'แม่ไมค์' ขอส่งตัวลูกรักษาโควิด-19 นอกเรือนจำ ราชทัณฑ์เผยคลองเปรมติดอีก 506 คน

14 พ.ค. 2564 แม่ยื่นหนังสือขอส่งตัว 'ไมค์' ไปรักษาโควิด-19 นอกเรือนจำ ราชทัณฑ์แถลงพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำกลางคลองเปรมอีก 506 ราย ด้านองค์การอนามัยโลกแนะควรคัดกรองและประเมินความเสี่ยงทุกคนที่เข้าพื้นที่เรือนจำ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกวัน จัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคสำหรับทุกคน และจัดการปัญหาเรือนจำแออัด

'แม่ไมค์' ขอส่งตัวลูกไปรักษานอกเรือนจำ เหตุมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

เพจราษฎร รายงานว่า เวลา 10.30 น. ยุพิน มะณีวงศ์ แม่ของ 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อดำเนินการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงประเด็นท่ีไม่ยอมส่งตัวภาณุพงศ์ไปรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ และในเวลา 14.00 น. ยุพินจะเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วยตนเอง

ด้านพรรคเพื่อไทยรายงานว่า อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานกรรมาธิการฯ รับหนังสือร้องเรียนจากยุพิน มะณีวงศ์

เนื้อหาของหนังสือขอให้คณะกรรมาธิการชุดนี้เรียกอธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาชี้แจงเหตุผลและหลักการที่ไม่อนุญาตให้ภาณุพงศ์ ได้มีโอกาสรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิต เพราะยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งภาณุพงศ์ยังมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งต้องได้รับการดูแลและแยกตัวออกจากเรือนจำที่เต็มไปด้วยผู้ถูกคุมขังจำนวนมาก โดยประธานคณะกรรมาธิการฯ พูดคุยกับยุพินผ่านวิดีโอคอล พร้อมยืนยันว่าจะจัดประชุมเพื่อมีมติเรียกอธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 19 พ.ค. 2564 พร้อมทั้งให้กำลังใจมารดาของภาณุพงศ์ ให้ลูกได้รับอิสรภาพโดยเร็ว

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ประสาน ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะถูกจองจำได้เลือกสถานพยาบาลนอกเรือนจำในการรักษาตนเอง เพราะบุคคลเหล่านี้ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์และมิได้ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์

อรุณีกล่าวต่อว่า ในขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ระบาดหนักในเรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่มีนักเคลื่อนไหวทางความคิดหลายคนถูกจองจำอยู่ มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,795 คน มากกว่าครึ่งของจำนวนผู้ถูกคุมขังทั้งหมด นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง สภาพภายในเรือนจำยังอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เนื่องด้วยสถานที่ที่คับแคบ ขาดแคลนอุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ เตียง และพื้นที่ในการแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นไม่เพียงพอ สร้างความกังวลให้กับครอบครัวของนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นห่วงบุตรหลานว่าจะได้รับการดูแล ป้องกัน รักษาอย่างเพียงพอและครอบคลุมต่อการระบาดของโรคที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ อีกทั้งยังเกรงว่าบุตรหลานของพวกเขาอาจจะถูกบังคับให้กลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ เพื่อให้นักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคน ได้มีโอกาสเลือกที่จะมีชีวิตรอดตามสิทธิในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนในการดำรงชีวิต สมควรที่จะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงแล้ว จึงเดินทางเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนคนไทยทุกคนสมควรได้รับ

ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย ยังเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษทุกคน โดยจัดสรรหน้ากากอนามัย ให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูเเลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ และพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

เรื่อง ร้องขอความเป็นธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางความคิดได้มีสิทธิเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานที่ดีในการรักษาตัวจากโรคโควิด-19

เรียน อธิบดีกรมราชทัณฑ์

หลังจากได้รับทราบข่าวว่านายภาณุพงศ์  จาดนอก (ไมค์ ระยอง) นายชูเกียรติ แสงวงค์  (จัสติน)  และนักเคลื่อนไหวทางความคิดหลายคน ติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งที่ยังดำรงสถานะเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาในคดี ในขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ระบาดหนักในเรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่มีนักเคลื่อนไหวทางความคิดหลายคนถูกจองจำอยู่ มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,795 คน  ซึ่งมากกว่าครึ่งของจำนวนผู้ถูกคุมขังทั้งหมด  นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง สภาพภายในเรือนจำยังอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน  เนื่องด้วยสถานที่ที่คับแคบ ขาดแคลนอุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์  เตียงและพื้นที่ในการแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นไม่เพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับครอบครัวของนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นห่วงบุตรหลานว่าจะได้รับการดูแล ป้องกัน รักษาอย่างเพียงพอและครอบคลุมต่อการระบาดของโรคที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ อีกทั้งยังเกรงว่าบุตรหลานของพวกเขาอาจจะถูกบังคับให้กลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่จำเป็น

เป็นที่ทราบกันดีว่านักเคลื่อนไหวทางความคิดหลายคนยังมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลยังไม่ตัดสินว่าพวกเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิด เขาจึงควรมีสิทธิได้รับความปลอดภัยในชีวิตอย่างสูงสุดในสถานการณ์โรคระบาดอันรุนแรงนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง พรรคเพื่อไทย ขอเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมนี้ให้กับครอบครัวของนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนให้สามารถเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและดีที่สุดเท่าที่ครอบครัวจะดูแลให้ได้    เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเลือกที่จะมีชีวิตรอดตามสิทธิในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนในการดำรงชีวิต ซึ่งสมควรที่จะได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงแล้ว  จึงเดินทางเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนคนไทยทุกคนสมควรได้รับ

ในภาวะที่มีโรคระบาด กรมราชทัณฑ์ควรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษทุกคน โดยจัดสรรหน้ากากอนามัย ให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูเเลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ และพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง พรรคเพื่อไทย ขอเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยแสดงเจตจำนงในการร้องขอความเป็นธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางความคิดทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะถูกจองจำได้เลือกสถานพยาบาลนอกเรือนจำในการรักษาตัวเอง เพราะบุคคลเหล่านี้ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์และมิได้ต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์  โดยมีรายนามดังต่อไปนี้

1. นางมุกดา พงษ์สมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 4 จ.ขอนแก่น

2. นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 29 กทม.

3. นางสาวจิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 5 จ.ร้อยเอ็ด

4. นางจุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 5 จ.อุดรธานี

5. นางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.หนองคาย

6. นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 1 จ.เชียงใหม่

7. นางเทียบจุฑา ขาวขำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 8 จ.อุดรธานี

8. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 18 กทม.

9. นางบุญรื่น ศรีธเรศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 1 จ.กาฬสินธุ์

10. นางผ่องศรี แซ่จึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 8 จ.ศรีสะเกษ

11. นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 5 จ.ชัยภูมิ

12. นางมนพร เจริญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.นครพนม

13. นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 3 จ.อุบลราชธานี

14. นางสาวละออง ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 7 จ.เชียงราย

15. นางสาวสกุณา สาระนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 5 จ.สกลนคร

16. นางสมหญิง บัวบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 1 จ.อำนาจเจริญ

17.นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 8 จ.ขอนแก่น

18. นางสิรินทร รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 1 จ.น่าน

19. นางอนุรักษ์ บุญศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 4 จ.สกลนคร

20. นางอาภรณ์ สาราคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เขต 4 จ.อุดรธานี

พรรคเพื่อไทย

14 พฤษภาคม 2564

พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำกลางคลองเปรม เฉพาะแดน 4 จำนวน 506 ราย

กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่ข่าวแจกสื่อมวลชน ระบุว่า วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีตรวจพบผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรม ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 506 ราย

วีระกิตติ์เปิดเผยว่า ผลตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรม ประจำวันที่ 14 พ.ค. 2564 ตรวจพบผู้ต้องขังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 506 ราย และพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อจำนวน 2 ราย เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจผู้ต้องขังแบบ 100% ในแดนฝึกอาชีพ (แดน 4) และได้ดำเนินการคัดแยกผู้ป่วยตามลักษณะอาการเพื่อดำเนินการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไป คือ การเร่งดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อในผู้ต้องขังแดนอื่นๆ จนกระทั่งได้ผลการตรวจของผู้ต้องขังทั้งเรือนจำแบบ 100%

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการติดต่อญาติผู้ต้องขังที่ติดเชื้อที่ต้องการแจ้งให้ญาติภายนอกทราบ ทางเรือนจำจะมีเจ้าหน้าที่คอยดำเนินการแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังแต่ละรายเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่ และหากญาติผู้ต้องขังรายใดที่มีความกังวลใจ สามารถติดต่อสอบถามที่เรือนจำเพื่อสอบถามรายละเอียดได้โดยตรง

ข่าวแจกกรมราชทัณฑ์

ข่าวแจกกรมราชทัณฑ์

องค์การอนามัยโลกแนะทางป้องกันและการควบคุมโควิด-19 ในเรือนจำและสถานกักกัน

ไอลอว์เผยแพร่คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการป้องกันและการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในเรือนจำและสถานกักกันอื่นๆ ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคยุโรป เนื้อหาดังนี้

ทำไมผู้ที่อยู่ในเรือนจำจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นพิเศษ

ผู้ที่อยู่ในเรือนจำและสถานกักกันอื่นๆ อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปิดและอยู่ใกล้ชิดกันซึ่งเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการติดเชื้อ อีกทั้งพวกเขาอาจจะมีโรคประจำตัว สุขภาวะที่แย่กว่าบุคคลทั่วไป และบ่อยครั้งที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ สุขอนามัยที่ไม่ดี และภูมิต้านทานที่อ่อนแออันเนื่องมาจากความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี หรือโรคที่มีอยู่เดิม ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ผู้ที่ใช้ชีวิตในเรือนจำมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น

ผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคนควรถูกคัดกรองหรือไม่

ผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคนควรถูกคัดกรองเพื่อหาอาการไข้และอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีโรคติดต่อจากการสัมผัส หากพวกเขามีอาการข้องเกี่ยวกับโรคโควิด-19 หรือหากพวกเขาได้รับการวินิจฉัยโรคโควิด-19 มาก่อนและยังคงแสดงอาการของโรค พวกเขาควรถูกแยกกักตัวจนกว่าการตรวจและประเมินโรคขั้นต่อไปจะสามารถทำได้

ผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคนควรถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันหรือไม่

การคัดกรองผู้ต้องขังรายใหม่นั้นคุ้มค่ากว่า การแยกกักตัวโดยไม่จำเป็นจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิต

เจ้าหน้าที่เรือนจำควรถูกคัดกรองหรือไม่

ควรมีการจัดตั้งระบบคัดแยกผู้ป่วยเพื่อประเมินความเสี่ยงรายบุคคล และการคัดกรองเพื่อหาอาการไข้และอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ให้แก่ผู้ที่ทำงานในเรือนจำทั้งผู้คุมเรือนจำและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ด้วยเหตุที่ต้องป้องกันหรือจำกัดไม่ให้โรคโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำได้

แล้วผู้เข้าเยี่ยมที่เรือนจำควรถูกคัดกรองด้วยหรือไม่

ระบบคัดแยกผู้ป่วย การประเมินความเสี่ยง และ/หรือการคัดกรอง ณ ทางเข้าเรือนจำ ควรใช้กับผู้ไปเยี่ยมและผู้ที่เข้าไปในเรือนจำทุกคน ไม่ใช่เพียงผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงของโรคอยู่แล้วเท่านั้น การประเมินความเสี่ยงประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลประวัติการไอและ/หรือการหายใจติดขัด ประวัติการเดินทางในช่วงที่ผ่านมาหรือการไปในแหล่งที่มีการระบาด และการสัมผัสใกล้ชิดการผู้ป่วยโดยตรงในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา

ควรอนุญาตให้มีผู้เข้าเยี่ยมที่เรือนจำในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่

การตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าเยี่ยมควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตของผู้ที่อยู่ในเรือนจำและระดับความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นจากการไม่ได้พบเจอเพื่อน ครอบครัว หรือโลกภายนอกเลย การห้ามไม่ให้มีการเข้าเยี่ยมเพื่อปกป้องเรือนจำจากโรคโควิด-19 อาจนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้นควรมีการพิจารณาวิธีอื่นที่ทำให้การเยี่ยมแบบไม่ถึงตัวสะดวกขึ้น เช่น การริเริ่มใช้การติดต่อทางไกลผ่านทางวีดิโอ (เช่น สไกป์ เป็นต้น)

หน่วยตรวจการควรถูกระงับให้เข้าเรือนจำหรือไม่

แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยตรวจการที่มีอำนาจสั่งการในการป้องกันการทรมาน และความโหดร้ายอื่นๆ เช่น การลงโทษหรือการปฏิบัติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์หรือไร้ซึ่งมนุษยธรรม ยังควรเข้าถึงทุกคนในเรือนจำและสถานกักกันอื่นๆ (รวมถึงผู้ที่ถูกขังเดี่ยว) ตามเงื่อนไขอำนาจสั่งการของหน่วยตรวจการ

คนในเรือนจำที่แสดงอาการของโรคควรถูกแยกตัวหรือไม่

บุคคลใดที่แสดงอาการของโรคต้องถูกแยกกักตัวจนกว่าจะสามารถทำการประเมินโรคในขั้นต่อไปได้ และต้องมีการตรวจโรคหากมีความจำเป็น การแยกกักตัวในเรือนจำในขั้นต้นนั้นมีความสำคัญ และทุกกรณีควรได้รับการประเมินโรค และต้องส่งเข้าโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง

หากการพิพากษาสิ้นสุดลงในระหว่างที่มีการกักโรคควรจะต้องทำอย่างไร

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของเรือนจำควรแน่ใจได้ว่า ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจะมีสถานที่ที่สามารถไปกักตัวต่อได้ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ควรได้รับแจ้งเรื่องผู้ได้รับปล่อยตัวออกมาและเฝ้าติดตาม

มาตรการหลักในการป้องกันโรคที่สามารถปรับใช้ได้ในเรือนจำมีอะไรบ้าง

มีมาตรการหลัก 8 ข้อที่แนะนำ ดังนี้

1. ควรคัดกรองและประเมินความเสี่ยงบุคคลทุกคนที่เข้าไปในเรือนจำ

2. มาตรการดังกล่าวควรใช้กับผู้ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเช่นกัน

3. ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อยวันละครั้ง

4. ควรสนับสนุนเรื่องสุขลักษณะส่วนตัวและการล้างมือ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้ทำได้จริง (สำหรับทุกคนในเรือนจำ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย)

5. ควรให้ความรู้และการสื่อสารถึงเรื่องสุขอนามัยของระบบทางเดินหายใจ

6. ควรจัดการปัญหาเรือนจำแออัด

7. ควรมีแผนปฏิบัติงานพร้อมใช้ ที่ระบุผู้รับผิดชอบที่จะลงมือปฏิบัติ กรอบเวลาการปฏิบัติ และวิธีการและโดยใคร เพื่อรับมือกับการณีสงสัยว่าติดเชื้อ และกรณีที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ

8. ควรแจ้งผู้เกี่ยวข้องถึงแผนรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้าสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน

เรือนจำมีอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอหรือไม่

ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (ชุดพีพีอี) กำลังขาดแคลนในทุกที่ และการนำไปใช้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นจึงจะต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น รัฐบาลควรพิจารณามอบลำดับความสำคัญที่เหมาะสมแก่เรือนจำและสถานกักกันอื่นๆ และสร้างความมั่นใจในการส่งมอบเครื่องอุปโภคที่จำเป็น

วัตถุประสงค์เดียวของมาตรการทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันผู้คนในเรือนจำไม่ให้ป่วยใช่หรือไม่

มาตรการเหล่านี้แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำ เพื่อไม่ให้แพร่การติดเชื้อต่อภายในเรือนจำ และลดความเป็นไปได้ในการแพร่เชื้อจากเรือนจำออกสู่สังคมภายนอก อนามัยในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณสุข ดังนั้นความล้มเหลวในการป้องกันโรคโควิด 19 ในการเข้าสู่เรือนจำก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมโดยรวมด้วย

ทำไมสังคมจึงควรให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขัง

สิทธิของบุคคลทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะต้องได้รับการปกป้อง และมาตรการด้านสาธารณสุขทุกอย่างต้องทำโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ตามหลักการว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนสากล รัฐมีหน้าที่รับรองว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำและสถานกักกันอื่นๆ ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่มีมาตรฐานเดียวกันกับสังคมภายนอก โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมากจากสถานภาพทางสังคมของพวกเขา

เรือนจำที่มีคนหนาแน่นมากควรแก้ปัญหาอย่างไร

หน่วยงานของรัฐควรเข้ามาแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำโดยทันที รวมถึงมีมาตรการที่มีแนวทางร่วมกับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกในเรื่องของการรักษาระยะห่างทางกายภาพและมาตรการสุขภาพด้านอื่นๆ การปล่อยตัวบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกกักขังจากการกระทำผิดกฎหมายที่ไม่ได้รับการยอมรับภายใต้หลักกฎหมายสากล ซึ่งควรได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ลำดับความสำคัญควรจัดให้แก่การปล่อยตัวผู้ที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้อื่นที่มีความเสี่ยงจำเพาะเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 (รวมถึงสตรีมีครรภ์)

ความรู้เรื่องแผนการสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าควรจำกัดไว้แค่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเรือนจำเท่านั้นหรือไม่

แผนการสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าควรเผยแพร่ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อที่จะลดความกลัวและความวิตกกังวลที่ไม่จำเป็น

อะไรเป็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วทั้งเรือนจำ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำอย่างฉับพลันจะก่อให้เกิดความกดดันอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข ผลที่ตามมาจะทำให้ความต้องการทางการแพทย์ของผู้ต้องขังในเรือนจำสูงกว่าที่ขีดความสามารถของระบบจะรองรับได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท