“เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” ฉันเห็น “อานนท์ นำภา” ในบทกวีของเขา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“เพราะนอกจากอาชีพทนายความที่เป็นอุดมคติของอาชีพส่วนตัวแล้ว ก็มีอาชีพอีกหนึ่งอย่างที่ผมอยากทำคือ นักเขียน หรืออย่างน้อยก็ได้มีโอกาสมีหนังสือของตัวเองสักเล่ม...”

( ส่วนหนึ่งจาก คำตาม โดยอานนท์ นำภา )

รวมบทกวีเล่มแรกในชีวิตของอานนท์ ฯ เล่มนี้ แต่ละบท แต่ละบาท แต่ละวรรค แต่ละคำ ล้วนเกิดจากความสะเทือนใจ ความคับแค้นใจ ในสายตาของมนุษย์ผู้ได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับมนุษย์ด้วยกันที่ถูกกระทำและได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรม ในช่วงสิบกว่าปีผ่านมา 

อานนท์ ฯ มีปฏิภาณกวี มีพื้นฐานการเขียนกลอนอย่างดีเยี่ยม สังเกตจากบทกวีส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นอย่างฉับพลันทันทีด้วยภาษาบ้านๆ เรียบง่าย ฉายภาพชัดเจน บางชิ้นเขียนในห้องน้ำใต้ถุนศาล หลายชิ้นเขียนหลังเวทีชุมนุม แต่เขาก็เขียนส่งสารและสื่ออารมณ์ออกมาได้ในระดับดี ทั้งบทที่เศร้าสะเทือนใจ บทที่บ่งบอกถึงคับแค้น หรือบทที่ให้ความหวังพลังใจในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และบทที่ยืนยันอุดมการณ์อันหนักแน่นมั่นคงอย่างนักปฏิวัติ

“ปาดน้ำตา ต่างยิ้ม ให้ลูกชาย
ลูกโบกมือ บ๋ายบาย ยิ้มให้แม่
ชะเง้อตาม สองตา เจ้าต่างแล
เชื่อมรักแท้ แม่ลูก ที่ผูกพัน

ผิดใดหนอ บักหำน้อย แม่คอยถาม
จึงถูกล่าม โซ่ขึง ตรึงไว้นั่น
ขาก็ขา น้อยน้อย เพียงแค่นั้น
จะทนดั้น เดินย่าง ได้อย่างไร”
......
“จึงกฎหมาย กลายหมด แล้วกฎหมาย
เกิดกฎหมา มักง่าย มาสะสาง
เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้า มาสุดทาง
เลือกระหว่าง ก้มค้อม หรือยอมตาย”

( จากบท “เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” )

อานนท์ ฯ กล่าวไว้ใน “บทตาม” ของหนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ว่า

“๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญของหลายๆ คน รวมทั้งผมด้วย ความสลดหดหู่ที่เกิดจากการจากไปของ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ความคับแค้นกับการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เรา “ตาสว่าง” ล้วนผลักดันให้เราหลายๆคนเดินมาบนถนนสายเดียวกัน นั่นคือถนนของการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ และเมื่อยิ่งก้าวเดิน ก็ยิ่งมั่นใจว่าเรามาถูกทางอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจำนนต่อความจริงที่ว่า เรากำลังเดินเข้าใกล้ความป่า และเข้าใกล้หัวใจของเผด็จการเข้าไปทุกขณะ แน่นอน พี่น้องเราทุกคนล้วนบอกตนเองว่า “เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง” แล้วจริงๆ”

อานนท์ ฯ ยืนยันอาการ “ตาสว่าง” มองเห็นทะลุปรุโปร่งถึงโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ และการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านเดียวของระบอบศักดินาด้วยบท “แม่-ของประชาธิปไตย” ได้อย่างเสียดเย้ยและแหลมคม

“แม่จึงสวย ด้วยงาน และหยาดเหงื่อ
แม้ร่างเถือ ปืนดาบ อาบบาดแผล
ที่สวยสวย ด้วยเสื้อ เรื่อเพชรแพร
เขาเป็นเพียง หญิงแก่ ใช่แม่เรา !”

อานนท์ ฯ เรียนจบนิติศาสตร์ และเริ่มต้นอาชีพทนาย ฯ ด้วยการเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งระหว่างการชุมนุม และหลังเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เขาเป็นทนาย ฯ ให้คนเสื้อแดง คนเสื้อแดงซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นพวกควายโง่ถูกนักการเมืองเลวหลอกใช้ อานนท์ ฯ ได้สัมผัสรับรู้ถึงความเจ็บปวด ดวงใจแทบแหลกสลายของเหยื่ออธรรมและครอบครัว

อันก่อเกิดจากความอำมหิตไร้ยางอาย ของกระบวนการยุติธรรม อานนท์ ฯเขียน “บทกวีถึงมหาตุลาการ” ไว้ว่า

“คือตราชู ผู้ชี้ เสรีสิทธิ์
คือศาลสถิต ยุติธรรม นำสมัย
คือหลัก ประกัน ประชาธิปไตย
มิใช่ อภิชน คนชั้นฟ้า!

ครุยที่สวม นั้นมา จากภาษี
รถที่ขี่ เงินใคร ให้หรูหรา
ข้าวที่กิน ดินที่ย่ำ บ้านงามตา
ล้วนแต่เงิน ของมหา ประชาชน

มิได้ อวตาร มาโปรดสัตว์
แต่เป็น “ลูกจ้างรัฐ” ตั้งแต่ต้น
ให้อำนาจ แล้วอย่าหลง ทะนงตน
ว่าเป็นคน เหนือคน ชี้เป็นตาย

เสาหลัก ต้องเป็นหลัก อันศักดิ์สิทธิ์
ใช่ต้องลม เพียงนิด ก็ล้มหงาย
ยิ่งเสาสูง ใจต้องสูง เด่นท้าทาย
ใช่ใจง่าย เห็นเงิน แล้วเออออ !
 
ต้องเปิด โลกทัศน์ อย่างชัดเจน
ใช่ซ่อนเร้น อ่านตำรา แต่ในหอ
ออกบัลลังก์ นั่งเพลิน คำเยินยอ
เลือกเหล่ากอ มากอง ห้องทำงาน

ตุลาการ คือหนึ่ง อธิปไตย
อันเป็นของ คนไทย ไพร่-ชาวบ้าน
มิใช่ของ ใครผู้หนึ่ง ซึ่งดักดาน
แต่เป็น “ตุลาการ” ประชาชน 

ฉะนั้นจึง สำนึก มโนทัศน์
ใช่ด้านดัด มืดดับ ด้วยสับสน
เปื้อนราคิน กินสินบาท คาดสินบน
แล้วแบ่งคน แบ่งชั้น บัญชาชี้

เถิด “ตุลาการ” จงคิด อย่างอิสระ
รับภาระ อันหนักหนา ทำหน้าที่
หากรับใช้ ใบสั่ง ดั่งกาลี
ตุลาการ เช่นนี้ อย่ามีเลย ! 


แม่ของอานนท์ ภาพจาก แฟนเพจราษฎร 
www.facebook.com/TheRatsadon/posts/158087519599718

ในบทกวีของอานนท์ ฯ มีอานนท์ ฯ ภาพนักโทษการเมืองกับแม่ ที่เขาเขียน กลับกลายเป็นตัวเขากับแม่ของเขาในวันนี้

“ผิดใดหนอ บักหำน้อย แม่คอยถาม
จึงถูกล่าม โซ่ขึง ตรึงไว้นั่น
ขาก็ขา น้อยน้อย เพียงแค่นั้น
จะทนดั้น เดินย่าง ได้อย่างไร”

“...เรากำลังเดินเข้าใกล้ความป่าเถื่อนและเข้าใกล้หัวใจของเผด็จการเข้าไปทุกขณะ...” อานนท์ ฯ กล่าวไว้ในคำตามของหนังสือ ซึ่งทันทีที่เขายื่นมือออกไปแตะหัวใจ ความป่าเถื่อนก็จับเขาเข้าคุกขัง ไม่ให้ประกันตัว ถามหัวใจตัวเองเถิด สามัญชนปัญญาชน มือตีน นั่งร้านและผู้สนับสนุนเผด็จการทั้งหลาย ทั้งเลือดสีน้ำเงินเข้ม เลือดสีน้ำเงินอ่อน ทั้งสลิ่ม ฟาสซิสต์ ฯลฯ คุณยอมให้ความป่าเถื่อนทำลายเด็กหนุ่มที่มีอุดมการณ์แรงกล้า ผู้หาญกล้าเสนอทางออกจากปัญหาอย่างจริงใจเช่นนี้หรือ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการอยุติธรรมทั้งหลายต้องละอายแก่ใจมิใช่หรือ องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องออกมาปกป้องเขาใช่หรือไม่ ยังต้องให้ถามอีกหรือว่าความเป็นคนของพวกคุณอยู่ที่ไหน


ภาพเขียนอานนท์และเพื่อนผู้ต้องขังในห้องพิจารณาคดี

อานนท์ นำภา เขียนบทกวีด้วยชีวิตของเขา เขียนบทกวีด้วยอิสรภาพของเขา เขาเป็นกวี ยิ่งกว่ากวีเฮงซวยหลายคนในประเทศอันน่าสมเพศแห่งนี้อย่างแน่นอน และคงไร้ประโยชน์ที่จะถามถึงปฏิกิริยาท่าทีหรือการออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพกวี ขององค์กรทางวรรณกรรมอย่าง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
 เพราะองค์กรนี้เลือกที่จะเป็นมือตีนเป็นนั่งร้านให้เผด็จการมาตั้งแต่แรกแล้ว

“ผมรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นชาวบ้านแก่ๆ มายืนคอยดูลูกชายขึ้นศาล และยิ่งเขามาถามว่า “ลูกแม่สิได้ออกมื้อได๋” มันยิ่งจุกจนพูดไม่ออกทุกที หรือนี่เราเดินมาสุดทางแล้วจริงๆ” ( ข้อความใต้บททกวี “เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง” )
  
คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา
ปล่อยอานนท์ นำภา
ปล่อยนักโทษการเมืองและผู้ต้องหา 112 ทุกคน
ยกเลิก 112

 

 

*รวมบทกวี “เหมือนบอดใบ้ไพร่ฟ้ามาสุดทาง”
โดย อานนท์ นำภา
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน 
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท