Skip to main content
sharethis

'Common school คณะก้าวหน้า' จัดปฐมนิเทศหลักสูตรประวัติศาสตร์นอกขนบ 'ปิยบุตร' ชี้ไม่ใช่โรงเรียนปั้นคนเป็นนักการเมือง แต่เป็นพื้นที่รณรงค์ความคิด ด้าน 'ธงชัย' ชวนตั้งคำถามประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เป็นอุดมการณ์รับใช้รัฐ 

15 พ.ค. 2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า “คอมมอน สคูล (Common school)” โดยคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเบิกโรงหลักสูตร “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ซึ่งเป็นหลักสูตรในโครงการ “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเปิดรับสมัครผู้สนใจร่วมเรียน โดยรับจำนวน 30 คนเท่านั้น ฟังบรรยายผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถพูดคุยซักถามกับวิทยากรได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถรับฟังการบรรยายทางไลฟ์เฟสบุ๊กได้เช่นเดียวกันแต่ไม่สามารถพูดคุยตอบโต้ได้ ทั้งนี้ ในการปฐมนิเทศ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ คณะก้าวหน้า ได้พูดถึงความสำคัญของการจัดทำโครงการตลาดวิชาอนาคตใหม่ ขณะที่ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงความหมายและความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ และชวนตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เป็นอุดมการณ์รับใช้รัฐ 

'ปิยบุตร' เผยความหมาย-ความสำคัญของ 'คอมมอน สคูล' - ลั่นไม่ใช่โรงเรียนผลิตนักการเมือง แต่มุ่งรณรงค์เปลี่ยนแปลงความคิด

ปิยบุตร กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ การแย่งชิงอำนาจนำ อำนาจสถาปนา ไม่ใช่เพียงใช้กำลังทางกายภาพและกำลังอาวุธเท่านั้นแล้วจะสำเร็จ เพราะบางครั้งยึดอำนาจได้ แต่ก็ไม่สามารถปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่สามารถครอบงำความคิดประชาชนได้ เช่นเดียวกัน เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง บางครั้งก็ไม่อาจดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่น ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจคน เหตุนี้เราจึงตั้ง  “คอมมอน สคูล” ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยรณรงค์ความคิดแบบใหม่ๆ ความคิดแบบก้าวหน้า โดยชื่อนี้มีอยู่ 3  ความหมาย ได้แก่ 1. คอมมอน ที่แปลว่า สามัญ ที่ของคนทุกคนทั่วไปเข้ามาศึกษาหาความรู้ต่างๆ ได้ 2.คอมอน ที่แปลว่าร่วมกัน ที่ให้คนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และ 3 .มาจากคำว่า คอมมอนเซ้นท์ ที่เป็นสามัญสำนึกใหม่

“คอมมอน สคูล ไม่ใช่โรงเรียนการเมืองที่จะผลิตคนเข้าสู่ระบบการเมือง แต่เป็นมากกว่านั้น เราเป็นพื้นที่รณรงค์ทางความคิด จึงมีกิจกรรมต่างๆ มากมายเช่น ห้องสมุดที่ให้บริการส่งหนังสือให้ยืมถึงบ้าน ที่เราให้ชื่อการอ่านว่า Reading Revolution, มีกิจกรรมพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ เรียกว่า Reading Group, มีกองทุนที่ให้คนไปได้สมัครรับไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์เปลี่ยนแปลงสังคม เรียกว่า Progressive Fund, มีโครงการค่าย Awaken Land และมีโครงการตลาดวิชาอนาคตใหม่ที่เรากำจะจัดขึ้นนี้ เพราะเราไม่เชื่อว่าการศึกษาต้องทำในรูปแบบเดิม ในแบบทางการในสถาบันการศึกษา ต้องมีการสอบ ต้องมีเครื่องแบบ ต้องรับปริญญา ในรูปแบบนั้นเท่านั้น” ปิยบุตร กล่าว 

ชี้ปัญหาระบบการศึกษาในมหา’ลัย ติดกับดักระบบราชการ-คิดเรื่องกำไรขาดทุน ย้ำภารกิจสำคัญคือสร้างคนมีความคิด “ขบถ”

ปิยบุตร กล่าวว่า การก่อตั้งตลาดอนาคตใหม่ เพราะเราเล็งเห็นอุปสรรคขัดขวางในมหาวิทยาลัยไทย ที่ติดกับดักระบบราชการ และกับดักเสรีนิยมเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งกำลังกัดเสาะทำลายการศึกษา เพราะไปเริ่มคิดถึงผลลัพธ์ ขาดทุน กำไร การจัดอันดับ มากกว่าคุณภาพเนื้อหาการศึกษา ซึ่งแบบนี้จะบีบบังคับให้เหลือแต่คณะที่ทำเงิน ที่คนเรียนไปประกอบอาชีพ วิชาเกี่ยวกับความคิดมนุษย์ กระตุ้นจิตนาการใหม่ๆ จะค่อยๆ หายไป ทั้งนี้ เราต้องการให้การศึกษาสร้างความคิดใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือความคิดที่เป็นขบถ อย่างที่ หลุยส์ มิเชล สตรีนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวว่า ภารกิจของครูอาจารย์นั่นก็คือการมอบวิธีการปัญญาให้กับประชาชนเพื่อให้เขาเป็นขบถ นั่นคือไอเดียใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ไม่ใช่เรียนแล้วเป็นแบบเดิม ๆ ได้หุ่นยนต์ในสายพานการผลิต และเมื่อมีคนคิดแบบใหม่ เป็นขบถ สังคมถึงจะก้าวหน้า

“ตลาดวิชาอนาคตใหม่เรายึดหลัก ‘5 ท’ คือ 1.ท ทุกคนเรียนได้หมด ไม่ว่าคุณจะเคยเรียนอะไรมาก็ตาม สามารถเข้าเรียนในตลาดวิชานี้ได้ 2.ท ทั่วถึง อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงได้ ทั้งบรรยายในห้อง ถ่ายทอดสด ฟังย้อนหลังได้ 3.ท เท่าเทียม ไม่ว่าจะมีสถานะอะไรเรียนได้หมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าเทอมใดๆ ทั้งสิ้น 4.ท ทันโลก เป็นวิชาการที่เรียนรู้อดีต รู้จักปัจจุบัน เพื่อก้าวหน้าไปสู่อนาคต  และ 5.ท ทางเลือก ต่างจากระบบการศึกษาที่เป็นทางการนั่นเอง” ปิยบุตร กล่าว

'ธงชัย' ชวนค้นความหมาย “ประวัติศาสตร์” - ย้หลักคิดสนใจอดีตที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน 

ด้าน ธงชัย กล่าวว่า ขอบคุณคณะก้าวหน้าที่ชักชวนมาทำโครงการเปิดหลักสูตร วันนี้ตนเป็นคนขอให้มีการเบิกโรงพูดคุยกันก่อน เพราะอยากพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการณ์รับใช้รัฐ และประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกเหนือไปจากกระแสหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย ตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และเป็นทางเลือก ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนประวัตศาสตร์ทั่วไป วิชาประวัติศาสตร์มี 2 ความหมาย ใน 2 ความหมายแรกที่จะพูดถึงต่อไปนี้ แต่สำหรับตนเองนั้นคิดว่ามีอยู่ 4 ความหมาย หรืออาจจะมากกว่า คือ 1.อดีตและความเปลี่ยนแปลง 2. ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมา 3.เป็นอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อสังคม 4.มโนทัศน์ต่อทิศทางของสังคมในระยะยาว หรือการคาดหมายถึงอนาคต นับจากอดีต ถึงปัจจุบันและถึงอนาคตทิศทางจะเป็นอย่างไร 

