ศบค. เตรียมผ่อนคลายให้นั่งกินในร้าน-ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า

14 พ.ค. 2564 ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,256 ราย เสียชีวิต 30 ราย เตรียมผ่อนคลายมาตรการให้บริโภคอาหารในร้านได้ ด้านญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้อง ศบค. ฐานประมาทเลินเล่อและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

ติดเชื้อใหม่ 2,256 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 14 พ.ค. 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,256 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,068 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 ราย และติดเชื้อจากเรือนจำหรือที่ต้องขัง 183 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอยู่ 33,186 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,203 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย ขณะที่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มอยู่ที่ 708,300 ราย

จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,087 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมนับตั้งแต่ 1 เม.ย. - 14 พ.ค. 2564 แล้ว 23,561 ราย

เตรียมผ่อนคลายให้บริโภคอาหารในร้านได้

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยังเผยถึงมาตรการผ่อนคลายการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และให้สอคล้องกับสถานการณ์การระบาดปัจจุบัน โดยมีหลักเกณฑ์ในการปรับระดับการควบคุม 5 ข้อ ได้แก่

1. ลักษณะการระบาดในชุมชน พิจารณาจากจำนวนและความต่อเนื่องของการพบผู้ติดเชื้อ แบ่งเป็น

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด มีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายต่อวัน อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หรือมีผู้ป่วยโดยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ มากกว่า 50 รายต่อวัน
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ป่วยโดยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ 20-50 รายต่อวัน
  • พื้นที่ควบคุม มีผู้ป่วยโดยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 20 รายต่อวัน
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง มีผู้ป่วยโดยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 10 รายต่อวัน
  • พื้นที่เฝ้าระวัง ไม่มีผู้ป่วยติดต่อกัน 1 สัปดาห์

2. จังหวัดที่อยู่ติดกับพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ

3. จังหวัดที่มีการระบาดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย

4. จังหวัดที่ติดกับชายแดน หรือเคยมีผู้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ติดเชื้อ

5. สัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชากรในพื้นที่

โฆษก ศบค. กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคจะไปเป็นตามระดับของพื้นที่ โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน บริโภคอาหารในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. และนั่งได้ไม่เกิน 25% ของพื้นที่ ห้ามจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้าน และงดจัดการเรียนการสอน รวมถึงจัดกิจกรรมในสถานศึกษาทุกระดับชั้น

ด้านพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคอาหารในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. ห้ามจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้าน การจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในสถานศึกษาทุกระดับชั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ส่วนพื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคอาหารในร้านได้ตามปกติ ห้ามจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้าน การจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในสถานศึกษาทุกระดับชั้นต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ทั้งนี้ ศบค. จะประกาศรายชื่อจังหวัดตามระดับพื้นที่ในวันที่ 15 พ.ค. 2564

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตามระดับพื้นที่

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตามระดับพื้นที่

ญาติผู้เสียชีวิตเตรียมฟ้องรัฐให้ความช่วยเหลือล่าช้า

ขณะที่ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า กุลเชษฐ์ วัฒนผล พี่ชายของกุลทรัพย์ วัฒนพลหรือ 'อัพ VGB' อดีตผู้บุกเบิกวงการอี-สปอร์ต ของไทย ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 รายที่ 137 เพราะประสานหาที่ตรวจเชื้อไม่ได้ และได้รับการรักษาล่าช้า รับมอบอำนาจจากมารดา เข้ายื่นฟ้อง ศบค., เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักนายกรัฐมนตรี, และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,530,000 บาท จากกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้กุลทรัพย์เสียชีวิต

กุลเชษฐ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตของนายกุลทรัพย์ มาจากการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้เชื้อโควิด-19 ทำลายปอดจนไม่สามารถรักษาได้ และเสียชีวิตในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ศบค. ที่ประกาศว่ามีศูนย์ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินตามหมายเลขสายด่วน ได้แก่ 1330, 1422, 1668 ,1669 และ 1323 ซึ่งเป็นสายด่วนของกรมควบคุมโรค และสายด่วนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ แต่ปรากฏว่าขณะที่กุลทรัพย์ มีลักษณะอาการตามที่ ศบค. เคยประกาศให้เป็นวิธีสังเกตตนเองว่าติดเชื้อแล้วหรือยัง และได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือตามหมายเลขสายด่วนดังกล่าว ซึ่งมีทั้งติดต่อไม่ได้ และติดต่อได้แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดละเลย ปล่อยให้มีการเปิดสถานบริการ สถานบันเทิงจนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์ทองหล่อในเดือน มี.ค. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดกลับไม่ประกาศห้ามเดินทาง หรือออกมาตรการป้องกันการระบาดจากสถานบันเทิงสู่สังคม ยังคงให้ประชาชนเดินทางกลับไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จนการแพร่ระบาดขยายสู่ประชาชนเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 2,000 คน การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องทั้งหมด จึงเข้าข่ายจงใจประมาทเลินเล่อ ปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยปละหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

“ที่กุลทรัพย์เสียชีวิตครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในเวลาที่เหมาะสม ทันท่วงที ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ เชื้อยังไม่ทำลายปอดก็ย่อมไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกุลทรัพย์ ทางครอบครัวต้องจัดการงานศพอันเป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท มารดาซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต้องขาดไร้ซึ่งการส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูจากกุลทรัพย์เดือนละ 15,000 บาท ซึ่งคิดจากช่วงอายุที่กุลทรัพย์ เสียชีวิตคือ 35 ปี จนถึงกุลทรัพย์อายุ 60 ปี รวมระยะเวลา 25 ปี รวมเป็นเงิน 4,530,000 บาท ที่ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องร่วมกันรับผิดในทางละเมิดต่อครอบครัว” กุลเชษฐ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท