าทำผิดกฎหมาย ข้ามแดนทางพรมแดนธรรมชาตินั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้รายงานว่า จ.สมุทรสาครได้หารือกับบริษัทจัดหาแรงงาน 20 กว่าแห่งของจังหวัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม หอการค้า ได้มีการประกาศนโยบายไม่ยอมรับแรงงานผิดกฎหมาย เพราะ จ.สมุทรสาครเป็นแหล่งใหญ่ที่แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน แต่ทำให้เกิดการลักลอบ นำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวใช้แดน

ทาง จ.สมุทรสาครจึงได้เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่รับแรงงานผิดกฎหมาย ผู้จัดหา เอเยนต์ต่างๆ หรือคนที่นำพา คนขับรถรับแรงงาน ให้ที่พัก ให้การช่วยเหลือเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จ.สมุทรสาครจะประกาศแบนทั้งหมด ถ้าบริษัทเหล่านี้ยังกระทำความผิดเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัด ซึ่ง จ.สมุทรสาครได้ทำเป็นต้นแบบแล้ว กรุงเทพมหานครจะได้นำนโยบายเหล่านี้มาทบทวนและหวังว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดการแรงงานผิดกฎหมายด้วย

ที่มา: ไทยโพสต์, 12/5/2564

กลุ่มกัปตันนกแอร์ร่วม 20 คน ตบเท้าร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อ้างถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

11 พ.ค. 2560 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำตัวแทนนักบินหรือกัปตันของสายการบินนกแอร์ประมาณ 20 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งเลิกจ้างกลุ่มพนักงานการบินเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังกลุ่มพนักงานที่เป็นนักบินหรือกัปตันเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าบริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน และขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องควบรวมฝ่ายงาน หรือยุบโครงสร้างบางฝ่ายงาน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อนักบินเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้นักบินหลักและนักบินผู้ช่วย ทั้งหมดกว่า 20 คนได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ผ่านมา โดยบริษัทสายการบินนกแอร์อ้างว่าจะจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่นๆตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมภายใต้กระบวนการของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายต่อไปได้เสียก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานของบริษัทที่ถูกเลิกจ้าง เพราะตามหลักกฎหมายเมื่อบริษัทมีหนังสือเลิกจ้างแล้วมีผลวันใดบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายทันที ไม่ใช่ให้รอฟ้ารอฝนโดยไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร

ด้วยเหตุดังกล่าว นักบินหรือกัปตันของนกแอร์กว่า 20 คนจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อขอให้ช่วยนำพาไปร้องเรียน รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อขอสั่งการช่วยให้ความเป็นธรรม และดำเนินการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อบริษัทดังกล่าว

ที่มา: TNN, 11/5/2564

ก.แรงงาน เยียวยาลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์จากโควิด จ่าย 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้องเตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงตนเองในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายประเด็นดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมปรากฎว่าเข้าเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

สำหรับมีเงื่อนไข ดังนี้

1) ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ

2) ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน

3) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ ตามข้อ 1) โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/5/2564

รัฐบาลเพิ่มแรงงานในระบบประกันสังคม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีน

11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาคเอกชน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ผ่านมา เห็นชอบเพิ่มประชากรวัยแรงงานระบบประกันสังคม รวม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีสํานักงานประกันสังคมและจังหวัดจะเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุข

น.ส.รัชดากล่าวว่า ขณะเดียวกันก็เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงและประชาชนทุกๆ คนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อเร่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการฉีดสะสมแล้ว 1,809,894 โดส โดยในพื้นที่ กทม.การฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 315,504 โดส

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่ กทม.จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยายาลทั่วพื้นที่ กทม. 25 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น เน้นกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ คนขับเรือ ครู เป็นต้น โดยจะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนครบทั้งหมด 25 แห่งในวันที่ 21 พฤษภาคม มีเป้าหมายจะฉีดวันละ 50,000 คน ให้กับประชาชนกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ครู ผู้ขับขี่รถสาธารณะ พนักงานเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกัน ยังให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.อีก 126 แห่ง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมายวันละ 30,000 คน รวมแล้วจะฉีดให้ได้วันละ 80,000 คน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/5/2564

สพฐ.แจงกรณีเลิกจ้างครูคลังสมอง 1,964 ราย หลังแบกรับงบกว่า 200 ล้านบาท

10 พ.ค.2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มครูในตำแหน่งบุคลากรวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษากิจกรรมครูคลังสมองของ สพฐ. จำนวน 1,964 ราย ได้ร้องเรียนกรณี สพฐ.มีหนังสือแจ้งด่วนที่สุดที่ ศธ.04010/ว.34 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2564 เรื่อง การดำเนินการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษากิจกรรมครูคลังสมอง ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย. 2564 โดย สพฐ.จะเลิกจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จำนวน 1,964 ราย โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ครูกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อน เพราะจะต้องตกงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายอัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งขอชี้แจงว่าโครงการนี้กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ สพฐ.จึงดำเนินการแจ้งให้กลุ่มครูอัตราจ้างได้รับทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 7 เดือนก่อนจะถึงเดือนที่สิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้กลุ่มครูอัตราจ้างได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัว เพราะ สพฐ.ไม่ได้มีการเตรียมงบประมาณให้ดำเนินโครงการต่อในปี 2565 ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ต้องจัดสรรเงินจ่ายให้เฉพาะกลุ่มอัตราจ้างปีละ 2,000 กว่าล้านบาท โดยการจ้างครูในโครงการนี้ใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท และจะส่งผลให้เราไม่มีงบพัฒนาในด้านอื่นๆ

นายอัมพร กล่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและมีความห่วงใยกลุ่มครูอัตราจ้างโครงการฯ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้อยู่นะหว่างการจัดหาแนวทาง ว่า จะมีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยเหลือหรือเยียวยาให้ครูกลุ่มดังกล่าว ตามความเหมาะสม

“ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายมอง ว่า การเลิกจ้างกลุ่มครูอัตราจ้างในโครงการดังกล่าว จะส่งผลให้ สพฐ.ต้องขาดครูวิทยาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น ผมขอยืนยันว่าเราไม่ขาดครู เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการเสริมทักษะให้ผู้เรียนเก่งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่ได้เกิดโครงการขึ้นเพราะการขาดครูแต่อย่างใด อีกทั้งขณะนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เดินหน้าโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564 - 2567) เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบโรงเรียน ซึ่งเรายืนยันว่า ครูวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของ สพฐ.มีเพียงพออย่างแน่นอน” นายอัมพรกล่าว

โดยเนื้อหาในหนังสือราชการดังกล่าว ระบุว่า สพฐ. มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ขนาดกลางและเล็ก ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมอบให้ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ พิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีความขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ส่งให้สํานักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาจัดสรรงบประมาณการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้กับโรงเรียนดังกล่าว

โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องและมีรอบระยะเวลาการจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับ คุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้กับโรงเรียนที่สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือก 3 ปีต่อรอบ แบ่งเป็น รอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2556-2558 รอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2559 – 2563 และรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2562 – 254 โดยบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 ของเงินเดือนที่ได้รับ และเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ในอัตราร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ขณะนี้การจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมอง จะสิ้นสุดการดําเนินโครงการและสิ้นสุดการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ในรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น

ในการนี้ สพฐ. พิจารณาแล้วว่า โครงการดังกล่าว บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการตามงบประมาณและระยะเวลาที่กําหนด จึงเห็นชอบให้สิ้นสุดโครงการและสิ้นสุด การจัดสรรงบประมาณสําหรับการจ้างบุคลากรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาคุณภาพและ มาตรฐานการศึกษา กิจกรรมครูคลังสมอง ในรอบที่ 3 ปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 และขอให้แจ้งโรงเรียนและบุคลากรในโครงการดังกล่าวทราบการสิ้นสุดโครงการฯ ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 10/5/2564

