Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 อัลเบิร์ต บูร์โล ประธานกรรมการบริหารบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่จากสหรัฐฯ แถลงผ่านเพจส่วนตัวบนเว็บไซต์ LinkedIn ว่าบริษัทไฟเซอร์เสนอขายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศทุกกลุ่มรายได้ ทั้งประเทศที่มีรายได้สูง รายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ โดยเสนอเงื่อนไขราคาที่แตกต่างกันให้กับประเทศในแต่ละกลุ่มรายได้ ซึ่ง บูร์โล ระบุในแถลงการณ์ของเขาว่าบริษัทเน้นย้ำเสมอว่าจะกระจายวัคซีนตามหลักความเป็นธรรมและเสมอภาค (Fair & Equity)

มาดูกันว่าแต่ละประเทศที่เปิดเผยข้อมูลราคาวัคซีนไฟเซอร์ ซื้อกันที่โดสละกี่บาท

 

“เงื่อนไขแรกที่บริษัทกำหนดในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่เริ่มเปิดจองวัคซีน เราเสนอขายวัคซีนในราคาแบบขั้นบันได คือ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะต้องซื้อวัคซีนในช่วงราคาอาหาร 1 มื้อ และต้องฉีดให้กับประชาชนในประเทศของตนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางสามารถซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ได้ในราคาครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำสามารถซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ได้ในราคาเท่าทุน และชุมชนยากจนหลายแห่งจะได้รับวัคซีนผ่านการบริจาคสมทบทุน ทั้งนี้ ความเสมอภาค ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนในรูปแบบเดียวกัน แต่ความเสมอภาคหมายถึงเราจะมอบโอกาสนั้นให้คนที่มีความต้องการมากกว่า” บูร์โล ผู้บริหารของไฟเซอร์ กล่าว

นอกจากนี้ บูร์โล ยังชี้แจงในแถลงการณ์ดังกล่าวว่า บริษัทไฟเซอร์ติดต่อไปยังทุกประเทศในทุกกลุ่มรายได้ และพยายามติดต่อทุกช่องทาง ทั้งจดหมาย โทรศัพท์ หรือกระทั่งส่งข้อความ แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่ตกลงสั่งจองวัคซีนกับทางบริษัท คือ ประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง พร้อมระบุว่าประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำปฏิเสธการจองวัคซีนไฟเซอร์ในล็อตแรกๆ เพราะว่าสั่งจองวัคซีนยี่ห้ออื่นไปแล้ว เนื่องจากไม่มั่นใจในเทคโนโลยี mRNA ของไฟเซอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ บางประเทศบอกว่าจะใช้วัคซีนที่ผลิตเอง หรือบางประเทศก็ไม่รับรองวัคซีนของไฟเซอร์ แต่เมื่อผลการฉีดวัคซีนเริ่มประจักษ์ ทำให้หลายประเทศที่เคยปฏิเสธวัคซีนของไฟเซอร์ในตอนแรก กลับมาเปิดโต๊ะเจรจาอีกครั้ง โดยไฟเซอร์ตั้งเป้าว่าจะผลิตวัคซีนให้ทันกับยอดสั่งจองในครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกประเทศในปีหน้า

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว CNBC ของสหรัฐฯ รายงานว่า ไฟเซอร์บริจาควัคซีนจำนวน 40 ล้านโดสให้แก่โครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นโครงการกระจายวัคซีน เพื่อช่วยให้ทุกประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วม ทั้งประเทศรายได้สูงและรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียม ด้าน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ไฟเซอร์เตรียมส่งมอบวัคซีนจำนวน 3,000 ล้านโดสให้แก่ 116 ประเทศในปีนี้ตามสัญญาการซื้อขาย ซึ่งกว่า 60% ของประเทศที่สั่งซื้อ คือ ประเทศที่มีรายได้สูง อย่างไรก็ตาม บูร์โล คาดว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำจะได้รับวัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 1,000 โดสภายในปีนี้ และยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ประเทศโคลอมเบียและแอฟริกาใต้ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ซื้อวัคซีนไฟเซอร์ในราคาโดสละ 24 และ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ในขณะที่ สำนักข่าว DW News ของเยอรมนีระบุว่าสหภาพยุโรป (EU) ตกลงเจรจาซื้อวัคซีนกับไฟเซอร์ที่ราคาเข็มละ 23.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่า EU ซื้อวัคซีนไฟเซอร์ในราคาโดสละ 94.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าราคาที่สหรัฐอเมริกาต่อรองซื้อถึง 2.4 เท่า

ส่วนไทยเพิ่งเจรจาซื้อวัคซีนไฟเซอร์เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวมติชนรายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าได้เจรจาซื้อวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 20 ล้านโดส และบริษัทจะเริ่มส่งมอบให้ไทยช่วงเดือน ก.ค. นี้ โดยจะใช้เป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ เช่นเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นา ที่โรงพยาบาลเอกชนต้องติดต่อซื้อกับองค์การเภสัชกรรม และกำหนดราคาเบื้องต้นอยู่ที่โดสละ 3,000 บาท (2 เข็ม)

ที่มา:

สำหรับ จุลวรรณ เกิดแย้ม ผู้จัดทำกราฟิกนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net