“ทำไมต้องสนใจประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มีความหมายต่อปัจจุบัน เราสนใจอดีตที่มีความหมายต่อปัจจุบัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสนใจความเปลี่ยนแปลง หมายถึงศึกษาความเปลี่ยนแปลง เข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราพยายามสนใจว่ามันได้เคลื่อนเปลี่ยนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคลื่อนเปลี่ยนจากจุดหนึ่งที่มีความหมายต่อปัจจุบันอย่างไร” ธงชัย กล่าว 

ความรู้ต้องหลากหลาย-มีพื้นที่ในสังคมให้เลือกรับ-ไม่ครอบงำ เพื่อทำให้คนมีความคิดเป็นของตัวเอง

ธงชัย กล่าวด้วยว่า เราควรรับรู้ประวัติศาสตร์หลายกระแส เท่าทันความรู้ที่เกื้อหนุนอำนาจ เสนอทางเลือกที่ต่างออกไป และการผลักดันประวัติศาสตร์แบบใดแบบหนึ่งไม่ควรกลายเป็นอำนาจนิยมชนิดใหม่ในนามสัจจะ คนต้องรับรู้หลายๆ ด้าน หลายๆ แบบ เพื่อที่สามารถคิดเอาเอง ซึ่งภารกิจของครูบาอาจารย์ ของสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ของตลาดวิชาอย่างหนึ่งคือ ทำให้คนรู้จักคิด และเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งไม่ง่าย แต่ก็ต้องพยายาม ทำให้ความรู้หลายชนิดล่องลอย มีพื้นที่ในสังคม  ให้คนรับเอามาเป็นหลักในการคิด มีวิจารณญาณในการตัดสินเรื่องราว การกระทำนั้น หน้าที่เราไม่ใช่ครอบงำ แต่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ครอบงำ เพื่อเปิดทางเลือกจำนวนมากให้ประชาชนได้เรียนรู้และเป็นตัวของตัวเอง

“ด้วยเหตุนี้ ภายใต้ประวัติศาสตร์ที่เราอยู่คือประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ผมอยากเชิญชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกขนบ มาออกนอกขนบกันเถอะ ซึ่งจะไม่ใช่แค่สิ่งที่นอกตำรา แต่เป็นสิ่งที่นอกขนบ จะเป็นสิ่งที่โต้แย้ง ท้าทาย เป็นทางเลือก ที่จะไม่เหมือนประวัติศาสตร์ที่รัฐใช้ค้ำจุนอุดมการณ์รัฐไทยหรือที่เขาต้องการ แต่ย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า ผมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ความรู้แบบผมเป็นความครอบงำ” ธงชัย กล่าว

ถาม-ตอบ “ธงชัย วินิจจะกูล” ! ชี้ “ข่าวลือ” มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ได้ - ลั่นต้องมีพื้นที่ให้คนคิดต่าง หยุดใบอนุญาตทำร้าย ใช้ ม.112 ปิดปาก

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม “คอมมอน สคูล (Common school)” โดยคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเบิกโรงหลักสูตร “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” ซึ่งเป็นหลักสูตรในโครงการ “ตลาดวิชาอนาคตใหม่” โดยตอนหนึ่ง ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมาเป็นผู้บรรยายประเดิมหลักสูตรดังกล่าว ได้ตอบคำถามผู้สนใจที่ส่งคำถามเข้ามา ต่อข้อที่ว่า ข่าวลือถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นส่วนที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ อย่างไร 

ธงชัย กล่าวว่า ได้เพราะความรู้ประวัติศาสตร์ที่ผิด ๆ ไม่มีพื้นฐานอยู่ในอดีตที่เป็นจริง กลายเป็นความเป็นจริงที่มีผลต่อปัจจุบันได้ ความรู้ประวัติศาสตร์แบบนั้นก็ใกล้เคียงกับข่าวลือ เหมือนกันในแง่ที่ว่าข่าวลือมีพื้นฐานจากอดีตที่เป็นข้อมูล กลายเป็นความรู้ หรือเป็นเรื่องโกหกทั้งหมด แต่ถ้ามันได้กลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนมีผลจริงๆ มันก็สร้างประวัติศาสตร์ ซึ่งมันสร้างมาแล้วไม่รู้กี่รอบ พูดอย่างไม่มีทางผิดกฎหมายว่า ข่าวลือเรื่องเจ้าในสังคมไทยมีอยู่เยอะ ใครจะบอกว่าไม่จริง อันนี้เป็นการปฏิเสธความจริง แต่ข่าวลือเหล่านั้นมีทั้งจริงและไม่จริงปนเปเต็มไปหมด และแถมไม่มีการตรวจสอบได้ เราท่านก็รู้แล้วว่ามันมีผลไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ สนใจ ถ้าจะตั้งคำถามก็คือว่า เพราะอะไร ในเงื่อนไขและสภาพสังคมอย่างไร ข่าวลือจึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้มีผลได้ ในเงื่อนไขและสภาพสังคมอย่างไร ข่าวลือจึงจะไม่ค่อยมีผล

“ข่าวลือทั้งหลายที่มีมาในไม่กี่วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้แล้ว เพราะความจริงมันไม่เคยเปิดเผยออกมาอย่างตรงไปตรงมา สังคมที่ข่าวลือจะมีอิทธิพลน้อยมาก คือสังคมที่เปิดเผย โปร่งใส บอกคนเขาซะ คนเรามีวิธีบอกคนที่จะให้คนเข้าใจและยินดีที่จะรับฟังอย่างมีเหตุมีผล ถ้าประเทศไทยและผู้มีอำนาจตั้งแต่ระดับกระจอก จนถึงยาม คนเฝ้าคุก จนถึงเจ้านายใหญ่โตในสังคมไทย ไม่มีความสามารถจะสื่อสารข่าวที่มันเป็นความจริงให้คนรับรู้เข้าใจอย่างไม่ตื่นตระหนก ก็หมดหวังกันแล้ว ทำไมถึงใช้วิธีการปิดข่าว ยิ่งปิดข่าว คนยิ่งต้องฟังข่าวลือ” ธงชัย กล่าว 

ต่อข้อถามที่ว่า นโยบายรัฐหรือความคิดรัฐที่เป็นอยู่ เพราะความเชื่อในประวัติศาสตร์นั้นจริงๆ หรือเพราะผู้มีอำนาจในรัฐเลือกใช้เพื่อครอบงำประชาชน ธงชัย กล่าวว่า สำหรับคำตอบแรก เป็นตอบที่คลาสสิกคือ ไม่รู้ เป็นเรื่องที่อยู่ในหัวของเขา เราจะรู้ได้อย่างไร ส่วนคำตอบที่สอง ตนเองมีความเห็นว่า เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เป็นความเชื่อที่มาจากความรู้ในประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์และอุดมการณ์ของเขา เขาจึงเชื่อและปฏิบัติอย่างนั้น การที่คนมีความเชื่อหนึ่งๆ ไม่มีความผิด ใครจะเชื่อในราชาชาตินิยม ใครจะรักเจ้าก็ไม่ใช่ความผิด แต่ในส่วนตัวเชื่อว่า สิ่งที่มันโกลาหลวุ่นวายในปัจจุบันก็คือว่า คุณจะรักเจ้าก็รักไปสิ แต่ทำไมต้องลงโทษคนที่ไม่รัก ทำไมต้องลงโทษคนที่คิดต่าง ทำไมคุณต้องฆ่าคนในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ความผิดอยู่ตรงนั้น ความพิกลพิการมันอยู่ตรงนั้น

“สมมติในระบอบประชาธิปไตย พรรคเชียร์เจ้าได้รับเลือกตั้ง คนไม่เชียร์เจ้าก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ คืออย่างมากที่สุด 4 ปี ก็เลือกกันใหม่ หรืออย่างมากที่สุดก็ประท้วงถ้าเขามีนโยบายออกมา คืออย่างน้อยต้องมีเกณฑ์ว่า อย่าไปทำให้คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับพรรคเชียร์เจ้ามีความผิดทางอาญา อย่าไปทำให้เขาเป็นครึ่งมนุษย์ถึงขนาดไม่ให้ประกัน ถึงขนาดจับติดคุกขังกระทั่งโควิดมาแล้วยังให้ติดโรคซ้ำอีก ซึ่งในแง่ศีลธรรม ในแง่มนุษยธรรม มันผิด ต่อให้กฎหมายจะบอกว่าไม่ผิดก็ตาม ความเชื่อทั้งหลายต้องไม่เป็นเหตุให้มีการลงโทษกัน อาจจะเป็นเหตุให้มีการผลักดันนโยบายไปอย่างหนึ่ง แต่อย่างเลวที่สุดเราก็แค่ประท้วงกันไปกันมาก ทุกประเทศก็แค่นั้น ประชาชนก็ออกเสียงไป”  ธงชัย กล่าว

ธงชัย กล่าวว่า ทิศทางนโยบายของรัฐมาจากความเชื่อในประวัติศาสตร์อันหนึ่ง แล้วเขาใช้อำนาจนั้นครอบงำ ตนคิดว่าเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แต่สิ่งที่แย่ในสังคมไทยก็คือ อนุญาตให้มีความเชื่อในแบบหนึ่งหรือไม่กี่แนว และอนุญาตให้ใช้อำนาจอย่างเกินเลยเพื่อกำจัด กีดกันคนที่คิดต่างออกไป อันนี้ต่างหากที่อันตราย  ทั้งนี้ อนาคตที่อยากเห็น ตนคิดว่าไม่มีใครที่ไหนในคณะราษฎร 2563  มีความคิดว่าต้องการกำจัด ไล่คนที่เชียร์เจ้าออกไปนอกประเทศ อันนี้ไม่เคยมีใครพูด พวกเขาไม่มีสิทธิไปไล่ใครออกนอกประเทศ ไม่มีใครเคยบอกว่าจะฟ้องกฎหมายอาญา ว่าต่อไปนี้ใครเชียร์เจ้าถือว่าหมิ่นประมาทประชาชน จะต้องถูกลงโทษทางอาญามาตรานั้นมาตรานี้ ไม่มี เพราะนี่เป็นเรื่องความคิด ตราบใดที่ไม่ลงมือใช้อาวุธตีหัวทำร้ายคนอื่นเขาก็ไม่มีความผิด 

“และอาจจะบอกว่าเพราะกฎหมายปัจจุบันยังเป็นอย่างนี้อยู่ ถ้าอย่างนั้นก็แก้กฎหมายสิ เขาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย มาตรา 112 ไม่ได้เขียนบนกำแพงจักรวาล พระมนูไม่ได้บันทึกในพระธรรมศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในกฎหมายตราสามดวงและกฎหมายสมัยอยุธยา เป็นกฎหมายที่มนุษย์สมัยใหม่บังคับใช้ โดยเฉพาะการขยายบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นเมื่อปี 2519 หลังเหตุการณ์ล้อมปราบในธรรมศาสตร์ พระมนูมาเห็นก็คงร้องไห้ เพราะกฎหมายนี้มันผิดหลักกฎหมาย” ธงชัย กล่าว 

ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่าเวลาเราพูดกันว่าชนชั้นปกครองใช้ศาสนามาครอบงำประชาชน ใช้ประวัติศาสตร์มาครอบงำประชาชน ราวกับว่าเขาไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ตนคิดว่าคำพูดแบบนี้เท่ากับให้เครดิตชนชั้นผู้ปกครองว่า เขาเป็นคนที่เก่งมาก เอาตัวออกห่างจากศาสนาได้ เอาตัวออกห่างจากประวัติศาสตร์ซึ่งเขาเคลมว่าเขาใช้กับประชาชนได้ เหมือนเขาเป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้ง รู้ว่าจะหยิบฉวยอะไรใช้บังคับประชาชน อันนี้ให้เครดิตเขามากไปหน่อย เขาก็โง่ ๆ และฉลาดพอ ๆ กับเราท่านทุกคน โง่บางเรื่อง ฉลาดบางเรื่อง แต่ที่สุดก็คือเราคิดต่างกันแค่นั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net