COVID-19 กระทบความต้องการแรงงานใน EEC ลดลง

ข้อมูลจากคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC -HDC ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในทุกสาขาได้แก่ ท่องเที่ยว, โลจิสติกส์, ระบบราง, เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ ,Medical Hub, พาณิชย์นาวี, Smart Electronics และ Digital, หุ่นยนต์&Automation, อากาศยาน ,ยานยนต์สมัยใหม่

โดยคณะทำงานประกอบด้วย EIF (EEC Industrial Forum) ,EEC Net หรือ ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากร,คณะทำงานชุดพิเศษ 2 ชุด ซึ่งจะแยกทำหน้าที่ ทั้งสนับสนุนสาขาขาดแคลนและสถาบัน Droneนอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย อีก 8 แห่ง เช่น ม.บูรพา ม.ศรีปทุม PIM มธ.พัทยา เป็นต้น

องค์ประกอบเหล่านี้ จะทำหน้าที่วิเคราะห์และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC ซึ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่าความต้องการบุคลากรมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง จึงต้องมีการทบทวนประมาณการความต้องการบุคลากรในEEC อีก 5 ปีข้างหน้าใหม่ พบว่าสาขาการบินมีความต้องการลดลงสูงสุด ถึง 40%

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/5/2564

สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินว่าการว่างงานจากพิษโควิดระลอก 3 ในเดือน เม.ย. 2564 นี้จึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยยังมีสัญญาณอันตราย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตือนมาล่าสุดว่า อาจเกิด scarring effects ที่แรงขึ้น คือ แรงงานบางกลุ่มจะว่างงานนานขึ้น หรืออีกนานกว่าจะได้กลับมาทำงาน แม้การระบาดจะสิ้นสุดลง ทำให้บางกลุ่มต้องออกจากการเป็นกำลังแรงงาน เพราะหางานทำไม่ได้ นานจนสูญเสียทักษะฝีมือ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว

ดร.ธนิต เปิดเผยว่ามีการประเมินจำนวนผู้ตกงานระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2565 ว่าจะมีตัวเลขคนว่างงานไม่ต่ำกว่า 2.7-2.9 ล้านคน โดยนับทั้งผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นคนว่างงาน จากการลาออก และถูกปลดออกเพราะธุรกิจเลิกกิจการในระบบประกันสังคม กับคนที่เสมือนคนว่างงาน หรือว่างงานแฝง เพราะถูกลดเวลาการทำงาน เพียงสัปดาห์ละ 1-19 ชั่วโมง จากปกติทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และที่น่าห่วงยังมีนักศึกษาจบใหม่ในเดือนสองเดือนนี้อีกกว่า 5 แสนคนที่เตรียมหางาน โดยยังมีนักศึกษาที่จบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มีเพียงครึ่งเดียวจากกว่า 5 แสนคนที่มีงานทำแล้ว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/5/2564

กทม. เคาะฉีดวัคซีนเพิ่มพนักงาน Delivery-แรงงานนอกระบบ กลุ่มเสี่ยง 5 แสนคน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 โดยมีมติเห็นชอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กระทรวงแรงงานขยายการให้บริการจุดตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่ผู้ประกันตน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ระหว่างวันที่ 5-31 พ.ค. 2564

ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ให้บริการตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่กลุ่มผู้ประกันตนในช่วงเดือนเม.ย. 2564 สามารถคัดกรองประชาชนได้ 32,453 คน พบผู้ติดเชื้อ 808 คน คิดเป็น 2.50% รวมทั้งมีการดำเนินการภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง การคัดกรองผู้มารับบริการ และสามารถดูแลผู้ติดเชื้อภายหลังพบผล Positive เป็นอย่างดี จึงเห็นชอบให้ขยายการให้บริการต่อไปได้

นอกจากนี้เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวครอบคลุมประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะดำเนินการตรวจในกลุ่มพนักงานส่งอาหารDelivery รวมทั้งแรงงานที่อยู่นอกระบบทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการให้ได้วันละ 2,000 คน เพื่อให้เกิดการป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริการจัดการวัคซีนสำหรับกลุ่มอาชีพเสี่ยงเพิ่มเติม อาทิ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คนขับรถสาธารณะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานดอนเมือง การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานกวาดประจำ 50 สำนักงานเขต ซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 500,000 คน และหากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้เร่งดำเนินการฉีดทันที

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/5/2564

มติ กก.โรคติดต่อฯ ขยายกลุ่มวัคซีนโควิด 16 ล้านโดสแรก กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเภสัชกร กลุ่มประชากรวัยแรงงาน

7 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 ว่า ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการกระจายวัคซีนฉีดป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวนมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีมติ 3 เรื่อง คือ 1.สธ.ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาคเอกชน จะมาร่วมในการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงานรวม 16 ล้านคน โดยมีสํานักงานประกันสังคม (สปส.) และจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจำนวน และรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนในโอกาสต่อไป

“นอกจากนี้ ยังจะมีการเพิ่มจุดฉีดวัคซีนที่นอกเหนือจากสถานพยาบาลของรัฐ ในกรุงเทพมหานคร 82 แห่ง และต่างจังหวัดประมาณ 300 แห่ง โดยคุณสมบัติเบื้องต้น จะต้องมีการดูแลในเรื่องของระบบสุขาภิบาล เรื่องการระบายอากาศ มีระบบการเฝ้าระวังอาการหลังการฉีด 30 นาที และการให้การช่วยเหลือหากกรณีมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น อาทิ ตั้งในโรงงาน ศูนย์การประชุม ลักษณะคล้ายกับ รพ.สนาม อนาคตอาจจะมีการดำเนินการฉีดผ่านรถเคลื่อนที่” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า 2.มีมติเห็นชอบแนวทางในการฉีดวัคซีนของซิโนแวคให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผลการศึกษาของประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว จากนี้ จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป เพื่อดำเนินการฉีดในกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ 3.เห็นชอบให้ออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในเรื่องของการเปรียบเทียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถาน โดยจะมีการอนุโลม ยกเว้น และการลดค่าปรับตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

“แต่ยังยืนยันว่าขอความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้าน หรือไปในที่ที่มีคนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายเพิ่มเติม คือ ข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราไม่ได้ต้องการใช้กฎหมายเพื่อลงโทษใคร แต่เพื่อให้ประชาชนใส่ใจ รับผิดชอบ และมีความระมัดระวังมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยให้ตลอดเวลา พร้อมทั้งมาตรการป้องกันโรค เว้นระยะห่าง ล้างมือและการสแกนไทยชนะด้วย” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการหารือกันในสัดส่วนของแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนล็อตแรก 16 ล้านโดส ที่ได้ขยายออกไป แต่ขอให้ประชาชนใน 2 กลุ่มเป้าหมายแรก คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่มีรายชื่อในหมอพร้อม ก็ขอให้ลงทะเบียนเพื่อจองวันฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่ขยายเพิ่ม เช่น กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาที่จะเปิดเรียนในเดือน มิถุนายนนี้ กลุ่มเภสัชกร กลุ่มประชากรวัยแรงงาน ก็จะมีการลงทะเบียนจากหน่วยงาน ส่งรายชื่อไปยัง สธ. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับค่าปรับที่มีการหารือคร่าวๆ จะแบ่งเป็นการกระทำผิดครั้งแรกปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากมีการกระทำผิดซ้ำจะปรับตั้งแต่ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และถ้ายังมีการกระทำผิดอีก จะปรับในหลักหมื่น แต่ไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดจะต้องมีการหารือเพื่อวางโครงร่างที่ชัดเจนอีกครั้ง

“การจับปรับไม่ได้หวังเงินทองของประชาชน แต่เพื่อเป็นการป้องปรามให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 7/5/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท