Skip to main content
sharethis

เพจ iLaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 กลุ่ม OctDem จัดการพูดคุย “โควิดกับชีวิตบนเส้นด้ายภายใต้ศาลและราชทัณฑ์” หนึ่งในผู้ร่วมพูดคุยคือ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี๊ยบ เขากล่าวถึงการระบาดของโควิด 19 ในเรือนจำโดยเริ่มด้วยการอธิบายเกี่ยวกับระบาดวิทยาว่า ในการแพร่ระบาดของโรคมีสามปัจจัยที่จะต้องพิจารณาคือ Host คือ ร่างกายที่มีสุขภาพอย่างไร มีโรคประจำตัวและอายุเท่าไหร่ เพื่อดูว่า จะต้านทานเชื้อได้ระดับไหน, Agent คือ ตัวกระทำอย่างเชื้อเช่น การแพร่กระจายได้รวดเร็วไหม และ Environment สภาพแวดล้อมทั้งทางด้านอาคาร ภูมิอากาศ ความร้อน ความแออัดและปัจจัยในแง่ของการดูแลรักษาพยาบาล

เรื่องสภาพเรือนจำ เขายกตัวอย่างประสบการณ์ที่อยู่ในเรือนจำระหว่างเดือน ส.ค. 2559 จนถึงต้น ก.ค. 2560 ถ้ามองจากสภาพเวลานั้น ผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีหลากหลายวัยทั้ง วัยหนุ่ม วัยกลางคนและสูงอายุ สภาพร่างกายจะแปรผันไปตามวัย ตามด้วยโรคประจำตัว มีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาโรคประจำตัวเช่น หัวใจ เบาหวานและวัณโรค

สภาพแวดล้อมในเรือนจำ ตอนที่เขาอยู่ในแดนหนึ่ง มีผู้ต้องขังในแดนนี้ประมาณ 400-500 คน มีความแออัดสูง คนจำนวน 500 คนอยู่ในที่ประมาณหนึ่งไร่และมีเรือนนอน วันไหนที่มีนักโทษใหม่มาเยอะก็จะนอนอย่างแออัด ผู้ต้องขังต้องใช้เวลา 14-15 ชั่วโมงอยู่รวมกันในเรือนนอน ห้องน้ำมีพื้นที่ผนังสูงเท่าเอว ผู้ต้องขังมีการใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดการสัมผัสร่วมกันเช่น ขันน้ำ ขณะที่มาตรการป้องกันโรคเช่น การใส่หน้ากากตลอด 24 ชั่วโมงและล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งการรักษาระยะห่าง เขามองว่า เป็นไปไม่ได้  ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ โรงอาหาร เวลาอาหารผู้ต้องขังต้องอยู่ในโรงอาหารและมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงอีกพื้นที่หนึ่ง จะเห็นว่ามาตรการป้องกันโรคที่ทำกันในสังคมภายนอกนั้นทำภายในเรือนจำไม่ได้  

ด้วยสภาพแวดล้อมของเรือนจำเช่นนี้ สิ่งสำคัญมากคือต้องป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปภายใน เรือนจำเปรียบกับเมืองๆหนึ่งสามารถล็อคดาวน์ได้ แต่เหตุที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เชื้อสามารถหลุดรอดเข้าไป ตามรายงานข่าวคือ กรณีของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาจติดเชื้อและไม่มีอาการ ส่วนของทัณฑสถานหญิงกลางคือ ผู้ต้องขังออกไปด้านนอก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต้องพิจารณาแล้วว่า มาตรการกักตัวผู้ต้องขังใหม่ 14 วันของเรือนจำมีประสิทธิภาพจริงไหม 

สถานการณ์ตอนนี้เขาเชื่อว่า เชื้อแพร่กระจายไปมากแล้ว ตัวเลขที่รายงานนี้เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง ประกอบกับข้อมูลของสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่เล่าว่า จัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์มีอาการของโรคแล้วแต่ยังอยู่ร่วมกันกับผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 เม.ย. 2564 สามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีการแพร่กระจายของเชื้อไปเรื่อยๆ  “ผมว่า ไม่น่าจะเหลือแล้ว” 

หลักสำคัญของการดูแลเรื่องโรคติดต่อคือ ความโปร่งใส หากทราบเรื่องไข้หวัดสเปนที่เกิดขึ้นในปี 1918 มีการระบาดในยุโรปและอังกฤษ จากนั้นข้ามไปสเปน สเปนไม่ได้เป็นประเทศต้นทางแต่เป็นประเทศที่ยอมรับว่า มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน ตอนนั้นมีสงครามโลก ทำให้แต่ละประเทศปกปิดข้อมูลว่า ทหารของตนติดเชื้อ ต่อมาทหารที่ติดเชื้อเดินทางนำเชื้อโรคข้ามประเทศไปด้วย แม้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วการสัญจรลำบากมากไม่เหมือนปัจจุบัน แต่กลับเกิดการระบาดจำนวน 500 ล้านคน นั่นเป็นผลของความไม่โปร่งใส 

นายแพทย์สุรพงษ์เรียกร้องว่า กรมราชทัณฑ์จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่อย่างโปร่งใส ในส่วนของข้อมูลของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่กล่าวถึงเรื่องแฟลตของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่อยู่ใกล้กับเรือนจำ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในวงต่อไปนั้น เขาแสดงความกังวลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และต้องสอบสวนโรคโดยเร็ว ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนโรคไว้ แม้จะอ้างว่า เขตเรือนจำเป็นเขตห้ามเข้าแต่กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปแล้ว ส่วนเรือนจำในพื้นที่จังหวัดต่างๆคณะกรรมการโรคติดต่อในแต่ละจังหวัดจะต้องเข้าไปสำรวจสถานการณ์อย่างจริงจังแล้ว

นายแพทย์สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เขาไม่แน่ใจว่า วัคซีนจะหยุดการแพร่ระบาดในกรณีของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางได้ มันอาจจะช้าไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีข้อดีในกรณีที่ผู้ต้องขังยังไม่ติดเชื้อ อย่างน้อยก็พอมีเวลาที่จะให้วัคซีนกระตุ้นภูมิหรือทำให้ไม่ป่วยหนัก รวมทั้งกรมราชทัณฑ์ควรจะต้องวางแผนป้องกันในเรือนจำอื่นๆ

ในตอนท้ายสิตา การย์เกรียงไกร ในฐานะตัวแทน OctDem อ่านแถลงการณ์เรื่องการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดแก่ผู้ต้องขังตามหลักสากล ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์คือ การเรียกร้องให้ใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำผิดคดีไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและการใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคม โดยพิจารณาจากลักษณะความผิด ความประพฤติโทษคงเหลือ ตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม รวมทั้งเรียกร้องให้ ศบค.ได้ใส่ใจชีวิตผู้ต้องขังเหล่านี้  ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก 

แถลงการณ์เรื่องการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดแก่ผู้ต้องขังตามหลักสากล 

1. หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับสถานการณ์ "นักโทษล้นเรือนจำ" นำมาซึ่งความแออัดและความขาดแคลนด้านสาธารณสุข ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 นี้ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ และอาจกระทบต่อสังคมภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 143 แห่ง สามารถรับรองผู้ต้องขังได้ ประมาณ 254,000คน แต่ผู้ต้องขังทั้งประเทศมีจำนวนประมาณ 350,000 คน ซึ่งเกินความจุเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังอาศัยอยู่รวมกันในสภาพแออัด  โดยเฉพาะในเรือนนอนที่ต้องอยู่ วันละเกินกว่า 14 ชั่วโมง การเว้นระยะห่างทำไม่ได้ เพราะในสภาพจริง ผู้ต้องขังต้องนอนเบียดกันแบบ ไหล่ชนไหล่ เท้าชนเท้า หัวชนหัว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ การติดเชื้อและการแพร่ระบาดในเรือนจำ จึงเกิดง่ายมาก ถ้ายังอยู่ในสภาพเบียดเสียดเช่นนี้ ดังมีตัวอย่างในสองเรือนจำใหญ่ ที่มีคนติด โควิด-19 แล้ว ถึงเกือบ 3,000 คน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดได้อีกหลายแห่ง

ถ้าสกัดไม่ทันตั้งแต่ต้นจะเกิดคนป่วยจำนวนมากจนไม่มีสถานที่รักษา ไม่มีเครื่องช่วยหายใจ การระบาดจะล้นเกินกำลังที่จะรักษาได้ เหมือนเหตุการณ์ในเมืองอู่ฮั่น ช่วงที่มีการระบาดใหม่ๆ

2. หลักการของการแก้ปัญหาโรคระบาดก็คือต้องตัดไฟแต่ต้นลม เราเห็นว่าเรื่องนี้ได้มีผู้เสนอมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 คือข้อเสนอของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัด ในเรือนจำ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาดของโรค และข้อเสนอนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2564 นี้ เป็นอย่างยิ่ง คือ

1. การใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำผิดคดีไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือโรคประจำตัว หญิงที่ตั้งครรภ์ และผู้กระทำผิดคดีเล็กน้อยที่ไม่เป็นภัยอันตรายต่อสังคม โดยใช้วิธีการอื่น เช่น การเรียกค่าปรับ การใช้มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน และการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์

2. การใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคม โดยพิจารณาจากลักษณะความผิด ความประพฤติโทษคงเหลือ ตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ และเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม อาทิ การปล่อยก่อนกำหนด การพักโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว และเปลี่ยนโทษจำคุกที่เหลือเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน โดยให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในกลุ่มต่อไปนี้เป็นอันดับแรก

2.1 ผู้ต้องขังระหว่างที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด (อยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนพิจารณา และการอุทธรณ์ – ฎีกา) รวมทั้งผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขังรวม

2.2 ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี 

2.3 ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป 

2.4 ผู้ต้องขังเด็ดขาดกลุ่มคดีอื่นๆ ที่มีความผิดไม่ร้ายแรง (อาทิ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.การพนัน คดีลหุโทษ ฯลฯ) 

3. การมีระบบการติดตามและรายงานตัวของผู้ต้องขังที่มีประสิทธิภาพ ในกรณีการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข รวมทั้งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคัดกรองด้านสุขภาพก่อนการปล่อยตัว การให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อความสงบและความปลอดภัยของสังคม
นอกจากนี้ยังมีแนวทางแก้ไขซึ่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเร็วๆนี้ มี 3 แนวทางคือ

1.การขอพระราชทานอภัยโทษ

2.การพักโทษโดยให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษสวมใส่กำไล EM ในกรณีพิเศษ 

3. การปรับแก้กฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เช่น การปรับลดโทษ

ข้อเสนอทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องดี เพียงแต่จะต้องนำมาปฏิบัติอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นอาจไม่ทันตั้งรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะระบาดต่อเนื่องไปอีกนานเท่าใด อีกทั้งจะต้องมีคนที่ทำความผิดร้ายแรงถูกนำเข้ามากักขังในเรือนจำ ถ้าไม่นำคนที่โทษเหลือน้อยออกไป ถึงอย่างไรสถานที่ก็ไม่พอเพียง ถ้าป่วยแล้วจะไม่รักษาก็ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้มีคนป่วยมากขึ้น นำออกไปรักษาข้างนอกก็จะกลายเป็นภาระยุ่งยากเข้าไปใหญ่ 
ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มิได้มีโทษหนักชนิดต้องจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และมีผู้ต้องหาอีกจำนวนหลายหมื่นที่ยังไม่รู้ว่าทำความผิดจริงหรือไม่แต่ถูกขังไว้ในขณะที่กำลังดำเนินคดีในศาล ถ้าพวกเขาถูกกักขังไว้และติดโรคจนถึงแก่ชีวิต มันจะกลายเป็นความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องหลายองค์กร

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี มิได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา หากมีเหตุผลอันสมควรที่จะได้รับการประกันตัว ก็สมควรจะต้องให้การประกันตัวโดยทันที เพื่อไม่ให้เสี่ยงกับชีวิต และสุขภาพจากการระบาดของเชื้อ โควิค-19 ในเรือนจำ

ขณะเดียวกัน เราขอเรียกร้องให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับชาติ จากภายนอกเรือนจำ เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ ตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ ที่ว่าไปแล้ว สถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น เกินความสามารถ ศักยภาพภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยด่วนที่สุด

ถึงวันนี้ ในภาวการณ์การระบาดหนักของโควิดในเรือนจำที่เป็นอยู่ เราขอเรียกร้องให้ ศคบ.ได้ใส่ใจชีวิตผู้ต้องขังเหล่านี้  ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเรา

เราจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยข้อเท็จจริง เร่งปฏิบัติตามข้อเสนอสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวไว้โดยเร็วที่สุด

กลุ่ม OctDem – Octoberist for Democracy
14 พ.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net