Skip to main content
sharethis

ปิดตลาดกลางดินแดง 16-21 พ.ค. 2564 เพื่อทำความสะอาดและฉีดพ่นฆ่าเชื้อ หลังพบผู้ค้าและคนงานติดโควิด-19 หัวหน้าพรรคก้าวไกลลงพื้นตรวจเชิงรุก 3 ชุมชนใน กทม. เสนอรัฐบาลแก้วิกฤตโควิด-19 เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

ปิดตลาดกลางดินแดง 16-21 พ.ค. 2564

14 พ.ค. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่า การเคหะแห่งชาติ ออกประกาศ เรื่อง คำสั่งปิดตลาดกลางดินแดง ชั่วคราว ระบุว่า ด้วยสำนักงานเขตดินแดง มีคำสั่งให้มีการปิดตลาดกลางดินแดงชั่วคราว สืบเนื่องจากมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เป็นต้นมา ผลปรากฏว่า มีผู้ประกอบการค้า และคนงานในตลาดกลางดินแดงติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงานเคหะนครหลวง สาขาดินแดง 2 และบริษัท ฉัตรชัยบริหารจัดการ จำกัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดตลาดกลางดินแดง ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2564 ถึงวันที่ 21 พ.ค. 2564 ตามประกาศของเขตดินแดง พร้อมทำความสะอาดล้างตลาด และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการค้า และประชาชนที่มาใช้บริการ อีกทั้งให้ชุมชนมีความปลอดภัยซึ่งจะเปิดให้บริการอีกครั้ง ในวันที่ 22 พ.ค. 2554 เป็นต้นไป

ก้าวไกลลงพื้นที่คัดกรองโควิด-19 เชิงรุก

ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลลงพื้นที่ 3 ชุมชนใน กทม. พร้อมชุดตรวจเชิงรุกแบบแอนติเจน ระบุ ประชาชนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่กล้าออกไปจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการรายได้หดร้อยละ 80 แนะรัฐบาลหาวิธีการเยียวยาถ้วนหน้าให้ได้สัดส่วน ตรวจเชิงรุกด้วยวิธีแอนติเจน เตรียมพร้อมเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน และจัดการวิธีลงทะเบียนเข้าฉีดวัคซีน วันนี้ไม่ใช่ความท้าทายทางทหาร แต่เป็นความท้าทายทางสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่พร้อมทีมงานเพื่อตรวจโควิด-19 เชิงรุกและสอบถามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยตระเวนไปพื้นที่ตลาดประตูน้ำ ชุมชนวัดไผ่ตัน สะพานควาย และชุมชนจันทราสุข (ลาดพร้าว 87) พร้อมจัดชุดตรวจให้ประชาชนในชุมชนวัดไผ่ตันและชุมชนจันทราสุข

หลังลงพื้นที่วัดจันทราสุขเสร็จสิ้น พิธาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การตระเวนลงพื้นที่นั้น ต้องการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่ามีวิธีการบริหารจัดการที่จะคัดกรองผู้ป่วยจากชุมชนได้โดยเร็ว วันนี้นำเทคโนโลยีแอนติเจนที่ใช้เวลาตรวจ 30 นาทีก็รู้ผล และมีราคาถูกกว่าที่รัฐบาลใช้อยู่มากพอสมควร อย่างน้อยถ้ามีความแม่นยำสักร้อยละ 70-80 ก็สามารถแยกผู้ป่วยจากชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ยุติการระบาดในชุมชนได้ และได้รับการรักษาก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก

เสนอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

พิธากล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้สอบถามเจ้าของกิจการหลายราย พบว่า ยอดขายลดลงมากถึงร้อยละ 80 แต่รายจ่ายเท่าเดิม หนี้สินไม่ได้รับการแก้ไข เป็นปัญหาที่พัวพันอยู่กับปัญหาสาธารณสุข หากแก้ปัญหาสาธารณสุขเร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็วเท่านั้น นอกจากนั้น รัฐบาลในสภาวะวิกฤต จะต้องมีเรื่องศรัทธา ถ้ามีความเชื่อในผู้นำ เวลาพูดอะไรประชาชนก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ตอนนี้ไม่มีความโปร่งใส ชักช้า และไม่มีทิศทางว่าควรทำตัวอย่างไร ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจและกังวลเรื่องวัคซีน โดยมีข้อเสนอในระยะสั้นให้รัฐบาล 4 ข้อ ดังนี้

1. ใช้เทคโนโลยีแอนติเจนตรวจเชิงรุกเพื่อหยุดคลัสเตอร์ต่างๆ

2. ใช้งบประมาณเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขที่ยังเหลืออยู่ 2 หมื่นว่าล้านบาทในการเตรียมตัวเรื่องยา การรักษาชีวิตคนและเครื่องป้องกัน

3. การจัดการการกระจายวัคซีน ตอนนี้มีความสับสน ประชาชนบางคนบอกว่าต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม บางคนบอกว่าเดินไปฉีดได้เลย แต่ กทม. บอกว่ายังเดินมาฉีดเลยไม่ได้ มีความจำเป็นต้องจัดการระบบหลังบ้าน เพราะหากให้เดินไปฉีดกันเอาเอง จะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องเตรียมวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ ใช้พยาบาลกี่คน ยิ่งถ้ามีวัคซีนชนิด mRNA ก็จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์แช่แข็ง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะนำไปที่จุดไหน คิดว่าต้องดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นจึงจะเหมาะสม

4. การเยียวยาถ้วนหน้า ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ประเทศญี่ปุ่นมีการเยียวยานับหน่วยเป็นวันที่โดนปิด ถ้าหากรัฐบาลมั่นใจว่าเอาอยู่ภายใน 14 วันตามที่ประกาศ ก็ต้องเยียวยาไปตามกรอบเวลานั้น หากรัฐบาลทำไม่สำเร็จก็ต้องเยียวยาต่อไปตามจำนวนวันหรือตามภาษีที่เคยเสีย

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า เมื่อรัฐสภาเปิดประชุม ก็จะมีการพูดคุยเรื่องพระราชกำหนดเงินกู้ และกฎหมายที่เกี่ยวกับ SMEs ที่มีปัญหาในการนิยามตัว SMEs ว่าต้องเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น จะเป็นช่วงที่ให้สภานิติบัญญัติกลับมาควบคุมและช่วยชี้แนะการทำงานของรัฐบาลต่อไป

"จะเป็นการทำงานให้สภาทำงานเต็มที่ในช่วงวิกฤตสักทีหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นให้รัฐบาลกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำตามใจโดยไม่เคยลงมาเห็นภาพอย่างนี้ ไม่เคยเข้าใจว่าเดือดร้อนอะไรขนาดไหน ก็อาจจะเกาไม่ถูกที่คัน ให้เงินผ่านแอปฯ แค่ 2 อาทิตย์ 2 พัน (บาท) ก็คือมื้อละ 40 บาท เขาบอกว่าเขามีลูกอยู่ 5 คน มื้อละ 40 บาทเขาจะอยู่อย่างไร เพราะเขาไปทำงานไม่ได้ หรือเวลาที่บอกว่า ต้องการจะให้รักษาระยะห่างทางสังคม แต่ถ้าอยู่ในชุมชนแออัดแบบนี้ก็กักตัวลำบากมาก แล้วกักตัวแบบนี้จะไปเอาข้าวอย่างไร ก็ต้องให้ภาคประชาชนเอาข้าวเอาน้ำไปให้ ไม่อย่างนั้นเขาก็ต้องออกมาซื้อข้าวซื้อของแล้วก็ระบาดอีกไม่จบไม่สิ้น"

"เป็นเรื่องที่จะต้องอภิปรายกันว่าช่วงนี้ความท้าทายใหม่ๆ มันไม่ใช่เรื่องของทหาร ไม่ใช่เรื่องของกระสุน ไม่ใช่เรื่องของรถถัง ไม่ใช่เรื่องของเรือดำน้ำ แต่เป็นความท้าทายเชิงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เกี่ยวกับยา เกี่ยวกับเครื่องออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องไฟป่าที่เชียงใหม่อย่างนี้ มันจะเป็นความท้าทายใหม่ของประเทศ ก็ต้องปรับให้ไปในทางนั้น" พิธากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net